ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค)
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีวงศ์มีนามเดิมว่า ช่วง บุนนาค เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เกิดเมื่อปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน แต่ในสุดเหลือท่านกับน้องอีก 4 คน คือ เจ้าคุณหญิงแข เจ้าคุณหญิงปุก เจ้าคุณหญิงหรุ่น และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) เท่านั้นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มาด้วยกัน
ตอนเยาว์วัยเด็กชายช่วง บุนนาค ได้รับการศึกษาจากวัดพอประมาณ ไม่ได้เล่าเรียนอักขรสมัยอย่างลึกซึ้ง แต่ได้อ่านและเรียนตำราต่างๆ จากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่เสนาบดีกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศหรือกรมท่า ทำให้ได้ทราบเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น มีความเฉลียวฉลาด ปฏิภาณไหวพริบทวีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในกระบวนการเมืองและการติดต่อกับต่างประเทศ และภายหลังที่รับราชการในกรมมหาดเล็ก ก็ศึกษาภาษาอังกฤษและวิชาช่างจากมิชชันนารี จนสามารถต่อเรือรบ (เรือกำปั้น) ใช้ในราชการได้
นายช่วง บุนนาค ได้ถูกบิดานำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่ออายุราว 16 ปี ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร นายไชยขรรค์เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้โปรดเลื่อนนายไชยขรรค์เป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์
หลวงสิทธิ์นายเวรรับราชการมีความดีความชอบมาก จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับคือ ใน พ.ศ. 2384 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ เลื่อนหลวงสิทธิ์นายเวรขึ้นเป็นจมื่นไวยาวรนาถหัวหมื่นหมาดเล็ก และในตอนปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กใน พ.ศ. 2393 ต่อมาในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 พระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม กับโปรดให้สร้างตราศรพระขรรค์พระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขณะที่มีอายุได้ 43 ปี นับเป็นข้าราชการที่มีอายุน้อยที่สุดในตำแหน่งสมุหพระกลาโหม
ปรากฏว่า ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง นุนนาค) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากในการปกครองประเทศสยาม โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่พิราลัยและสวรรคตตามลำดับ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยิ่งมีความสำคัญมากจนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเหมือนเสนาธิการช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ 4 ดังนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นบุคคลผู้มีความสำคัญในการปกครองประเทศสยามเป็นอันดับที่ 2 รองจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา พระบาทวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ ราชาคณะ และที่ประชุมเสนาบดีจึงเห็นสมควรแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 มีอำนาจอาญาสิทธิ์ที่จะปกครองประเทศ และประหารชีวิตผู้กระทำความผิดขั้นอุกฤษฏ์ได้ ต่อมาใน พ.ศ. 2416 เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัชกาลที่ 5 โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถือศักดินา 30,000
เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรียวงศ์มักออกไปพำนักอยู่ที่จังหวัดราชบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2425 เวลา 5 ทุ่มเศษ บนเรือนที่ปากคลองกระทุ่มแบน สิริรวมอายุได้ 74 ปี 27 วัน รัชกาลที่ 5 โปรดให้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อย่างสมเกียรติ ณ วัดบุปผาราม ธนบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2427
เมื่อศึกษาถึงประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จะเห็นได้ว่าท่านเป็นอัจฉริยบุรุษผู้มีชื่อเสียงเด่นที่สุดในบรรดาสมาชิกทั้งหลายของตระกูลบุนนาค ไม่เพียงแต่ชื่อเสียงของท่านจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยว่า ท่านเป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพลในการปกครองประเทศสยามในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 และที่ 5 เท่านั้น แต่ท่านยังเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาชาวต่างประเทศตั้งแต่สมัยเมื่อท่านมีชีวิตอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้
ตลอดอายุของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านได้สร้างผลงานในด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย ดังต่อไปนี้ คือ
บทบาททางด้านการเมืองการปกครอง
บทบาททางด้านการต่างประเทศ
งานทางด้านวิทยาการสมัยใหม่
งานด้านการก่อสร้าง
งานทางด้านศาสนา
งานทางด้านวรรณคดี
เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ความเป็นมาของตระกูล บุนนาค