เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกองุ่น
การปลูกและการดูแลรักษา
1. การเตรียมพื้นที่
การปลูกองุ่นแบ่งตามลักษณะพื้นที่ได้ 2 ลักษณะ คือ
พื้นที่ลุ่มซึ่งน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำมาก เช่น แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ
มักเป็นที่นาเก่า การปลูกองุ่นในที่แบบนี้จึงต้องยกร่องก่อน
ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือการปลูกในพื้นที่ดอน ทีสูงน้ำท่วมไม่ถึง
การเตรียมดินปลูกแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
การปลูกแบบยกร่อง
เตรียมพื้นที่โดยการยกร่องให้แปลงมีขนาดกว้าง 6 เมตร
ความยาวร่องแล้วแต่ขนาดของพื้นที่
ส่วนความสูงของร่องให้สังเกตจากปริมาณน้ำที่เคยท่วมสูงสุดโดยให้อยู่สูงกว่าแนวระดับน้ำท่วม
50 เซนติเมตร ขนาดร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร ก้นร่องน้ำกว้าง 0.5-0.7 เมตร
การปลูกควรปลูกแถวเดียวตรงกลางแปลง เว้นระยะระหว่างหลุมให้ห่างกัน 3-3.50 เมตร
การปลูกในที่ดอน
ควรไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุย ใช้ระยะปลูก 3x4-3.50x5 เมตร
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
2. วิธีการปลูก
- ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร
- ผสมดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยร๊อคฟอสเฟต เข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
- ยกถุงกล้าต้นองุ่นวางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
- ใช้มีดที่คมกรีดถึงจากก้นขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา)
- ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก
- กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม
- กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
- ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมพัดโยก
- หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง
- รดน้ำให้โชก
- ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดด
3. การทำค้าง
การทำค้างขจะทำหลังจากที่ปลูกองุ่นแล้วประมาณ 1 ปี
ซึ่งต้นองุ่นจะสูงพอดีที่จะขึ้นค้างได้
ค้างต้นองุ่นมีหลายแบบด้วยกันแต่แบบที่นิยมกันมากคือ ค้างแบบเสาคู่แล้วใช้ลวดขึง
การเลือกเสาค้าง เสาค้างอาจใช้เสาซีเมนต์หน้า3 นิ้ว หรือ 4 นิ้วก็ได้
เสาค้างซีเมนต์จะแข็งแรงทนทานอยู่ได้นานหลายปี แต่มีราคาแพงและหนัก
เวลาทำค้างต้องเสียแรงงงานมาก ถ้าใช้เสาไม้ให้ใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้า 2x3 นิ้ว
หรือหน้า 2x4 นิ้ว หรือเสากลมก็ได้ เสาควรยาวประมาณ 2.5-3 เมตร หรือยาวกว่านี้
ซึ่งเมื่อปักลงดินเรียบร้อยแล้ว ให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือดินประมาณ 1.50 เมตร
การปักเสา ให้ปักเป็นคู่ 2 ข้างของแปลงในแนวเดียวกัน โดยให้เสาห่างกัน 2 เมตร
และเมื่อติดคานแล้ว ให้เหลือหัวไม้ยื่นออกไปทั้งสองข้างๆ ละ 50 เซนติเมตร
ถ้าปักเสาห่างกัน 3 เมตร เมื่อติดคานบนแล้วจะพอดีหัวไม้
การติดคานเชื่อมระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ใช้น๊อตเหล็กเป็นตัวยึด
ไม่ควรยึดด้วยตะปูเพราะจะไม่แข็งแรงพอ ระยะห่างระหว่างเสาแต่ละคู่ประมาณ 10-20 เมตร
ยิ่งปักเสาถี่จะยิ่งแข็งแรงทนทานแต่ก็สิ้นเปลืองมากบางแห่งจึงปักเสาเพียง 3 คู่ คือ
หัวแปลง กลางแปลง และท้ายแปลง
และระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ค้างไม้รวกช่วยค้ำไว้เป็นระยะๆ
ซึ่งก็สามารถใช้ได้และประหยัดดีแต่ต้องคอยเปลี่ยนค้างไม้รวกบ่อย
การขึงลวด ลวดที่ใช้ทำค้าง ให้ใช้ลวดขนาดใหญ่พอสมควรคือ ลวดเบอร์ 11 ซึ่งลวดเบอร์
11 หนัก 1 กิโลกรัม จะยาวประมาณ 18 เมตร
ให้ขึงลวดพาดไปตามคานแต่ละคู่ตลอดความยาวของแปลง โดยใช้ลวด 4-6 เส้น
เว้นระยะลวดให้ห่างเท่าๆ กัน
ที่หัวแปลงและท้ายแปลงให้ใช้หลักไม้ขนาดใหญ่ตอกฝังลงไปในดินให้แน่น
แล้วใช้ลวดโยงจากค้างมามัดไว้ที่หลักนี้เพื่อให้ลวดตึง
หลังจากขึงลวดเสร็จแล้วให้ตรวจดูว่าลวดหย่อนตกท้องช้างหรือไม่
ถ้าหย่อนมากให้ใช้ไม้รวกขนาดใหญ่ปักเป็นคู่ตามแนวเสาค้าง
แล้วใช้ไม้รวกอีกอันหนึ่งพาดขวางผูกด้านบนในลักษณะเดียวกับค้าง
เพื่อช่วยรับน้ำหนักเป็นระยะๆ ไปตลอดทั้งแปลง
เพราะเมื่อต้นองุ่นขึ้นค้างจนเต็มแล้วจะมีน้ำหนักมากจำเป็นต้องช่วยรองรับน้ำหนักหรือค้ำยันไว้ไม่ให้ค้างหย่อน
4. การตัดแต่งทรงต้นในระยะเลี้ยงเถา
องุ่นเป็นพืชที่เจริญเติบโต
และมีการแตกกิ่งก้านสาขาเร็วจึงจำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นองุ่นเจริฐเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ต้นองุ่นที่ปลูกเสร็จแล้วให้หาไม้รวกปักขนาบลำต้นแล้วจึงผูกต้นชิดกับเสาเพื่อบังคับให้ต้นตั้งตรง
ในระหว่างนี้ตาข้างจะเจริญพร้อมกับตายอด ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การเจริญส่วนยอดลดลง
ดังนั้นจึงต้องตัดตาข้างทิ้งเสมอๆ และผูกให้ยอดองุ่นตั้งตรง
เมื่อต้นองุ่นเติบโตจนมีความสูง 1.5 เมตร หรือจากยอดถึงระดับค้าง หรือเสมอระดับลวด
ต้องตัดยอดทิ้ง จัดกิ่งให้อยู่ตรงข้ามกันเพื่อให้ตาข้างที่อยู่บริเวณยอดเจริญออกมา
2 ยอดตรงข้ามกัน ซึ่งจะเอาไว้ทั้ง 2 กิ่งหรือกิ่งเดียวกันก็ได้ ถ้าเอาไว้ 2
กิ่งให้จัดกิ่งทั้งสองอยู่ตรงข้ามกัน
การไว้ทั้ง 2 กิ่งมักพบปัญหาคือ กิ่งทั้ง 2 เจริญเติบโตไม่เท่ากัน
ทำให้การกระจายของผลไม่สม่ำเสมอกันจึงมักนิยมไว้กิ่งเพียงกิ่งเดียว
คือหลังจากที่ตัดยอด และตาแตกออกมาเป็นกิ่งแล้ว ให้เลือกกิ่งที่สมบูรณ์
แข็งแรงไว้เพียงกิ่งเดียว อีกกิ่งหนึ่งตัดออก
กิ่งที่คงค้างไว้ของทุกต้นให้จัดกิ่งหันไปในทิศทางเดียวกันคืนหันไปทางหัวแปลงหรือท้ายแปลง
หลังจากที่จัดกิ่งให้หันไปในทิศที่ต้องการแล้ว เมื่อกิ่งนั้นยาวประมาณ 50 เซนติเมตร
ให้ตัดยอดออก กิ่งนั้นจะแตกตาใหม่เติบโตเป็นกิ่งใหม่ 2 กิ่งให้คงเหลือ ไว้ทั้ง 2
กิ่ง และเมื่อกิ่งใหม่ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ก็ตัดยอดอีกและเหลือไว้ทั้ง 2
กิ่งเช่นเดียวกัน ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งองุ่นเต็มค้างจึงหยุดการตัดยอด
ในระหว่างที่ตัดยอดให้กิ่งแตกใหม่นั้น
จะต้องจัดกิ่งให้กระจายเต็มค้างอย่างทั่วถึงอย่าให้ทับกันหรือซ้อนกันมาก
จัดให้กิ่งอยู่บนค้างเสมอ อย่าให้กิ่งชูโด่งขึ้นไปด้านบนหรือห้อยย้อยลงด้านล่าง
การจัดกิ่งให้อยู่ในที่ที่ต้องการอาจจะใช้เชือกกล้วยผูกมักกับลวดก็ได้
เพราะเชือกกล้วยจะผุเปื่อยเร็ว ทำให้การตัดแต่งกิ่งในครั้งต่อไปทำได้สะดวก
กิ่งเหล่านี้เรียกว่า "เคน" ซึ่งเป็นกิ่งที่ใช้ตัดแต่งเพื่อการออกดอกต่อไป
ช่วงการเจริญเติบโตของต้นองุ่นตั้งแต่ปลูกตัดแต่งทรงต้นจนต้นมีอายุพอที่จะตัดแต่งกิ่งได้เรียกว่า
"ระยะเลี้ยงเถา" ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน
5. การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ออกดอก
ต้นองุ่นที่นำมาปลูกในบ้านเรานั้นถ้าไม่ตัดแต่งกิ่งแล้วจะไม่ออกดอกหรือออกเพียงเล็กน้อยให้ผลที่ไม่สมบูรณ์
การจะให้ต้นองุ่นออกดอกได้ต้องตัดแต่งกิ่งช่วยหลังจากต้นองุ่นพักตัวอย่างเต็มที่แล้วและก่อนตัดแต่งกิ่ง
ต้องงดการให้น้ำ 7 วัน
เพื่อให้องุ่นออกดอกได้มากอายุการตัดแต่งให้ออกดอกในครั้งแรกหรือ "มีดแรก"
ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น อายุของต้น และพันธุ์ เป็นต้น เช่น
- องุ่นพันธุ์คาร์ดินัล ตัดแต่งได้เมื่ออายุ 9-10 เดือน หลังจากการปลูกในแปลงจริง
- องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา ตัดแต่งกิ่งได้เมื่ออายุ 10-12 เดือน หลังจากปลูกในแปลงจริง
กิ่งที่จะตัดแต่งเพื่อให้ออกดอกจะต้องเป็นกิ่งที่แก่จัด กิ่งเป็นสีน้ำตาล ใบแก่จัด ดังนั้นก่อนการตัดแต่งจะต้องงดให้น้ำ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ต้นองุ่นพักตัวอย่างเต็มที่ การตัดแต่งให้ใช้กรรไกรตัดกิ่งช่วงสุดท้ายให้สั้นลง ความยาวของกิ่งที่เหลือขึ้นอยู่กับพันธุ์องุ่นด้วย เช่น
- พันธุ์คาร์ดินัล ให้ตัดสั้นเหลือเพียง 3-4 ตา
- พันธุ์มะละกา ให้ตัดสั้นเหลือเพียง 5-6 ตา
ถ้าเป็นกิ่งอ่อนควรเว้นตาไว้เพิ่มขึ้นและนำกิ่งที่ตัดออกจากแปลงปลูกไปเผาทิ้งหรือฝังเสีย
อย่าปล่อยทิ้งไว้ใต้ต้นเพราะจะเป็นที่อยู่อาศัยของโรคแมลงต่างๆ
ที่จะเข้าทำลายองุ่นได้ แล้วจึงเริ่มให้น้ำแก่ต้นองุ่น หลังจากนั้น 15
วันต้นองุ่นจะเริ่มแตกกิ่งใหม่ ซึ่งกิ่งใหม่ที่แตกออกมานี้จะมี 2 พวกคือ
พวกหนึ่งมีช่อดอกอยู่ด้วย และอีกพวกหนึ่งมีแต่ใบอย่างเดียว
สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ คือ ถ้ากิ่งไม่มีช่อดอกติดออกมาด้วยแสดงว่า
กิ่งนั้นจะมีแต่ใบอย่างเดียว
เพราะช่อดอกจะปรากฏอยู่บริเวณโคนกิ่งที่แตกออกมาใหม่นี้เท่านั้น ต่อจากนั้นอีก 15
วัน ดอกก็จะเริ่มบานจากโคนช่อดอกไปยังปลายช่อดอกใช้เวลา 2 วันก็จะบานหมดทั้งช่อ
ในช่วงดอกบานนั้นเป็นช่วงที่อ่อนแอ ถ้ามีฝนตกหนักอาจทำให้ดอกร่วงและเสียหายได้
6. การปฏิบัติหลังจากตัดแต่งกิ่ง
- การตบแต่งกิ่งและการจัดกิ่ง หลักงจากการตัดแต่งกิ่งได้ 15 วัน
องุ่นจะแตกกิ่งใหม่ออกมาจำนวนมาก มีทั้งกิ่งที่มีช่อดอก
กิ่งที่มีแต่ใบอย่างเดียว และกิ่งแขนงเล็กๆ
ซึ่งกิ่งแขนงเล็กพวกนี้ให้ตัดออกให้หมดเหลือไว้เฉพาะกิ่งที่มีช่อดอก
และกิ่งที่มีแต่ใบอย่างเดียวที่เป็นกิ่งขนาดใหญ่เท่านั้น
นอกจากนี้ใบที่อยู่โคนๆ กิ่งก็ให้ตัดออกด้วย เพื่อให้โปร่งไม่ทึบเกินไป
เมื่อตัดแต่งกิ่งแล้ว
และเห็นว่ากิ่งยาวพอสมควรจัดกิ่งให้อยู่บนค้างอย่างเป็นระเบียบ
กระจายตามค้างและไม่ทับซ้อนกันหรือก่ายกันไปมา
เพราะกิ่งที่แตกออกมาใหม่จะแตกออกทุกทิศทุกทางเกะกะไปหมด วิธีจัดกิ่งคือ
โน้มกิ่งให้มาพาดอยู่บนลวดแล้วอาจผูกด้วยเชือกกล้วย
หรือใบกล้วยแห้งฉีกเป็นริ้วๆ
ไม่ให้กิ่งที่ชี้ขึ้นไปด้านบนหรือห้อยย้อยลงด้านล่าง
เพราะจะไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน
เวลาจัดกิ่งต้องระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนดอก เพราะจะฉีกขาดเสียหายได้ง่าย
พยายามจัดให้ช่อดอกห้อยลงใต้ค้างเสมอเพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานต่างๆ ในสวน
- การตัดแต่งข่อดอก หลังจากจัดกิ่งเรียบร้อยแล้ว
ช่อดอกจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งต้นองุ่นออกดอกมากเกินไป
ถ้าปล่อยไว้ทั้งหมดจะทำให้ต้นโทรมเร็ว คุณภาพของผลของผลไม่ดีเท่าที่ควร
ฉะนั้นถ้าเห็นว่า มีช่อดอกมากเกินไปให้ตัดออกบ้าง
การตัดแต่งช่ออาจทำตั้งแต่กำลังเป็นดอกอยู่ก็ได้
แต่ไม่ค่อยนิยมเพราะไม่แน่ว่าช่อที่เหลือจะติดผลดีหรือไม่
จึงแนะนำให้ตัดแต่งช่อที่ติดเป็นผลเล็กๆ แล้ว
โดยเลือกช่อที่เห็นว่ามีขนาดเล็กรูปทรงไม่สวย ติดผลไม่สม่ำเสมอ
มีแมลงทำลายและเหลือช่อที่มีรูปทรงสวยไว้ให้กระจายอยู่ทั่วทุกกิ่งอย่างสม่ำเสมอ
- การตัดแต่งผล องุ่นที่ปลูกันอยู่ปัจจุบันในบ้านเรามักติดผลแน่นมาก
ถ้าไม่ตัดแต่งผลในช่อจะแน่นเกินไป ทไให้ผลที่ได้มีขนาดเล็ก คุณภาพไม่ดี
หรือเบียดเสียดกันจนผลบิดเบี้ยวทำให้ดูไม่สวยงาม
จำเป็นต้องตัดแต่งผลใสช่อออกบ้างให้เหลือพอดี ไม่แน่นเกินไปหรือโปร่งเกินไป
การตัดแต่งผลออกจากช่อมักทำ 1-2 ครั้ง เมื่อผลโตพอสมควร
ผลองุ่นอ่อนที่ตัดออกมาไปดองไว้ขายได้
วิธีการให้ใช้กรรไกรขนาดเล็กสอดเข้าไปตัดที่ขั้วผล อย่าใช้มือเด็ดหรือดึง
เพราะจะทำให้ช่อผลช้ำเสียหาย ฉีกขาด
และมีส่วนของเนื้อผลติดอยู่ที่ขั้วทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย
ข้อควรระวัง เมื่อองุ่นติดผลแล้ว ผู้ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในส่วนต้องสวมหมวกหรือโพกศีรษะเสมอ อย่าให้เส้นผมไปโดนผลองุ่นจะทำให้ผลองุ่นเน่าเสียได้
- การใช้สารฮอร์โมน สารฮอร์โมนที่ใช้มีวัตถุประสงค์เพื่อข่วยให้ช่อดอกยืดยาวขึ้น ทำให้ช่อโปร่ง ผลไม่เบียดกันมาก ประหยัดแรงงานในการตัดแต่งผล นอกจากนี้ยังช่วยให้ผลยาว ผลโตขึ้นสวยงาม รสชาติดี สีสวย หวาน กรอบ ผลองุ่นที่ชุบด้วยฮอร์โมนจึงขายได้ราคาดี
สำหรับพันธุ์องุ่นที่นิยมใช้สารฮอร์โมนคือ พันธุ์ไวท์มะละกา เพราะติดผลดกมาก
จนต้องตัดแต่งผลทิ้งเป็นจำนวนมาก
การใช้สารฮอร์โมนจึงช่วยให้ช่อผลยืดยาวขึ้นไม่ต้องตัดแต่งมากและช่วยในผลขยายใหญ่ยาวขึ้นดูสวยงาม
ส่วนพันธุ์คาร์ดินัลไม่ค่อยนืยมใช้เพราะองุ่นพันธุ์นี้ติดผลไม่ค่อยดก
ผลไม่เบียดกันแน่น ถ้าใช้ฮอร์โมนจะทำให้ช่อองุ่นดูโหรงเหรงไม่น่าดู
ปกติผลองุ่นพันธุ์นี้โตอยู่แล้วและเป็นผลทรงกลม
ส่วนฮอร์โมนที่ใช้ในการยืดช่อผล ขยายขนาดของผลคือ สาร "จิบเบอร์เรลลิน"
ซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาด (ชื่อทางการค้าต่างๆ กัน) อัตราที่ใช้ได้ผลคือ 20 พีพีเอ็ม
(คือตัวยา 20 ส่วน ในน้ำ 1 ล้านส่วน) นิยมใช้ 1-2 ครั้งคือ ครั้งแรกหลังจากดอกบาน 7
วัน (ดอกบาน 80 เปอร์เซนต์ของทั้งช่อ) ส่วนครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกประมาณ 7 วัน
วิธีใช้
การใช้สารฮอร์โมนนี้อาจใช้วิธีฉีดพ่นไปที่ช่อดอกช่อผลให้ทั่วทุกต้นทั้งแปลง
ซึ่งแม้จะโดนใบก็ไม่มีผลต่อใบแต่อย่างใด วิธีนี้จะสิ้นเปลืองน้ำยามาก
และฮอร์โมนถูกช่อองุ่นไม่ทั่วทั้งช่อแต่ประหยัดเวลาและแรงงานได้มากกว่า
ส่วนอีกวิธีคือ ชุบช่อดอก ช่อผล ซึ่งประหยัดน้ำยาได้มากกว่า วิธีการทำง่าย
แต่เสียแรงงานมากกว่าอุปกรณ์ง่ายๆ สำหรับการชุปฮอร์โมนคือ
หาถุงพลาสติกขนาดโตพอที่จะสวมช่อองุ่นได้มา 2 ใบ ใบแรกใส่น้ำธรรมดาลงไปประมาณ 1 ใน
3 ของถุง ใบที่ 2
ใส่สารฮอร์โมนที่ผสมเตรียมไว้ลงไปประมาณครึ่งถุงเอาถุงใบที่มีฮอร์โมนสวมลงไปในถุงใบที่มีน้ำ
จักปากถุงให้เสมอกันแล้วพับตลบปากถุงออกด้านนอก 2-3 พับ
เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในถุงไหลออกมาได้ เมื่อจะชุบช่อองุ่นให้วางถุงบนฝ่ามือ
เปิดปากถุงให้กว้างแล้วสวมเข้าไปที่ช่อองุ่น
บีบฝ่ามือน้ำยาก็จะทะลักขึ้นมาด้านบนทำให้เปียกทั้งช่อ แล้วเปลี่ยนไปชุบช่อต่อๆ ไป
เวลาที่ใช้ในการชุบช่อแต่ละช่อเพียวอึดใจเดียว คือ
เมื่อบีบถุงน้ำยาทะลักขึ้นไปโดนช่อแล้วก็คลายมือที่บีบแล้วนำถุงน้ำยาออกทันที
ฉะนั้นคนที่ชำนาญจะทำได้รวดเร็วมากเมื่อชุบช่อไปได้สักพักน้ำยาในถุงจะพร่องลง
ก็เติมลงไปใหม่ให้ได้ระดับเดิม คือ ประมาณครึ่งถุงตลอดเวลา
การบีบต้องระวังอย่าให้แรงมากเพราะน้ำยาจะทะลักล้นออกนอกถุงเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
ข้อควรระวัง การใช้ฮอร์โมนชุบช่อนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้โรคต่างๆ
ระบาดจากช่อหนึ่งไปยังอีกช่อหนึ่งได้ง่าย ถ้าเป็นช่วงที่โรคกำลังระบาดอยู่
ควรเติมยากันราลงไปในฮอร์โมนนั้นด้วย
และการใช้ฮอร์โมนต้องระวังเกี่ยวกับการเตรียมสารให้ได้ความเข้มข้นที่กำหนด
การผิดพลาดเพียงเล็กน้อยจะทำให้ผลองุ่นร่วงง่าย ขั้วผลเปราะนั่นเอง
การเก็บเกี่ยวและการขนส่วจึงต้องระมัดระวังมาก แต่สามารถแก้ไจได้โดยการใช้สาร 4-CPA
(4-Chlorophenoxy acetic acid) ฉีดพ่นก่อนเก็บผลประมาณ 10 วัน
จะช่วยลดการร่วงของผลได้บ้างแต่ก็ยังร่วงมากกว่าองุ่นที่ไม่ได้ใช้สารจิบเบอร์เรลลิน
7. การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยนับว่ามีความสำคัญมากเพราะองุ่นเจริญเติบโตทั้งปีให้ผลผลิตมาก
ดังนั้นจึงต้องใช้ธาตุอาหารต่างๆ มาก ปุ๋ยที่ใช้ ได้แก่
ปุ๋ยอินทรีย์
เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ถึงแม้จะมีโรตุอาหารที่พืขต้องการจำนวนน้อย
แต่มีคุณสมบัติทำให้โครงสร้างของดินดี ดังนั้นควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักทุกปีๆ
ละอย่างน้อย 1 ครั้งๆ ละ 5-10 กิโลกรัม/ต้น
แต่ต้องคำนึงเสมอว่าปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่จะนำมาใส่นั้น
ต้องเป็นปุ๋ยที่มีการย่อยสลายหมดแล้ว โดยเฉพาะปุ๋ยมูลค้างคาวใช้ได้ผลดี
ปุ๋ยเคมี
- ระยะเลี้ยงเถา
การใส่ปุ๋ยช่วงนี้เพื่อบำรุงรักษาต้นให้มีการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่งก้าน
ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
อัตราที่ใส่ไม่ควรมากนักแต่ควรใส่บ่อยครั้ง เช่น อัตราต้นละ 50 กรัม/ต้น
ใส่ทุกๆ 1 เดือน จนถึง 3 เดือน แล้วเพิ่มเป็น 100 กรัม/ต้น ทุกเดือน
แต่อัตราการใส่นั้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นองุ่นด้วย
- องุ่นที่ให้ผลแล้ว ควรแบ่งใส่ 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 หลังการเก็บเกี่ยวมีดแรกใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตราขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นเพื่อบำรุงต้นพร้อมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
ระยะที่ 2 หลังตัดแต่งกิ่ง 7-15 วันใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 เพื่อบำรุงยอดใบและดอก ที่ผลิขึ้นมาใหม่
ระยะที่ 3 หลังตัดแต่งกิ่ง 45 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17 หรือ 4-16-24-4 ใส่เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของผลประมาณ 100 กรัม/ต้น
ระยะที่ 4 หลังตัดแต่งกิ่ง 75 วัน ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยที่มีโปรแตสเซียมสูง ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 หรือ 13-13-21 ประมาณ 100 กรัม/ต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลองุ่นและสีผิวและรสชาติ
- ธาตุอาหารเสริม
ต้นองุ่นที่มีสภาพค่อนข้างโทรม ขาดการบำรุงที่ดีควรเร่งให้รากเจริญเติบโต
เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของต้นให้พัฒนาการได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ปุ๋ยเกร็ดสูตร
15-30-15 หรือ 10-20-30 หรือ 20-20-20 ที่มีธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อยอัตรา 60
กรัม ผสมกรดฮิวมิค 100-200 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
ราดบริเวณใต้ทรงพุ่มให้ทั่วทุกสัปดาห์รวม 3 ครั้ง หรือฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบสูตร
"ทางด่วน" ซึ่งประกอบด้วย
สารอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ครอปไจแอน โพลีแซค มอลตานิค
และฟลอริเจน เป็นต้น อัตรา 20-30 ซีซี (อาจใช้น้ำตาลกลูโคส) หรือเด็กซ์โตรส 600
กรัม ฮิวมิคแอซิค อัตรา 20 ซีซี ปุ๋ยเกร็ด สูตร 15-30-15 หรือ 20-20-20 หรือ
10-20-30 ที่มีธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อยอัตรา 40-60 กรัม
สารจับใบ
ส่วนผสมทั้งหมดผสมรวมกันในน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 7 วัน ติดต่อกันนาน
3-4 สัปดาห์
8. การให้น้ำ
องุ่นมีความต้องการน้ำมาก จึงควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้แห้ง
โดยเฉพาะหลังจากตัดแต่งกิ่ง ต้องให้น้ำเพื่อให้ดินชื้นอยู่เสมอแต่อย่าให้ถึงกับแฉะ
ในระยะแรกแปลงองุ่นจะโล่งไม่มีใบปกคลุมการให้น้ำอาจจะต้องให้ทุกวัน
สังเกตดูว่าอย่าให้ดินในแปลงแห้งมาก การให้น้ำนี้ควรให้อย่างสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ
จนถึงระยะที่ผลแก่จึงควรงดการให้น้ำ 2-4 สัปดาห์ก่อนวันตัดผล
เพื่อให้องุ่นมีคุณภาพดีรสหวานจัดและสีสวย
การให้น้ำก่อนตัดผลจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นบ้าง แต่ผลองุ่นที่ได้จะมีคุณภาพไม่ดี
เน่าเสียเร็ว เก็บไว้ได้ไม่นาน
การห่อผล
หลังจากตัดแต่งผลแล้ว ควรห่อผลเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลาย เช่น เพลี้ยแป้ง
แมลงวันทอง อีกทั้งยังทำให้ผลองุ่นผิวสวยลูกโตกว่าปกติ
และป้องกันความเสียหายจากเส้นผมของผู้ปฏิบัติงานไปโดนผลองุ่นอีกด้วย
วัสดุที่ใช้ห่อผลองุ่นอาจทำเอง โดยใช้กระดาษ เช่น กระดาษกระสอบปูน ซึ่งทนต่อน้ำฝน
ไม่ค่อยเปียกน้ำและเมื่อถูกน้ำจะแห้งเร็ว ทำให้ไม่ฉีกขาดง่าย
แต่ถ้าใช้กระดาษหนังสือพิมพ์
จะใช้ได้ไม่นานเพราะกระดาษหนังสือพิมพ์เมื่อโดนน้ำแล้วจะซับน้ำและเปื่อยยุ่ยได้ง่าย
หรืออาจจะซื้อวัสดุห่อผลองุ่นแบบสำเร็จรูปก็ได้
ปัจจุบันจะมีบริษัทผลิตจำหน่ายหลายแบบ
แต่ก่อนห่อผลจะต้องฉีดพ่นยากันเชื้อราก่อนหรือใช้วิธีการจุ่มช่อผล
เหมือนกับการจุ่มฮอร์โมนยืดช่อดอกก็ได้
เพื่อป้องกันโรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราเข้าทำลาย
»
พันธุ์
»
การขยายพันธุ์
» การปลูกและการดูแลรักษา
»
การเก็บเกี่ยว
»
การพักตัวของต้นองุ่น
»
โรคขององุ่น
»
แมลงศัตรูขององุ่น