ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระเจ้าสิบชาติ

พระเตมีย์  ผู้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
พระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
สุวรรณสาม ผู้บำเพ็ญเมตตาบารมี
พระเนมิราช ผู้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
มโหสถบัณฑิต ผู้ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
พระภูริทัต ผู้ทรงบำเพ็ญศีลบารมี
พระจันทกุมาร ผู้ทรงบำเพ็ญขันติบารมี
พระมหานารทกัสสปะ ผู้ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
วิธุรบัณฑิต ผู้บำเพ็ญสัจบารมี
พระเวสสันดร ผู้ทรงบำเพ็ญทานบารมี

วิธุรบัณฑิต ผู้บำเพ็ญสัจบารมี

 vitoon.jpg (26623 bytes)

หน้า1  หน้า2

               วิธุรบัณฑิตเป็นอำมาตย์ ของพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราช ในอินทปัตตนคร แคว้นกุรุ เป็นผู้มีหน้าที่ถวายอรรถธรรม คำปรึกษาทั้งปวงแก่พระราชา เป็นมหาธรรมกถึกผู้ปราดเปรื่อง เลื่องลือไปทั่วทั้ง 3 โลก คือ มนุษย์ สวรรค์ และพิภพบาดาล แม้พระราชา 101 พระองค์ แห่งชมพูทวีปยังทรงหลงใหล ในการกล่าวธรรมของวิธุรบัณฑิต ไม่ยอมเสด็จกลับพระนครของตน วันหนึ่ง ปุณณกยักษ์ได้แปลงกายเป็นมาณพ ไปอินทปัตตนครเข้าไปในที่ประชุม ซึ่งพระราชาชาวกุรุรัฐ อันมีพระราชา 101 พระองค์ พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริวาร ทรงประชุมพร้อมกันอยู่ ณ ที่นั้น ปุณณกมาณพได้ท้าเล่นพนันสกา กับพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราช โดยตกลงกันว่า ถ้าตนแพ้ก็พร้อมที่จะมอบถวายแก้วมณีอันวิเศษ และม้าวิเศษอาชาไนยแก่พระราชา ถ้าพระราชาทรงแพ้พนันสกา จะทรงยินยอมให้ปุณณกมาณพ เลือกเอาทรัพย์สินสิ่งใดก็ได้ ที่เป็นของพระองค์ยกเว้น 3 สิ่ง คือ 1.องค์พระราชา  2.ราชสมบัติ   และ 3.องค์มเหสี ตกลงกันแล้ว ก็เริ่มทอดลูกบาศก์เล่นสกา แข่งขันกันทันที
               ผลของการแข่งขันสกาปรากฎว่า พระราชาทรงเป็นผู้แพ้ จึงตรัสบอกให้ปุณณกมาณพ เลือกเอาทรัพย์สินเดิมพันตามสัญญา ปุณณกมาณพทูลว่า ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และทรัพย์สินอื่นใดในแผ่นดิน ล้วนไม่ต้องการ แต่มีบัณฑิตผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า วิธุรบัณฑิต เป็นแก้วอันประเสริฐ ยิ่งกว่าแก้วและทรัพย์ทั้งหลาย ขอให้พระราชาโปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตนั้น แก่ตนเถิด พระราชาธนัญชัยไม่ทรงยินยอม ทรงอ้างว่าวิธุรบัณฑิตนั้น เป็นเช่นชีวิตของพระองค์ จึงเท่ากับเป็นตัวของพระองค์เอง ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของพระองค์ จึงพระราชทานให้ไม่ได้
               เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ จึงพากันไปหาวิธุรบัณฑิต มอบสิทธิ์ขาดให้เป็นผู้ตัดสิน ท่านวิธุรบัณฑิตตัดสินว่า ตนเองเป็นเพียงทาสของพระราชา จึงเท่ากับเป็นสมบัติของพระราชา เมื่อพระองค์พระราชทาน เป็นเดิมพันพนันแก่ท่าน ก็ขอให้เป็นการพระราชทานโดยธรรมเถิด พระราชาจึงต้องยินยอม แต่ทรงขอร้องให้วิธุรบัณฑิตแสดงธรรม ในการอยู่ครองเรือน คือ ฆราวาสธรรมให้พระองค์ทรงสดับก่อน วิธุรบัณฑิตแสดงธรรมของผู้ครองเรือนว่า

               " ผู้อยู่ครองเรือน ไม่ควรแต่งหญิงสาธารณ์เป็นภริยา ไม่ควรบริโภคอาหารอันอร่อย แต่ผู้เดียว ไม่ควรถือถ้อยคำอันทำให้ยึดติดอยู่ในโลก ไม่ใช่ทางไปสู่สวรรค์ และนิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญได้เลย
               ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบรูณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีวาจาน่าคบหา เป็นคนอ่อนโยน
               ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ บำรุงสมณพราหมณ์ ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ
               ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับแล้ว หมั่นไต่ถามเข้าหาท่าน ผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ
               ผู้อยู่ครองเรือน พึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ พึงสงเคราะห์อย่างนี้ ไม่เบียดเบียนกันอย่างนี้ และผู้ปฏิบัติอย่างนี้ชื่อว่ามีปกติ กล่าวคำสัตย์จากโลกนี้แล้ว ไปยังโลกหน้า จะไม่เศร้าโศกด้วยอาการอย่างนี้ "
               วิธุรบัณฑิตครั้นแสดงธรรม ของผู้ครองเรือนจบแล้ว ได้กราบลาพระราชา กลับไปที่อยู่ของตน พร้อมกับปุณณกมาณพ พระราชาได้มอบปราสาทอันเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เป็นที่อยู่ของปุณณกมาณพ พร้อมด้วยหญิงรับใช้ 500 นาง วิธุรบัณฑิตขอเวลาสำหรับการสั่งสอน อำลาบุตรภรรยาเป็นเวลา 3 วัน แล้วได้เรียกบุตรธิดามาฟังคำสั่งสอนอำลา ได้แสดงราชวสดีธรรม อันเป็นเหตุให้บุคคล ผู้เข้าไปสู่ราชสกุลได้ยศมากมาย จนกระทั่งครบกำหนด 3 วัน จากนั้นได้เข้าเฝ้าพระราชากราบลาไป ท่ามกลางความเศร้าโศก พิไรรำพันของบุตรภรรยา ได้ติดตามปุณณกมาณพไปเพียงผู้เดียว โดยขึ้นม้าอาชาไนย เหาะไปทางอากาศด้วยกัน จนไปถึงยอดเขากาฬคีรี ปุณณกมาณพคิดที่จะฆ่าวิธุรบัณฑิตเสีย โดยนำเอาแต่หัวใจไป จึงกระทำโดยประการต่างๆ เพื่อจะให้วิธุรบัณฑิตตาย แต่วิธุรบัณฑิตไม่ตาย และไม่หวาดสะดุ้งต่อความตาย ได้ถามเรื่องราวความเป็นมาของปุณณกมาณพ มาณพนั้นจึงเล่าให้ฟังว่า ตนเองคือปุณณกยักษ์ผู้เป็นอำมาตย์ ของท้าวกุเวร มีความรักใคร่ นางนาคกัญญา ชื่ออิรันทตี ผู้เป็นพระธิดาของพระวรุณ นาคราชในพิภพบาดาล พญานาคนั้นให้ตนนำดวงใจ ของวิธุรบัณฑิตไปให้ทอดพระเนตร แล้วจะยกนางอิรันทตีนาคกัญญา ให้เป็นภรรยา เพราะตนลุ่มหลงรักใคร่นางอิรันทตีนั้น จึงรับอาสาเอาดวงใจของวิธุรบัณฑิต ไปให้พญานาค

หน้า1  หน้า2
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย