วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา

ใบพายเขาใหญ่

ลักษณะทั่วไปของใบพายเขาใหญ่
การศึกษาสภาพนิเวศวิทยาของแหล่งเจริญเติบโต

การศึกษาสภาพนิเวศวิทยาของแหล่งเจริญเติบโต

คุณสมบัติของน้ำในแหล่งเจริญเติบโตของใบพายเขาใหญ่

  • อุณหภูมิของน้ำ มีค่าอยู่ระหว่าง 24.0-24.5 องศาเซลเซียส ค่าเฉลี่ยในรอบปี 24.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิของอากาศ มีค่าอยู่ระหว่าง 24.6-28.0 องศาเซลเซียส เฉลี่ยในรอบปี 26.1 องศาเซลเซียส
  • ความเข้มแสง มีค่าอยู่ระหว่าง 8,100-49,500 LUX ค่าเฉลี่ยในรอบปี 25,650 LUX
  • ความขุ่นใสของน้ำ มีค่าอยู่ระหว่าง 3.57- 21.23 FTU ค่าเฉลี่ยในรอบปี 80 FTU
  • ความเป็นกรดเป็นด่าง มีค่าอยู่ระหว่าง 6.32-6.95 ค่าเฉลี่ยในรอบปี 6.59
  • ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ มีค่าอยู่ระหว่าง 5.4-7.4 มก./ล. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 6.5 มก./ล.
  • ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อิสระในน้ำ มีค่าอยู่ระหว่าง 4.0-7.0 มก./ล. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 5.25 มก./ล.
  • ความเป็นด่าง มีค่าอยู่ระหว่าง 24-52 มก./ล. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 36.5 มก./ล.
  • ความกระด้าง มีค่าอยู่ระหว่าง 22-51 มก./ล. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 33.75 มก./ล.
  • แอมโมเนีย-ไนโตรเจน มีค่าอยู่ระหว่าง 0.0280-0.0437 มก./ล. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 0.0380 มก./ล.
  • ไนไตรต์-ไนโตรเจน มีค่าอยู่ระหว่าง 0.0029-0.0064 มก./ล. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 0.0049 มก./ล.
  • ไนเตรต-ไนโตรเจน มีค่าอยู่ระหว่าง 0.0235-0.0478 มก./ล. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 0.0384 มก./ล.
  • ออร์โธฟอสเฟต มีค่าอยู่ระหว่าง 0.0134-0.0334 มก./ล. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 0.0241 มก./ล.

คุณสมบัติของดินในแหล่งเจริญเติบโตของใบพายเขาใหญ่

  • ความเป็นกรดเป็นด่าง มีค่าอยู่ระหว่าง 6.05-6.58 ค่าเฉลี่ยในรอบปี 6.26
  • อินทรียวัตถุ โดยเปรียบเทียบกับองค์ประกอบของดิน เปอร์เซ็นต์ organic matter มีอัตราส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 0.44-1.37 และมีค่าเฉลี่ยในรอบปีอัตราส่วนร้อยละ 0.84
  • ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ มีค่าอยู่ระหว่าง 5.49-23.43 มก./กก. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 13.31 มก./กก.
  • โพแทสเซียม มีค่าอยู่ระหว่าง 31.0-149.46 มก./กก. ค่าเฉลี่ยในรอบปี 93.09 มก./กก.
  • สัดส่วนอนุภาคของดิน พบว่าเป็นดินที่มีลักษณะเป็นดินทราย (Sandy Loam) และดินเหนียวปนทราย (Sandy Clay Loam)

จากการศึกษาคุณสมบัติของน้ำและดินในแหล่งเจริญเติบโตของใบพายเขาใหญ่ พบว่าน้ำมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.32-6.95 และดินมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.05-6.58 สอดคล้องกับรายงานของอรุณี และณฐกร (2548) ที่รายงานว่าพรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne ที่สำรวจในภาคกลางและภาคตะวันออกพบบริเวณที่เป็นลำธารที่น้ำมีกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.06-7.98 และดินมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 4.3-7.4 และในภาคใต้พบบริเวณที่เป็นลำธารที่น้ำมีกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.14-7.3 และดินมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.2-6.7 สำหรับความกระด้างจากการสำรวจมีค่าอยู่ระหว่าง 22-51 มก./ล. สอดคล้องกับ Rataj and Horeman (1977) ที่รายงานว่า พบ Cryptocoryne balansae บริเวณที่น้ำมีความกระด้างน้อยจนถึงมาก หรือลำธารที่เป็นภูเขาหินปูนซึ่งน้ำมีความกระด้างสูง จากการวิเคราะห์อินทรียวัตถุในดินในการสำรวจครั้งนี้ พบว่ามีอัตราส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 0.44-1.37 ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ มีค่าอยู่ระหว่าง 5.49-23.43 มก./กก. และโพแทสเซียม มีค่าอยู่ระหว่าง 31.0-149.46 มก./กก. สอดคล้องกับรายงานของ อรุณี และณฐกร (2548) ที่รายงานว่าพรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne ที่สำรวจในภาคกลางและภาคตะวันออกพบในลำธารที่ดินมีอินทรียวัตถุอยู่ระหว่าง 0.41-6.16 ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ มีค่าอยู่ระหว่าง 2-25 มก./กก. โพแทสเซียม มีค่าอยู่ระหว่าง 15-64 มก./กก. สำหรับสัดส่วนอนุภาคของดินจากการวิเคราะห์ครั้งนี้ พบว่าเป็นดินที่มีลักษณะเป็นดินทราย (Sandy Loam) และดินเหนียวปนทราย (Sandy Clay Loam) สอดคล้องกับรายงานของอรุณี และณฐกร (2548) ที่รายงานว่าพรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne ที่สำรวจในภาคกลางและภาคตะวันออก ดินมีลักษณะเป็นดินทราย และดินเหนียวปนทราย (Sandy Clay Loam / Sandy Loam / Loamy Sand / Sand )

จากคุณสมบัติของน้ำอื่น ๆ เช่น อุณหภูมิของน้ำมีค่าเฉลี่ยในรอบปี 24.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิของอากาศ มีค่าเฉลี่ยในรอบปี 26.1 องศาเซลเซียส แสดงว่าใบพายเขาใหญ่จะอาศัยในแหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิที่ไม่สูงและไม่ต่ำมากเกินไป ค่าความเข้มแสง มีค่าเฉลี่ยในรอบปี 25,650 LUX แสดงว่าแสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของใบพายเขาใหญ่ สอดคล้องกับการศึกษาของ Boney (1975) ที่รายงานว่าสาหร่ายที่อยู่ใต้น้ำมีอัตราสังเคราะห์แสงอยู่ในช่วง 20,000 – 30,000 LUX ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ มีค่าเฉลี่ยในรอบปี 6.5 มก./ล. เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่เป็นลำธารน้ำไหลจึงมีค่าออกซิเจนที่ละลายน้ำสูงเพราะมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของน้ำกับอากาศตลอดเวลา ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อิสระในน้ำ มีค่าเฉลี่ยในรอบปี 5.25 มก./ล. ซึ่งเป็นค่าที่ค่อนข้างสูงเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพรรณไม้น้ำ ความลึกและความขุ่นใสของน้ำมีความสอดคล้องกัน คือช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน ระดับน้ำมีความลึก 120 – 140 ซม. ความขุ่นใสของน้ำ 15.19 – 21.23 FTU เนื่องจากน้ำฝนที่ชะล้างลงมาและกระแสน้ำที่แรง ทำให้เกิดตะกอนดินในน้ำและน้ำมีความขุ่นสูง ในขณะที่ช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ระดับน้ำมีความลึก 30 ซม. ความขุ่นใสของน้ำ 3.57 – 5.05 FTU เนื่องจากช่วงนี้ระดับน้ำลดลง มีการตกตะกอน สำหรับค่าค่าแอมโมเนีย-ไนโตรเจน มีค่าเฉลี่ยในรอบปี 0.0380 มก./ล. ไนไตรต์-ไนโตรเจน มีค่าเฉลี่ยในรอบปี 0.0049 มก./ล. ไนเตรต-ไนโตรเจน มีค่าเฉลี่ยในรอบปี 0.0384 มก./ล. และออร์โธฟอสเฟต มีค่าเฉลี่ยในรอบปี 0.0241 มก./ล. ซึ่งฟอสฟอรัส เป็นธาตุอาหารที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายในแหล่งน้ำจืด ในแหล่งน้ำมักอยู่ในรูปออร์โธฟอสเฟต (orthophosphate) ซึ่งไมตรีและจารุวรรณ (2528) อ้างถึงการศึกษาในต่างประเทศว่า หากแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงเกินกว่า 0.01 มก./ล. จัดว่าแหล่งน้ำนั้นมีธาตุอาหารมากเกินไป แหล่งน้ำที่มีปัญหามลภาวะมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงกว่า 0.6 มก./ล. แสดงว่าในแหล่งน้ำที่สำรวจน้ำมีปริมาณธาตุอาหารค่อนข้างสูงเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพรรณไม้น้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่อยู่บนที่สูงมีการชะล้างของธาตุอาหารจากดินลงสู่แหล่งน้ำเมื่อมีฝนตก

จากการศึกษาผลผลิตมวลชีวภาพของใบพายเขาใหญ่ พบว่ามีผลผลิตมวลชีวภาพสูงสุดในเดือนกันยายน (น้ำหนักสดเฉลี่ย 304 กรัมต่อตารางฟุต) ต่ำสุดในเดือนมีนาคม (น้ำหนักสดเฉลี่ย 46 กรัมต่อตารางฟุต) และความยาวเฉลี่ยของใบมีค่าต่ำสุดในเดือนมีนาคม (21.22 ซม.) และสูงสุดในเดือนกันยายน (41.74 ซม.) ดังนั้นข้อมูลผลผลิตมวลชีวภาพของใบพายเขาใหญ่จึงสอดคล้องกับค่าความยาวเฉลี่ยของใบ เนื่องจากเดือนมีนาคมน้ำในลำธารลดปริมาณลงต้นใบพายเขาใหญ่ที่พบจะเป็นต้นที่อยู่บนบกเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความยาวเฉลี่ยของใบน้อย ในขณะที่เดือนกันยายนเป็นช่วงที่น้ำมีความลึก ส่วนใหญ่จะพบต้นใต้น้ำจึงมีความยาวเฉลี่ยของใบมากกว่าช่วงอื่น ๆ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีรายงานการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ เอกสารอ้างอิง

  • กองเกษตรเคมี. มปป. วิธีการเก็บตัวอย่างดินและน้ำเพื่อการวิเคราะห์. กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 36 น.
  • ไมตรี ดวงสวัสดิ์ และจารุวรรณ สมศิริ. 2528. คุณสมบัติของน้ำและวิธีวิเคราะห์สำหรับการวิจัยทางการประมง.
  • สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ กรมประมง, กรุงเทพฯ. 115 น.
  • วันเพ็ญ มีนกาญจน์ และกาญจนรี พงษ์ฉวี. 2543. พรรณไม้น้ำสวยงาม. สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ, กรุงเทพฯ. 122 หน้า.
  • วิทยา หวังเจริญพร กำชัย ลาวัณยวุฒิ กาญจนรี พงษ์ฉวี และชัชวาลย์ จตุพร. 2540. การจัดตู้และเพาะเลี้ยงพรรณไม้น้ำ. สถาบันพัฒนาปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ กรมประมง.
  • ศรีสม สุวรรณวงศ์. มปป. การวิเคราะห์ธาตุอาหารพืช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 140 น.
  • อรุณี รอดลอย และณฐกร ประดิษฐ์สรรพ์. 2548. การสำรวจและการเลี้ยงพรรณไม้น้ำสกุลใบพาย
  • Cryptocoryne. เอกสารวิชาการฉบับที่ 24/2548 สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 38 หน้า

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย