ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระเจ้าสิบชาติ

พระเตมีย์  ผู้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
พระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
สุวรรณสาม ผู้บำเพ็ญเมตตาบารมี
พระเนมิราช ผู้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
มโหสถบัณฑิต ผู้ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
พระภูริทัต ผู้ทรงบำเพ็ญศีลบารมี
พระจันทกุมาร ผู้ทรงบำเพ็ญขันติบารมี
พระมหานารทกัสสปะ ผู้ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
วิธุรบัณฑิต ผู้บำเพ็ญสัจบารมี
พระเวสสันดร ผู้ทรงบำเพ็ญทานบารมี

พระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี

 mahachanoke.jpg (26803 bytes)

             พระมหาชนกทรงเป็นพระราชโอรส ของพระเจ้าอริฏฐชนกแห่งเมืองมิถิลา แคว้นวิเทหะ พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ในสนามรบ เมื่อครั้งพระโปลชนก (พระเจ้าอา) เสด็จมาตีเมืองมิถิลา เพื่อชิงราชสมบัติ พระราชมารดาจึงเสด็จหนี ออกจากเมืองมิถิลา ไปอาศัยอยู่ที่เมืองกาลจัมปากะ ในขณะที่ยังทรงพระครรภ์ และประสูติเป็นพระมหาชนก ในเมืองกาลจัมปากนครนั้นเอง เมื่อเจริญวัยมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ทรงมีพระรูปโฉมงดงาม เรียนจบพระเวทวิทยา และศิลปศาสตร์ทั้งปวงแล้ว มีพระประสงค์จะครองราชสมบัติ อันเป็นของพระบิดาในมิถิลานคร จึงทูลลาพระมารดา แล้วเสด็จขึ้นเรือแล่นออกสู่ทะเล พร้อมกับพวกพ่อค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเรือไปถึงกลางทะเลหลวงได้ถูกมรสุม พัดกระหน่ำทำให้เรือแตกจมลง พวกพ่อค้า และกะลาสีเรือ ทั้งหมด เว้นแต่พระมหาชนกโพธิสัตว์ พากันร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในน้ำ ในที่สุดก็จมน้ำตายหมด แต่พระมหาชนกโพธิสัตว์นั้น แม้เรือแตกจมลง ก็ไม่ทรงหวาดหวั่นแต่ประการใด ทรงใช้พระวิริยะ ความพากเพียร พยายามแหวกว่ายกระแสชล ผจญคลื่นเพียงพระองค์เดียว ในที่สุดก็ทรงข้ามพ้น ห้วงน้ำใหญ่ เสด็จถึงมิถิลานครโดยปลอดภัย โดยทรงได้รับความช่วยเหลือ จากนางมณีเมขลา และได้ทรงแสดงธรรม คือ ความเพียรแก่เทพธิดาว่า
               " บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้ใคร อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจ อย่างลูกผู้ชายแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนภายหลัง
               ดูก่อนเทพธิดา ผู้ใดรู้แจ้งว่าการงานที่ทำ จะไม่ลุล่วงไปได้จริงๆ ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าเขาละความเพียรนั้นเสีย ก็จะได้รู้ผลแห่งความเกียจคร้าน ดูก่อนเทพธิดา คนบางพวกในโลก เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน ซึ่งประกอบการงานทั้งหลาย ไม่ว่าการงานเหล่านั้น จะสำเร็จหรือไม่ ก็ตาม เทพธิดา ท่านได้เห็นผลประจักษ์แล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆ จมลงใต้มหาสมุทรหมด เราคนเดียว ยังว่ายข้ามอยู่ และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆ เรา เรานั้นจักพยายามตามสติกำลัง จักทำความเพียร ที่บุรุษควรทำ ไปสู่ฝั่งมหาสมุทรให้จงได้ "   นางมณีเมขลาเทพธิดา ได้อุ้มพระมหาชนกโพธิสัตว์ ไปเมืองมิถิลา ให้บรรทมบนแท่นศิลามงคล ในสวนมะม่วงแล้วจากไป

               ครั้งนั้น พระเจ้าโปลชนกราชสิ้นพระชนม์ แล้วไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดา พระนามว่า สีวลีเทวี ผู้ฉลาดเฉียบแหลมพระองค์เดียว ก่อนสวรรคตพระเจ้าโปลชนก ได้มีคำสั่งแก่เสนา อำมาตย์ ให้มอบราชสมบัติ แก่บุคคลดังต่อไปนี้ คือ
                    1. ผู้ที่สามารถทำให้พระธิดาสีวลีเทวี พอพระทัย หรือ
                    2. ผู้ที่รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม หรือ
                    3. ผู้ที่สามารถยกสหัสสถามธนูขึ้นได้ หรือ
                    4. ผู้ที่สามารถนำขุมทรัพย์สิบหกแห่งออกมาได้
               เมื่อถวายพระเพลิงพระศพ พระเจ้าโปลชนกเสร็จแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายได้ประชุม ปรึกษากัน ถึงเรื่องที่จะครองราชสมบัติต่อไป ขั้นแรก หาผู้ที่สามารถทำให้พระธิดาพอพระทัย ก็หาไม่ได้ ต่อไปหา ผู้ที่รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม ก็ไม่มี หาผู้ที่สามารถยกสหัสสถามธนู ก็ไม่ได้ และแม้แต่ผู้ที่สามารถ นำขุมทรัพย์สิบหกแห่งออกมา ก็ไม่ปรากฏ ในที่สุดได้ตกลงกันให้ปล่อยผุสสรถ อันเป็นมงคลไป โดยได้แต่งราชรถเทียมม้าสี่ตัว ปูลาดด้วยเครื่องราชอันวิจิตร ให้ประดิษฐาน เบญจราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยจตุรงคเสนา ประโคมเครื่องดนตรี ตามหลังราชรถนั้น ก่อนปล่อยรถไป ได้ตั้งจิตอธิฐานว่า ผู้ใดมีบุญที่จะได้ครองราชสมบัติ ขอให้ราชรถนี้ไปหาผู้นั้น แล้วปล่อยไป ราชรถนั้นแล่นไปยังอุทยาน เวียนรอบแท่นศิลามงคล ที่มหาชนกโพธิสัตว์ ทรงบรรทมอยู่นั้น แล้วหยุดรออยู่ เหล่าอำมาตย์จึงพากันอัญเชิญ พระมหาชนกขึ้นครองราชสมบัติ สืบต่อไป และพระองค์ทรงปฏิบัติตามพระดำรัสสั่ง ของพระเจ้าโปลชนกทั้ง 4 ข้อ คือ ทรงสามารถทำให้ พระนางสีวลีเทวีพอพระทัย ทรงทราบหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม มีพระกำลัง สามารถยกธนูอันหนัก พันคนยกนั้นได้ โดยง่ายดาย และมีพระปรีชาสามารถรู้ได้ว่า ขุมทรัพย์อยู่ที่ไหน แล้วทรงให้คนขุดขึ้นมาได้
               พระราชามหาชนก ทรงโปรดให้สร้างโรงทาน ไว้หกหลังที่ประตูพระนคร ประตูพระราชนิเวศน์ และท่ามกลางพระนคร ทรงถวายทานเป็นอันมาก เป็นที่นับถือบูชา ของประชาชนทั่วไป วันหนึ่ง พระองค์ทรงระลึกถึงความพยายาม ที่พระองค์กระทำในมหาสมุทรว่า ขึ้นชื่อว่าความเพียรนี้ ควรทำแท้ทีเดียว ถ้าเราไม่ได้ทำความเพียรในมหาสมุทร เราจักไม่ได้ราชสมบัตินี้ แล้วทรงเปล่งพระอุทานมีข้อความว่า
               บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงมีความหวังตั้งมั่นไว้ พึงพยายามเรื่อยไป จนกว่าจะสำเร็จ สมปรารถนา เราสามารถขึ้นจากน้ำได้รับราชสมบัติ ก็เพราะมีความเพียรพยายาม ไม่ท้อถอย นรชนผู้มีปัญญาแม้มีทุกข์ ก็ไม่พึงหมดหวังในความสุข จริงอยู่คนเป็นอันมาก ถูกทุกข์กระทบกระทั่ง ก็ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ถูกสุขกระทบกระทั่ง ก็ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ คนเหล่านั้นไม่นึกถึงข้อความนั้น จึงถึงความตาย สิ่งที่มิได้คิดไว้จะมีก็ได้ สิ่งที่คิดไว้จะพินาศไปก็ได้ โภคะทั้งหลายของคน มิได้สำเร็จ เนื่องด้วยความคิดเท่านั้น
               ต่อมา พระมหาชนกราช ทรงเจริญสมณธรรม อยู่บนปราสาทนั่นเอง ทรงมีพระหฤทัย น้อมไปในทางบรรพชา ทรงดำริว่า เมื่อไรหนอเราจึงจักมีโอกาส ออกจากเมืองมิถิลา ไปบวชอยู่ในหิมวันตประเทศ แล้วต่อมาก็ได้ผนวชเป็นบรรพชิต ในปราสาทนั่นเอง และเสด็จพระราชดำเนิน ไปอยู่ในหิมวันตประเทศ ทรงได้ฌานแล้ว เมื่อสิ้นพระชนมชีพ ก็เสด็จสู่พรหมโลก แม้พระสีวลีเทวีก็ได้เสด็จออกผนวชจนได้ฌาน เมื่อสิ้นพระชนม์ก็เข้าสู่พรหมโลก เช่นกัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย