ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม
(Essentialism)
สารัตถนิยม (Essentialism) มาจากภาษาละตินว่า Essentia หมายถึง สาระ
หรือ เนื้อหาที่เป็นหลัก เป็นแก่น เป็นสิ่งสำคัญปรัชญาสารัตถนิยม ในทางการศึกษา คือ
ปรัชญาที่ยึดเนื้อหา (Subject Matter) เป็นหลักสำคัญของการศึกษา
และเนื้อหาที่สำคัญนั้นก็ต้องเน้นเนื้อหาที่ได้มาจากมรดกทางวัฒนธรรม
ที่ควรได้รับการถ่ายทอดต่อไป
สารัตถนิยม เป็นการหล่อหลอมความคิด ของจิตนิยม (Idealism) และ สัจนิยม
(Realism) มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น สาระนิยม สารวาส ลัทธิจิตนิยม หรือ คตินิยม
(Idealism)เชื่อว่า ความเป็นจริง (Reality) เป็นความนึกคิด (Mind) และเป็นจิตรภาพ
(Idea) หรือ แบบ (From) ที่มีอยู่ในจินตนาการของเรา โลกแห่งความเป็นจริงอันสูงสุด
(Ultimate reality) จึงเป็นโลกแห่งจินตนาการ (A world of mind)
จากพื้นฐานความจริงนี้ จึงเชื่อต่อไปว่า การล่วงรู้ความจริงได้ต้องอาศัยจิต (Mind)
อาศัยปัญญา(Intellect) เพื่อเข้าถึงความเป็นจริงที่มีอยู่ในจิตรภาพ(Idea) คือ
เราใช้ปัญญาและความคิดในการรับรู้ความจริงเมื่อปัญญาล่วงรู้สิ่งที่เป็นจริงแล้วก็หมายถึงเรามีความรู้
Plato เป็นบิดาแห่งปรัชญาสาขาจิตนิยม
ที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดและตรงกับปรัชญาจิตนิยมใหม่ ในทัศนะของ Kant ซึ่งเห็นว่า
การรู้นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ
1. การรับรู้ (Percepts) คือ การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุต่าง ๆ
มาโดยผัสสะ
2. การเข้าใจ หรือสัญชาน (Concept) คือ
ความนึกคิดที่เกิดขึ้นในจิตของเรา
ความเข้าใจนั้นต้องอาศัยการรับรู้ในการป้อนข้อมูลต่าง ๆจากผัสสะ
ลัทธิสัจนิยม หรือวัตถุนิยม (Realism)
เชื่อว่าโลกแห่งความเป็นจริงคือโลกแห่งวัตถุ คือ
สิ่งทั้งหลายที่เห็นตามธรรมชาตินั้นเป็นจริงในตัวของมันเองไม่ขึ้นอยู่กับจิต
และโลกแห่งวัตถุนี้จะเป็นโลกที่เปิดเผยความจริงและความรู้ให้แก่เรา
ด้วยเหตุนี้การค้นหาความรู้ของวัตถุนิยมจึงอาศัยการเฝ้าสังเกตอย่างมีระเบียบAristotle
ศิษย์เอกของ Plato เป็นบิดาของ ลัทธิสัจนิยม
ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม
เกิดขึ้นจากปัญญาชนรวมตัวกันอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ
คณะกรรมการสารัตถนิยมเพื่อความก้าวหน้าของการศึกษาอเมริกัน
ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1930 สารัตถนิยม มีพื้นฐานความคิดเป็นแบบอนุรักษ์นิยม
(Conservativism) ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ J.R. White กล่าวคือ เป็นความพยายามศึกษา
ทำความเข้าใจและรักษาระเบียบกฎเกณฑ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติมากกว่าที่จะคิดเปลี่ยนแปลง
สารัตถนิยม คัดค้านความเชื่อของปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม
ซึ่งเสนอแนะให้กำจัดการเรียนการสอนแบบเก่า ที่เน้นการท่องจำและอำนาจของครู
ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย และเรียกร้องให้นักการศึกษา
และประชาชนมาสนใจวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
นักการศึกษาคนสำคัญ
1. William C. Bagley (1874 1946)
2. Frederick S. Breed (1876
1952)
3. Herman H. Horne (1874 1946)
4. Isaac L. Kandel
5. Tomas
Briggs
William C. Bagley และคณะกรรมการสารัตถนิยม
เพื่อความก้าวหน้าของการศึกษาอเมริกัน
ได้ร่วมกันเผยแพร่แนวคิดอย่างเข้มแข็งในเรื่อง หน้าที่ของการศึกษา คือ
ปกป้องประชาธิปไตย ผดุงไว้ซึ่งเสรีภาพทางศาสนาทางการพูด การเขียน และการสมาคม
โดยต้องผลิตพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
และมีความรู้พื้นฐานที่ดีสารัตถนิยมได้รับความสนใจมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
หลักการสำคัญตามแนวคิดของปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม
- การเรียนรู้ เกิดขึ้นได้จากการทำงานหนักและนำไปประยุกต์ใช้ได้ ความมีระเบียบวินัย เคร่งครัดเป็นสิ่งสำคัญ ปลูกฝั่งให้เด็กเกิดความมานะ พยายาม ต้องอุทิศตนเพื่อจุดหมายปลายทางในอนาคต
- การริเริ่มทางการศึกษา ควรเริ่มต้นที่ครู ครูเป็นผู้นำในการเรียน และสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก ทำหน้าที่เชื่อมโยงโลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กเข้าด้วยกัน
- หัวใจสำคัญของการศึกษา คือ การเรียนรู้เนื้อหาวิชามาเชื่อมโยงกัน การศึกษาช่วยให้เอกัตบุคคลตระหนักในศักยภาพของตน ความรู้และประสบการณ์ที่เป็นมรดกตกทอดเป็นสิ่งที่ดีงามและถูกต้อง เน้นความสำคัญของ ประสบการณ์ของเชื้อชาติ
- โรงเรียนควรรักษาวิธีการดั้งเดิมที่ใช้ระเบียบวินัยและการอบรมจิตใจเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การสอนเด็กให้เกิดการเรียนรู้ ควรสอนให้เข้าใจในสาระสำคัญ แม้ว่าจะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก
แนวคิดทางการศึกษาของสารัตถนิยม
จุดมุ่งหมายทางการศึกษา
- ให้การศึกษาในสิ่งที่เป็นเนื้อหา สาระ (Essential subject matter) อันได้จากมรดกทางวัฒนธรรม โดยการรักษาและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง
- ให้การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ในเรื่องของความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมของสังคมในอดีต
- ธำรงรักษาสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ในอดีตเอาไว้
- มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีปัญญา และรักษาอุดมคติอันดีงามของสังคมไว้
หลักสูตร
เป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา (Subject matter Oriented) เป็นหลักสำคัญ
โดยยึดประสบการณ์ของเชื้อชาติ หรือมรดกทางวัฒนธรรมเป็นหลัก
ได้รับการจัดไว้อย่างเป็นระบบต่อเนื่องตามขั้นตอนความยากง่าย
จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน วิชาพื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
สังคมศาสตร์ ตรรกวิทยา ศิลปะ ดนตรี ภาษาและวรรณคดี
โดยมีการผสมผสานกันเพื่อช่วยเพิ่มทักษะในการอ่าน การเขียน
การคิดและจินตนาการให้ตัวผู้เรียน
หลักสูตรจะต้องสอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
กระบวนการเรียนการสอน
- การเรียนการสอนจะเน้นการบรรยายเป็นหลัก โดยมีศิลปะของการถ่ายทอดความรู้เป็นสำคัญ
- มีหลักการอบรมจิตใจ และถ่ายทอดค่านิยมเพื่อสร้างนิสัยที่ดีงามให้เกิดแก่ผู้เรียน
- กระบวนการเรียนการสอนจะมี ครู เป็นผู้มีบทบาทสำคัญเป็นศูนย์กลาง
- การเรียนการสอนคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ และจุดหมายของผู้เรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
ผู้สอน
- ผู้สอนหรือครู ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ดี มีความประพฤติดี มีศีลธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน
- ผู้สอนควรต้องเป็นผู้มีทักษะ เทคนิควิธี ที่จะโน้มน้าวให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเรียนรู้
- ผู้สอนต้องเสริมสร้างความสนใจและเป้าหมายในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
- ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในอันที่จะกำหนด หรือตัดสินใจในกิจกรรมทางการเรียนรู้
ผู้เรียน
- ผู้เรียนเป็นผู้รับ ผู้ฟัง และทำความเข้าใจในเนื้อหาต่าง ๆ ที่ครูกำหนด
- ผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ เป็นผู้สืบทอดค่านิยม และมรดกทางวัฒนธรรมไว้และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังต่อไป
- ผู้เรียนต้องเป็นผู้ที่มีความพยายาม อดทน และเป็นผู้มีระเบียบวินัย
โรงเรียน
- มีจุดมุ่งหมาย เพื่อสงวน รักษา และประเมินคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม
- ทำหน้าที่ฝึกฝน อบรมทางปัญญาให้แก่เยาวชน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ เข้าใจเรื่องราวหรือมรดกทางสังคม
- เป็นสถาบันเพื่อความมั่นคง ความเป็นระเบียบของสังคมแต่ไม่เป็นผู้นำของสังคม
- ช่วยสงวนรักษาความดีงาม คุณค่า และวัฒนธรรมของสังคมให้ประณีต สมบูรณ์ขึ้นและถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่รับช่วงต่อไป
- ให้ผู้เรียนรู้กฎเกณฑ์ ระเบียบ ประเพณีและวัฒนธรรมของสังคม
ผู้บริหาร
- มีลักษณะแบบรวมอำนาจ คือ ผู้บริหารตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
- มีลักษณะยึดกฎระเบียบ ยึดกฎหมายเป็นสำคัญ
- มีลักษณะยึดแบบอย่าง ยึดมาตรฐาน ยึดระเบียบวินัย
- มีการบริหารจัดการเรื่องการเรียนรู้ไปในทางเดียวกัน คือระบบบริหารเป็นแบบสั่งงาน (Bureaucratic Model)
การวัดผลประเมินผล
- เชื่อว่าความรู้ที่แท้จริงอยู่ภายนอกตัวผู้เรียน สามารถรับรู้ด้วยจิต
- การได้มาซึ่งความรู้นั้นเป็นการรับมาโดยกระบวนการถ่ายทอด จดจำ
- ใช้วิธีการทดสอบความจำในเนื้อหาวิชาที่ได้เรียนมา
- ประเมินผู้เรียนทางด้านทฤษฎี(วิชาการ)เป็นสำคัญ
สรุปแนวคิดปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม
- มุ่งเพื่ออนุรักษ์ และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยให้แก่คนรุ่นหลัง
- หลักสูตรประกอบด้วยเนื้อหาสาระ การฝึกฝนทักษะ ค่านิยม ความเชื่อ และความรู้พื้นฐานของสังคม
- ผู้สอนเป็นผู้กำหนดตัดสิน คัดเลือกสิ่งที่เห็นว่าผู้เรียนควรจะเรียน ผู้เรียนจะเป็นผู้รับ ผู้ฟัง ฝึกฝนตนเองให้เกิดความเข้าใจ และเชี่ยวชาญในสิ่งที่เรียน
- การเรียนการสอนใช้วิธีการเรียนรู้จากครูและตำรา
- เน้นการบรรยาย ซักถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจเนื้อหามากกว่าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม
ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม
ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม
ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม
ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม
พุทธปรัชญา