สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดย : คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
หมวด ๘
คณะรัฐมนตรี
-----------------------------------------
มาตรา ๑๕๘
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี
มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้
ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่
แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๕๙
ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็่นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา
๑๖๐ และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘
เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย
และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา ๑๖๐
รัฐมนตรีต้อง
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๖) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘
(๗) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด
หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ
หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๘) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามมาตรา ๑๘๖
หรือมาตรา ๑๘๗ มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
มาตรา ๑๖๑
ก่อนเข้ารับหน้าที่
รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ)
ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
ในกรณีที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนที่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ
ให้คณะรัฐมนตรีนั้นดำเนินการตามมาตรา ๑๖๒ วรรคสองได้ ในกรณีเช่นนี้
ให้คณะรัฐบมนตรีตามมาตรา ๑๖๘ (๑)
พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดังกล่าว
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- หมวด ๑ บททั่วไป
- หมวด ๒ พระมหากษัตริย์
- หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
- หมวด ๔ หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
- หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ
- หมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ
- หมวด ๗ รัฐสภา
- หมวด ๘ คณะรัฐมนตรี
- หมวด ๙ การขัดกันแห่งผลประโยชน์
- หมวด ๑๐ ศาล
- หมวด ๑๑ ศาลรัฐธรรมนูญ
- หมวด ๑๒ องค์กรอิสระ
- หมวด ๑๓ องค์กรอัยการ
- หมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น
- หมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ
- บทเฉพาะกาล
ประวัติ-ความเป็นมา
รายชื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
การลงประชามติ
การประกาศใช้
ข้อวิจารณ์