สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การพนัน

ความเห็นทางกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นปัญหาตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 โดยสรุปมีประเด็น ดังนี้

1. เรื่อง การตีความปัญหาการแจกรูปภาพและหมุนรางวัลของธนาคารออมสินว่าเป็นการพนันประเภทสลากกินรวบหรือไม่ (เรื่องเสร็จที่ 130/2513)

คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 3) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า อันการพนันสลากกินรวบนั้นจะต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้ คือ

  • มีการขายสลาก
  • ผู้ซื้อสลากนั้นต้องเสี่ยงต่อการเสียประโยชน์ คือค่าซื้อสลากนั้นเพื่อการที่อาจจะได้รับประโยชน์มากกว่าจำนวนที่ตนซื้อสลากนั้น แต่ลักษณะกิจการของธนาคารออมสินหาเป็นดังเช่นว่านี้ไม่

กล่าวคือ ในประการแรกธนาคารออมสินมิได้พิมพ์รูปภาพออกขาย หากแต่เป็นการแถมพกให้แก่เด็กผู้มาฝากเงิน ประโยชน์ที่ธนาคารออมสินจะได้รับจากการฝากเงินนั้นมิได้นอกเหนือไปกว่ากรณีอื่นตามปกติ และยังต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเท่าบุคคลทั่วๆ ไป ที่ฝากเงินในประเภทเดียวกัน ไม่ว่าเด็กผู้ฝากเงินนั้นจะถูกรางวัลหรือไม่ ในประการที่สอง เด็กผู้ฝากเงินไม่มีทางที่จะเสี่ยงต่อการเสียประโยชน์ เพราะมีสิทธิที่จะได้ทั้งเงินและดอกเบี้ยคืน นอกจากนั้นในระหว่างเวลา 1 ปีดังกล่าว เด็กผู้ฝากเงินจะถอนเงินของตนคืนเสียเมื่อใดก็ได้ การเสี่ยงโชคหากจะพึงมีในที่นี้ย่อมเป็นการเสี่ยงที่จะได้ประโยชน์ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากประโยชน์อันจะพึงมีพึงได้ตามปกติ มิใช่เป็นการเสี่ยงต่อการที่จะเสียประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้น จึงเห็นว่ากิจการดังกล่าวของธนาคารออมสินหาเป็นการพนันประเภทสลากกินรวบไม่ หากแต่เป็นการแถมพกโดยวิธีเสี่ยงโชคอย่างหนึ่งเท่านั้น

2. เรื่อง หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ (เรื่องเสร็จที่ 109/2529)

คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 3) ได้พิจารณา เห็นว่า การเล่นแชร์ลูกโซ่ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงเพราะไม่ใช่เป็นการทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อผิดจากความจริง แต่ถ้าการเล่นแชร์ลูกโซ่รายใดมีลักษณะของการให้คำมั่นสัญญาที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน หรือรู้แน่แล้วว่าไม่เป็นจริงอย่างแน่ชัด การเล่นแชร์รายนั้นก็อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้ ทั้งนี้ แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป

3. เรื่อง การลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตให้ออกสลากบำรุงการกุศลเป็นการเฉพาะราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 โดยไม่ต้องออกเป็นกฎกระทรวงได้หรือไม่ (เรื่องเสร็จที่ 506/2540)

คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ได้ตราขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2478 ซึ่งหลักเกณฑ์ในการออกกฎกระทรวงที่มีอยู่ในกฎหมายฉบับต่างๆ ที่ตราขึ้นในสมัยนั้นจะกำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีไว้อย่างกว้างในมาตรารักษาการเท่านั้น ต่อมาหลักเกณฑ์ในการออกกฎกระทรวงได้เปลี่ยนแปลงไป โดยในพระราชบัญญัติจะกำหนดกรอบที่ให้ฝ่ายบริหารออกกฎกระทรวงไว้อย่างชัดเจนว่าจะให้ฝ่ายบริหารออกกฎกระทรวงได้ในเรื่องใดบ้าง เมื่อปรากฏว่าพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ได้ใช้บังคับมานานแล้วและการกำหนดอัตราภาษีการพนันและการลดหย่อนภาษีการพนันได้ทำในรูปของกฎกระทรวงมาโดยตลอด ดังนั้น การที่จะลดหย่อนภาษีการพนันให้แก้ผู้รับใบอนุญาตบางรายให้แตกต่างไปจากอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวโดยทำเป็นคำสั่งย่อมขัดต่อกฎกระทรวงซึ่งมีฐานะเป็นกฎหมายด้วยเหตุดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงไม่อาจออกคำสั่งลดหย่อนภาษีการพนันให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ออกสลากบำรุงการกุศลเป็นการเฉพาะรายได้

4. เรื่อง การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 กรณีที่การกีฬาแห่งประเทศไทยจะขอส่งเสริมให้สนุกเกอร์เป็นกีฬาสำหรับเยาวชน (เรื่องเสร็จที่ 9/2541)

คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 9) ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า หากการกีฬาแห่งประเทศไทยมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมสนุกเกอร์ให้เป็นกีฬา โดยจะจัดให้มีการเล่นในอาคารสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยในส่วนกลางหรือสาขาต่างจังหวัด ในการนี้ คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยชอบที่จะออกข้อบังคับหรือระเบียบตามมาตรา 19 (1) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์แน่ชัดให้เยาวชนเข้าฝึกซ้อมสนุกเกอร์ มีกำหนดเวลาไม่เรียกเก็บ

ค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อม และมีมาตรการควบคุมมิให้มีการเล่นการพนัน การดำเนินการดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดให้มีการเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพนันฯ หรือการเล่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อมตามมาตรา 4 วรรคสอง และไม่เข้าเงื่อนไขของบทสันนิษฐานตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ต้องขออนุญาตหรือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการพนันฯ

5. เรื่อง หารือปัญหาข้อกฎหมายว่าด้วยการพนันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900 ในการจัดให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัล (เรื่องเสร็จที่ 589/2545)

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้พิจารณาแล้วประเด็นที่หนึ่ง ในปัญหาที่ว่า การนำโทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900 มาใช้ในการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัล จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ นั้น มีความเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2478 ได้กำหนดให้การเล่นต่างๆ ที่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้แก่ การเล่นตามบัญชี ก. และบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพะนันฯ หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งตามมาตรา 4 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้มีการเล่นดังกล่าวเอาไว้ และการจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใดๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ ซึ่งตามมาตรา 8 บัญญัติว่าจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ การเล่นอื่นๆ นอกจากบัญชี ก. และบัญชี ข. หากเป็นการพนันกันหรือจัดให้มีเพื่อให้พนันกันแล้ว ตามมาตรา 4 ทวิ บัญญัติว่าจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงระบุชื่อและเงื่อนไขเอาไว้ สำหรับการเล่นตามปัญหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติหารือเกี่ยวกับการที่เอกชนนำโทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900 มาใช้ในการจัดให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัลนั้น ไม่ได้เป็นการเล่นตามบัญชี ก. และบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพะนันฯ และไม่เป็นการเสี่ยงโชคและจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลที่ผู้ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพจัดให้มีขึ้นตามมาตรา 8 เนื่องจากไม่ได้เป็นกรณีที่เจ้าของสินค้าให้ผู้ซื้อสินค้าเสี่ยงโชคในการได้รับของแถมพกหรือ

รางวัล กรณีจึงต้องพิจารณาแต่เพียงว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเล่นที่เป็นการพนันตามมาตรา 4 ทวิ หรือไม่ ซึ่งคำว่า “การพนัน” จะมีลักษณะหรือมีความหมายอย่างไรนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2478 ไม่ได้ให้ลักษณะหรือความหมายของการพนันไว้ แต่มีบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติการพะนันฯ ได้กล่าวถึงลักษณะการพนันเอาไว้ ได้แก่ ตามมาตรา 5 ใช้ข้อความว่า “ผู้ใดจัดให้มีการเล่นซึ่งตามปกติย่อมจะพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแก่กัน” หรือตามมาตรา 9 ใช้ข้อความว่า “การเล่นอย่างใดที่เสี่ยงโชคให้เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้เล่น” และศาลฎีกาได้วินิจฉัยการเล่นที่เป็นการพนันไว้ว่าจะต้องมีลักษณะที่ผู้เล่นเสี่ยงต่อการได้และเสีย สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 3 ได้ให้ความเห็นถึงลักษณะของการพนันเอาไว้สรุปความได้ว่า จะถือว่าเป็นการพนันได้ ผู้เล่นจะต้องเสี่ยงต่อการเสียประโยชน์ จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าลักษณะที่สำคัญของการพนันคือ จะต้องเป็นการเล่นที่เป็นการเสี่ยงโชคต่อการได้หรือเสียประโยชน์ และเมื่อนำมาพิจารณาปรับกับปัญหาที่หารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการที่เอกชนนำโทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900 มาใช้ในการจัดให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัล โดยตามข้อเท็จจริงที่ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ทศท. ชี้แจงนั้น เป็นกรณีที่ ทศท. ได้ทำสัญญาตกลงให้บริษัท สามารถอินโฟมีเดีย จำกัด นำบริการข้อมูลด้วยเสียงโทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900 (AUDIOTEX) ของ ทศท. ไปจัดรายการให้ประชาชนใช้โทรศัพท์ระบบดังกล่าวซึ่งคิดค่าบริการนาทีละ 9 บาททั่วประเทศ ในการทายผลการแข่งขันฟุตบอลและตอบปัญหาและให้ของรางวัลกับผู้ที่ทายผลการแข่งขันฟุตบอลหรือตอบปัญหาถูกต้อง ในกรณีที่มีผู้ทายผลการแข่งขันฟุตบอลหรือตอบปัญหาถูกต้องมากกว่าจำนวนของรางวัลที่จัดไว้ จะมีการหาผู้ได้รับรางวัลโดยการสุ่มผู้โชคดีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และตามสัญญาการให้บริการโทรศัพท์ของ ทศท. บริษัท สามารถอินโฟมีเดียฯ จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากค่าโทรศัพท์ร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือ ทศท. เป็นผู้รับ จึงเห็นได้ว่า การจัดให้มีการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัลดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้บริการในทางธุรกิจในการให้ข้อมูลข่าวสารตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเล่นที่มีบุคคลสองฝ่ายประกอบด้วยฝ่ายผู้ทายผลฟุตบอลโดยการโทรศัพท์ผ่านโทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900

ซึ่งต้องเสียค่าบริการโทรศัพท์ในอัตรานาทีละ 9 บาททั่วประเทศ และอาจได้รับของรางวัลซึ่งส่วนมากมีลักษณะเป็นทรัพย์สิน และฝ่ายผู้จัดให้มีการทายผลซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ของค่าโทรศัพท์ โดยผลที่เกิดขึ้นมีความ ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผลของการแข่งขันฟุตบอลหรือความสามารถของผู้ตอบปัญหาและผลของการสุ่มผู้โชคดีจากระบบคอมพิวเตอร์ จึงเห็นว่า การนำโทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900 มาใช้ในการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัลเป็นการเล่นที่เป็นการพนัน เนื่องจากเป็นการเล่นที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคต่อการได้หรือเสียประโยชน์ ซึ่งการจัดให้มีการเล่นดังกล่าวเพื่อให้พนันกันจะกระทำได้นั้น ตามมาตรา 4 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการพะนันฯ บัญญัติว่าจะต้องมีกฎกระทรวงระบุชื่อและเงื่อนไขการเล่นเอาไว้ เมื่อในปัจจุบันยังไม่มีกฎกระทรวงกำหนดให้สามารถจัดให้มีการเล่นในลักษณะการทายผลการแข่งขันกีฬาและตอบปัญหาชิงรางวัลทางโทรศัพท์ระบบหมายเลข 1900 เพื่อให้พนันกันได้ การจัดให้มีการเล่นดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 4 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2478

ประเด็นที่สอง ในปัญหาที่ว่า หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ผู้ที่จะต้องรับผิดได้แก่ใครบ้าง นั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติหารือมานั้นยังไม่ชัดเจนว่าเป็นกรณีเช่นใดและมีปัญหายุ่งยากแก่การวินิจฉัยอย่างไร คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) จึงไม่พิจารณาให้ความเห็นในชั้นนี้

6. เรื่อง หารือประเด็นข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2478 กรณีการจัดให้มีการเล่นตู้เกมไฟฟ้า (เรื่องเสร็จที่ 14/2546)

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ลักษณะที่สำคัญของการพนันคือ จะต้องเป็นการเล่นที่เป็นการเสี่ยงโชคต่อการได้หรือเสียประโยชน์ และเมื่อการเล่นตู้เกมไฟฟ้าตามข้อหารือดังกล่าว ผู้จัดให้มีการเล่นกับ ผู้เล่นมีโอกาสได้หรือเสียประโยชน์โดยขึ้นอยู่กับจำนวนคูปองที่ได้รับจากคะแนนที่เล่นเกมได้เพื่อนำคูปองไปแลกของรางวัล โดยหากจำนวนคูปองน้อยของรางวัลที่จะได้รับก็มีมูลค่าน้อย แต่หากจำนวนคูปองมากของรางวัลที่จะได้รับก็มีมูลค่ามาก และแม้ว่ารางวัลที่ได้รับจะมีมูลค่าน้อยกว่าค่าเล่นเกมก็ตาม แต่เนื่องจากการได้และเสียประโยชน์อันเป็นลักษณะสำคัญของการพนันนั้น ไม่ได้หมายความว่าเมื่อนำการได้และเสียประโยชน์มาหัก

ลบกันแล้ว ผู้เล่นจะต้องมีโอกาสได้ประโยชน์มากกว่าที่เสียไป โดยหากการเล่นดังกล่าวทำให้ผู้เล่นได้ประโยชน์แม้แต่เพียงเล็กน้อยเป็นสิ่งตอบแทนแล้ว ก็ถือว่าเป็นการได้และเสียประโยชน์อันเป็นการพนันแล้ว ดังนั้น การเล่นตู้เกมไฟฟ้าลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการพนัน ซึ่งแตกต่างจากกรณีตู้เกมไฟฟ้าอื่นที่มุ่งประสงค์จะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินและเพิ่มทักษะแก่ผู้เล่นเพียงอย่างเดียว โดยมิได้มุ่งประสงค์จะให้เป็นเครื่องเล่นการพนัน เมื่อการเล่นตู้เกมไฟฟ้าเช่นนี้เป็นการพนันแล้ว ตามมาตรา 4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2478 บัญญัติให้การเล่นดังกล่าวต้องมีใบอนุญาตให้จัดให้มีขึ้น หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะการเล่นตู้เกมไฟฟ้าตามข้อหารือ ซึ่งมีวิธีการเล่นหลายวิธี เช่น กดปุ่ม ทุบปุ่ม ยิงลูกบอล หรือดึงโยกคันบังคับตามแต่ละชนิดของเครื่องเล่นตู้เกมไฟฟ้านั้น โดยในการเล่นแต่ละครั้ง ผู้เล่นต้องหยอดเหรียญสิบบาทเพื่อเล่นตู้เกมไฟฟ้า และอาจได้รับของรางวัลโดยขึ้นอยู่กับคะแนนที่ปรากฏและจำนวนคูปองที่ได้รับ เห็นได้ว่า ตู้เกมไฟฟ้านั้นมีลักษณะเป็นเครื่องเล่นตามที่ระบุไว้ในลำดับที่ 28 ของบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการพะนันฯ ได้บัญญัติให้การจัดให้มีการเล่นเครื่องเล่นดังกล่าวเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อม แม้ว่าการเล่นนั้นจะไม่ได้พนันกันก็ตาม จะกระทำได้ต่อเมื่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต จึงเห็นว่า ความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เห็นว่า เครื่องเล่นตู้เกมไฟฟ้าของห้างฯ และวิธีการเล่นตามที่ห้างฯ กล่าวอ้างเป็นการเล่นที่ต้องขออนุญาตและวิธีการเล่นเป็นการพนันตามพระราชบัญญัติการพะนันฯ นั้น เป็นความเห็นที่ชอบตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว

ความหมายและคำนิยามคำว่า “พนัน”
ประวัติและวิวัฒนาการของการพนัน
ประวัติและวิวัฒนาการของกฎหมายเกี่ยวกับการพนัน
ความหมายและคำนิยามคำว่า “การพนันและขันต่อ”
การพนันและขันต่อ
กฎหมายแม่บทและกฎหมายอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการพนัน
ประเภทของการพนัน
บุคคลที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการพนัน
ลักษณะของการกระทำผิด
ทรัพย์สินพนัน และเครื่องมือเล่นการพนัน
สินบนนำจับ
การอนุญาตให้มีการเล่นการพนัน
ใบอนุญาต
สถานที่ยื่นใบอนุญาต
ข้อยกเว้นการพนันที่ไม่ต้องมีใบอนุญาต
หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต
แนวทางในการพิจารณาการขอใบอนุญาต
ภาษีและค่าธรรมเนียมการพนัน
โทษและการเพิ่มโทษ
การฟ้องคดีการพนัน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาของศาลฎีกา
ความเห็นทางกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
การเล่นการพนันตามบัญชี ก.
การเล่นการพนันตามบัญชี ข.
การเล่นการพนันที่เป็นการเล่นที่ให้รางวัล
การเล่นตามมาตรา 4 ทวิ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย