ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค)

บทบาททางด้านการเมืองการปกครอง
บทบาททางด้านการต่างประเทศ
งานทางด้านวิทยาการสมัยใหม่
งานด้านการก่อสร้าง
งานทางด้านศาสนา
งานทางด้านวรรณคดี
เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ความเป็นมาของตระกูล “บุนนาค”

งานทางด้านวิทยาการสมัยใหม่

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ให้ความสนใจในวิทยาการสมัยใหม่ที่พวกมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับด้านสถาปัตย์กรรม วิชาการช่าง และเทคนิคต่าง ๆ ตามแบบอย่างตะวันตก ที่สำคัญได้แก่

1. การต่อเรือกำปั่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้มีความสามารถในการต่อเรือโดยศึกษาจากมิชชันนารี ในขณะที่ติดตามบิดาไปอยู่ที่เมืองจันทบุรี ใน พ.ศ. 2378 หลวงสิทธิ์นายเวรได้ต่อเรือรบไทย (เรือกำปั่นรบ) ซึ่งเป็นเรือใหญ่ลำแรกในประเทศสยามที่ทำตามแบบฝรั่ง เป็นเรือบริกชนิดใช้ใบเหลี่ยมทั้งเสาหน้าและเสาท้ายสองเสาครึ่ง ตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า เรือ “เอเรียล” (Ariel) หรือมีชื่อทางไทยว่าเรื่อ “แกล้วกลางสมุทร” หลวงสิทธิ์นายเวรได้นำเรือลำนี้ถวายรัชกาลที่ 3 เป็นที่โปรดปรานและพอพระราชหฤทัยมาก นอกจากนี้ยังได้ต่อเรือ “ระบิลบัวแก้ว” และยังได้ต่อเรืออื่น ๆ ที่จันทบุรีที่มีน้ำหนักขนาด 300-400 ตัน มีจำนวนมากกว่า 50 ลำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้อำนวยการต่อเรือปืนที่เรียกว่าเรือ “กันโบต” ขึ้น 4 ลำได้แก่ เรือปราบหมู่ปรปักษ์ เรือหาญหักศัตรู เรือต่อสู้ไฟรีรณ และเรือประจัญปัจจนึก และต่อเรือกลไฟซึ่งได้แก่ เรืออรรคราชวรเดช และเรือเขจรชลคดี ขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรือที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อขึ้นได้แก่เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ และเรือสุริยมณฑล  

2. การสร้างประภาคาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในการเรือมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม เมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ยังคงสนใจในการเรือและมีกำลังอุดหนุนงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น ท่านได้เล็งเห็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ในการเดินเรืออย่างหนึ่ง คือ ประภาคารหรือกระโจมไฟ เวลานั้นในประเทศสยามยังไม่มีประภาคาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงบริจาคทรัพย์ส่วนตัวสร้างประภาคารขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องหมายการนำเรือราชการและเรือสินค้าผ่านสันดอนเข้าออกได้โดยสะดวกที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2413 เสร็จเรียบร้อยเปิดใช้ใน พ.ศ. 2417 สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 18,021.25 บาท นับเป็นประภาคารที่สร้างขึ้นตามระบบมาตรฐานสากลดวงแรกของไทย ประภาคารแห่งนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษปรากฏในแผนที่เดินเรือไทยหมายเลข 1 a ว่า Bar or Regent Lighthouse ส่วนชื่อภาษาไทยเรียกว่า “กระโจมไฟสันดอน” และใช้เป็นเครื่องหมายการเดินเรือมาเป็นเวลานานถึง 55 ปี กับ 22 วัน (เลิกใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2472

3. การทหาร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดการกรมทหารอย่างยุโรปให้รุ่งเรืองขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก (ช่วง บุนนาค) ควบคุมบังคับบัญชาจัดขึ้น เรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป” ให้กัปตันนอกส์เป็นครูฝึก มีโรงทหารตั้งอยู่ที่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์ ณ ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตก มีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุปผาราม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย