เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ประมง

การเพาะเลี้ยงปลากดเหลือง

กองส่งเสริมการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โรคและการป้องกัน

โรคปลาที่พบได้ในปลากดเหลือง เกิดจากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อพยาธิภายนอก การติดเชื้อพยาธิภายใน การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อราและน้ำที่เลี้ยงเป็นพิษ เป็นต้น การดำเนินการรักษาและป้องกัน จึงเป็นวิธีการแก้ไขที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ต้องใส่สารเคมี หรือยารักษาให้ถูกต้องกับชนิดของโรคดังนี้

โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก

โรคจุดขาว
โรคจุดขาว (Ichthyophthirius : "Ich") ปลาที่เป็นโรค จะมีจุดสีขาวขุ่นเท่าหัวเข็มหมุดเล็ก ๆ กระจายอยู่ที่ลำตัวและครีบ

สาเหตุ ของโรคจุดขาว คือ โปรโตซัว ชนิดที่กินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร เมื่อพยาธิโตเต็มที่จะออกจากตัวปลา โดยจมตัวลงสู่บริเวณก้นบ่อปลา และสร้างเกราะหุ้มตัว ต่อจากนั้น จะมีการแบ่งเซล์เป็นตัวอ่อนจำนวนมากภายในเกราะนั้น เมื่อสภาวะแวดล้อมภายนอกเหมาะสม เกราะหุ้มตัวจะแตกแยก และตัวอ่อนของพยาธิจะว่ายน้ำเข้าตามผิวหนังของปลาต่อไป

การป้องกันและรักษา ยังไม่มีวิธีกำจัดปรสิต ที่ยังอยู่ใต้ผิวหนังที่ได้ผลเต็มที่ แต่วิธีการที่ควรทำ คือ การทำลายตัวอ่อนในน้ำหรือทำลายตัวแก่ขณะว่ายน้ำอิสระ โดยการใช้สารเคมีดังต่อไปนี้

  • ฟอร์มาลิน 150-200 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้นาน 1 ชั่วโมง สำหรับปลาขนาดใหญ่
  • มาลาไค้ท์กรีน 1.0-1.25 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้นานครึ่งชั่วโมง สำหรับปลาขนาดใหญ่หรือ 0.15 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้นาน 24 ชั่วโมง หรือเมทธิลีนบูล 1-3 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ติดต่อกัน 7 วัน
  • มาลาไค้ท์กรีนและฟอร์มาลิน ในอัตราส่วน 0.15 กรัมและ 25 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชั่วโมง แช่ติดต่อกันประมาณ 7 วัน ควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวัน และแช่ยาวันเว้นวัน จนกระทั่งปลามีอาการดีขึ้น วิธีนี้จะได้ผลดีมาก เมื่อมีอุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส

โรคพยาธิปลิงใส
โรคพยาธิปลิงใส (Gyrodactylus) ปลาที่มีพยาธิปลิงใสเกาะ จะมีอาการว่ายน้ำทุรนทุราย ลอยตัวตามผิวน้ำ ผอม กระพุ้งแก้ม เปิดปิดกว่าปกติ อาจมีแผลขนาดเล็กเท่าปลายเข็มหมุด กระจายอยู่ทั่วลำตัว ถ้าเป็นการติดโรคในขั้นรุนแรง อาจมองเห็นเหมือนกับว่า ปลามีขนสั้น ๆ สีขาวกระจายอยู่ตามลำตัว ซึ่งอาจทำให้ปลาตายได้ โดยเฉพาะลูกปลาที่เริ่มปล่อยลงบ่อดินใหม่ ๆ ควรระมัดระวังโรคนี้ให้มาก

การป้องกันและรักษา

  • ใช้ฟอร์มาลินจำนวน 25-40 ซีซีต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง
  • ใช้ดิพเทอร์เร็กซ์จำนวน 0.25-0.5 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชั่วโมง

โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน

โรคพยาธิใบไม้
โรคพยาธิใบไม้ (pleurogenoides) พยาธิใบไม้ที่ทำให้เกิดโรคปลานั้น พบทั้งขณะที่เป็นตัวเต็มวัยแล้วและตัวอ่อน ตัวเต็มวัยของพยาธิใบไม พบได้ในทางเดินอาหารภายในช่องท้อง ไม่ค่อยทำอันตรายต่อปลาเท่าใดนัก ต่างกับตัวอ่อน ซึ่งพบฝังตัวอยู่บริเวณเหงือกและอวัยวะภายในต่าง ๆ ทำให้เกิดความเสียหายกับเนื้อเยื่อของเหงือกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในลูกปลาที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการกระพุ้งแก้มเปิดอ้าอยู่ตลอดเวลา ว่ายน้ำทุรนทุรายลอยตัวที่ผิวน้ำ ผอม เหงือกบวม อาจมองเห็นจุดขาว ๆ คล้ายเม็ดสาคู ขนาดเล็กเป็นไตแข็ง บริเวณเหงือกและปลาจะทยอยตายเรื่อย ๆ ปลาหลายชนิดในแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจพบพยาธิใบไม้เต็มวัยได้

การป้องกันและรักษา

1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยคอก เพราะอาจจะมีไข่ของพยาธิใบไม้ติดมา ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยคอก ควรตากให้แห้งเป็นอย่างดีก่อนจึงจะนำมาใช้พร้อมทั้งกำจัดหอย ซึ่งเป็นตัวช่วยเสริมการระบาดของพยาธิชนิดนี้อย่างครบวงจร โดยการตากบ่อให้แห้งและโรยปูนขาวให้ทั่วในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากจับปลาขึ้นแล้วทุกครั้ง

2. ยังไม่มีวิธีรักษาหรือกำจัดตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ที่เกาะบนตัวปลา โรคพยาธิใบไม้ (pleurogenoides) พยาธิใบไม้ที่ทำให้เกิดโรคปลานั้น พบทั้งขณะที่เป็นตัวเต็มวัยแล้วและตัวอ่อน ตัวเต็มวัยของพยาธิใบไม พบได้ในทางเดินอาหารภายในช่องท้อง ไม่ค่อยทำอันตรายต่อปลาเท่าใดนัก ต่างกับตัวอ่อน ซึ่งพบฝังตัวอยู่บริเวณเหงือกและอวัยวะภายในต่าง ๆ ทำให้เกิดความเสียหายกับเนื้อเยื่อของเหงือกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในลูกปลาที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการกระพุ้งแก้มเปิดอ้าอยู่ตลอดเวลา ว่ายน้ำทุรนทุรายลอยตัวที่ผิวน้ำ ผอม เหงือกบวม อาจมองเห็นจุดขาว ๆ คล้ายเม็ดสาคู ขนาดเล็กเป็นไตแข็ง บริเวณเหงือกและปลาจะทยอยตายเรื่อย ๆ ปลาหลายชนิดในแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจพบพยาธิใบไม้เต็มวัยได้

โรคจากเชื้อแบคทีเรีย

โรคตัวด่าง
โรคตัวด่าง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย "คอลัมนาริส" ปลาที่เป็นโรคที่จะมีแปลด่างขาวตามตัว และเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นเวลานาน แผลด่างขาวนี้จะกลายเแ็นแผลลึกได้ โรคนี้มักเกิดกับปลาหลังการลำเลียง เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศที่สูงทำให้ปลามีความต้านทานลดลง เชื้อแบคทีเรียนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและทำอันตรายต่อปลา ปลาที่เป็นโรคดังกล่าวจะตายเป็นจำนวนมาก

การป้องกันและรักษา

  1. แช่ปลาในยาเหลือง อัตราส่วน 2 มิลลิกรัมต่อน้ำ 5 ลิตร นานประมาณครึ่งชั่วโมง
  2. ในขณะขนส่งลำเลียงปลาควรใส่เกลือเม็ดในน้ำที่ใช้สำหรับการขนส่งปลาปริมาณ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร
  3. ใช้ด่างทับทิมเข็มข้น 2 พีพีเอ็มแช่ตลอด
  4. ใช้ฟอร์มาลินจำนวน 40-50 พีพีเอ็ม แช่นาน 24 ชั่วโมง
  5. ในกรณีที่เชื้ออยู่ในกระแสเลือดใช้เทอร์รามัยซิน 5 กรัมต่อน้ำหนักปลา 100 กิโลกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 10-12 วัน

โรคแผลตามตัว
โรคแผลตามตัว เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas และ Pseudomonas ปลาจะมีลักษณะผิวหนังบวมแดง และเริ่มเปื่อยเป็นแผลลึกลงไปจนเห็นกล้ามเนื้อส่วนใน ปลาขนาดเล็กมักจะทำให้เกิดอาการครีบกร่อน ทั้งครีบตามลำตัวและครีบหาง

การป้องกันและรักษา

  1. ใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกไนโตรฟูราโซนในอัตราส่วน 1-2 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ปลานานประมาณ 2-3 วัน
  2. แช่ปลาที่เป็นโรคในสารละลายออกซีเตตร้าซัยคลิน หรือเตตร้าไคลินในอัตราส่วน 60-70 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร นาน 1-2 วัน ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง
  3. ถ้าปลาเริ่มมีอาการของโรคอาจผสมยาปฏิชีวนะดังข้อ 1 หรือ 2 ในอัตราส่วน 60-70 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม หรือ 2-3 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม นานติดต่อกัน 3-5 วัน

โรคท้องบวม
โรคท้องบวม อาการของโรคจะเห็นส่วนท้องบวมมากและบางตัวผิวหนังจะเป็นรอยช้ำตกเลือด
การรักษา ให้แช่ปลาในยาปฏิชีวนะ ออกซีเตตร้าไซคลินในอัตราส่วน 10-20 พีพีเอ็ม ส่วนการฆ่าเชื้อในบ่อเลี้ยงปลาควรใช้ปูนขาวในอัตรส่วน 50-60 กิโลกรัม/ไร่

เกี่ยวกับสาเหตุของเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดโรคในปลากดเหลืองแล้ว สภาพแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่ทั้งด้านกายภาพ หรือองค์ประกอบด้านเคมีจะเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ปลาอ่อนแอและส่งผลต่อการติดเชื้อโรคดังกล่าวข้างต้น ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ ปริมาณออกซิเจนในน้ำ ความเป็นกรดด่างน้ำ สารพิษในน้ำ ปริมาณคลอรีนหรือโลหะหนักในน้ำ รวมถึงสภาวะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน

ดังนั้น ผู้เลี้ยงปลาจึงควรที่จะศึกษาวิธีการป้องกัน และแก้ไขสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปลา หรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้การเลี้ยงปลากดเหลืองมีผลผลิตลดต่ำในที่สุด

» การเพาะพันธุ์
» การผสมเทียม
» การอนุบาลลูกปลา
» การเลี้ยงปลาขนาดตลาด
» ต้นทุนและผลตอบแทน
» โรคและการป้องกัน
» การจำกัดกลิ่นโคลนในเนื้อปลา
» อนาคตของตลาด
» การป้องกันสัตว์น้ำจากภัยธรรมชาติ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย