ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดยะลา(3)
ในปี พ.ศ.2374 พระยายะลา (ต่วนบางกอก) ร่วมกับพระยาปัตตานี (ต่วนสุหลง) พระยาหนองจิก (ต่วนกะจิ) และพระยา ระแงะ (หนิเดะ) ได้ยกกองทัพเข้าตีเมืองยะหริ่ง เมืองเทพา เมืองจะนะและเมืองสงขลา ทางราชการไทยจับตัวเจ้าเมืองยะลาและเจ้าเมืองอื่น ๆ ได้ และได้ตั้งเจ้าเมืองยะลาคนใหม่ โดยพระยาสงขลาได้ให้หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ซึ่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองยะหริ่ง ไปรักษาราชการเมืองยะลา หลวงสวัสดิภักดีได้ไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านวังตระ แขวงเมืองยะลา
เมื่อหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ได้ไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง พระยาสงขลาก็ได้นำตัวนายเมืองซึ่งเป็นบุตรพระยายะหริ่ง (พ่าย) เข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อกราบบังคมทูลให้เป็นเจ้าเมืองยะลา เป็นพระยายะลาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาณรงค์ฤทธิ์ศรีประเทศวิเศษวังษา (เมือง) เป็นเจ้าเมืองยะลา เมื่อปี พ.ศ.2390 ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสาป ริมแม่น้ำ
พระยาณรงค์ฤทธิ์ ฯ (เมือง) ว่าราชการอยู่ระยะหนึ่งปรากฏว่าปฏิบัติราชการไม่ได้ผลดี พระยาสงขลาจึงถอดเสียจากราชการ แล้วตั้งให้ตวันบาตูปุเต้ เป็นผู้รักษาราชการเมืองยะลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2394 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อตวันบาตูปุเต้ถึงแก่กรรม ตวันกะจิ ผู้เป็นบุตรได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองยะลาต่อมา
ความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับไทยหลัง ปี พ.ศ.2375 มีความกระชับและรัดกุมกว่าเดิม เพราะรัฐบาลได้ให้อำนาจในการควบคุม และประสานงานระหว่างรัฐบาล และหัวเมืองเหล่านี้อย่างเต็มที่ ทำให้สามารถรักษาความสงบในเจ็ดหัวเมืองได้ เพราะแม้จะมีเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นที่ไทรบุรีอีกใน ปี พ.ศ.2381 พวกขบถได้มาชักกชวนให้เข้าร่วมด้วย แต่ราษฎรส่วนใหญ่ในเจ็ดหัวเมืองก็มิได้เข้าร่วมด้วย และกลับมีบางเมือง เช่น เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง และเมืองสายบุรี ได้ส่งกำลังเข้าร่วมในการปราบปรามขบถในครั้งนั้นด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2394 - 2411<) หัวเมืองทั้งเจ็ดต่างยอมอยู่ใต้อำนาจของไทยในฐานะเมืองประเทศราช ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปัตตานีมีความกระชับกันยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปถึงปัตตานีเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2406 นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่เสด็จประพาสดินแดนส่วนนี้
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคโดยดำเนินการปกครองแบบเทศาภิบาล สำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง ก็ได้ปกระกาศข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.120 กำหนดให้บริเวณเจ็ดหัวเมือง มีพระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการเมือง แต่ละเมืองต่างมีหน่วยบริหารราชการเมืองของตนเอง แต่จะมีข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานทั่วไป โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.2444 พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณ ได้แบ่งแต่ละเมืองเป็นอำเภอต่าง ๆ คือ
- เมืองปัตตานี แบ่งเป็นสองอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอยะรัง
- เมืองรามัน แบ่งเป็นสองอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอเบตง
- เมืองหนองจิก แบ่งเป็นสองอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอเมืองเก่า
- เมืองสายบุรี แบ่งเป็นสามอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอยี่ง และอำเภอบางนรา
- เมืองระแงะ แบ่งเป็นสามอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอโต๊ะโมะ และอำเภอกสุไหงปาดี
- เมืองยะหริ่ง แบ่งเป็นสามอำเภอคือ อำเภอกกกลางเมือง กับอำเภอยะหา และอำเภอระเกาะ
- เมืองยะลา แบ่งออกเป็นสามอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง อำเภอยะหา และอำเภอกะลาพอ (ต่อมาในปี พ.ศ.2450 ได้แบ่งเมืองยะลา ออกเป็นสองอำเภอคือ อำเภอเมืองและอำเภอยะหา)
ในปี พ.ศ.2447 ได้ประกาศตั้งหัวเมืองทั้งเจ็ดเป็นมณฑลปัตตานี โดยยุบเมืองเล็ก ๆ ลงเหลือสี่เมืองคือ รวมเมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง และเมืองปัตตานี เป็นเมืองปัตตานี รวมเมืองรามันและเมืองยะลา เป็นเมืองยะลา เมืองสายบุรียังคงเป็นเมืองสายบุรี (ภายหลังยุบเป็นตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี) ส่วนเมืองระแงะยังคงเป็นเมืองระแงะ (ภายหลังรวมตั้งเป็นจังหวัดนราธิวาส) โดยมีพระยาศักดิ์เสนี เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี
ในปลายปี พ.ศ. 2475 ได้ประกาศยุบเลิกมณฑลปัตตานี ทั้งนี้ เพราะการคมนาคมสะดวกขึ้นการดูแลปกครองบังคับบัญชาทำได้รัดกุมยิ่งขึ้น และเพื่อประหยัดรายจ่ายเงินแผ่นดิน และต่อมาได้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร จังหวัดยะลาก็เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยสืบต่อมาจนทุกวันนี้ อ้างอิง : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดยะลา
ที่มา : จดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรฯ
จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี