วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา
ใบพายเขาใหญ่
อรุณี รอดลอย ,วิไลวรรณ เหมศิริ ,มาลี เอี่ยมทรัพย์ ,พงษ์ศักดิ์ นิธิกุล และ ศิวิมล ติรณะรัต
พรรณไม้น้ำสวยงามจัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยมีการนำมาประดับตกแต่งตู้ปลาหรือจัดสวนพรรณไม้น้ำ ปัจจุบันมีพรรณไม้น้ำชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประดับตู้ปลาและตู้พรรณไม้น้ำมากกว่า 250 ชนิด (Riehl and Baensch, 1987) พรรณไม้น้ำนอกจากจะมีรูปทรงสีสันหลากหลายสวยงามแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อปลา โดยพรรณไม้น้ำมีการสังเคราะห์แสงให้ออกซิเจน ซึ่งปลานำไปใช้หายใจ และช่วยกำจัดของเสียที่ขับถ่ายจากตัวปลา โดยการนำไปเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของพรรณไม้น้ำ ในด้านเศรษฐกิจ พรรณไม้น้ำเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีอนาคตสดใส ปัจจุบันตลาดพรรณไม้น้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการขยายตัวค่อนข้างสูง ทำให้มูลค่าการส่งออกพรรณไม้น้ำสูงถึง 100 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มในการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น พรรณไม้น้ำในครอบครัว (Family) Araceae เช่น พรรณไม้น้ำในสกุล Cryptocoryne ซึ่งนิยมเรียกสั้นๆ ว่า คริป (Crypts) เป็นพรรณไม้น้ำสวยงามชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าในการส่งออกสูง ในธรรมชาติพรรณไม้น้ำสกุลนี้มีการแพร่กระจายตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา (วิทยาและคณะ, 2540) Cryptocoryne จัดเป็นพืชมีดอก ใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพืชล้มลุกขึ้นในน้ำจืด ตามหนอง บึง ที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วมขังตื้นๆ หรือบริเวณริมคลองที่มีน้ำไหลเอื่อยๆ ลักษณะเป็นลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน มีไหลสั้นๆ ใบแตกออกเป็นกระจุกรอบข้อแทงขึ้นมาจากพื้น เส้นใบเรียงตัวขนานกัน ก้านใบเป็นโพรง ดอกออกเป็นช่อชูขึ้นมาเหนือน้ำ หุ้มด้วยกาบประดับที่มีลักษณะเป็นหลอดปลายแผ่ออกคล้ายปากแตร มีส่วนโคนโป่ง จัดเป็นพรรณไม้น้ำที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากเนื่องจากความสวยงามแปลกตา พรรณไม้น้ำในสกุล Cryptocoryne มีมากกว่า 60 ชนิด บางชนิดมีการเจริญเติบโตเหนือน้ำ บางชนิดเป็นพวกเจริญใต้น้ำ
พรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne ที่พบในประเทศไทยได้รับความนิยมนำมาประดับตู้ปลามากเนื่องจากสวยงามแปลกตา ได้แก่ บอนแดง (Cryptocoryne blasii) พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย ใบพายหรือวาน้ำ (Cryptocoryne ciliata) มีแพร่กระจายทางภาคกลางและภาคใต้ของไทย และ ใบพายเขาใหญ่ (Cryptocoryne balansae) ซึ่งเป็นพรรณไม้น้ำพื้นเมืองของไทย พบแพร่กระจายทางภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(วันเพ็ญ และกาญจนรี, 2543)ใบพายเขาใหญ่ Cryptocoryne balansae Gagnepain, 1941 เป็นพรรณไม้น้ำพื้นเมืองของไทยที่ชอบขึ้นในพื้นที่เป็นดินปนทรายหรือโคลนปนทรายหรือตามซอกหินบริเวณลำธารหรือบนที่สูงบริเวณน้ำตก (Rataj and Horeman, 1977) นิยมนำมาปลูกประดับตู้ปลาเพราะมีรูปทรงและสีสันของใบสวยงาม ทนทาน สามารถอยู่ในตู้ปลาได้นานจึงเป็นพรรณไม้น้ำที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากและมีราคาดี (วันเพ็ญ และกาญจนรี, 2543) อย่างไรก็ตามผลผลิตยังทำได้น้อย เนื่องจากปริมาณจำกัดในธรรมชาติ ค่อนข้างหายาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและเหง้าหรือไหล เมื่อนำมาเพาะขยายพันธุ์ในแปลงเพาะเลี้ยงมีการเจริญเติบโตได้ช้า หากมีการรวบรวมจากธรรมชาติมากโดยรู้เท่าไม่ถึงการอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ขึ้นได้ ดังนั้นการศึกษาชีววิทยาของใบพายเขาใหญ่ ทำให้ทราบแหล่งกระจายพันธุ์ในธรรมชาติ และสภาพทางนิเวศวิทยาของแหล่งเจริญเติบโตของใบพายเขาใหญ่ เช่น คุณสมบัติของน้ำ คุณสมบัติของดิน สภาพแวดล้อมของแหล่งเจริญเติบโต ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ที่เหมาะสมในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเพื่อผลิตพรรณไม้น้ำสวยงาม เช่น การขยายพันธุ์ในแบบมหมวลโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จนกระทั่งการพัฒนาแนวทางในการนำผลผลิตที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำมาเลี้ยงในเรือนเพาะชำและแปลงเลี้ยง และนำมาประยุกต์ใช้ในฟาร์มเพาะเลี้ยงพรรณไม้น้ำที่จัดสร้างให้มีสภาวะที่เหมาะสมตามที่ได้ศึกษามาจากสภาพธรรมชาติ นำไปสู่วิธีการผลิตซึ่งทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อทดแทนการเก็บรวบรวมจากธรรมชาติ และเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการในการส่งออก ส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงพรรณไม้น้ำแก่เกษตรกร นอกจากนี้การศึกษาทางด้านชีววิทยาจะทำให้สามารถนำไปวางมาตรการในการอนุรักษ์และการเพิ่มผลผลิตในธรรมชาติ เพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ลักษณะทั่วไปของใบพายเขาใหญ่
การศึกษาสภาพนิเวศวิทยาของแหล่งเจริญเติบโต