วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา

ชีววิทยาของพะยูน

สถานการณ์พะยูนในประเทศไทย
สาเหตุการลดจำนวนของพะยูน
แนวทางการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย

สาเหตุการลดจำนวนของพะยูน

สำหรับพะยูนที่เคยมีอยู่อย่างมากมายทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและชายฝั่งอันดามัน ได้มีจำนวนลดลงจนอยู่ในสถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์นั้น มีสาเหตุที่สำคัญหลายประการ ได้แก่

  1. การล่าโดยเจตนา ในอดีตมีการล่าพะยูนเพื่อเป็นอาหาร และล่าเพื่อนำอวัยวะไปเป็นเครื่องรางของขลัง หรือเอาไขมันไปทำยานวดแก้ปวดเมื่อย ตามความเชื่อในท้องถิ่น
  2. การเข้าไปติดเครื่องมือประมงของชาวประมง โดยเฉพาะเครื่องมือประมงพาณิชย์อย่างอวนลาก อวนรุน
  3. แหล่งอาหารถูกทำลาย ซึ่งปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูนได้ถูกทำลายและลดน้อยลงไปมากจากการทำประมงอวนรุนในแหล่งหญ้าทะเล และมลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยลงสู่ทะเล ส่งผลให้พื้นที่อาหารมีจำกัด พะยูนหาอาหารได้ยาก และอาจได้รับสารพิษที่ตกค้างในน้ำและจากการสะสมในหญ้าทะเลอีกด้วย
  4. โดยธรรมชาติของพะยูนที่เป็นสัตว์ที่แพร่ขยายพันธุ์ได้ช้า และคราวละไม่มาก อีกทั้งมีช่วงห่างระหว่างการตั้งท้องครั้งหนึ่งนาน 3-7 ปี
  5. สาเหตุอื่น ๆ เช่น เรือเร็ว กิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการรบกวนธรรมชาติ และเป็นอันตรายต่อพะยูน นอกจาก นี้เรืออาจชนทำให้พะยูนบาดเจ็บหรือตายได้

  แม้ในปัจจุบัน การล่าพะยูนเพื่อเป็นอาหารได้หมดไปจากทะเลไทยแล้ว แต่การตายของพะยูนยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และสาเหตุที่พบมากที่สุด คือ การตายเนื่องจากติดเครื่องมือประมง หรือบาดเจ็บจากการหลุดรอดจากเครื่องมือประมงมาเกยตื้น ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2547 พบพะยูนขนาดลำตัวยาว 2.40 เมตร และมีน้ำหนักตัว 1 ตัน (1000 กิโลกรัม) ซึ่งตายเนื่องจากติดอวนของชาวประมงในจังหวัดกระบี่ (ข่าวสด, 22 เมษายน 2547)

เครื่องประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน
เครื่องมือประมงที่พะยูนมาติดและตายมากที่สุด ได้แก่ อวนลอยหรืออวนติดตาชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอวนปลาสีเสียด อวนลอยปลากะพง อวนสามชั้น อวนจมปู อวนปลากระเบน รองลงไป คือ โป๊ะ

แหล่งที่พบพะยูนในน่านน้ำไทยในปัจจุบัน

  • ฝั่งอ่าวไทย
  • จังหวัดตราด (เกาะช้าง, แหลมงอบ) ระยอง (แกลง)
  • ฝั่งทะเลอันดามัน
  • จังหวัดระนอง (อ่าวสน) , พังงา (เกาะยางน้อย, เกาะยางใหญ่) , ภูเก็ต (ปากคลอก, บางโรง) , กระบี่ (เกาะศรีบอยา, เกาะปู) , ตรัง (เกาะลิบง, หาดเจ้าไหม, อ่าวสิเกา, เกาะสุกร) , สตูล (ละงู)

ที่มา : http://www.forest.go.th

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย