ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ชีวิต

สาระความจริงของชีวิตตามแนวศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเก่าแก่ของโลก คาดกันวามีอายุมากกว่า 4,000 ปี ต่อมาศาสนาพราหมณ์ได้วิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดู กล่าวคือในยุคแรก ๆ แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าต่าง ๆ ได้มีอิทธิพลต่อชีวิตของชาวอินเดีย จนกระทั่งเรื่องราวทั้งหลายในชีวิตล้วนมีเทพเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น และเทพเจ้าเหล่านั้นก็ถูกผูกขาด โดยชาวอารยันชั้นสูง ที่เรียกว่า วรรณะสูง ซึ่งได้แก่กษัตริย์และพราหมณ์ กษัตริย์ทำหน้าที่เป็นนักปกครอง พราหมณ์ทำหน้าที่เป็นผู้รับทำพิธีกรรม คือรับหน้าที่เป็นผู้สื่อสารกับเทพเจ้า ทั้งสองวรรณะนี้จัดว่าเป็นชนวรรณะสูง แพศย์เป็นชาวอารยันเช่นเดียวกันกับกษัตริย์และพราหมณ์ มีหน้าที่ในการประกอบธุรกิจค้าขาย หรือเป็นชาวนาที่มีนาเป็นของตนเอง จัดว่าเป็นวรรณะกลาง (ชนชั้นกลาง) และวรรณะสุดท้ายคือ ศูทร มีหน้าที่รับใช้คนชั้นสูง เป็นกรรมกรแบกหามทำงานหนัก จัดเป็นชนชั้นต่ำ ไม่สามารถที่จะร่วมคบหาสมาคม กินอยู่หลับนอน และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเสมอภาคกับชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางดังกล่าวได้ เพราะเป็นข้อห้ามทางศาสนาคือคัมภีร์พระเวท ซึ่งชาวอารยันเป็นผู้สร้างขึ้นมา ศูทรเป็นชาวอินเดียพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในชมพูทวีปมาก่อน ก่อนที่ชาวอารยันอพยพเข้ามา จึงเป็นอันว่าศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาของชาวอารยัน และเหตุผลทีเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ เพราะพราหมณ์ผู้ซึ่งมีหน้าที่ทำพิธีกรรม มีบทบาทในสังคมสูงมาก

มนุษย์แต่ละคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในขณะนี้เป็นชิ้นส่วนของพระพรหมส่วนใดส่วนหนึ่ง ตามวรรณะของตน กล่าวคือ กษัตริย์เกิดจากพาหาของพระพรหม พราหมณ์เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม แพศย์เกิดจากส่วนท้องของพระพรหม และศูทรเกิดจากเท้าของพระพรหม ทุกวรรณะที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้เกิดจากพระพรหมและเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องทำตามหน้าที่ตามวรรณะของตน เมื่อเกิดความบริสุทธิ์เพราะการปฏิบัติหน้าที่ และการทำความดีอย่างอื่นควบคู่กันไปจนเกิดความบริสุทธิ์ ทั้งทางกายและใจก็จะกลับไปอยู่ในร่างของพระพรหม เป็นชีวิตอมตะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารต่อไปอีก

หลักปรัชญาชีวิต

หลักปรัชญาและแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สรุปได้ดังนี้ (ทองหล่อ วงษ์ธรรม 2541 : 54)

  • เรื่องเทพเจ้า มีการอธิบายลักษณะของพระพรหมเพิ่มจากเดิมให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พระเจ้าแท้จริงมีพระพรหมเพียงองค์เดียว
  • เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด มีปรัชญาอธิบายว่า การที่มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสภาพต่าง ๆ นั้น เป็นเพราะผลของ(กรรมเก่า) พระพรหมเป็นศูนย์รวมและเป็นต้นกำเนิดแห่งวิญญาณทั้งปวง สิ่งมีชีวิตทั้งหมดถือกำเนิดมาจากพรหม
  • เรื่องวิธีการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อธิบายว่า ผู้ใดยุติการกระทำ ผู้นั้นย่อมหลุดพ้นจากการเกิด
  • เรื่องวันสิ้นโลก อธิบายว่า โลกที่พระพรหมสร้างขึ้นมีอายุขัย เมื่อครบกำหนดอายุขัย จะมีการสร้างโลกขึ้นใหม่ ระยะเวลาตั้งแต่การสร้างโลกจนถึงการล้างโลกเรียกว่า “กัลป์”หนึ่ง แบ่งเป็น 4 ยุค คือ กฤตยุค เตรตายุค ทวาปรยุค และกลียุค ทั้ง 4 ยุครวมกันเรียกว่า “มหายุค” แต่ละยุคเวลาจะสั้นลงตามดับเช่นกัน
  • เรื่องการศึกษา มีการกำหนดการศึกษาภาคบังคับ กล่าวคือประชาชนที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์จะต้องส่งบุตรหลานของตนเข้าศึกษาในสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งของวรรณะพราหมณ์ ก่อนรับเข้าศึกษา นักบวชพราหมณ์จะประกอบพิธีเสกเป่ามนตราและคล้องด้ายมงคลที่ถือว่าศักสิทธิ์ เรียกว่า”สายธุรำ” เฉวียงบ่าแก่เด็ก พิธีนี้เรียกว่า “ยัชโญปวีต” ผู้ผ่านพิธีนี้แล้วถือว่าเป็นผู้เกิดใหม่ เรียกว่า “ทวิช” แปลว่า ผู้เกิดสองครั้ง

ประโยชน์สูงสุดของชีวิต

1. อรรถะ (Wealth) การแสวงหาทรัพย์ หรือสร้างฐานะในทางเศรษฐกิจตามคำสอนในคัมภีร์อรรถศาสตร์ แต่งโดยท่านเกาฑัญญะ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยการปกครอง การจัดระบบเศรษฐกิจ ระเบียบในการสงคราม

2. กามะ (Pleasure) เป็นการให้ความสำคัญต่อชีวิตครอบครัว การแสวงหาความสุขนั้น ตามหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะต้องดำเนินไปตามแบบแผนหรือระเบียบแห่งความประพฤติของสังคม

3. ธรรมะ (Norm) หมายถึง หลักศีลธรรมของสังคมฮินดู โดยทั่วไป ธรรม หมายถึง หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นการบังคับให้ทำตามหลักของศาสนา

4. โมกษะ (Liberation) คืออิสรภาพของวิญญาณ อันเป็นอุดมคติและคุณค่าสูงสุดในชีวิต เป็นชีวิตที่ข้ามพ้นจากสังสารวัฏเข้าสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ นั่นคือ การปฏิบัติให้รู้จักตนเองว่าคือใคร พรหมคือใคร ในโลกนี้มีอะไรที่มีสาระสำคัญหรือมีค่าสูงสุด การรู้แจ้งในตนเองว่าเป็นพรหมและรู้แจ้งพรหมว่าเป็นปฐมวิญญาณของตน นี่คือรวมเอาวิญญาณ (อาตมัน) อันเป็นของตนไปรวมกับปฐมวิญญาณ (ปรมาตมัน) จึงเรียกว่า การเข้าถึงโมกษะ คือการปลดปล่อยวิญญาณให้เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ อันเป็นจุดหมายสูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู



หลักความดีสูงสุด

โมกษะ คือหลักความดีสูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีหลักการสำคัญของศาสนาว่า “ผู้ใดรู้แจ้งในอาตมัน (วิญญาณ) ของตนเองว่าเป็นอาตมันของพรหม ผู้นั้นย่อมข้ามพ้นจากสังสารวัฏ และไม่ปฏิสนธิอีก” ถือว่าเป็นความดีขั้นสูงสุด (Summum Bonum) ปรัชญาที่ถือว่าเป็นแก่นแท้ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้นคือปรมาตมันและหลักโมกษะ

คำว่า ปรมาตมัน หมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รวมของสิ่งในสากลจักรวาล ซึ่งเรียกว่า พรหม ปรมาตมันกับพรหมคือสิ่งเดียวกัน (หมายถึงพรหมไม่มีรูปร่าง) อันมีลักษณะคือ

1. เป็นสิ่งมีเองเป็นเอง ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด
2. เป็นนามธรรม (ไม่มีรูปร่าง) สิ่งสถิตอยู่ในสรรพสิ่ง ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา
3. เป็นที่รวมของวิญญาณ (อาตมัน) ทั้งปวง
4. สรรพสิ่งในสากลจักรวาลล้วนเป็นส่วนย่อยที่ออกมาจากพรหม
5. เป็นอันติมสัจจะ (ความจริงขั้นสูงสุด)
6. เป็นผู้ประทานความรู้ (ญาณ) ความคิดและความบันเทิง
7. เป็นสิ่งนิรันดร์ คือคงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

คัมภีร์อุปนิษัท ได้กล่าวถึงสิ่งสัมบูรณ์ว่าเป็นอาตมันและพรหมัน โดยกล่าวว่าอาตมันและพรหมัน เป็นสิ่งเดียวกันเพียงแต่การมองจากแง่อัตวิสัยหรือในฐานะผู้รู้เรียกว่าอาตมันแต่หากจะมองในแง่วัตถุวิสัย หรือในฐานะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เรียกว่า พรหมัน

ปรมาตมัน คือตัวตนสากล (วิญญาณสากล) เป็นวิญญาณที่บริสุทธิ์ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสิ่งใดส่วนชีวาตมันเป็นตัวตนย่อยถูกจำกัดด้วยร่างกาย ชีวาตมันเกิดจากส่วนผสมของดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นส่วนหนึ่งแห่งอาตมันสากล เมื่อร่างกายแตกดับ สิ่งที่เหลืออยู่คืออาตมันสากลหรือปรมาตมัน ซึ่งไม่มีวันจะสูญสิ้น

» กำเนิดชีวิตตามทัศนะของศาสนา

» กำเนิดชีวิตตามทัศนะของนักวิทยาศาสตร์

» สาระของชีวิตตามแนวพุทธธรรม

» พุทธธรรมเป็นปรัชญาชีวิต

» ชีวิตควรอยู่เพื่ออะไร

» การดำเนินชีวิตตามแนวพุทธธรรม

» สาระความจริงของชีวิตตามแนวศาสนาคริสต์

» สาระความรู้ทางแนวชีวิตตามศาสนาคริสต์

» สาระของชีวิตตามแนวศาสนาอิสลาม

» สาระความจริงของชีวิตตามแนวศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

» สาระของชีวิตตามแนวศาสนาเต๋าและขงจื้อ

» คุณค่า เป้าหมายและความสำเร็จของชีวิต

» คุณค่า เป้าหมายและความสำเร็จของชีวิต

» การมองความจริงของชีวิตด้วยศาสนธรรม

» การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนธรรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย