ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระเจ้าสิบชาติ

พระเตมีย์  ผู้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
พระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
สุวรรณสาม ผู้บำเพ็ญเมตตาบารมี
พระเนมิราช ผู้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
มโหสถบัณฑิต ผู้ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
พระภูริทัต ผู้ทรงบำเพ็ญศีลบารมี
พระจันทกุมาร ผู้ทรงบำเพ็ญขันติบารมี
พระมหานารทกัสสปะ ผู้ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
วิธุรบัณฑิต ผู้บำเพ็ญสัจบารมี
พระเวสสันดร ผู้ทรงบำเพ็ญทานบารมี

มโหสถบัณฑิต ผู้ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้า1   หน้า2    หน้า3

               อยู่มาวันหนึ่ง พระนางอุทุมพรเทวี ประทับบนรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระราชา เสด็จสู่สวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นปิงคุตรมาณพ ผู้กาลกรรณีนั้นกำลังถางทางอยู่ ทรงดำริว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ได้ แล้วทรงพระสรวล พระราชากริ้ว พระนางตรัสถามว่า หัวเราะอะไร พระนางจึงทูลตอบตามความเป็นจริง พระราชาไม่ทรงเชื่อ จะทรงใช้พระแสงดาบฆ่าพระนาง พระนางทรงเกรงกลัวพระราชาอาญา จึงทรงร้องขอ ให้ตรัสถามบัณฑิตทั้งหลายดูก่อน เมื่อเสนกบัณฑิตตอบว่าไม่เชื่อ พระนางยิ่งทรงหวาดหวั่นกว่าเดิม พระราชาจึงทรงถามมโหสถบัณฑิตต่อว่า
               " ดูก่อนมโหสถบัณฑิต สตรีรูปงามผู้สมบรูณ์ ด้วยอาการมารยาททุกอย่าง แต่ก็มีบุรุษไม่ปรารถนาสตรีนั้น เจ้าเชื่อหรือไม่ "
               มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า   " ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์เชื่อ ถ้าหากบุรุษนั้น เป็นผู้ไม่มีบุญ และเป็นคนกาลกรรณี เพราะสิริกับกาลกรรณีย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้ ไม่ว่าในกาลไหนๆ "
               พระราชาทรงฟังคำมโหสถแล้ว ทรงหายกริ้วตรัสว่า  " แน่ะ เจ้าบัณฑิต ถ้าไม่ได้เจ้าวันนี้ เราจักเสื่อมจากสตรีรัตนะ (นางแก้ว) นี้ "   แล้วทรงพระราชทานกหาปณะหนึ่งแสน บูชามโหสถ ฝ่ายพระนางอุมพรเทวี ทรงรอดชีวิตมาเพราะมโหสถ จึงขอพระบรมราชานุญาต ตั้งมโหสถไว้ ในฐานะน้องชาย สามารถไปมาหาสู่กันได้ทุกวันเวลา และร่วมบริโภคอาหารด้วยกันทุกครั้ง พระราชาทรงอนุญาต ตามคำขอของพระนางทุกประการ

ชิงชัยด้วยปัญญา
            
พระเจ้าจุลนีพรหมทัต แห่งปัญจาลนคร ผู้ทรงมีพระราชา ร้อยเอ็ดพระองค์แวดล้อม ได้เสด็จยาตราทัพใหญ่ มาล้อมเมืองมิถิลาถึง 3 ชั้น ด้วยพลรบมากมายประมาณมิได้ ทั้งช้าง ม้า รถ และพลเดินเท้า แม้เป็นเช่นนี้ พระมโหสถบัณฑิต ก็มิได้มีความหวาดหวั่น ได้กราบทูล พระเจ้าวิเทหราชให้เสวย และรื่นรมย์ในกามสุขสมบัติ พระเจ้าจุลนีพรหมทัต จะละกองทัพปัญจาละ หนีไปเอง ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะไม่สามารถยึดเอาเมืองมิถิลาได้ ในที่สุดก็พ่ายแพ้ เพราะอุบายปัญญา
                หนึ่งปีต่อมา เกวัฏพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ ของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ก็คิดอุบายขึ้นมาได้ คือ การใช้เหยื่อล่อ โดยใช้พระธิดาปัญจาลจันที ผู้มีพระรูปโฉมงดงามเป็นเหยื่อ ตกเอาพระเจ้าวิเทหราช ให้มาติดเบ็ดพร้อมด้วยมโหสถ แล้วจัดการประหารเสียทั้งสองคน ได้กราบทูลแผนอุบายนี้ ต่อพระเจ้าจุลนีพรหมทัต และพระองค์ก็ทรงยินยอมที่จะปฏิบัติตาม แล้วแผนอุบายก็เริ่มขึ้น ได้มีบรรดานักร้อง นักเขียน นักดนตรี และนักกวีทั้งหลาย พากันหลั่งไหล เข้าไปยังมิถิลานคร ต่างคนต่างก็โฆษณา ป่าวร้องพรรณาความงาม ของพระนางปัญจาลจันที ว่าเป็นนางแก้ว ผู้คู่ควรแต่เฉพาะพระราชา ผู้ทรงพระปุญญเดชานุภาพเท่านั้น พระราชาที่ว่านี้ ก็มีเพียงพระองค์เดียว คือ พระเจ้าวิเทหราชกรุงมิถิลา เพราะทรงเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ มีเดชานุภาพ เทียบเท่าพระเจ้าจุลนีพรหมทัต แห่งปัญจาลนครทีเดียว
               พระเจ้าวิเทหราช ทรงดีพระทัยนัก ที่ทรงทราบข่าวนี้ ได้ตกลงพระทัยที่จะเสด็จ ไปปัญจาลนคร เพื่อทรงรับพระนางปัญจาลจันที มาอภิเษกเป็นพระมเหสี ได้ทรงปรึกษากับบัณฑิต ทั้ง 4 คือ เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ ทุกคนเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย แต่บัณฑิตคนที่ 5 คือ มโหสถไม่เห็นด้วย เพราะพิจารณาเห็นว่า เป็นแผนอุบายประการหนึ่ง จึงกราบทูลพระราชาว่า  " พระเจ้าพรหมทัตนั้น คิดจะปลงพระชนม์พระองค์ ด้วยแผนอุบายเหมือนนายพรานจับเนื้อตัวผู้ โดยใช้เนื้อตัวเมียเป็นเหยื่อล่อ ปลาอยากกินของสดคือเหยื่อ ย่อมกลืนเบ็ดที่เขาเอาเหยื่อปกปิดไว้ มันย่อมไม่รู้จักความตายของมัน ฉันใด ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงปรารถนากาม ย่อมไม่ทรงทราบ พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี (ผู้เป็นเสมือนเหยื่อ ล่อพระองค์ให้ติดเบ็ด) เหมือนปลาไม่รู้จักความตาย ของตนฉะนั้น ถ้าพระองค์เสด็จไปยังปัญจาลนคร พระองค์จักทรงอยู่ในอันตรายอันใหญ่หลวง ประดุจภัยมาถึงมฤคที่หลงรักเนื้อสาว ที่เป็นเหยื่อติดตามไปจนถึงประตูบ้านนายพราน แล้วถูกนายพรานฆ่าเสียฉะนั้น "   พระราชาทรงพระพิโรธมโหสถ ทรงขับไล่ออกไปเสียจากที่ประชุม แต่มโหสถบัณฑิต ก็ไม่คิดโกรธแค้นแต่พระองค์ เมื่อสืบเรื่องราวแน่ชัดว่า เป็นแผนอุบาย ของเกวัฏพราหมณ์ และพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ที่จะจับพระเจ้าวิเทหราช และตนเองฆ่าเสีย เพื่อแก้แค้นที่เคยแพ้มา เมื่อคราวก่อนจริงๆ มโหสถบัณฑิต จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชอีกครั้ง ทูลถามการตกลงพระทัย เมื่อทราบว่าพระราชา จะเสด็จปัญจาลนครแน่นอน จึงขอให้ทรงยับยั้งรอคอย ให้ตนได้ตระเตรียมการเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจะกราบทูลให้ทรงทราบเพื่อเสด็จในภายหลัง ดังนี้ มโหสถพร้อมด้วยบริวาร ได้เดินทางล่วงหน้าไปปัญจาลนครทันที แล้วจัดสร้างที่พักไว้ตลอดรายทาง ห่างกันแห่งละโยชน์หนึ่ง จนถึงปัญจาลนคร และได้สร้างพระราชนิเวศน์ ที่ประทับของ พระเจ้าวิเทหราช สร้างอุโมงค์ 2 สาย หนึ่งเริ่มจากภายในพระราชนิเวศน์นั้น ไปทะลุที่หน้าพระราชวัง พระเจ้าจุลนีพรหมทัต และอีกสายหนึ่ง เริ่มจากที่เดิมไปโผล่ออกนอกเมือง เมื่อจัดการทุกอย่าง เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช ให้เสด็จพระราชดำเนิน

หน้า1   หน้า2    หน้า3
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย