เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ไม้ผล ไม้ยืนต้น

การปลูกองุ่น

โรคขององุ่น

องุ่นมีโรคเกิดทำลายหลายชนิด นับตั้งแต่ต้นเล็กๆ ไปจนถึงระยะติดดอกออกผลจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด การที่องุ่นที่ปลูกในประเทศไทยมีโรคระบาดรุนแรงหลายชนิดก็เนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนชื้น มีฝนตกชุก และมีการตัดแต่งกิ่งองุ่นให้ออกดอกติดผลตลอดปีจึงมีส่วนทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่ายเกือบตลอดปีเช่นกัน ขณะนี้ปัญหาเรื่องโรคจึงเป็นปัญหาที่สำคัญของสวนองุ่นอย่างมาก

โรคขององุ่นที่ระบากรุนแรงและทำความเสียหายร้ายแรง ดังนี้

1. โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา PLasmopara viticola โรคราน้ำค้างนับว่าเป็นโรคที่สำคัญที่สุดสำหรับการปลูกองุ่นในบ้านเรา เป็นโรคที่ระบาดรุนแรงทำความเสียหาย มากระบาดได้ทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนจะระบาดอย่างรุนแรง เพราะความชื้นในอากาศมีสูง

ลักษณะอาการ โรคนี้เกิดได้กับส่วนต่างๆ ของต้นองุ่นทั้งใบ ช่อ ดอก ยอดอ่อน เถา และช่อผล อาการที่สังเกตได้คือ

อาการบนใบองุ่น ใบที่ถูกโรคทำลายในระยะแรกจะเห็นเพียงจุดเล็กๆ สีเหลืองปนเขียวทางด้านบนของใบ ต่อมาจะขยายเป็นแผลโตขึ้นขนาดของรอยแผลไม่แน่นอน ในระยะนี้ถ้าดูด้านล่างของใบตรงที่เป็นแผลจะพบเชื้อราสีขาวอยู่เป็นกลุ่นเห็นได้ชัด ซึ่งตรงกลุ่มนี้เองจะมีส่วนขยายพันธุ์สามารถที่จะเจริญแพร่ระบาดติดต่อไปยังใบอื่นๆ หรือแปลงอื่นๆ โดยปลิวไปกับลม อาการของโรคจะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อเชื้อราเข้าทำลายแล้ว 4-6 วัน

อาการที่ยอดอ่อน ยอดอ่อนที่ถูกโรคเข้าทำลายจะเคระแกร็น ยอดสั้น มีเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุมยอดเห็นได้ชัดเจน ยอดอ่อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งตายในที่สุด

อาการที่ช่อดอก ช่อดอกที่รับเชื้อจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือเป็นหย่อมๆ อีก 2-3 วัน ต่อมาจะเห็นเชื้อราสีขาวขึ้นที่ ช่อดอกเห็นได้ชัด ช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งติดเถา โดยช่อดอกอาจแห้งจากโคนช่อ ปลายช่อ หรือกลางช่อก็ได้

อาการที่ช่อผล จะเกิดกับผลอ่อน โดยครั้งแรกจะมีลักษณะเป็นจุดหรือลายทางๆ สีน้ำตาลที่ผล ผลเริ่มแห้งเปลือกผลเหี่ยวเปลี่ยนเป็นสีเทาปนสีน้ำเงินหรือน้ำตาลแก่ ถ้าเป็นมากผลจะเหี่ยวหมดทั้งช่อ

อาการที่เถา-ที่มือเกาะ อาการที่มือเกาะหรือที่หนวดนั้นเริ่มจากมือเกาะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเขียว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแห้งติดเถา สำหรับอาการที่เถาองุ่นผิวเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล มองเห็นเชื้อราสีขาวตรงกลางแผลได้ชัดเจนทำให้ยอดเคระแกร็น

การป้องกันกำจัด

  1. ทำความสะอาดสวน อย่าให้รกรุงรัง กิ่งต่างๆ รวมทั้งใบที่ตัดออกจากต้นให้นำไปเผาทิ้งหรือฝัง อย่าปล่อยทิ้งไว้ในสวนจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค
  2. หลังจากที่ต้นองุ่นแตกกิ่งใบใหม่แล้ว ควรจัดกิ่งเถาให้กระจายทั่วๆ ค้าง อย่าให้ซับซ้อนกันมาก กิ่งที่ไม่ต้องการให้ตัดแต่งออกให้โปร่ง อย่าให้กิ่งห้อยย้อยลงจากค้างให้อากาศถ่ายเทสะดวกจะช่วยลดความชื้นลง และช่วยลดการระบาดของโรค
  3. การฉีดสารเคมีป้องกันกำจัด ควรทำเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม โดยเริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อเริ่มแตกยอดอ่อน ครั้งที่สองเมื่อ มีใบอ่อน 3-4 ใบ สารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ดี เช่น ไดแทนเอ็ม 45 อัตรา 4 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร หรือโลนาโคล อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร เป็นต้น ควรเติมสารจับใบลงไปด้วย โดยเฉพาะในฤดูฝนจะช่วยให้สารเคมีจับใบได้ดีไม่ถูกชะล้างอย่างรวดเร็ว

2. โรคแอนแทรคโนส หรือโรคผลเน่า หรือโรคแบลคสปอต (Antracnose or black spot)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Colletotricchum gloeosporioides

ลักษณะอาการ โรคผลเน่าหรือโรคแอนแทรคโนสนี้ ชาวบ้านมักเรียกว่า "โรคอีบุบ หรือ โรคลุกบุบ" เพราะอาการที่เกิดกับผลนั้นจะเป็นแผลลึกลงไปในเนื้อ โรคนี้เป็นโรคที่ระบาดอย่างช้าๆ แต่ก็รุนแรงและรักษายาก บางท้องที่บางฤดูก็เป็นปัญหาสำหรับการปลูกองุ่นมากเช่นกัน โรคนี้นอกจากจะเป็นที่ผลซึ่งพบได้ทั่วๆ ไปแล้วยังเป็นกับเถาและใบอีกด้วย โดยเชื้อราสามารถแพร่ระบาดไปกับลมและน้ำปกติแล้ว โรคแอนแทรคโนสนี้จะระบาดทำความเสียหายกับทุกส่วนขององุ่น โดยเฉพาะส่วนที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ยอดอ่อน กิ่งอ่อน ใบอ่อน ส่วนที่ผลก็เป็นโรคได้ทั้งในระยะผลอ่อนจนถึงระยะผลโต

อาการที่ผล โรคนี้สามารถเข้าทำลายผลองุ่นได้ทุกขนาด ตั้งแต่เล็กจนโต ในผลอ่อนที่เป็นโรคจะเห็นจุดสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม และบุ๋มลงไปเล็กน้อย ขอบแผลสีเข้ม ถ้าอากาศชื้นๆ จะเห็นจุดสีชมพู สีส้มตรงกลางแผล ส่วนในผลแก่จะเห็นบริเวณเน่าเป็นสีน้ำตาล มีจุดสีชมพู สีส้ม เกิดขึ้นบริเวณตรงกลางแผลเต็มไปหมด ถ้าโรคยังคงเป็นต่อไปจะทำให้ผลแห้ง เปลือกเหี่ยว ผลติดกับช่อไม่ร่วงหล่น เมื่อโดนน้ำหรือน้ำค้าง เชื้อโรคก็ระบาดจากผลที่เป็นแผลไปยังผลอื่นๆ ในช่อจนกระทั่งเน่าเสียหมดทั้งช่อ

อาการที่ใบ ในระยะที่เป็นโรคจะเห็นที่ใบเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลเป็นแผลมีรูปร่างไม่แน่นอน ตรงกลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม ถ้าอากาศแห้งตรงที่เป็นแผลจะหลุดหายไป ทำให้ใบเป็นรู บางครั้งใบก็ม้วนงอลงมาด้านล่างแต่ไม่ร่วงในทันที ใบที่เป็นโรคจะไม่เติบโตต่อไปเมื่อเป็นโรคมากขึ้นใบจะร่วง

ยอดอ่อน จะเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลเข้ม ต่อมาขอบแผลจะขยายออกตามความยาวของกิ่งคือ รอยแผลหัวแหลมท้ายแหลม ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลแก่ถึงสีดำ กลางแผลสีดำขรุขระ ในฤดูฝนอากาศมีความชื้นมาก จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีชมพูอยู่ตรงกลางแผล ถ้าเป็นแผลมากๆ ยอดจะแคระแกร็น มีการแตกยอดอ่อนมาก แต่แตกออกมาแล้วแคระแกร็น ใบที่แตกออกมาใหม่นี้ก็จะมีขนาดเล็กสีซีดผิดปกติและกิ่งจะแห้งตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด

  1. ทำความสะอาดสวน เก็บกวาดกิ่งใบองุ่นที่ตกอยู่ใต้ต้นไปเผาทิ้งหรือฝังดินให้หมดเพราะส่วนต่างๆ เหล่านี้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคได้
  2. เมื่อพบว่าองุ่นเป็นโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออกก่อน แล้วจึงฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา จะช่วยทำลายเชื้อโรคที่หลงเหลืออยู่ได้มาก
  3. คอยตัดแต่งกิ่ง จัดกิ่งให้โปร่ง จะช่วยลดปัญหาได้มาก โดยเฉพาะในช่วงที่โรคระบาดมาก
  4. ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราเป็นระยะๆ คือ พ่นสารเคมีครั้งแรกหลังจากตัดแต่งกิ่งที่เหลือ และครั้งที่สองเมื่อเริ่มแตกใบอ่อน ส่วนครั้งต่อๆ ไปดูตามความเหมาะสม สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่ใช้ได้ผลดีกับโรคนี้ เช่น บีโนมิล หรือ เบนเลท อัตรา 5-15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ แคปแทน 48 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือไดแทนเอ็ม 45 อัตรา 4 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร

3. โรคราแป้ง (Powdery mildew)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Oidium tuckeri

ลักษณะอาการ เป็นโรคที่ระบาดรุนแรงอีกโรคหนึ่งหรือเรียกว่า "โรคขี้เถ้า" มักระบาดมากในช่วงอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง คือ หลังฤดูฝน และในฤดูหนาว เท่านั้น จะเข้าทำลายทุกส่วนของต้นองุ่นที่เห็นได้ชัดคือ

  • อาการบนใบ ด้านบนของใบจะเห็นเป็นหย่อมๆ หรือทั่วไปบนใบ ต่อมาผงสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาและดำ บริเวณใบที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายจะมีสีเหลืองอ่อนในระยะแรก ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ถ้าเป็นโรคมากๆ ใบจะมีอาการม้วนงอได้
  • อาการบนดอก ถ้าเชื้อราทำลายในขณะที่ยังเป็นดอกจะเหี่ยวแห้งติดกับกิ่ง
  • อาการบนผล พบว่าเป็นทั้งผลอ่อนจนถึงผลแก่ จะเห็นผลขาวบนผลต่อมาเนื้อผิวของผลที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลบางครั้งผลจะแตกจนเห็นเมล็ด
  • อาการที่กิ่งอ่อน จะทำให้กิ่งแห้งตายไปหรือแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

การป้องกันกำจัด

  • ตัดกิ่ง ใบหรือผลที่เป็นโรคเผาทำลายเพื่อมิให้เชื้อโรคแพร่ขยายไปยังส่วนอื่น
  • ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด เช่น บีโนมิล อัตรา 5-15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ แคปแทน 48 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

» พันธุ์
» การขยายพันธุ์
» การปลูกและการดูแลรักษา
» การเก็บเกี่ยว
» การพักตัวของต้นองุ่น
» โรคขององุ่น
» แมลงศัตรูขององุ่น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย