สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

พยาธิตัวตืด
(Tapeworms)

โรคพยาธิตืดวัว (Taenia saginata)
โรคพยาธิตืดหมู (Taenia solium)
Echinococcus granulosus โรคถุงน้ำ hydatid
โรคพยาธิตืดแคระ (Hymenolepis nana)
โรคพยาธิตืดหนู (Hymenolepis diminuta)
Raillietina siriraji

โรคพยาธิตืดหมู (Taenia solium)

พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่กินเนื้อหมูเป็นอาหาร พบได้บ่อยในประเทศเม็กซิโกและประเทศ ในอเมริกาใต้ จีน แมนจูเรีย ปากีสถาน อินเดีย ในประเทศไทยพบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ชอบกินเนื้อหมูดิบ ๆ สุก ๆ เป็นอาหาร

การติดต่อ

  • กินถุงพยาธิตืดหมูที่มีตัวอ่อนหรือหมูสาคู (Cysticercus cellulosae)ที่ปนเปื้อน มากับอาหารหรือน้ำ
  • รับประทานเนื้อหมูที่มีตัวอ่อนอยู่โดยไม่ทำให้สุกก่อน

อาการ

พยาธิเพียงตัวเดียวในลำไส้เล็กมักทำให้เกิดพยาธิสภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ถ้ามีตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ในการเคลื่อนตัวจะเพิ่มโอกาสทำให้เกิดลำไส้ หรือไส้ติ่งอุดตัน หรืออาจเข้าไปท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อนได้ สารพิษจากพยาธิอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการตามระบบได้ ถ้าเคลื่อนตัวมาที่ทวารหนักทำให้เกิดอาการคันรอบ ๆ ทวารหนัก

ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักลด ปวดศีรษะ ท้องผูก หรือท้องร่วงได้ บางครั้งพบอาการแพ้ เช่น ลมพิษ คันตามผิว พยาธิอาจทำให้เกิดการอุดตันของ ไส้ติ่ง ท่อน้ำดี ท่อตับอ่อน ทำให้เกิดการปวดท้องอย่างเฉียบพลัน

การวินิจฉัยโรค

  • การพบปล้องสุกหรือไข่สุกในอุจจาระ
  • การตรวจด้วยตาเปล่าตามผิวหนังผู้ป่วยจะพบเป็นปุ่มเล็ก (nodule) คล้ายถั่ว ซึ่งสามารถผ่าตัดออกมาได้
  • การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาไข่หรือปล้องสุก และความรุนแรง ของการติดเชื้อ
  • นับจำนวนแขนงของมดลูกโดยการฉีด indian ink เข้าไปในมดลูกของพยาธิ หรือ โดยการย้อมสี เพื่อแยกจากพยาธิตืดวัว
  • การตรวจน้ำไขสันหลังและการตรวจเลือด ผู้ป่วยที่มีถุงตัวอ่อนของพยาธิตืดหมู ที่สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำ ไขสันหลัง น้ำตาลในน้ำไขสันหลังอาจปกติหรือต่ำได้

การรักษา

ยาปราซิควอนเทล ขนาด 10-20 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งเดียวก่อนนอน

การป้องกัน

  • รับประทานอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อหมูที่สุก หรือเนื้อหมูที่ผ่านการทำลายตัวอ่อน แล้ว เช่น การฉายรังสี หรือ เก็บเนื้อหมู ไว้ในตู้เย็นที่ –20 0 C นาน 12 ชั่วโมง
    - ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
    - อนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
    - เลี้ยงหมูในคอกที่สะอาดและถูกอนามัย
    - โรงฆ่าสัตว์ควรสะอาดและถูกอนามัย เนื้อหมูที่ดีไม่ควรจะปนเปื้อนกับเศษ เนื้อหมู

    นอกจากนี้โรคพยาธิที่เกิดจากหมูอีกชนิดหนึ่ง คือ โรคถุงตัวตืด (Cysticercosis) เป็นโรคที่เกิดจากมีถุงตัวอ่อนของพยาธิตืดหมู ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

การติดต่อ

  • กินไข่พยาธิตืดหมูที่ปนอยู่กับอุจจาระ อาหาร ผักสด
  • จากการขย้อนปล้องแก่ของพยาธิตืดหมูที่อยู่ในลำไส้กลับขึ้นไปในกระเพาะ อาหาร

อาการ

อาการของโรคที่เกิดจากถุงตัวอ่อนของพยาธิตืดหมูมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวน อายุ และตำแหน่งของซีสต์ (cysts) โดยมีรายงานว่าถุงตัวอ่อนพยาธิตืดหมูที่พบในผู้ป่วยที่สมอง 60% ตา 3% และกล้ามเนื้อ 5% โดยเฉพาะทีกล้ามเนื้อจะพบได้บ่อยกว่าที่อื่น แต่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ

ที่สำคัญจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซีสต์ที่มีชีวิตจะก่อให้เกิดการอักเสบชนิด chronic lymphocytic และ granulomatous และพยาธิสภาพอาจอยู่นานถึง 20 ปี ซีสต์ที่ตายแล้วจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ มีการตายของเนื้อเยื่อ ซีสต์ที่ตายอาจหายไปเองหรือมีหินปูนมาหุ้ม และอยู่ในร่างกายได้นานหลายปี เมื่อมีหินปูนเกิดขึ้นอาการโรคต่าง ๆของผู้ป่วยจะลดลงจนหายไปในที่สุด

  • พยาธิตืดหมูที่สมอง (Neurocysticercosis) ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก ความดัน ในสมองสูง
  • พยาธิที่ตา (Ocular cysticercosis) อาจพบถุงพยาธิตืดตัวอ่อนเกาะอยู่ใต้เรตินา ทำให้ เกิดอาการบวม เลือดออก ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นมัว
  • พยาธิที่กล้ามเนื้อ (Muscular cysticercosis) พบถุงพยาธิตือตัวอ่อนได้ในกล้ามเนื้อทั่ว ร่างกาย รวมทั้งกระพุ้งแก้ม ลิ้น เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงระหว่างติดพยาธิในระยะแรก นอกจากนี้การอักเสบ อาจพบรอบ ๆ ซีสต์ด้วย ทำให้กล้ามเนื้อบวม ต่อมากล้ามเนื้อจะฝ่อเกิดซีสต์ที่มีเนื้อเส้นใยอย่างผิดปกติ และมักมีหินปูนมาหุ้ม

การวินิจฉัยโรค

พบถุงพยาธิตืดหมู หรือหมูสาคู (Cysticercus cellulosae) ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเป็นปุ่มเล็ก (nodule) คล้ายถั่ว ซึ่งสามารถผ่าออกมาได้

การรักษา

  • ใช้ยาปราซิควอนเทล ขนาด 30-50 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน แบ่งกินวันละ 3 ครั้ง นาน 1-2 สัปดาห์
  • ใช้การผ่าตัดเอาถุงพยาธิออก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของถุงพยาธิและอาการของผู้ป่วย

การป้องกัน

  • รับประทานอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อหมูที่สุก หรือเนื้อหมูที่ผ่านการทำลายตัวอ่อน แล้ว เช่น การฉายรังสี หรือเก็บเนื้อหมูไว้ในตู้เย็นที่ –20 องศาเซลเซียส นาน 12 ชั่วโมง
  • ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  • เลี้ยงหมูในคอกที่สะอาดและถูกอนามัย
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย