วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
แหล่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิด
ปัญหาเรื่องการจัดการเซลล์สืบพันธุ์ ตัวอ่อน และเซลล์ต้นกำเนิด
ตัวอย่างนโยบายของประเทศต่างๆ
ความเคลื่อนไหวและการนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย
สถานการณ์ทางด้านกฎหมายในประเทศ
แหล่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิด
อาจจะแบ่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิดได้จาก 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ
- เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากตัวอ่อน (Embryonic Stem Cell - ES)
เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้มาจากตัวอ่อนของมนุษย์ หลังจากการปฏิสนธิจนถึง 14 วัน
เซลล์เหล่านี้ยังไม่มีความจำเพาะ สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ได้
เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากตัวอ่อนนี้ส่วนใหญ่จะได้มาจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ด้วยเทคนิคการปฏิสนธิในหลอดแก้ว (In vitro Fertilization) หรือจากกระบวนการเปลี่ยนถ่ายนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย (Somatic cell nuclear transfer SCNT) ซึ่ง SCNT นี้ถือว่าเป็นการโคลนนิ่งประเภทหนึ่งซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการรักษาผู้ป่วย (Therapeutic Cloning) - เซลล์ต้นกำเนิดที่ไม่ได้จากตัวอ่อน - ที่มาของเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้ เช่น
- ได้จากเลือดจากสายสะดือ (Umbilical Cord Blood) ของทารกแรกคลอด
- ได้จากเลือดหรือไขกระดูกของผู้ใหญ่ (Adult Stem cell หรือ hematopoietic Cell)
ข้อพิจารณา
ประเด็นทางจริยธรรม
ในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้มาจากตัวอ่อนก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงทางจริยธรรม
ในระดับนานาชาติ คือประเด็นชีวิตเกิดขึ้นเมื่อใด
เนื่องมาจากในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่มาจากตัวอ่อนนี้
ต้องสกัดเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนหลังปฏิสนธิอายุประมาณ 5-7
วันที่มีการแบ่งตัวภายในในระยะที่เหมาะสม การนำเซลล์ต้นกำเนิดออกจากตัวอ่อนนี้
จะส่งผลให้ตัวอ่อนนั้นถูกทำลายลง
ในการถกเถียงในแง่มุมเหล่านี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม และในทางศาสนามีความคิดเห็นแตกต่างกันไป ตัวอย่าง เช่น
- ในศาสนาอิสลาม ความเห็นต่อการเริ่มต้นของชีวิต แตกต่างกันเป็น 3 ความเห็น
ได้แก่ ทัศนะที่ 1 เห็นว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่อปฏิสนธิในครรภ์
ภาษาอาหรับเรียกกว่านุตฟะห์ ทัศนะที่ 2
ชีวิตเริ่มต้นเมื่อทารกถูกใส่วิญญาณเข้าไปในร่าง คือเมื่อตั้งครรภ์ได้ 120 วัน
ทัศนะที่ 3 ชีวิตเริ่มต้นเมื่อทารกเริ่มเคลื่อนไหวขณะอยู่ในครรภ์
คือเมื่อตั้งครรภ์ได้ 40 วัน เป็นต้น
- ศาสนาพุทธ ชีวิตเกิดเมื่อปฏิสนธิแล้ว แต่ยังคงมีข้อพิจารณาว่า อย่างไรจึงถือว่าชีวิตได้เกิดขึ้นแล้ว ในกรณีที่เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย เช่น การปฏิสนธิโดยใช้เทคนิคเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น
ข้อถกเถียงในเชิงศีลธรรมและจริยธรรมในลักษณะนี้ ยากที่จะหาข้อยุติ
แต่ในทางกฎหมายจำเป็นต้องมีเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อใช้บังคับต่อเรื่องดังกล่าว
ข้อพิจารณาทางกฎหมาย
การใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน นอกจากมีประเด็นเชิงจริยธรรมแล้ว
ในทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายไทย
ยังมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับตัวอ่อนและการใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่ควรพิจารณาดังต่อไปนี้
ปัญหาสถานะทางกฎหมายเกี่ยวกับเซลล์สืบพันธุ์ (อสุจิและไข่) ตัวอ่อน
และสภาพบุคคลของตัวอ่อน
สถานะทางกฎหมายของเซลล์สืบพันธุ์ ตัวอ่อน
มีความสำคัญต่อการพิจารณาระดับความคุ้มครองทางกฎหมาย เมื่อมีข้อพิพาท
รวมถึงกรณีของผู้ใช้สิทธิดำเนินการต่อสิ่งเหล่านี้
และสิทธิของตัวอ่อนและเด็กที่อาจเกิดขึ้น
ในแง่ของทรัพย์สิน
เซลล์สืบพันธุ์ (อสุจิและไข่)
เมื่อยังคงอยู่ในร่างกายไม่มีฐานะเป็นทรัพย์สิน
แต่เมื่อหลุดพ้นจากร่างกายอาจถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์ ตัวอ่อน
ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งตามกฎหมาย เนื่องจาก ถือเอาได้และเป็นวัตถุแห่งสิทธิ
(object of right) แต่จัดได้ว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ จึงไม่สามารถซื้อขายก้นได้
ประเด็นพิจารณา
การอ้างสิทธิเหนือตัวอ่อนก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากในการพิจารณา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอ่อนที่ปฏิสนธินอกร่างกาย เช่น เป็นทรัพย์ที่เป็นสินส่วนตัว
หรือสินสมรส หรือกรณีการจัดการตัวอ่อนควรเป็นอย่างไร
ดำเนินการได้ตามลำพังหรือต้องขอความยินยอมสองฝ่าย หรือในกรณีตกเป็นทรัพย์มรดก
เป็นต้น
แม้ว่ากฎหมายไทยมีบัญญัติเรื่องทรัพย์สินไว้แล้วในกรณีต่างๆ
แต่การดำเนินทางในฐานะทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเซลล์สืบพันธุ์และตัวอ่อน
ยังไม่เพียงพอ
และมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมในกรณีของตัวอ่อนในสถานะของสิ่งมีชีวิตและมีศักยภาพที่จะพัฒนาเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์
ในแง่ของบุคคล
ในแง่มุมของกฎหมาย
การเริ่มต้นของสภาพบุคคลเป็นเรื่องสำคัญและได้รับการคุ้มครอง
โดยกฎหมายให้ความคุ้มครองทั้งชีวิตในครรภ์มารดา
แต่ในการคุ้มครองของกฎหมายเริ่มต้นเมื่อไข่ผสมกับอสุจิและตัวอ่อนฝังตัวในโพรงมดลูกแล้ว
โดยพิจารณาจากไม่มีข้อกำหนดความผิดในการคุมกำเนิด (เช่น
การคุมกำเนิดด้วยวิธีใส่ห่วง ที่ป้องกันการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว)
แต่กำหนดความผิดในการทำให้แท้งลูก ตามประมวลกฎหมายอาญา
และรวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิ แม้ยังไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย
ภายใต้เงื่อนไขที่คลอดมาและอยู่รอด ตามประมวลกฎหมายแพ่ง
ประเด็นพิจารณา
ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
ซึ่งเทคนิคที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นการกระตุ้นให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย
ความคุ้มครองทางกฎหมายควรดำเนินการยังคงมีช่องว่าง
การนำเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนไปใช้ อาจพิจารณาในแง่ของสถานะความเป็นบุคคลหรือไม่
อย่างไร ในปัจจุบันควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น