ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

ทุกขสัจ-ทุกขทุกข์

พระญาณ 3

ส่วนสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนอันนับว่าเป็นหลักสำคัญ ประการหนึ่งก็ได้แก่หลักกรรม และผลของกรรม ในพุทธประวัติได้แสดงถึงพระญาณคือความหยั่งรู้ของพระพุทธเจ้า 3 ประการ

ที่ทรงได้ในราตรีที่ตรัสรู้ ในปฐมยามได้ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือพระญาณที่หยั่งรู้ ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ เรียกสั้นว่าระลึกชาติได้ ในมัชฌิมยามทรงได้จุตูปปาตญาณ คือพระญาณที่หยั่งรู้จุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึง อันได้แก่ความเคลื่อนจากภพชาติหนึ่งเข้าถึงภพชาติหนึ่ง เป็นอันมากแห่งชาตินั้นๆ ที่ทรงระลึกได้นั้นว่าเป็นไปตามกรรม คือการงานที่ได้กระทำไว้ กระทำกรรมชั่วก็เคลื่อนไปเข้าถึงชาติที่ชั่ว มีความทุกข์ต่างๆ กระทำกรรมดีก็เคลื่อนไปเข้าถึงชาติที่ดีมีความสุขต่างๆ

ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสรู้ในหลักกรรม ว่าทำกรรมดีให้ผลดี ทำกรรมชั่วให้ผลชั่ว ในมัชฌิมยามแห่งราตรีนั้น เพราะฉะนั้น หลักกรรมนี้จึงเป็นหลักสัจจะคือความจริงที่ตรัสรู้ ก่อนแต่ที่จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงได้ในปัจฉิมยามของราตรีนั้น อันได้แก่อาสวักขยญาณคือความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะทั้งหลาย ได้ทรงได้พระญาณหยั่งรู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้ในอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน ในเหตุเกิดอาสวะ ในความดับอาสวะ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เป็นอันว่าทรงได้พระญาณที่ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง 4 ทั้งสายทุกข์ และทั้งสายอาสวะ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น หลักอริยสัจจ์จึงเป็นสัจจะที่เป็นหลักอย่างยิ่งในพุทธศาสนา และก็ได้ทรงนำเอาหลักอริยสัจจ์ที่ได้ตรัสรู้ในปัจฉิมยามเป็นพระญาณที่ 3 กับหลักกรรมที่ได้ตรัสรู้ในมัชฌิมยาม มาทรงแสดงเป็นธรรมะสั่งสอน เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมก็พึงตั้งใจน้อมศรัทธาคือความเชื่อในหลักกรรม และหลักอริยสัจจ์ที่ทรงสั่งสอน ตั้งใจพิจารณาให้เกิดปัญญาในหลักกรรม และหลักอริยสัจจ์ที่ทรงสั่งสอน

พระญาณ 3
พุทธศาสนาสอนให้พ้นทุกข์
ความสุขในชั้นกรรม
วิธีกำหนดรู้ทุกขสัจจะ
ข้อว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์โดยย่อ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย