เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
ประโยชน์ของถั่วเหลือง
พฤกษศาสตร์ของถั่วเหลือง
ระยะการพัฒนาของถั่วเหลือง
สภาพดิน-อากาศที่เหมาะต่อการปลูกถั่วเหลือง
การปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย
พันธุ์ที่ใช้ปลูก
วิธีการปลูก
การดูแลรักษา
โรคถั่วเหลือง
แมลงศัตรูถั่วเหลือง
การเก็บเกี่ยวและนวดถั่วเหลือง
วิธีการปลูก
ก่อนปลูกก็มีการเตรียมดินเช่นพืชอื่น ๆ
แต่สำหรับถั่วเหลืองนั้นต้องเตรียมดินให้ร่วนละเอียดเพื่อให้เมล็ดสัมผัสกับความชื้นในดินและงอกได้ดี
ถ้ากระทำได้ก็หว่านปูนขาวแล้วไถพรวนทิ้งไว้หลาย ๆ วัน
ก่อนไถพรวนครั้งสุดท้ายก็หว่านปุ๋ย การพรวนครั้งนี้พรวนให้ลึกราว 10-15 ซม.
แล้วกาแถวปลูกให้แถวห่างกัน 40-50 ซม.
การปลูกอาจจะใช้วิธีโรยลงไปในร่องแถวให้เมล็ดในแถวห่างกันราว 3-4 ซม.
ถ้าโรยขนาดนี้ไม่ต้องถอนแยกเพราะถั่วเหลืองจะงอกในอัตราพอดี ถ้าปลูกเป็นหลุม
ก็ให้หลุมห่างกัน 10-20 ซม. แล้วหยอดหลุมละ 4-5 เมล็ด
ถ้าเมล็ดงอกมากไปก็ถอนแยกให้เหลือ 2-3 ต้น/หลุมเป็นอย่างมาก
การปล่อยให้แต่ละหลุมมีมากต้นเกินไปย่อมทำให้ต้นเล็ก มีกิ่งและฝักน้อย
ทั้งนี้เพราะถั่วเหลืองแย่งอาหารและความชื้นซึ่งกันและกัน
วิธีการปลูกดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่แนะนำจากผลงานทดลองของกรมวิชาการเกษตรและเผยแพร่โดยกรมส่งเสริมการเกษตร
แต่กสิกรเพียงส่วนน้อยที่ดำเนินตามคำแนะนำนี้
ส่วนมากกสิกรปลูกโดยวิธีหว่านอย่างหนาแน่น หรือโรยเป็นแถวใช้เมล็ด 15-30 กก./ไร่
ไม่มีการใช้ปุ๋ยและปูนขาวแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะการใส่ปุ๋ย ปูนขาว
และการปลูกเป็นแถวเป็นการลงทุนสูง
ทำให้เกิดความเสี่ยงและการที่กสิกรหว่านอย่างหนาแน่นนี้เป็นการลดปัญหาวัชพืชไปด้วยในตัว
การปลูกในฤดูแล้งในนาหลังข้าว (เช่น ที่เชียงใหม่)
นั้นมักกระทำโดยตัดตอซังให้ชิดดิน ปล่อยน้ำให้เข้านาพอดินเปียกแต่ไม่ให้มีน้ำขัง
แล้วหยอดเมล็ดถั่วลงบนตอซัง 5-6 เมล็ด ระยะกอขึ้นอยู่กับระยะของตอซังนั่นเอง
ต่อจากนั้นก็ใช้ขี้เถ้ากลบตอซังกอละหนึ่งกำมือเพื่อป้องกันมิให้หนูมากินเมล็ดที่หยอดไว้
หรืออาจใช้เสียมฝังเมล็ดใกล้ ๆ ตอซัง วิธีหลังนี้อาจเผาซังกลบทั้งแปลงปลูกอีกก็ได้
จะได้เป็นการทำลายวัชพืช โรค แมลงได้ด้วยในตัว
เป็นที่สังเกตว่าในการปลูกในนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวนี้ไม่มีการไถ
หรือเตรียมดินแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นก็ไม่มีการใส่ปุ๋ย
จัดได้ว่าเป็นการปลูกเพื่อผลพลอยได้หรือเพื่อบำรุงดิน
ผลผลิตที่ได้จึงมักจะต่ำกว่าปกติ