ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

สมถะวิปัสสนา

อัปปมัญญา พรหมวิหาร ๔

พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตา คือ ความอยากให้ผู้อื่นมีสุข ความไม่เบียดเบียน ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความรัก คือ ความรักที่ปราศจากราคะ

บุคคลที่เป็นโทษแห่งเมตตา

๑.บุคคลที่เกลียดกัน ตั้งอยู่ในฐานแห่งคนรักกันย่อมลำบาก
๒.ในบุคคลที่เป็นสหายรักกันมาก ตั้งไว้ในฐานแห่งคนกลาง ๆ ย่อมลำบาก เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแก่เขาจนถึงกับร้องไห้ได้
๓.ในบุคคลที่เป็นกลาง ๆ กัน ตั้งอยู่ในฐานแห่งคนรักย่อมลำบาก
๔.บุคคลที่เป็นศัตรูกัน ความโกรธย่อมเกิดขึ้น เหตุนั้น ไม่ควรเจริญในบุคคล ๔ ประเภทข้างต้น
๕.ในบุคคลที่เป็นข้าศึกกัน มีเพศเป็นข้าศึกกัน เพศตรงข้าม เมื่อเจริญเจาะจง ถึงเพศ มีเป็นข้าศึกต่อกัน ความกำหนัดย่อมเกิดขึ้น
๖.ในคนที่ทำกาลกิริยา ตายแล้ว ไม่ควรเจริญด้วยทีเดียว เมื่อเจริญไปจิตก็ไม่ถึงอัปปณาสมาธิไม่ถึงอุปจารได้เลย เพราะเมตตามีสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์

ควรเจริญเมตตาในตนเองก่อน

ควรเจริญเมตตาให้ตนเองบ่อย ๆ อย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็นผู้ถึงความสุขไม่มีทุกข์เถิดเป็นต้น เพื่อเป็นพยานว่า ไม่มีใครรักผู้อื่นนอกจากตนเอง หรือยิ่งกว่าตนเอง ฉันใด แม้คนอื่นก็รักตนเองมากฉันนั้น ดังนั้น จึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อใจเรามีสุขแล้ว ก็แผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นด้วยใจ
การแผ่เมตตาให้กับคนอื่น หรือสัตว์อื่น

เมื่อเจริญเมตตาในตนจนจิตมีความสุขแล้ว จึงแผ่ให้กับผู้อื่นหรือสัตว์อื่น แผ่ให้ผู้อื่นแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง แผ่เจาะจง อย่างหนึ่ง เช่น ขอเทพทั้งหลายทั้งปวงจนไม่มีเวรมีภัย มีสุขเถิด การแผ่แบบไม่เจาะจง คือ ไม่จำกัดสัตว์ประเภทไหน เช่น ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความบีบคั้น ไม่มีทุกข์ มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด

การสอนตนเองเมื่อเกิดความโกรธ

เมื่อมีความโกรธขึ้น และต้องการบันเทาความโกรธให้ได้นั้น เมื่อพยายามไปความโกรธยังไม่ดับ ก็ให้ระลึกถึงพระพุทโธวาททั้งหลายของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ เช่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่าพวกโจรป่า จับตัวตัดองค์อวัยวะด้วยการเลื้อยด้วยเลื้อยก็ตาม หากผู้ใดยังมีจิตใจคิดร้ายในพวกโจรนั้น ผู้นั้นก็หาได้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเราไม่ อีกอย่างหนึ่ง ให้ระลึกถึงความดีของเขา เราโกรธแล้วย่อมทำทุกข์ให้แก่ตัวเอง ให้พิจารณาว่า เรา และผู้อื่นมีกรรมเป็นของ ๆ ตนเอง ให้พิจารณาความอดทน อดกลั้นของพระบรมศาสดาในชาติก่อน ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ถูกทำร้ายก็ไม่แสดงความโกรธ ให้พิจารณา อานิสงส์ เมตตาที่ภิกษุทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมได้อานิสงส์ ๑๑ ประการ เช่น หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เทวดารักษา เป็นต้น หรือทำการแยกธาตุว่า เราโกรธอะไร โกรธเล็บ โกรธฟันหรือ ดังนี้ ประการสุดท้ายให้ทำทาน โดยให้ของของตนแก่ศัตรู เมื่อทำอย่างนั้นความโกรธของตนย่อมระงับ

การแผ่เมตตารวมแดน

การแผ่เมตตารวมแดน (สีมสัมเภท) คือ การทำเมตตาให้มีขึ้นบ่อย ๆ ทำให้เนื่อง ๆ ทำให้มาก จนจิตของเราเสมอในชนทั้ง ๔ จำพวก คือ
๑. ในตนเอง ๒. ในบุคคลที่รัก ๓. ในคนกลาง ๆ ๔. ในคนเป็นศัตรูกัน เมื่อใดชนทั้ง ๔ อัน ภิกษุทำจิตเสมอรวมเข้าด้วยกันแล้ว แผ่ไปยังสัตว์โลกทั้งปวง กับทั้งเทวดาด้วยเสมอกันหมด เมื่อนั้นเธอเป็นผู้มีเมตตาไม่ปรากฏแดน ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในเมตตาภาวนา

<< ย้อนกลับ | สารบัญ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย