ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค)

บทบาททางด้านการเมืองการปกครอง
บทบาททางด้านการต่างประเทศ
งานทางด้านวิทยาการสมัยใหม่
งานด้านการก่อสร้าง
งานทางด้านศาสนา
งานทางด้านวรรณคดี
เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ความเป็นมาของตระกูล “บุนนาค”

บทบาททางด้านการต่างประเทศ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหลวงสิทธินายเวร มีความคุ้นเคยกับชาวต่างประเทศมาก โดยเฉพาะมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาอยู่ในไทย การที่ได้คบหาสมาคมกับมิชชันนารีนี้ ทำให้ท่านได้มีโอกาสศึกษาภาษาอังกฤษ และรู้ขนบธรรมเนียมของชาวตะวันตก หมอบรัดเลย์แห่งคณะอเมริกันคอมมิชชันเนอร์ ฟอร์ฟอเรน มิชชัน ได้กล่าวถึงหลวงสิทธินายเวรไว้ในบันทึกรายวันมีข้อความตอนหนึ่งว่า “...ท่าทางคมขำ พูดจาไพเราะมีอัธยาศัยดี...” พวกมิชชันนารีได้ไปหาหลวงนายสิทธิยังบ้านของท่าน บ้านของหลวงนายสิทธินี้ หมอบรัดเลย์กล่าวว่าใหญ่โตงดงามมาก ที่หน้าบ้านเขียนป้ายติดไว้ว่า “นี่บ้านหลวงนายสิทธิ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย” ที่บ้านหลวงนายสิทธินี้ พวกมิชชันนารีได้รู้จักคนดี ๆ อีกหลายคน ข้อนี้พวกมิชชันนารีรู้สึกชอบพอแลรักใคร่ท่านมาก...”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เคยเกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวสงครามอันนัมสยามยุทธ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก รับหน้าที่เป็นแม่ทัพหน้าคุมกำลังไปรบกับญวนที่เมืองบันทายมาศ (ฮา เตียน) โดยมีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัชกาลที่ 4) ทรงเป็นแม่ทัพคุมกองทัพเรือไปรบ

ในด้านการติดต่อกับต่างประเทศนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับความไว้วางใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก ดังปรากฏในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 3 ตอนหนึ่งว่า “...จมื่นไวยวรนาถเล่าก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง...”

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประธานาธิบดีซาคารี เทย์เลอร์ แห่งสหรัฐอเมริกาส่งนายโจเซฟ บาเลสเตียร์ เข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญากับไทย เมื่อ พ.ศ. 2392 จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่ที่เมืองสมุทรปราการได้มีส่วนได้มีส่วนในการต้อนรับทูตอเมริกันคณะนี้ และเป็นผู้ติดต่อระหว่างบาเลสเตียร์กับเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ถึงเรื่องการทำการเจรจากัน ตลอดจนการจะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อลอร์ดปาล์มเมอร์สตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษได้แต่งตั้งให้เซอร์เจมส์บรุ๊ค เป็นผู้แทนเข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นีกับไทยใน พ.ศ. 2393 จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้หนึ่งที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการตรวจร่างสัญญา และเป็นผู้รับร่างหนังสือของฝ่ายไทยไปเขียนลงกระดาษให้เรียบร้อยส่งตอบหนังสือของเซอร์เจมส์ บรุ๊ค  

ต่อมาใน พ.ศ. 2398 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษทรงแต่งตั้งเซอร์จอห์นบาวริง ผู้สำเร็จราชการประจำฮ่องกง เป็นราชทูตมาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นผู้หนึ่งในคณะข้าหลวงดำเนินการเจรจากับอังกฤษ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีบทบาทเป็นผู้ประสานการเจรจาระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ จนทำให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบาวริงได้เป็นผลสำเร็จ

ระหว่างการเจรจา เซอร์จอห์น บาวริง ได้บันทึกสรรเสริญเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า เป็นผู้มีสติปัญญาและความสามารถยอดเยี่ยม มีความคิดก้าวหน้าและใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมื่อเทียบกับบรรดาข้าราชการในสมัยนั้น ดังปรากฏข้อความในหมายเหตุประจำวันลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2398 ว่า

“...ท่านผู้นี้ ถ้าไม่เป็นเจ้ามารยาอย่างยอด ก็เป็นคนรักบ้านเมืองจริง แต่จะเป็นเจ้ามารยาหรือเป็นคนรักบ้านเมืองก็ตาม ต้องว่าเป็นผู้มีความฉลาด ล่วงรู้กาลล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาศัยอย่างผู้ดี และรู้จักพูดพอเหมาะแก่กาละเทศะ...”

และอีกข้อความหนึ่งในหมายเหตุประจำวัน ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2398 ว่า

“...นิสัยของอัครมหาเสนาบดีนั้นน่าสรรเสริญมาก...ท่านได้กล่าวแก่เราหลายครั้งว่า ถ้าเรามีความมุ่งหมายจะช่วยประชาชนให้พ้นความกดขี่และช่วยบ้านเมืองให้พ้นภาษีผูกขาด ซึ่งจะเอาประโยชน์ของบ้านเมืองไปเป็นส่วนบุคคลนั้น ก็จะช่วยเราเหนื่อยด้วย และถ้าทำการสำเร็จ ชื่อเสียงของเราก็จะเป็นที่ยกย่องต่อไปชั่วกาลนาน และบางคราวพูดอย่างโกรธเกรี้ยว ถ้าท่านผู้นี้มีใจจริงดังปากว่า ก็ต้องนับว่าเป็นคนรักบ้านเมือง และฉลาดเลิศที่สุดคนหนึ่งในเหล่าประเทศตะวันออก...”

ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญากับนานาประเทศแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศสตามลำดับ อันเป็นการเริ่มศักราชทางการทูตระหว่างไทยกับมหาอำนาจตะวันตกเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับบรรดาชาติยุโรปและเอเชียให้กว้างขวางยิ่งขึ้นมาจนทุกวันนี้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย