ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2494
เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน
หน้า 2
หมวด 2
การกำกับ การควบคุม และการบริหาร
_______
มาตรา 22* ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการรถไฟ แห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยชี้แจงข้อเท็จจริง แสดง ความคิดเห็น หรือทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของ คณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้ *[มาตรา 22 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502]
มาตรา 23 ในกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือคณะกรรมการจะต้องเสนอ เรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยัง คณะรัฐมนตรี
มาตรา 24* ให้มีคณะกรรมการของการรถไฟแห่งประเทศไทยคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่น อีกไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคน และผู้ว่าการเป็นกรรมการ ให้ผู้ว่าการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่น
*[มาตรา 24 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535]
มาตรา 25 ภายใต้บังคับมาตรา 39 มาตรา 40 และมาตรา 41 ให้คณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) วางข้อบังคับเกี่ยวกับการต่าง ๆ ตามความในมาตรา 9
(2) วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
(3) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง และการถอดถอนพนักงานของการ รถไฟแห่งประเทศไทย
(4) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย และ ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย *
(4 ทวิ) วางข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
(5) ตั้งอัตรามาตรฐานค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของ กิจการรถไฟ
(6) กำหนดค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ เป็นครั้งคราว
(7) กำหนดอัตราเงินเดือนพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
*ค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟเฉพาะใน ส่วนที่เกี่ยวกับค่าโดยสารและค่าระวางบรรทุกซึ่งคณะกรรมการกำหนดตาม (6) นั้น จะต้อง ประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเพื่อให้ประชาชนทราบ ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานที่คณะกรรมการวางขึ้นตามความใน(4) นั้น ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใดให้รัฐมนตรีประกาศข้อบังคับที่มี ข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา
*[ความใน (4 ทวิ) ของมาตรา 25 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535 ความในวรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535]
มาตรา 26 ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการจะต้อง เป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้และจัดเจนเกี่ยวกับการรถไฟการขนส่ง วิศวกรรม พาณิชยกรรม การเศรษฐกิจ หรือการเงิน
มาตรา 27* ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธาน กรรมการหรือกรรมการ คือ
(1) มีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือในกิจการที่กระทำ ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นเพียงผู้ถือหุ้น ของบริษัทที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
(2) เป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
(3) เป็นข้าราชการการเมือง
*(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐาน สำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
*[มาตรา 27 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 และ ความใน (4) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535]
มาตรา 28* ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ใน ตำแหน่งคราวละสามปี เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ หรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ใน ตำแหน่งต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้ง อีกได้ *[มาตรา 28 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535]
มาตรา 29 ประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระตาม ความในมาตรา 28 เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก (4) มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ในกรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ ให้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ หรือกรรมการเข้าแทน แล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่า กำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา 30 ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทน ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 31* ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด และอยู่ในตำแหน่งได้ จนกว่าคณะกรรมการจะให้ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือ หย่อนสมรรถภาพ มติให้ผู้ว่าการออกจากตำแหน่งต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่า กึ่งจำนวนกรรมการทั้งหมดนอกจากผู้ว่าการ การแต่งตั้ง การกำหนดเงินเดือน และการให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรานี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี *[ความในวรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535]
มาตรา 32* ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ว่าการ คือ (1) มีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือในกิจการที่กระทำ ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นเพียงผู้ถือหุ้น ของบริษัทที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น (2) เป็นข้าราชการการเมือง *(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐาน สำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ *[มาตรา 32 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 และ ความใน (3) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535]
มาตรา 33 ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เป็น ไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานของการรถไฟแห่ง ประเทศไทยทุกตำแหน่ง ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินงานของการ รถไฟแห่งประเทศไทย มาตรา 33 ทวิ* [เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 และ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535]
มาตรา 34 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำการในนาม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นตัวแทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเพื่อการนี้ ผู้ว่าการอาจมอบอำนาจให้ผู้แทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 8 หรือ บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ กำหนด ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 25 วรรคท้าย กำหนดว่านิติกรรมใดผู้ว่าการจะทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน บรรดา นิติกรรมที่ผู้ว่าการทำขึ้นโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าว ย่อมไม่ผูกพันการรถไฟแห่งประเทศ ไทย เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
มาตรา 35 ผู้ว่าการมีอำนาจ (1) แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นหรือลดขั้นเงินเดือนพนักงานของการรถไฟแห่ง ประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดแต่ถ้าพนักงานเช่นว่านั้น เป็นพนักงานชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการก่อน (2) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่แย้ง หรือขัดต่อข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้
มาตรา 36* เมื่อผู้ว่าการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือเมื่อ ตำแหน่งผู้ว่าการว่างลงและในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงาน ของการรถไฟแห่งประเทศไทยคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการ หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ แล้วแต่กรณี เป็นการชั่วคราว และให้นำมาตรา 32 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ให้ผู้รักษาการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ มีอำนาจหน้าที่ อย่างเดียวกับผู้ว่าการ
*[มาตรา 36 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2509]
มาตรา 37 ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ และพนักงานของการรถไฟ แห่งประเทศไทย อาจได้รับเงินรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
*หมวด 2 ทวิ
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการรถไฟ
_______
มาตรา 37 ทวิ เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟหรือเครื่องประกอบทางรถไฟ ถ้ามิได้ตกลงในเรื่อง การโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
*[หมวด 2 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2524 และแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530]