ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม

กำเนิดวัฒนธรรม

ความหมายของวัฒนธรรม
ประเภทของวัฒนธรรม
องค์ประกอบของวัฒนธรรม
หน้าที่ของวัฒนธรรม
ที่มาของวัฒนธรรม
ลักษณะของวัฒนธรรม
พัฒนาการของวัฒนธรรมไทย

ความหมายของวัฒนธรรม

คำว่า “วัฒนธรรม ” มาจากภาษาอังกฤษ คำว่า “ Culture ” คำนี้มีรากศัพท์มาจาก “ Cultura ” ในภาษาละติน มีความหมายว่า การเพาะปลูกหรือการปลูกฝัง (อานนท์ อาภาภิรม, 2519: 99) ซึ่งอธิบายได้ว่ามนุษย์เป็นผู้ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้เกิดความเจริญงอกงามในด้านภาษาศาสตร์ “วัฒนธรรม” เป็นคำที่ได้มาจากการรวมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน ได้แก่

-วัฒนะ หรือ วัฒน หมายถึง ความเจริญงอกงาม รุ่งเรือง
-ธรรมะ หรือ ธรรม หมายถึง กฎ ระเบียบ หรือข้อปฏิบัติ

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมตามความหมายนี้จึงหมายถึง ความเป็นระเบียบ การมีวินัย เช่น เมื่อกล่าวถึงบุคคลหนึ่งว่า เป็นคนมีวัฒนธรรม ก็มักจะหมายความว่า เป็นที่มีระเบียบวินัย เป็นต้น

ในด้านสังคมศาสตร์ วัฒนธรรมมีความหมายกว้างขวางมาก กล่าวคือ วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิต (WAY OF LIFE) ของมนุษย์ในสังคม และแบบแผนในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุก ๆ อย่างรวมทั้งบรรดาผลงานทั้งมวลที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น ตลอดจนความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และความรู้ต่าง ๆ เป็นต้น

ในด้านนิติศาสตร์แบบไทย พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2483 (บรรจง สกุลชาติ. 2526: 56) กล่าวไว้ดังนี้
“วัฒนธรรม หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน” ความหมายนี้ ทางราชการและวงการทั่วไปยังคงใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นักวิชาการไทยบางท่านได้ให้ความหมายวัฒนธรรมคล้าย ๆ กัน เช่น

พระยาอนุมานราชธน กล่าวว่า “ วัฒนธรรม คือสิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงปรับปรุง หรือผลิตสร้างขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีแห่งชีวิตของส่นรวมที่ถ่ายทอดกันได้เลียนแบบกันได้ เอาอย่างกันได้” (พระยาอนุมานราชธน. ม.ป.ป. : 6)

อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า “วัฒนธรรมคือ มรดกทางสังคมที่ได้ตกทอดมาเป็นสมบัติของมนุษย์ในสมัยปัจจุบัน และนำมาใช้ในการครองชีวิตเป็นแบบแผนแห่งการครองชีวิต (Design of Living) หมายความว่า วัฒนธรรมเป็นแบบฉบับบที่ทำการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ไปว่าจะต้องทำอย่างไร และทำอย่างไร คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร อะไรดี อะไรชั่ว วัฒนธรรมมิได้หมายความถึงการเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติงานได้เหมาะสม หือความเป็นผู้มีจิตใจสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างและรับมาปฏิบัติสืบต่อมา”

ยุทธ ศักดิ์เดชยันต์ ได้กล่าวว่า “วัฒนธรรม รวมถึงความคิด และแบบแผนพฤติกรรมทุกอย่างที่ตกทอดสืบต่อกันมาโดยทางการสื่อสารหรือส่งสัญลักษณ์ ไม่ตกทอดโดยกรรมพันธุ์ เราเรียนรู้ วัฒนธรรมโดยอาศัยคำพูด ท่าทาง เช่น การที่นกรู้สร้างรังได้นั้นเป็นการตกทอดทางกรรมพันธุ์ แต่การที่มนุษย์รู้จักสร้างบ้านพันที่อยู่อาศัยนั้นเป็นถ่ายทอดทางวัฒนธรรม”

จากความหมายของวัฒนธรรมทั้งในด้านทั่ว ๆ ไป ด้านภาษาศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ และนักวิชาการบางท่านได้กล่าวไว้ อาจหลอมรวมเข้าด้วยกันและสรุปได้คือ
วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคมของกลุ่มดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ได้สร้างสงระเบียบ กฎเกณฑ์วิธีในการปฏิบัติ รวมทั้งการจัดระเบียบ ตลอดจนระบบความ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยได้วิวัฒนาการสืบทอดกันมาอย่างมีแบบแผน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย