ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญาการศึกษา

ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม

 (Perennialism)

คำว่า “นิรันตร” หรือ Perennial หมายถึง สิ่งที่คงที่ ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดรปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม เชื่อว่าการศึกษาควรจะได้สอนสิ่งซึ่งเป็นนิรันดรไม่เปลี่ยนแปลง มีคุณค่าไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ได้แก่ คุณค่าของเหตุผลและคุณค่าของศาสนา อันเป็นหลักสำคัญของปรัชญานิรันตรนิยม

ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม แบ่งแนวการศึกษาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. ลักษณะของปรัชญาทั่วไปที่เน้นหนักในเรื่องของเหตุผล สติปัญญา ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง
  2. ลักษณะของปรัชญาทั่วไปที่เกี่ยวพันกับศาสนาโดยตรง เป็นแนวคิดของกลุ่มศาสนานิกาย คาธอลิค ที่สัมพันธ์เรื่องศาสนาเข้ากับเหตุผล

ความเป็นมา
ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาพื้นฐานกลุ่มวัตถุนิยมเชิงเหตุผล (Rational Realism) หรือบางที่เรียกกันว่าเป็นพวกโทมัสนิยมใหม่ (Neo – Thomism)

ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม มีจุดมุ่งหมายให้การศึกษาเป็นพาหะนำมนุษย์ไปสู่อดีตที่มีระเบียบ มีความมั่นคง มีจริยธรรม และความยุติธรรม ซึ้งเป็นปรัชญาที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แต่เพิ่งได้รับการรื้อฟื้นจัดระบบใหม่เมื่อประมาณ 40 -50 ปี นิรันตรนิยมมีจุดมุ่งหมายให้การศึกษาเป็นพาหะนำมนุษย์ไปสู่อดีตนั้น เพราะเชื่อมั่นว่าแก่นของความคิดและวัฒนธรรมของสมัยโบราณและสมัยกลางของยุโรป เป็นสิ่งที่ดีงามไม่เสื่อมคลายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบันและทุกประเทศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

รากฐานมาจากสมัยกรีกโบราณ แนวคิดมาจากนักปรัชญา 2 คนคือ Plato และ Aristitle

เพลโต กล่าวว่าโลกที่เราอยู่นี้ไม่ใช่โลกที่แท้จริง ดังนั้นความรู้ที่ได้จากโลกนี้จึงเป็นความรู้ที่เป็นจริงสูงสุดไม่ได้ ความรู้อยู่ที่จิตมนุษย์ในการเข้าใจความจริงสูงสุดได้ ความจริงสูงสุด คือ มโนมติ (Ideas) อริสโตเติล เห็นว่าทุกสิ่งอย่างในโลกมี 2 ส่วน คือ รูปและสาระและมีความเป็นนิรันดร์ ทั้งเพลโตและอริสโตเติล เห็นตรงกันว่าจิตหรือปัญญาของมนุษย์เข้าถึงความจริงแท้สูงสุดได้ และความรู้ได้มาจากเหตุผลมากกว่าจากประสาทสัมผัส

รากฐานจากยุโรปสมัยกลาง

ศตวรรษที่ 13 ผู้นำศาสนาสอนให้คนเชื่อตามคัมภีร์ ไบเบิลและให้ปฏิเสธความรู้จากประสบการณ์ นักปรัชญาอีกกลุ่ม เชื่อว่าความรู้มาจากประสบการณ์และการสังเกตและการทดลอง ไม่ใช่มาจากจิตของพระผู้เป็นเจ้า

แนวคิดจากปรัชญาถดถอยนิยม มี 2 กลุ่มแนวคิด คือ

  • กลุ่มนักเหตุผลนิยม (Rationalists) ซึ่งยึดมั่นในปรัชญา เพลโตและอริสโตเติล คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีปัญญา ผู้นำกลุ่มนี้ คือ Robert M. Hutchins Mortimer Adler และ Sir Richard Livingstone
  • กลุ่มนักโทมัสนิยม ที่นิยมปรัชญาของ เซนต์โทมัส อาควินัส และนำมาปรับปรุงให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ผู้นำส่วนใหญ่เป็นชาวคาธอลิก เช่น จ้าคส์ มาริตัง (Jagues Maritain) เอเตียน กิลซอง (Etienne Gilson) และคุณพ่อวิลเลี่ยม เอฟ คันนิงแฮม (William F. Cunningham)

นักการศึกษาคนสำคัญ

1. Robert M. Hutchins เป็นผู้นำกลุ่มนิรันตรนิยม
2. Mortemer J. Adler
3. String Fellow Barr
4. Mark Van Doran
5. Scott Buchanan
6. Sir Richard Livinfstone

หลักการสำคัญตามแนวคิดของปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม

  1. แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะแตกต่างต่างกันออกไป แต่ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมจะเหมือนกันในทุกแห่งหน ดังนั้น การจัดการศึกษาให้แก่มนุษย์ควรจะเป็นแบบเดียวกันหมดทุกคน
  2. ความมีเหตุผลเป็นคุณลักษณะอันสูงสุดของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องใช้ความมีเหตุผลเป็นเครื่องควบคุมสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายต่ำของตน เพื่อจะได้บรรลุจุดหมายของชีวิตที่ได้เลือกสรรแล้ว
  3. หน้าที่ของการศึกษา คือ การแสวงหาความรู้ในเรื่องของความเป็นจริงอันเป็นนิรันดร
  4. การศึกษามิใช่เป็นการเลียนแบบอย่างชีวิต แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต
  5. นักเรียนควรจะได้เรียนวิชาพื้นฐานบางวิชา เพื่อให้เข้าใจและคุ้นเคยกับสิ่งที่คงทน ถาวรของโลก
  6. นักเรียนควรจะได้ศึกษางานนิพนธ์ที่สำคัญ ๆ ทางวรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานที่บรรดาปรัชญาและผู้ทรงความรู้ทั้งหลายในยุคที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดความรู้ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เอาไว้

 

แนวคิดทางการศึกษาของปรัชญานิรันตรนิยม

จุดมุ่งหมายทางการศึกษา

  • จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ คือ เพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากความไม่รู้
  • ช่วยพัฒนาพลังทางเหตุผล(ปัญญา) ศีลธรรม และจิตใจ คือ ต้องให้ความรู้กว้างพอในการนำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นความรู้ที่เป็นความเข้าใจแนวคิดรวบยอดและทฤษฎี

การคิดเชิงทฤษฎี และการคิดเชิงการผลิต การคิดเชิงทฤษฎี เป็นการฝึกใช้เหตุผลขั้นสูง เพื่อให้ได้ความรู้ที่แท้จริง การคิดเชิงการผลิต เป็นการคิดที่ช่วยนำการกระทำ (การรู้เพื่อทำ)

หลักสูตร

  • มุ่งให้ความรู้ที่เป็นนิรันดร์แก่ผู้เรียน และช่วยให้นำความรู้อื่นมาเชื่อมโยงประสานเป็นภาพรวม และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์
  • เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้รู้จักกับผลงานอันล้ำค่าของนักปรัชญา เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดี ซึ่งผู้เรียนต้องใช้ปัญญาระดับสูงในการคิดและวิเคราะห์
  • วิชาชีพต่าง ๆ ไม่นำมารวมไว้ในหลักสูตร เพราะเป็นวิชาที่สอนเทคนิค การกระทำ เป็นการเน้นทักษะมากกว่าทฤษฎี

กระบวนการเรียนการสอน

  • ผู้สอนต้องมีความเป็นเลิศ ต้องมีความรอบรู้ ใฝ่รู้
  • ผู้สอนต้องเน้นความเป็นเลิศในการสอน ต้องบังคับให้เรียนอย่างหนัก
  • ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนได้เรียนไปตามความสามารถทางสติปัญญาและเอกัตภาพมนุษย์ มีองค์ประกอบเป็นสาระเหมือนกัน แต่ปริมาณไม่เท่ากัน

ผู้สอน

  • เป็นผู้มีความรู้ และจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน
  • เป็นผู้สร้างบรรยากาศในการเรียน
  • เป็นผู้เสนอความรู้ ข้อคิด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และพัฒนาความคิดและสติปัญญาของผู้เรียน
  • เป็นผู้มีความคิดกว้างไกล มีความสามารถในการอภิปราย ให้เหตุผล แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
  • เป็นผู้มีบทบาทและอำนาจสำคัญ

ผู้เรียน

  • เป็นผู้มีสติปัญญา มีศักยภาพอยู่ในตัวเอง
  • การเรียนรู้หรือสติปัญญาจะเกิดได้จากการฝึกฝน
  • ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนอย่างมากเท่า ๆ กัน หรือมากกว่าครู และเป็นลักษณะอภิปรายแลกเปลี่ยนกับครูภายใต้การแนะนำของครู
  • ผู้เรียนมีความสนใจใคร่เรียนรู้

ผู้บริหาร

  • จะยึดหลักของเหตุผล ตามกฎเกณฑ์หรือระเบียบ
  • ให้การบริการภายใต้บรรยากาศของความเป็นอิสระในสถาบันการศึกษา
  • มีเสรีภาพทางวิชาการ เอื้อต่อการอภิปราย
  • เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้เหตุผลหรือรับฟังเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลเพียงพอ
  • ใช้เหตุผลในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และให้โอกาสที่จะเสนอความเห็น ตัดสินใจในการดำเนินงานของสถาบัน
  • มีการบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการ แต่การทำงานของคณะกรรมการเป็นการทำงานเพื่อให้ได้เหตุผลที่ดีและเหมาะสมยิ่ง จะไม่ใช่ลักษณะเสียงข้างมาก แต่จะใช้เหตุผล


ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม
ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม
ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม
ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม
ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม
พุทธปรัชญา
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย