ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

การเดินทางของพุทธศาสนาสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
เส้นทางติดต่อระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิ
พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ
พุทธศาสนาสมัยฟูนัน
พุทธศาสนาสมัยทวาราวดี
พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย
พุทธศาสนาสมัยลพบุรี
พุทธศาสนาสมัยลานนา
พุทธศาสนาลังกาวงศ์สู่ลานนา
พุทธศาสนาสมัยสุโขทัย
การปกครองคณะสงฆ์ และศิลปกรรม
พระมหาธรรมราชาลิไทกับพุทธศาสนา
พุทธศาสนาสมัยอยุธยา
พุทธศาสนาสมัยธนบุรี
พุทธศาสนาสมัยรัตนโกสินทร์

พุทธศาสนาสมัยลพบุรี

จักรวรรดิทวาราวดีดำรงอยู่จนถึงศตวรรษที่ 15 ต่อมาถูกขอมรุกรานมาแต่ทิศตะวันตก ทางใต้พวกศรีวิชัยรุกราน อาณาจักรนี้จึงดับสูญไป นักโบราณคดีสมัยก่อนมีความเชื่อว่า เมืองหลวงของทวาราวดี คือเมืองนครปฐม แต่ร้างไปเพราะกองทัพพม่าในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อแห่งพุกาม ซึ่งแผ่อำนาจมาทางตะวันออกทั้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำปิง อิทธิพลของพม่าอาจจะมาถึงภาคกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจริง เมื่อพม่าตีมอญแตกในเขตใต้ ก็อาจกระทบกระเทือนมาถึงพวกมอญในสุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย พระเจ้าอโนรธามังช่อจึงได้แบบอย่างพระเจดีย์ที่วัดพระเมรุเอาไปสร้างอนันทเจดีย์ขึ้นในพุกาม ซึ่งปรากฎว่ามีทรวดทรงสัณฐานอย่างเดียวกับพระเจดีย์วัดพระเมรุไม่มีผิด แต่ในกรณีหลังอิทธิพลของพม่ามิได้ครอบงำมาถึงลุ่มแม่น้ำปิงเลย นักโบราณคดีรุ่นใหม่เชื่อกันว่า อิทธิพลพม่ามิได้เลยฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม นครปฐมได้ร้างไปตั้งแต่ศึกพุกามครั้งนั้น พระเจาอโนรธามังช่อได้กวาดต้อนพระสงฆ์และศิลปกรสาขาต่างๆ กลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก จึงทิ้งอาณาบริเวณนี้ให้แก่พวกขอมเข้ามาครอบครองภายหลัง เราเรียกสมัยนี้ว่า สมัยลพบุรี สมัยลพบุรีเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 15–18 เป็นยุคที่จักรวรรดิของเรืองอำนาจที่สุดในภูมิภาคนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นผู้ตั้งจักรวรรดิขอมขึ้นใหม่ อาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคอีสานทั้งภาคเป็นประเทศราชของขอม ขอมมาตั้งเมืองอุปราชปกครองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีเมืองลพบุรีเป็นเมืองสำคัญ เมืองนี้เรียกกันในภาษาเดิมว่าละโว้ เป็นเมืองเก่าก่อนของขอม ที่รู้ว่าเก่าก็เพราะได้พบศิลาจารึกภาษามอญโบราณ ในบริเวณศาลาสูง คือศาลพระกาฬเดี๋ยวนี้ เมื่อขอมเข้ามาเป็นใหญ่ ได้แปรคำว่าละโว้ เข้าหาภาษาสันสกฤตเป็น ลวปุระหรือเมืองพระลพ ซึ่งเป็นโอรสของพระราม จึงมีความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระรามอยู่ในเมืองนี้ ส่วนทะเลสาบชุบศร พวกขอมให้ผูกนิยายขึ้นว่าพระราได้มาชุบศรที่นี่ ศรอันศักดิ์สิทธิ์คือ พรหมศาสตร์ อัคนิวาตประลัยวาต เพราะฉะนั้น น้ำในทะเลสาบแห่งนี้จึงเป็นน้ำศักด์สิทธิ์ กษัตริย์ทุกพระองค์ของขอม เมื่อทำพิธีมูรธาภิเษก ต้องใช้น้ำในสระนี้ ส่วนตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขอมตั้งเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัยปกครอง ในภาคอีสานขอมตั้งเมืองสกลนคร พิมาย เป็นเมืองอุปราชปกครอง อิทธิพลของขอมเริ่มตั้งแต่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม เรื่อยมาถึงเมืองเพชรบุรีเป็นที่สุด ทางทิศตะวันตกก็เริ่มตั้งแต่เมืองสุพรรณบุรีและสิงห์บุรีเข้ามา สำหรับทิศเหนือนั้นไปสิ้นสุดที่เมืองกำแพงเพชร ศรีสัชนาลัย ดังนั้นอิทธิพลของขอมมิได้ล้ำเข้าไปในลุ่มแม่น้ำปิงเลย เพราะที่นั่นยังมีอาณาจักรมอญ ซึ่งตกค้างจากสมัยทวาราวดี ตั้งมั่นต่อสู้พวกขอมอย่างเหนียวแน่น เราจึงไม่พบศิลปกรรมของขอมในลุ่มแม่น้ำปิงแม้สักแห่งเดียว



พุทธศิลป์
สถานที่พวกขอมสร้างเป็นคติในทางศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาทั้งนั้น โดยมากสร้างด้วยทัพพสัมภาระคือ อิฐ แลง และหิน สถานที่สร้างด้วยอิฐเป็นสิ่งที่เก่าที่สุด ต่อมาก็เป็นแลง และเมื่อขอมมีกำลังมากก็สร้างด้วยหิน ทุกแห่งที่ขอมเข้าไปปกครองต้องมีเทวสถานหรือพุทธสถานอย่างใดอย่างหนึ่ง พวกขอมนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธปนเปกันไป ศาสนาพราหมณ์ส่วนใหญ่นับถือลัทธิศิวเวท ส่วนพุทธศาสนานั้นนับถือลัทธิมหายาน ร่องรอยโบราณสถานของขอมในยุคนี่ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาล้วนเป็นมหายานทั้งนั้น อาทิ เช่น พระปฏิมากรรมของขอม มักทรงเครื่องอลังการวิภูษิตาภรณ์ มีกระบังมงกุฏบนพระเศียรที่เรียกกันว่า ทรงเทริด พระโอฐหนา ดวงพระเนตรใหญ่ พระกรรณยาวลงงมาจดพระอังสะ ลักษณะใกล้ไปทางเทวรูปมาก พระปฏิมากรที่ว่านี้คือ รูปพระอาทิพุทธะในคติมหายาน ถ้าเป็นรูปพระศากยมุนีก็มักจะมีรูปพระโพธิสัตว์ซ้ายขวาแป็นรูปอัครสาวก รูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และรูปปรัชญาปารมิตาโพธิสัตว์ รูปพระอวโลกิเตศวรนั้น บางทีทำเป็น 4 กรหรือ 6 กรบ้าง คนชั้นหลังไม่รู้นึกว่าเป็นรูปพระนารายณ์หรือพระพรหมไปก็มี ส่วนพระเครื่องชุกหนึ่งว่า นารายณ์ทรงปืน ความจริงเป็นรูปพระอวโลกิเตศวร พระเครื่องแบบมหายานนี้ขุดได้ที่ลพบุรีส่วนมาก รวมทั้งพระเครื่องที่เรียกกันว่า พระหูยานด้วย ที่จริงเป็นพิมพ์ของพระอักโษภยพุทธะ พระพุทธเจ้าประจำทิศบรูพา ปราสาทขอม 3 หลังที่ลพบุรีเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้าตรีกาล ตามคติมหายานมาแปลงเป็นเทวสถานในภายหลัง ปราสาทหินพิมายที่โคราช ก็เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกมหึมา ที่เรียกว่าชยพุทธมหานาค และประดิษฐานรูปปฏิมา พระไตรโลกวิชัย อันเป็นปางหนึ่งของพระอาทิพุทธะ พระพุทธรูปสมัยลพบุรีส่วนใหญ่นิยมสร้างเป็นปางนาคปรกเป็นส่วนมาก และเป็นหินที่เห็นเป็นสำริดมีน้อย เหตุที่สร้างปางนาคปรกนั้น เนื่องจากพวกขอมได้มีลัทธิบูชางูใหญ่ แม้หัวหน้าสตรีก็มีชื่อเป็นงู

คือโสมนาคี พระพุทธรูปสมัยลพบุรี มีทั้งพระศิลา พระหล่อ และพระพิมพ์ โดยสรุป พระพุทธรูปปางเหล่านี้คือ

1. ปางสมาธิ มีปางนาคปรก ไม่มีนาคปรกบ้าง
2. ปางมารวิชัย (ชนะมาร คือปางตรัสรู้)
3. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ยืนกรีดนิ้วพระหัตถ์
4. ปางประทานอภัย เป็นพระยืนตั้งพระหัตถ์ข้างเดียวบ้าง 2 ข้างบ้าง (ตั้งพระหัตถ์ข้างเดียวเรียกปางห้ามญาติ 2 ข้างเรียกปางห้ามสมุทร)
5. ปางป่าเลไลยก์ คงดัดแปลงมาจากปางปฐมเทศนาแบบทวาราวดี

รูปพระโพธิสัตว์ตามลัทธิมหายานในลพบุรี มักสร้างแต่ 2 องค์คือ

1. รูปพระโพธิสัตว์อวโลกกิเตศวร ทำอย่างเทวรูป มีที่สังเกตคล้ายรูปพระนารายณ์ แต่มือบน 3 มือถือลูกประคำและหนังสือ มือล่าง 2 มือถือดอกบัวและน้ำอมฤต ทำเป็นมนุษย์หลายหน้า (ซ้อนกันอย่างหัวโขนทศกัณฐ์) หลายมือหลายเท้าบ้าง

2. รูปนางภควดีปัญญาบารมี ทำเป็นรูปนางยกมือขวาถือหนังสือ มือซ้ายถือดอกบัว ซึ่งมักเข้าใจกันว่าเป็นรูปนางอุมาภควดี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย