ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดหนองคาย

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดหนองคาย(3)

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านไผ่ หรือบ้านหนองไผ่เป็นเมืองหนองคายแล้ว เมืองพานพร้าว เมืองเวียงคุก เมืองปะโค ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเมืองหนองคาย ส่วนเมืองโพนแพนหรือปากห้วยหลวงนั้น โปรดเกล้าฯตั้งเป็นเมือง "โพนพิสัย" อีกประการหนึ่งในช่วงสมัยดังกล่าว ประชาชนยังตื่นตระหนกในศึกสงครามอพยพหลบหนีจำนวนมาก ฉะนั้นเมื่อตั้งบ้านหนองไผ่เป็นเมืองหนองคายแล้ว ชุมชนก็เริ่มเจริญเติบโตมากขึ้นตามลำดับ

ในสมัยที่พระปทุมเทวาภิบาลเป็นเจ้าเมืองหนองคายนั้น บ้านเมืองอยู่ในยุคสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ นั่นคือชุมชนบ้านหนองไผ่ หรือบ้านไผ่นั้นยังเป็นชุมชนเล็ก ๆ ภายหลังประชาชนที่อพยพหนีศึกสงคราม ทราบว่าบ้านเมืองสงบร่มเย็นเป็นปกติแล้วต่างก็มาตั้งบ้านเรือนในเมืองหนองคายมากขึ้น
พระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวสุวอ) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหนองคาย

ต่อมา พระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวเคน) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวเคน) เป็นเจ้าเมืองหนองคายสืบต่อจากท้าวสุวอในสมัยพระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวเคน) นั้น เกิดศึกฮ่อที่ชายแดนติดต่อกับประเทศญวน เมื่อ พ.ศ. 2420 ขณะนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวเคน) ไปต้อนรับพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ซึ่งมาตั้งกองสักเลกและเร่งรัดเงินส่วยอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อทราบข่าวศึกฮ่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ สั่งให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ซึ่งไปตรวจราชการอยู่ที่หัวเมืองอีสาน ให้เกณฑ์กองทัพใหญ่จากหัวเมืองอีสานไปปราบศึกฮ่อ ครั้นเมื่อกองทัพของพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ยกขึ้นไปถึงเมืองหนองคาย เมืองโพนพิสัย (โพนแพน) ทราบว่าผู้คนแตกตื่นหนีศึกฮ่อที่ยกมาตีเมืองเวียงจันทน์ และตั้งมั่นอยู่ที่เวียงจันทน์ แม้แต่กรมการเมืองก็อพยพหนีพาครอบครัวเข้าป่าเข้าดงด้วย พระยามหาอำมาตย์ จึงให้หากรมการเมือง

ในครั้งนั้นได้สั่งประหารชีวิตท้าวศรีสุราช ตำแหน่งราชบุตรเมืองหนองคาย ที่รักษาการบ้านเมืองขณะที่เจ้าเมืองไปราชการ และพระพิสัยสรเดช (ท้าวหนู) เจ้าเมืองโพนพิสัยที่ไม่อยู่รักษาบ้านเมืองแตกตื่นข่าวศึก ในครั้งนั้นพระยามหาอำมาตย์ ได้ตีศึกฮ่อจนถอยไปทางทุ่งเชียงคำ (ทุ่งไหหิน) บ้านเมืองก็สงบสุข แต่กระนั้นก็ตามใน พศ.ศ 2428 เกิดศึกฮ่อครั้งที่ 2 คราวนี้พวกฮ่อกำเริบเสิบสาน ได้เข้ายึดทุ่งเชียงคำและเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์อีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พระยศขณะนั้น) เป็นแม่ทัพเสด็จไปปราบฮ่อ เสร็จศึกฮ่อในครั้งนั้นได้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เพื่อบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตในการทำศึกปราบฮ่อครั้งนั้นไว้ที่เมืองหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2429

ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2434 ฝรั่งเศสเริ่มปฏิบัติการขยายดินแดนในประเทศลาว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ (ภายหลังเปี่ลยนเป็นมณฑลลาวพวน และมณฑลอุดรธานี ตามลำดับ) ตั้งกองบัญชาการข้าหลวงใหญ่ที่เมืองหนองคาย และย้ายไปตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้งใน

ในสมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมืองอิสาน เมืองหนองคายเป็นที่ตั้งกองบัญชาการข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลลาวพวน  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2436 ต้องย้ายกองบัญชาการมาตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้ง  เพราะฝรั่งเศสยื่นคำขาด ไม่ให้ตั้งกองทหารภายในระยะ 25 กิโลเมตรจากชายเขตแดน ราษฎรทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงพร้อมใจกันอพยพมาอยู่ทางฝั่งไทยมากกว่าครึ่งเมือง คือ เจ้าเมืองบริคัณฑนิคม มาอยู่ที่บ้านหนองแก้ว เป็นเจ้าเมืองรัตนวาปี   เจ้าเมืองจันทบุรี (เวียงจันทน์) อพยพมาอยู่ที่บ้านท่าบ่อเกลือ เป็นเจ้าเมืองท่าบ่อเกลือ เมืองหนองคายยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองหนองคาย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2441 ได้เรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้ว่าราชการเมืองหนองคาย ตามข้อบังคับการปกครองท้องที่ ร.ศ. 177 เมื่อแยกการปกครองเป็นมณฑลอุดร ยุบเลิกเมืองจัตวาในบริเวณมณฑลอุดรเป็นอำเภอ ขึ้นกับเมืองอุดรธานี  เมื่อปี พ.ศ. 2450  จึงได้เป็น อำเภอเมืองหนองคาย และได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดหนองคาย

<<< ย้อนกลับ ||

จังหวัด » กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย