วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

ลิลิตตะเลงพ่าย


ตอนที่ 1 เริ่มบทกวี
ตอนที่ 2 เหตุการณ์ทางเมืองมอญ
ตอนที่ 3 พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี
ตอนที่ 4 พระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร
ตอนที่ 5 สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการสู้ศึกมอญ
ตอนที่ 6 พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ
ตอนที่ 7 พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าปะทะหน้าของไทย
ตอนที่ 8 ทัพหน้าไทยถอยไม่เป็นกระบวน
ตอนที่ 9 ทัพหลวงเคลื่อนพลฯ
ตอนที่ 10 ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย
ตอนที่ 11 พระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร
ตอนที่ 12 สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ

ตอนที่ 6 พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ

ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรก็มีรับสั่งให้โหรหาฤกษ์ที่จะยกทัพหลวงไป หลวงญาณโยคและหลวงโลกทีปคำนวณพระฤกษ์ว่า พระนเรศวรได้จตุรงคโชค อาจปราบข้าศึกให้แพ้สงครามไป ขอเชิญเสด็จยกทัพออกจากพระนคร ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ เวลา 8 นาฬิกา 30 นาที เมื่อได้มงคลฤกษ์ ทรงเคลื่อนพยุหยาตรา เข้าโขลนทวาร พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่กองทัพเสด็จทางชลมารคไปประทับแรมที่ตำบลปากโมก เมื่อประทับที่ปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกอยู่กับขุนนางผู้ใหญ่จนยามที่สามจึงเสด็จเข้าที่บรรทม ครั้นเวลา 4 นาฬิกา พระองค์ทรงพระสุบินเป็นศุภนิมิต

ในพระสุบินของสมเด็จพระนเรศวรมีว่า พระองค์ได้ทอดพระเนตรน้ำไหลบ่าท่วมป่าสูง ทางทิศตะวันตก เป็นแนวยาวสุดพระเนตร และพระองค์ทรงลุยกระแสน้ำอันเชี่ยวและกว้างใหญ่นั้น จระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งโถมปะทะและจะกัดพระองค์ จึงต่อสู้กันขึ้น พระองค์ใช้พระแสงดาบฟันถูกจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดแห้งไป พอตื่นบรรทมทรงมีรับสั่งให้โหรทำนายทันที พระโหราธิบดีถวายพยากรณ์ว่า พระสุบินครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเทวดาสังหรให้ทราบเป็นนัย น้ำซึ่งไหลบ่าท่วมป่าทางทิศตะวันตกหมายถึงกองทัพของมอญ จระเข้คือพระมหาอุปราชา สงครามครั้งนี้อาจ ได้กระทำยุทธหัตถีกัน การที่พระองค์เอาชนะจระเข้ได้แสดงว่าศัตรูของพระองค์จะต้องสิ้นชีวิตด้วยพระแสงของ้าว และที่พระองค์ทรงกระแสน้ำนั้น หมายความว่า พระองค์จะรุกไล่บุกฝ่าไปจนข้าศึกแตกพ่ายไปไม่อาจจะทานพระบรมเดชานุภาพได้ พอใกล้ฤกษ์ยกทัพ สมเด็จพระนเรศวร และพระเอกาทศรถเสด็จไปยังเกยทรงช้างพระที่นั่ง คอยพิชัยฤกษ์อยู่ทันใดนั้นพระองค์ทอดพระเนตรพระบรมสารีริกธาตุส่องแสงเรืองงาม ขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง ลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้หมุนเวียนรอบกองทัพเป็นทักษิณาวรรต 3 รอบ แล้วลอยวนไปทางทิศเหนือ สมเด็จพระพี่น้องทั้งสองพระองค์ทรงปิติยินดีตื้นตันพระทัย ทรงสรรเสริญและนมัสการ อธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุนั้นบันดาลให้พระองค์ชนะข้าศึก แล้วสมเด็จพระนเรศวรเสด็จประทับช้างทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพ สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จประทับช้างทรงเจ้าพระยาปราบไตรจักร แล้วเคลื่อนขบวนทัพ



โศลก หมายความว่า เกียรติ คำขับร้องสรรเสริญ ในที่นี้หมายถึง โฉลก แปลว่า โชค หรือโอกาส

จตุรงคโชค คือโชคประกอบด้วยองค์สี่ ซึ่งโหรคำนวณได้ตกที่ดีสี่ประการ คือ

1. โชคดี เพราะไม่ทันได้ยกทัพไปตีเขมร
2. วันเดือนปีดี เพราะเตรียมจะไปตีเขมรอยู่แล้ว
3. กำลังทหารเข้มแข็ง เพราะเตรียมจะไปตีเขมรอยู่แล้ว
4. เสบียงอาหารบริบูรณ์ เพราะเตรียมจะไปตีเขมรอยู่แล้ว

วาร เป็นชื่อเรียกวันทั้งเจ็ดตามตำราโหราศาสตร์ ดังนี้

รวิวารหรืออาทิตยวาร คือ วันอาทิตย์
ศศิวารหรือจันทรวาร คือ วันจันทร์
ภุมวารหรืออังคารวาร คือ วันอังคาร
วุธวาร คือ วันพุธ
ครุวารหรือชีววาร คือ วันพฤหัสบดี
ศุกรวาร คือ วันศุกร์
โสรวารหรือศนิวาร คือ วันเสาร์

นิมิต คือความฝันตามคติโบราณมี 4 อย่าง

บุพนิมิต หมายถึง ฝันบอกลางที่จะเกิดขึ้น
จิตนิวรณ์ หมายถึง ฝันที่เกิดจากความกังวลใจ
เทพสังหร หมายถึง ฝันที่เกิดจากเทวดาบันดาล
ธาตุโขภ หมายถึง ฝันที่เกิดจากธาตุในเรือนกายผิตปกติ

ตามความเชื่อโบราณ ความฝันที่เป็นจริงได้คือ บุพนิมิตและเทพสังหร ซึ่งเกิดขึ้นในยามสุดท้ายเท่านั้น

การแบ่งเวลาในสมัยโบราณ

กลางวัน นับตั้งแต่ 06.00 – 18.00 นาฬิกา
กลางคืน นับตั้งแต่ 18.00 – 06.00 นาฬิกา
ในเวลากลางคืนจะแบ่งเวลาออกเป็น 4 ยามคือ
ปฐมยาม ตั้งแต่ ย่ำค่ำ ไปจนถึง 3 ทุ่ม ( 18.00 – 21.00 นาฬิกา)
ทุติยยาม ตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึง 6 ทุ่ม ( 21.00 – 24.00 นาฬิกา)
ตติยยาม ตั้งแต่ 6 ทุ่มไปจนถึง 9 ทุ่ม ( 24.00 – 03.00 นาฬิกา)
ปัจฉิมยาม ตั้งแต่ 9 ทุ่มไปจนถึง ย่ำรุ่ง ( 03.00 – 06.00 นาฬิกา)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย