สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

 สังคมศึกษา
(มัธยมศึกษาตอนปลาย)

สภาพภูมิศาสตร์กายภาพ
ลักษณะปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สำคัญและการป้องกันอันตราย
วิธีใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์
ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนชุมชน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน

สภาพภูมิศาสตร์กายภาพ

ทวีปอเมริกาเหนือ

1. ขนาดที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ

ทวีปอเมริกาเหนือเป็นทวีปที่มีขนาดกว้างใหญ่โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกามีพื้นที่ประมาณ 24 ล้านตารางกิโลเมตร รูปร่างของทวีปอเมริกาเหนือมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับมีฐานกว้างอยู่ทางทิศเหนือส่วนยอดสามเหลี่ยมอยู่ทางทิศใต้ ด้วยความกว้างใหญ่ของทวีปจึงมีความหลากหลายทั้งในด้านลักษณะทางกายภาพทรัพยากรธรรมชาติและเป็นที่รวมของชนชาติหลายเชื้อชาติจนกลายเป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม อีกทั้งมีความเจริญก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีและเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมต่าง ๆ ตั้งอยู่ในแถบซีกโลกเหนือระหว่างละติจูด 7 องศา 15 ลิปดาเหนือถึง 83 องศา 38 ลิปดาเหนือและลองจิจูด 55 องศา 42 ลิปดาตะวันตก 172 องศา 30 ลิปดาตะวันออก

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ ติดกับทะเลโบฟอร์ตในมหาสมุทรอาร์กติกและขั้วโลกเหนือจุดเหนือสุดอยู่ที่แหลมมอริสเจซุปเกาะกรีนแลนด์และเทศแคนาดา

ทิศใต้ ติดกับทวีปอเมริกาใต้ (มีคลองปานามาเป็นเส้นแบ่งทวีป) ทะลแคริบเบียนในมหาสมุทรแปซิฟิกและอ่าวเม็กซิโกในมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศตะวันออก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก จุดตะวันออกสุดของทวีปอยู่ที่คาบสมุทร ลาบราดอร์ ประเทศแคนาดา
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก จุดตะวันตกสุดของทวีปอยู่ที่แหลมปรินซ์ออฟเวลรัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา

2. ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของทวีปยุโรปสามารถแบ่งออกได้ 3 ลักษณะ ได้แก่

  • เขตเทือกเขาภาคตะวันออก เริ่มตั้งแต่เกาะนิวฟันด์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดา จนถึงตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยเทือกเขาและที่ราบสูงแต่ไม่สูงนัก ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขามิตเชล มีความสูง 2,037 เมตร เทือกเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาแอปปาเลเซียน นอกจากนี้ยังมีที่ราบแคบ ๆ ขนานไปกับชายฝั่งทะเล บางส่วนลาดลงทะเลกลายเป็นไหล่ทวีป
  • เขตเทือกเขาสูงภาคตะวันตก ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งตะวันตกด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เทือกเขาตอนเหนือสุดบริเวณช่องแคบแบริง ทอดตัวยาวทางใต้ของทวีป ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนจำนวนมาก ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาแมกคินเลย์ สูง 6,096 เมตร ในเทือกเขาอะแลสกา นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาร็อกกีและเทือกเขาแมกเคนซี ระหว่างเทือกเขาสูงมีที่ราบสูงจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ ที่ราบสูงอะแลสกา ที่ราบโคโรราโด ที่ราบสูงเม็กซิโก และที่ราบสูงบริติชโคลัมเบีย เขตเทือกเขาสูงบริเวณนี้มีภูมิประเทศที่สวยงาม ที่มีทั้งเทือกเขาสูง สลับกับที่ราบสูง หุบเขาลึกชัน เกิดเป็นโตรกเขาที่เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำ โตรกเขาที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ แกรนด์แคนยอน (grand canyou) ที่เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำ โคโรราโดรัฐแอริโซนาสหรัฐอเมริกา
  • เขตที่ราบภาคกลาง เป็นที่ราบขนาดกว้างใหญ่ อยู่ระหว่างเทือกเขาตะวันออกและตะวันตก เริ่มตั้งแต่ชายฝั่งมหาสมุทรอาร์ติกจนถึงชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก มีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่นอันเกิดจากการกระทำของธารน้ำแข็งและการทับถมของตะกอนจากแม่น้ำ ที่ราบที่สำคัญ ได้แก่ ที่ราบลุ่มทะเลสาบทั้งห้า ที่ราบลุ่มแม่น้ำแมกแคนซี ที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิศซิปปี-มิสซูรี่ ที่ราบแพรีและที่ราบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก

แม่น้ำ แม่น้ำที่สำคัญในทวีปอเมริกาเหนือ มีดังนี้

  1. แม่น้ำมิสซิสซิปปี เกิดจากเทือกเขาสูงทางตะวันตกของทวีป เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในทวีปไหลผ่านที่ราบกว้างลงสู่อ่าวเม็กซิโก เป็นเขตที่ราบที่มีตะกอนทับถมเป็นบริเวณกว้าง จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก และเป็นเขตประชากรหนาแน่น
  2. แม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ไหลจากทะเลสาบเกรตเลคออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก แม่น้ำสายนี้ใช้ในการขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม (เนื่องจากบริเวณรอบ ๆ เกรตเลคเป็นเขตอุตสาหกรรม) แต่ปัญหาสำคัญของแม่น้ำสายนี้ คือ จะมีระยะที่เดินเรือไม่ได้ในฤดูหนาว ลักษณะพิเศษของแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ คือ มีการขุดร่องน้ำและสร้างประตูกั้นน้ำเป็นระยะ ๆ เนื่องมาจากบริเวณแม่น้ำมีแก่งน้ำตกขวางหลายแห่ง เส้นทางการขนส่งสินค้า และเดินเรือนี้ เรียกว่า “เซนต์ลอว์เรนซ์ซีเวย์” (St. Lawrence Seaway)
  3. แม่น้ำริโอแกรนด์ กั้นพรมแดนระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศเม็กซิโก

3. ลักษณะภูมิอากาศ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศของทวีปอเมริกาเหนือ

1. ละติจูด ทวีปอเมริกาเหนือตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 7 องศา 15 ลิปดาเหนือ ถึง 83 องศา 38 ลิปดาเหนือใกล้ขั้วโลกเหนือ จึงทำให้มีเขตภูมิอากาศทุกประเภทตั้งแต่อากาศร้อนไปจนถึงอากาศหนาวเย็นแบบขั้วโลก

2. ลมประจำ ลมประจำที่พัดผ่านทวีปอเมริกาเหนือ มีความแตกต่างกันตามช่วงละติจูด มีลมประจำที่สำคัญดังนี้

  • ลมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ พัดตั้งแต่ละติจูด 40 องศาเหนือลงไปทางใต้พัดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าสู่ทวีป จึงทำความชุมชื้นมาให้ชายฝั่งตะวันออกของทวีปตลอดทั้งปี ตั้งแต่ตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา อเมริกากลางและหมู่เกาะอินดิสตะวันตก
  • ลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดตั้งแต่ละติจูด 40 องศาเหนือถึง 60 องศาเหนือ พัดจากมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่ตอนกลางถึงตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาและตอนใต้ของแคนาดา
  • ลมขั้วโลก พัดอยู่บริเวณขั้วโลกนำความหนาวเย็นมาให้พื้นที่ทางตอนบนของทวีป

3. ความใกล้ไกลทะเล จากลักษณะรูปร่างของทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งตอนบนจะกว้างใหญ่ และค่อย ๆ เรียวแคบลงมาทางตอนใต้ ทำให้ตอนบนของทวีปได้รับอิทธิพลจากมหาสมุทรน้อย จึงทำให้พื้นที่ตอนบนมีภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง

4. ทิศทางของเทือกเขา ทิศทางการวางตัวของเทือกเขาในทวีปอเมริกาเหนือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้พื้นที่ทางตอนในของทวีปมีอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง โดยเฉพาะเทือกเขาทางตะวันตกของทวีป ซึ่งเป็นเทือกเขายุคใหม่ที่สูงมาก จึงขวางกั้นความชื้นที่มากับลมประจำ

5. กระแสน้ำ ทวีปอเมริกาเหนือมีกระแสน้ำ 4 สาย ซึ่งมีอิทธิพลต่ออากาศบริเวณชายฝั่งโดยกระแสน้ำอุ่น ทำให้อากาศบริเวณชายฝั่งอบอุ่นชุมชื่น ส่วนกระแสน้ำเย็นทำให้อากาศบริเวณชายฝั่งเย็นและแห้งแล้ง

  1. กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ไหลเลียบชายฝั่งตะวันออกของเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกาทางใต้ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะนิวฟันด์แลนด์ของแคนนาดา
  2. กระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ ไหลเลียบชายฝั่งตะวันตกของเกาะกรีนแลนด์ลงมาจนถึงชายฝั่งตะวันออกของแคนาดา พบกับกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม บริเวณเกาะนิวฟันด์แลนด์จึงทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งปลาชุม เนื่องจากมีอาหารปลาจำนวนมาก กลายเป็นเขตทำประมงที่สำคัญ เรียกบริเวณนี้ว่า “แกรนด์แบงค์” (Grand Bank)
  3. กระแสน้ำอุ่นอลาสกา ไหลเลียบชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสกาขึ้นไปทางเหนือจนถึงช่องแคบเบริง ทำให้ชายฝั่งอบอุ่น น้ำไม่เป็นน้ำแข็งสามารถจอดเรือได้ตลอดปี
  4. กระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนีย ไหลเลียบชายฝังตะวันตกของสหรัฐอเมริกาลงมาทางใต้จนถึงชายฝั่งคาบสมุทรแคลิฟอร์เนีย ทำให้ชายฝั่งมีอากาศเย็นและแห้ง

ข้อมูลน่ารู้ พายุที่มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศของทวีปอเมริกาเหนือเป็นอย่างมากคือ

  • พายุเฮอริเคน เป็นพายุหมุนเขตร้อน เช่นเดียวกับใต้ฝุ่น พายุนี้เกิดในทะเลแคริเบียน และอ่าวเม็กซิโก เป็นพายุที่ทำให้ฝนตกหนัก คลื่นลมแรงเคลื่อนตัวจากทะเลเข้าสู่ชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และหมู่เกาะในทะเลแคริเบียน
  • ทอร์นาโด เนื่องจากบริเวณภาคกลางของสหรัฐอเมริกาเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ทำให้มวลอากาศปะทะกันได้ง่ายเกิดเป็นพายุหมุนทอร์นาโด มีกำลังแรงมาก ก่อให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือน ในรอบ 1 ปีเกิดพายุนี้ได้บ่อยครั้ง จนได้รับสมญานามว่า “พายุประจำถิ่น” ของสหรัฐอเมริกา

 

เขตภูมิอากาศแบ่งออกได้เป็น 12 เขต ได้แก่

  1. ภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ได้แก่ บริเวณชายฝั่งตะวันออกของอเมริกากลาง และบางส่วนของหมู่เกาะอินดีสตะวันตก มีอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ย 18 องศาเซลเซียสและมีฝนตกชุกเฉลี่ย 1,700 มิลลิเมตรต่อปี ในเขตนี้ไม่มีฤดูหนาว
  2. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย ได้แก่ บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและภาคเหนือของเม็กซิโก มีอากาศร้อนจัดและมีฝนตกน้อยมาก เฉลี่ย 250 มิลลิเมตรต่อปี
  3. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเขตร้อน ได้แก่ ชายฝั่งตะวันตกของอเมริกากลาง พื้นที่ส่วนใหญ่ของเม็กซิโก บางส่วนของหมู่เกาะอินดีสตะวันตก และทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรฟลอริดา มีอุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว คือ ฤดูหนาวอากาศหนาวจัดฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัดและมีฝนตก
  4. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย ได้แก่ บริเวณชายขอบของเขตทะเลทรายเริ่มตั้งแต่บางส่วนของประเทศแคนาดาและเม็กซิโก ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา มีลักษณะภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้ง ฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด ฤดูร้อนมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณฝนไม่มากนัก แต่มากกว่าในเขตทะเลทราย
  5. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ในเขตรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ในฤดูร้อนมีอากาศไม่ร้อนจัด ในฤดูหนาวมีอากาศอบอุ่นแห้งแล้งและมีฝนตก
  6. ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น ได้แก่ บริเวณที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและที่ราบตอนกลางของทวีป อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีมีความใกล้เคียงกัน มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปีเฉลี่ย 750 มิลลิเมตรต่อปี
  7. ภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก ได้แก่ ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปีเฉลี่ย 2,000 มิลลิเมตรต่อไป ฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่นและค่อนข้างหนาวเย็น ฤดูหนาวมีอากาศอบอุ่น
  8. ภูมิอากาศแบบชื้นภาคพื้นทวีป ได้แก่ ตอนใต้ของประเทศแคนาดารอบ ๆ ทะเลสาบทั้ง 5 และภาคเหนือของสหรัฐอเมริกา ในฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น ในฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่นและมีฝนตก
  9. ภูมิอากาศแบบไทกา ได้แก่ ภาคเหนือของประเทศแคนาดา และตอนใต้ของรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา เป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวจัด มีหิมะตกติดต่อกันหลายเดือน ฤดูร้อนมีอากาศเย็น มีปริมาณฝนตกน้อยและระยะสั้น ๆ
  10. ภูมิอากาศแบบทุนดรา ได้แก่ ชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก ภาคเหนือของแคนาดา รัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา และชายฝั่งเกาะกรีนแลนด์ มีอากาศหนาวจัดเกือบตลอดทั้งปี ฤดูร้อนมีช่วงสั้นและอุณหภูมิต่ำเฉลี่ยตลอดทั้งปี 10 องศาเซลเซียส
  11. ภูมิอากาศแบบขั้วโลก ได้แก่ ตอนกลางของเกาะกรีนแลนด์ มีอากาศหนาวจัดมีน้ำแข็งปกคลุมเกือบตลอดทั้งปี บริเวณตอนกลางของเกาะมีน้ำแข็งปกคลุมหนาถึง 3,000 เมตร
  12. ภูมิอากาศแบบบริเวณภูเขาสูง ได้แก่ เทือกเขาสูงในภาคตะวันตก เป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ขึ้ออยู่กับความสูงของพื้นที่ เช่น ในฤดูร้อนด้านที่รับแสงแดดอากาศร้อนจัด ในด้านตรงกันข้ามจะมีอากาศหนาวเย็น ในแถบหุบเขาจะมีอากาศหนาวเย็นโดยเฉพาะในเวลากลางคืน อุณหภูมิจะต่ำลงเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น บริเวณยอดเขามีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ ในบริเวณนี้มีฝนตกน้อย

4. สภาพเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม

ลักษณะเศรษฐกิจ ลักษณะเศรษฐกิจของทวีปอเมริกาเหนือจะมีความแตกต่างกัน คือ ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา จะเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความเจริญสูง ส่วนในเขตของเม็กซิโก อเมริกากลางและหมู่เกาะอินดีสตะวันตกจะมีทั้งเขตเศรษฐกิจที่เจริญแล้ว และเขตที่ยังต้องได้รับการพัฒนา

การทำเกษตรกรรม

  1. เขตปลูกข้าวสาลี บริเวณที่มีการปลูกข้าวสาลี ซึ่งถือเป็นแหล่งสำคัญของโลก คือ บริเวณภาคกลางของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา
  2. เขตทำไร่ปศุสัตว์ พบในบริเวณที่ภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง เช่น ภาคตะวันตกของแคนาดา สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก สัตว์ที่เลี้ยง คือ โคเนื้อ
  3. เขตเกษตรกรรมแบบผสม ได้แก่ เขตที่มีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการปลูกพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ส่วนสัตว์เลี้ยงคือ โคเนื้อ โคนม การเกษตรลักษณะนี้พบบริเวณทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
  4. เขตปลูกฝ้าย ได้แก่ บริเวณทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศค่อนข้างร้อนและแห้ง
  5. เขตปลูกผัก ผลไม้และไร่ยาสูบ ได้แก่ บริเวณที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก
  6. เขตปลูกพืชเมืองร้อน พืชเมืองร้อนที่นิยมปลูกคือ กล้วย โกโก็ อ้อย กาแฟ ซึ่งมีมากบริเวณอเมริกากลางและหมู่เกาะอินดีสตะวันตก

การประมง
บริเวณที่มีการทำประมงกัน อย่างหนาแน่น คือ แกรนด์แบงค์ และบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะบริเวณที่มีกระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนียไหลผ่าน

การเหมืองแร่
ถ่านหิน สหรัฐอเมริกาและแคนาดา สามารถผลิตถ่านหินได้เป็นจำนวนมาก โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ บริเวณเทือกเขาแอปปาเลเซียน ในสหรัฐอเมริกา และมณฑลควิเบกของแคนาดา

เหล็ก แหล่งสำคัญ คือ ทะเลสาบเกรตแลค

น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พบบริเวณเทือกเขาแอปปาเลเซียนลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี อ่าวเม็กซิโก แคลิฟอร์เนีย อลาสกา

การทำอุตสาหกรรม สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำในการทำอุตสาหกรรมระดับโลก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ส่วนประเทศเม็กซิโก และอเมริกากลาง รวมถึงประเทศในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาต่อไป

สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม

ประชากร

- บริเวณที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี ลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอรว์เรนซ์ ที่ราบสูงในเม็กซิโก หมู่เกาะอินดีสตะวันตก
- มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เช่น อินเดียนแดง เอสกิโม ยุโรป แอฟริกัน เอเชีย และกลุ่มเลือดผสม

เขตวัฒนธรรม

- แองโกอเมริกา หมายถึง สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
- ลาตินอเมริกา หมายถึง กลุ่มคนในเมกซิโก อเมริกากลาง และหมู่เกาะอินดีสตะวันตก (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสเปนและโปรตุเกส)

ประเทศไทย
ทวีปเอเซีย
ทวีปยุโรป
ทวีปอเมริกาใต้
ทวีปอเมริกาเหนือ
ทวีปแอฟริกา
ทวีปออสเตรเลียและโอเซียเนีย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย