เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ไม้ผล ไม้ยืนต้น

การปลูกองุ่น

การขยายพันธุ์

องุ่นเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย และรวดเร็ว สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น

1. การปักชำ เป็นวิธีการที่ง่ายและเหมาะสมวิธีหนึ่ง กิ่งที่ใช้ปักชำควรเป็นกิ่งที่มีอายุประมาณ 7-12 เดือน กิ่งที่แก่หรืออ่อนเกินไปจะออกรากไม่ค่อยดี ควรเลือกกิ่งขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป มีข้อถี่ๆ และมีตาโปนเห็นเด่นชัด เวลาทำการปักชำให้ตัดกิ่งองุ่นเป็นท่อนๆ ยาว 15-20 เซนติเมตร หรือมีข้อประมาณ 4-5 ข้อ ปักชำลงในกระบะทรายผสมขี้เถ้าแกลบ (อัตราส่วน 1:1) ถ้ามีฮอร์โมนช่วยในการเร่งราก ควรนำกิ่งปักชำมาจุ่มเสียก่อน จะช่วยให้ออกรากได้มากและแข็งแรงแล้วจึงปักชำในวัสดุที่เตรียมไว้ลึก 1 ใน 3 ของกิ่ง รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอหลังจากการปักชำแล้วประมาณ 15-20 วัน กิ่งที่ปักชำจะเริ่มแตกรากและแตกใบอ่อน เมื่ออายุประมาณ 1 เดือนก็นำลงปลูกได้

นอกจากการปักชำในกระบะแล้ว ใต้ต้นองุ่นในแปลงปลูกมีร่มรำไรอยู่เสมอ สามารถปรับปรุงใช้เป็นแปลงปักชำกิ่งองุ่นได้ดีเช่นเดียวกัน

2. การตอน เป็นวิธีการที่ชาวสวนนิยมทำกันมากอีกวิธีหนึ่งเพราะสะดวก รวดเร็ว และตรงตามพันธุ์ กิ่งที่ใช้ตอนนั้นควรเป็นกิ่งที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป กิ่งที่เหมาะสมในการตอนควรมีอายุประมาณ 3 เดือน ควรเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ขนาดเท่าแท่งดินสอ ปราศจากโรคและแมลงในกิ่งเดียวกันสามารถตอนได้หลายช่วง โดยแต่ละช่วงมีประมาณ 3-4 ข้อ

การตอนกิ่ง
เมื่อเลือกกิ่งที่เหมาะสมได้แล้ว จึงควั่นกิ่งให้รอยควั่นห่างกัน 0.5 เซนติเมตร ลอกเปลือกออกแล้วใช้สันมีดขูดเยื่อเจริญออก จากนั้นหุ้มด้วยตุ้มขุยมะพร้าวที่เตรียมไว้ หรือจะใช้ดินเหนียวอย่างเดียวแล้วใช้พลาสติกหุ้มก็ได้ แต่ต้องคอยตรวจดูอย่าให้ตุ้มตอนแห้ง อีก 15 วันต่อมา จะเห็นรากองุ่นสีขาวออกมา 3-4 ราก รีบตัดนำไปชำในถุงพลาสติกซึ่งบรรจุทรายและขี้เถ้าแกลบในอัตราส่วน 1:1) หลังจากนั้นอีก 15 วัน เมื่อกิ่งตอนแข็งแรงดีแล้วก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้

ข้อควรระวัง คือ ในระหว่างการเพาะชำในถุงพลาสติกนั้น ควรพ่นด้วยสารกำจัดเชื้อรา เช่น แคปแทน หรือเบนเลท ทุก 7 วันและเมื่อชำไว้แล้ว ควรรีบนำไปปลูกขณะที่รากยังขาวอยู่ ไม่ควรปล่อยให้รากเป็นสีน้ำตาลเหมือนพืชอื่น เพราะจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและตายง่ายขึ้น

3. การติดตา จุดประสงค์ของการติดตาเพื่อให้ได้ต้นองุ่นที่ให้ผลผลิตดี และมีระบบรากแข็งแรงทนทาน เพราะองุ่นพันธุ์ดีอาจอ่อนแอหรือถูกรบกวนด้วยศัตรูในดินได้ง่าย แต่องุ่นพันธุ์ป่าบางพันธุ์มีระบบรากแข็งแรง ทนทานต่อโรคแมลงในดินได้ดี ก็จะเอาพันธุ์นั้นเป็นต้นตอแล้วนำตาพันธุ์ดีมาติดให้เป็นส่วนยอด เนื่องจากองุ่นมีเปลือกไม้ที่ลอกออกยาก ดังนั้นวิธีการติดตาองุ่นที่ใช้กันคือ การติดตาแบบชิบ (Chip budding) โดยเลือกตาพันธุ์ดีที่มีสีน้ำตาล ตาไม่บอดปราศจากโรคและแมลง เฉือนตาให้ติดเนื้อไม้ และเฉือนต้นตอให้เป็นรูปอย่างเดียวกับที่เฉือนตาพันธุ์ดี แล้วนำไปติดกับต้นตอ เอาพลาสติกพันเว้นให้ส่วนตาโผล่ออกหรือพันปิดตาก็ได้

4. การเสียบยอด การเสียบยอดกิ่งองุ่นเป็นวิธีที่นิยมกันมากเช่นกัน โดยการปลูกพันธุ์องุ่นป่าไว้ในภาชนะหรือแปลงเพาะชำเสียก่อนจนตั้งตัว หรืออาจจะปลูกพันธุ์องุ่นป่าเป็นต้นตอไว้ในแปลงอย่างน้อย 1 ปี แล้วจึงทำการเสียบยอด กิ่งพันธุ์องุ่นที่นำมาเสียบยอดควรมีขนาดเท่ากันกับต้นตอ หรือขนาดใกล้เคียงกันกับต้นตอ วิธีการให้เฉือนต้นตอเป็นรูปปากฉลาม และเฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่ม แล้วจึงนำมาเสียบเข้าด้วยกัน พันด้วยพลาสติกให้แน่นกิ่งพันธุ์ดีที่นำเข้ามาเสียบให้มีตาเพียงตาเดียว กิ่งที่มีหลายตาจะแห้งง่ายทำให้ต่อไม่ติด เมื่อกิ่งติดกันดีแล้วก็จะแตกเป็นต้นใหม่ต่อไป

5. การเสริมราก การเสริมรากไม่ใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยตรง แต่เป็นการทำให้มีระบบรากที่แข็งแรงขึ้น ใช้ในกรณีที่ปลูกองุ่นพันธุ์ดีอยู่แล้ว แต่ต้องการให้มีระบบรากที่แข็งแรง หาอาหารได้เก่ง ต้นองุ่นที่จะนำมาเสริมมักใช้ต้นองุ่นป่า วิธีการคือปลูกต้นองุ่นป่าใกล้ๆ กับต้นพันธุ์ดีที่มีอยู่แล้ว เมื่อต้นองุ่นป่าเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้ว เฉือนที่องุ่นพันธุ์และเฉือนปลายกิ่งองุ่นป่าเป็นรูปปากฉลาม แล้วนำมาประกบกันให้สนิทพันด้วยพลาสติกให้แน่น ก็จะได้ต้นองุ่นที่มี 2 ขา หรือ 2 โคน ถ้าต้องการให้มี 3 ขา ก็ต่อก้านตรงข้ามกับอีกต้นหนึ่ง ขนาดของต้นองุ่นพันธุ์ และองุ่นป่าที่นำมาเสริมรากไม่จำเป็นต้องเท่ากันก็ได้ เมื่ออยู่ไปหลายๆ ปี โคนต้นทั้งสองก็จะเจริญเติบโตจนมีขนาดใกล้เคียงกัน

» พันธุ์
» การขยายพันธุ์
» การปลูกและการดูแลรักษา
» การเก็บเกี่ยว
» การพักตัวของต้นองุ่น
» โรคขององุ่น
» แมลงศัตรูขององุ่น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย