วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา
ชีววิทยาของพะยูน
สถานการณ์พะยูนในประเทศไทย
สาเหตุการลดจำนวนของพะยูน
แนวทางการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย
แนวทางการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย
ในการอนุรักษ์พะยูนนั้น สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ การสร้างให้เกิดการเรียนรู้
ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของพะยูนและระบบนิเวศหญ้าทะเล
ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์อย่างเต็มใจ
และในการอนุรักษ์พะยูนนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
อนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรม หญ้าทะเล
เป็นแหล่งอาหารหลักของพะยูน หากมีแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์
พะยูนมีอาหารอย่างเพียงพอก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
ดังนั้นหากแหล่งหญ้าใดที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วก็รักษาให้คงอยู่
และหากแหล่งใดมีความเสื่อมโทรมก็ฟื้นฟูให้กลับคืนมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อีกครั้ง
งดการใช้เครื่องมือประมง
ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพะยูนในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน หรือในแหล่งหญ้าทะเล เช่น
อวนลอยและอวนตาถี่ชนิดต่าง ๆ หรือโป๊ะ
หรือหากจำเป็นต้องทำก็ขอให้หมั่นตรวจตราดูแลเครื่องมือประมงอย่างสม่ำเสมอ
หากพบพะยูนติดอยู่ต้องรีบปล่อยทันที
ปฏิบัติตามกฎหมาย
ไม่ทำการล่าและบริโภคเนื้อพะยูน รวมทั้งงดการซื้อ-ขายชิ้นส่วนอื่นๆ ของพะยูน
ไม่ใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน เช่น อวนปิดอ่าว อวนรัง อวนรุน
อวนลอยกระเบน และไม่ทำประมงในพื้นที่ที่มีพะยูนอาศัยอยู่
และนอกจากนี้การให้ความสำคัญติดตามข่าวสาร การไม่สนับสนุนการประมงที่ผิดกฎหมาย
รวมทั้งการไม่สร้างมลพิษให้เกิดขึ้นและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ก็เป็นการช่วยกันอนุรักษ์ที่สำคัญอีกทางหนึ่งเช่นกัน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พะยูน ได้แก่
- พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
- พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
- พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
- พระราชบัญญัติส่งออกไปนอกประเทศและนำเข้ามาในราชอานาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
- อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES
อ้างอิง :
กาญจนา อดุลยานุโกศล. 2547.
พะยูนและการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย. เอกสารเผยแพร่
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.