สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วิกฤตศรัทธาผู้นำไทย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์

แนวทางแก้ไข

แนวทางแก้ไขระยะสั้นนั้นคงต้องเป็นไปตามที่อาจารย์ธีรยุทธ์ บุญมีได้กล่าวไว้ คือเน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย องค์กรตรวจสอบคอร์รัปชันนักการเมืองต้องดำเนินไปอย่างเข้มข้น กรรมการเลือกตั้งต้อง
ดำเนินไปอย่างจริงจัง กระบวนการตุลาการภิวัตน์ต้องเดินต่อไป อาจถึงขั้นต้องจับผู้นำที่กระทำผิดติดคุกเป็นตัวอย่าง เช่น ที่ปรากฎในประเทศฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้มาแล้ว
แนวทางแก้ไขระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อผู้นำการเมืองไทยนั้น อาจจะแยกออกได้เป็น 10 แนวทาง ดังต่อไปนี้

5.1 คนดี มีความพร้อม ควรเสียสละเข้าสู่วงการเมือง
นักการเมืองต้องเสียสละ ไม่มีใครบังคับให้เข้ามา เมื่อเข้ามาแล้วต้องกระทำทุกอย่างเพื่อส่วนรวม เพื่อคนส่วนใหญ่ การกระทำทุกอย่างต้องอธิบายได้ เปิดเผยได้ แล้วคนจะรับได้ ประชาชนจะนับถือโดยไม่ต้องใช้เงิน ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี Franklin D.Roosevelt และ ประธานาธิบดี John F.Kennedy รวยมาก นักการเมืองต่างประเทศส่วนใหญ่รวยแล้วจึงมาเล่นการเมือง ด้วยความรู้สึกท้าทายและมั่นใจว่า “เราทำได้” คล้ายกับที่ Gaius Julius Caesar ผู้นำแห่งอาณาจักรโรมัน (Roman Empire) เคยกล่าวไว้ “I came, I saw, I conquered” “ข้ามา ข้าเห็น และข้าได้ชัยชนะ” การมองการเมืองว่าเป็นเรื่องท้าทายความสามารถ เมื่อสามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ก็ภาคภูมิใจ ถือเป็นเกียรติยศแก่ตนเอง และวงศ์ตระกูล

5.2 การสร้างผู้นำทางการเมืองในระดับท้องถิ่น
การสร้างผู้นำทางการเมืองในระดับท้องถิ่น กล่าวคือ สมาชิกพรรคหรือผู้สนใจในท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านทางสาขาพรรค เช่น การมีโอกาสได้เป็นหัวหน้าสาขาพรรค กรรมการกลางสาขาพรรคระดับภาค จังหวัด ตำบล เลขาธิการสาขาพรรค โฆษกสาขาพรรค ฯลฯ และเมื่อมีการประชุมกรรมการกลางของพรรคในระดับชาติ ผู้นำทางการเมืองเหล่านี้อาจได้รับคัดเลือกหรือเลือกตั้งเป็นตัวแทนไปร่วมประชุม หรือ อาจได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่เป็นกรรมการกลางก็ได้ นับว่าเป็นการสร้างผู้นำทางการเมืองในระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง และจะทำให้สถาบันพรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักในการฝึกอบรมผู้นำทางการเมืองมาตั้งแต่รากฐานของประเทศอย่างแท้จริง และถ้าสาขาพรรคได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การฝึกอบรมผู้นำทางการเมืองก็จะไม่ต้องพึ่งสถาบันราชการ ซึ่งไม่มีความเหมาะสมกับการฝึกอบรมผู้นำทางการเมืองอีกต่อไป

5.3 การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง
อาจารย์อาวุโสทางรัฐศาสตร์ของไทยท่านหนึ่งคือ ดร.กมล สมวิเชียร ได้เคยเสนอความคิดให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ท่านมีความเห็นว่าเมืองไทยต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะผู้นำ เพราะการที่ประเทศไทยไม่ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วเท่าที่ควร เพราะประเทศขาดผู้นำประเภท Charismatic Leaders ท่านค่อนข้างมั่นใจว่าการมีผู้นำประเภทนี้อาจจะช่วยให้เกิดศูนย์รวมทางความสามัคคี ช่วยทำให้ระบบการเมืองมีประสิทธิภาพขึ้น เพราะผู้นำจะเป็นผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแลเห็นกลจักรของการปกครองได้ง่ายขึ้น ฯลฯ การหาผู้นำที่มีลักษณะชูใจในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะทำได้ยาก เพราะบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำจะเป็นบุคคลในระดับท้องถิ่นไม่ใช่ระดับชาติ กล่าวคือ เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ซึ่งตนเองได้รับเลือกตั้งมาจากเขตเลือกตั้งหนึ่ง โดยเฉพาะมิใช่มาจากทั่วประเทศ การเลือกใครเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีในระยะนี้จะกระทำกันเป็นการภายใน ในที่ประชุมพรรคหรือในรัฐสภา มิใช่เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ชาวบ้านธรรมดาๆ จะเข้าไปมีส่วนได้ แต่การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจะช่วยทำให้ได้บุคคลประเภทนี้มาเป็นผู้นำของประเทศได้มากกว่า

ท่านยังมีความเห็นต่อไปอีกว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ได้รับ “ประกาศิตให้ปกครอง” (mandate) จากผู้ที่ถูกปกครอง สถาบันฝ่ายบริหารจะมีความศักดิ์สิทธิ์ และแข็งแกร่งยิ่ง ในด้านจิตใจขวัญของประชาชนก็จะดีขึ้นด้วยเพราะผู้ถูกปกครองสามารถเห็นบุคคลที่ตนลงคะแนนให้ได้เป็นผู้ปกครองประเทศ (ไม่ใช่ลงคะแนนเลือกใครไปแล้วก็ไปเงียบหายอยู่ในกรุงเทพฯ หรือไปเป็นหุ่นให้เขาจับเชิดในรัฐสภา)

ถึงแม้ความคิดของท่าน ดร.กมล สมวิเชียร จะไม่มีผู้ใดสานต่อ แต่ก็ถือเป็นการเปิดประเด็นทางการเมืองอย่างใหม่ที่น่าสนใจ

5.4 การแสดงบทบาทของสื่อมวลชน
วารสารรายสัปดาห์ฉบับใหญ่ๆ ของอเมริกันหลายฉบับ เช่นไทม์ นิวสวีค และยูเอสนิวส์แอนด์เวิร์ลด์รีพอร์ต ออกมาเพื่อรายงานข่าวและวิเคราะห์ข่าวโดยเฉพาะ และสถานีวิทยุจำนวนหนึ่งก็ออกอากาศเฉพาะข่าวอย่างเดียวเช่นกัน สิ่งพิมพ์และสื่อประเภทวิทยุ โทรทัศน์อื่นๆ ก็อุทิศเนื้อที่หรือช่วงเวลาให้การเสนอข่าวไม่น้อยทีเดียว ทั้งสื่อมวลชนสิ่งพิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์ จะเสนอการอภิปรายว่าด้วยปัญหาสำคัญของประเทศ และการสัมภาษณ์บุคคลที่สนับสนุนหรือคัดค้านการกระทำในแต่ละเรื่อง นอกจากนั้น ยังมีสิ่งพิมพ์ในหัวข้อพิเศษที่มุ่งจะเสนอด้านใดด้านหนึ่งของปัญหาต่าง ๆ ในระหว่างการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะใช้สื่อต่างๆ ทุกด้านอย่างเต็มที่เพื่อเสนอจุดยืนของตนให้ประชาชนอเมริกันได้รับทราบ

ฮาโรลด์ ลาสเวล (Harold Lasswell) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังของโลก ได้เคยกล่าวถึง ลักษณะของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์การเมืองว่าโดยสันดานแล้วไม่มีเหตุผล ทฤษฎีของท่านผู้นี้อาศัยทฤษฎีและวิธีการศึกษาของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ในการวิเคราะห์มูลเหตุจูงใจที่เคลือบแฝงอยู่ในกิจกรรมทางการเมือง โดยยืนยันว่าประวัติชีวิตของมนุษย์นับเป็นตัวกำหนดที่สำคัญที่สุดของการมีความคิดเห็นและพฤติกรรมในทางการเมืองถึงแม้โอกาสในการที่คนไทยจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จะมีน้อยกว่าคนอเมริกัน แต่สิ่งที่สื่อมวลชนไทยทำได้ คือ การให้ข้อมูลข่าวสารของนักการเมืองที่ดีต่อประชาชน สื่อมวลชนประเภทเรตติ้งสูง มีคนอ่านมาก เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ในช่วงใกล้เลือกตั้งควรมีการสืบประวัติเก่าๆ ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมาให้อ่านกัน ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ควรจะหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับการอุทิศตนเพื่อส่วนรวมและความซื่อสัตย์สุจริต แต่ไม่ต้องสนใจมากนักว่า ผู้สมัครคนนั้นจะเรียนเก่ง และทำงานเก่งขนาดไหน เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง หรืออดีตปลัดกระทรวง ไม่ได้แสดงว่าเป็นคนดี อาจจะเป็นเพียงคนเรียนเก่ง และทำงานเก่งเพื่อตนเองและครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่า ซื่อสัตย์สุจริต และจะทำเพื่อส่วนรวมเสมอไป

ถ้าคนลักษณะเช่น ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม นายแพทย์กระแส ชนะวงษ์ นายกล้าณรงค์ จันทิก นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ (ครูหยุย) ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม นางประทีป อึ้งทรงธรรม ลงสมัครรับเลือกตั้ง คนในลักษณะนี้ ต้นทุนทางสังคมสูง เพราะฉะนั้น เขาจะเสียดายที่จะทำผิด เขาจะรักหวงแหนต้นทุนของเขา ไม่ทำอะไรให้ภาพพจน์เสีย ทำงานเสร็จพร้อมจะไป ชีวิตกระตือรือร้น challenge อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่า ให้สื่อมวลชนเชียร์จนไม่เป็นกลาง เพียงแต่นำประวัติเก่าของบุคคลในลักษณะนี้มาเปิดเผยให้คนอ่านได้รู้จัก เพราะคนในลักษณะนี้ จะไม่ใช่นายทุน ที่จะมีเงินซื้อโฆษณา หรือติดคัทเอ้าท์ยักษ์ตามสี่แยก หรือพิมพ์แผ่นพับทีละเป็นแสนๆ ชุดได้

สื่อมวลชนต้องดูเรื่องส่วนตัวของผู้สมัครด้วย เช่น ภริยา 3 คน ลูก 8 คน เช่นนี้ แสดงว่าขาดศีล 5 แล้ว บุคคลประเภทนี้ ค่าใช้จ่ายจะสูง มีแนวโน้มว่าจะคอร์รัปชัน คนที่ครอบครัวตัวเองยังไม่ซื่อสัตย์เลย จะไปซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติได้อย่างไร หรือการที่พวกอยู่ในตระกูลเดียวกันลงสมัครตำแหน่งต่างๆ พร้อมๆ กัน สื่อมวลชนต้องนำมาลง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ตระกูลชั้นนำตระกูลใดตระกูลหนึ่งผูกขาดทางการเมือง ซึ่งเป็น
หนึ่งหนทางที่จะป้องกันการโกงการเลือกตั้ง และการป้องกันการเมืองในระบบเครือญาติบริวาร เช่น ที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีการพยายามออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตำแหน่งการเมืองเป็นตระกูล (Anti-Dynasty Law)

ในประเทศเกาหลีใต้ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศ กลุ่มประชาชนและองค์กรต่างๆ รวมทั้งผู้ใช้แรงงานจะติดประกาศรายชื่อนักการเมืองที่โกงกิน และนำรายชื่อเหล่านั้นมาประกาศให้ประชาชนทราบ (คล้ายบอร์ดหนังหมาของคนไทยสมัยก่อน) และเมื่อใช้วิธีการของเกาหลีใต้แล้ว คนไทยต้องช่างจดช่างจำให้มากขึ้น บุคคลในกลุ่ม black list นี้เวลาเลือกตั้งครั้งใหม่ อย่าเลือกให้เข้าไปนั่งในสภาฯ อีก
การนำประวัติของผู้สมัครมาวิเคราะห์กัน เช่น ย้ายพรรคกี่ครั้ง เคยริเริ่มกฎหมายอะไรที่สำคัญมาบ้าง จะเป็นเครื่องที่ช่วยการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี สูตรที่นักรัฐศาสตร์เชื่อกันคือ จริยธรรมของนักการเมือง+ความไว้วางใจของประชาชน จะนำไปสู่ความชอบธรรมในการปกครอง ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีประวัติชีวิตดีจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดี หรือเป็น ส.ส.ที่ดีเสมอไป เพียงแต่ประชาชนควรให้โอกาสในการแสดงฝีมือ โดยมีสื่อมวลชนคอยป้อนข้อมูลที่ตรงไปตรงมาและเป็นความจริง

5.5 นักการเมืองต้องมีจิตวิญญาณประชาธิปไตย (Democratic Spirit)
ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา มีองค์กรอิสระ มีทุกอย่างเกือบครบถ้วนตามที่ประเทศประชาธิปไตยจะพึงมี แต่ประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ดัชนีชี้วัดความล้มเหลวของการเมืองไทย คือ การปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และปฏิบัติการม๊อบพันธมิตรยึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 สาเหตุหลักของความวุ่นวายเพราะเงินและระบบอุปถัมภ์ได้เข้าไปทำลายหลักเกณฑ์ และระบบต่างๆ ทางการเมืองไปจนเกือบหมดสิ้น วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่งดงาม ดังเช่น ในต่างประเทศก็ไม่สามารถพบเห็นได้ในการเมืองไทยถ้าเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปบางประเทศ เช่นประเทศเดนมาร์ก

การเมืองของเดนมาร์กมีเสถียรภาพค่อนข้างสูง มีวัฒนธรรมทางการเมืองบางอย่างที่ทำให้การเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วมมาก และนักการเมืองมีความรับผิดชอบสูงดังที่เห็นได้จากการที่รัฐมนตรีของเดนมาร์ก มีธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านานแล้วว่าหากตนเองถูกรัฐสภาเสนอ

ให้มีการตรวจสอบการทำงานก็จะลาออกโดยไม่จำเป็นต้องมีการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ที่เมืองไทยจะเป็นไปได้ยาก เพราะกว่าจะได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีก็ต้องวิ่งเต้นมาก และลาออกก็ยังไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ถอนทุนจากการเลือกตั้งที่เสียเงินซื้อไปมาก สิ่งเหล่านี้คงต้องปลูกฝังกันอีกนานในสังคมไทยรวมทั้งจะต้องมีผู้เริ่มทำเป็นตัวอย่างก่อนด้วย นักการเมืองไทยควรมีแนวความคิดแบบนักการเมืองตะวันตก ต้องคิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เมื่อนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภาหรือประชาชนกลุ่มใหญ่นอกสภาเห็นว่าตนเองไม่ดีต้องลาออก ไม่ติดยึดกับสิ่งที่มีอยู่ นักการเมืองบางครั้งไม่ต้องพิสูจน์ว่าผิด แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือ และการไว้วางใจ คนเราการศึกษาสูงอย่างเดียวไม่พอต้องมีจิตสำนึกด้วย

5.6 การเรียนวิชา “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมือง”
ทุกมหาวิทยาลัยต้องมีวิชา “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมือง” ที่บังคับให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เรียนทุกคน ไม่มีหน่วยกิตให้ แต่ต้องสอบผ่านก่อนจบการศึกษา และเป็นคอร์สที่สามารถทำให้สนุกได้ มีสอนทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และยังสามารถแทรกเศรษฐกิจพอเพียงในเนื้อหาได้อีก รัฐบาลต้องมาให้ความสำคัญกับการปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ดีงามให้มากขึ้น โดยเจียดเงินงบประมาณมาใช้กับเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เหตุที่ต้องให้นิสิตนักศึกษาเรียน เพราะคนเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นพลังของแผ่นดินต่อไปจะได้ไม่ถูกทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเอาไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง

5.7 การจัดให้มีรางวัล “นักการเมืองตัวอย่าง”
สิ่งที่รัฐบาลควรทำอีกประการหนึ่ง คือ การมีรางวัล “นักการเมืองตัวอย่างประจำปี” คล้ายกับเหมือนห้างสรรพสินค้าที่มีการประกาศเกียรติคุณพนักงานดีเด่นประจำเดือนต้องประกาศให้คนทั่วไปได้รับรู้ ผู้เขียนไม่คิดว่า นักการเมืองจะเป็นคนไม่ดีทุกคน ทุกวงการก็ต้องมีคนดีทั้งนั้น เพียงแต่พวกเราไม่สนใจที่จะสรรหา ต้องมีการให้รางวัลในรัฐสภา มีการประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษา ลงหนังสือพิมพ์ ออกข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้นักการเมืองที่ดีเกิดกำลังใจ เป็นตัวอย่างที่ดี และเป็น role model สำหรับนักการเมืองรุ่นน้องๆ ต่อไป การได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่นี้ ทำให้พี่น้องในเขตเลือกตั้งที่เลือก ส.ส. ผู้นี้เข้ามาจะชื่นชมภาคภูมิใจ และยังเป็นเกียรติยศกับจังหวัดนั้นๆ ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็จะได้รับเลือกเข้ามาอีกโดยไม่จำเป็นต้องซื้อเสียง ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นทางเดินเข้าไปสู่รัฐสภาแต่อย่างใด เราก็จะได้มีโอกาสเลือกผู้นำจากนักการเมืองที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม

5.8 การไม่ยึดมั่นในหลักการ “อัศวินม้าขาว”
สังคมไทยเป็นสังคมบุคลาธิษฐาน (สังคมที่ยกบุคคลขึ้นเป็นที่ตั้ง) การยึดมั่นตัวบุคคล คนไทยมีความฝังใจเชื่อว่าถ้าคนดีทำอะไรทุกอย่างที่ตามมาก็จะดีไปเอง ยึดถือตัวบุคคลมากกว่าระบบ โดยลืมไปว่า ผู้นำกับรัฐ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คนไทยต้องไม่พึ่งพาผู้นำแบบอัศวินม้าขาว “ข้ามาคนเดียว” คนไทยชอบหลักการผู้นำนิยมโดยให้ความสำคัญสูงสุดแก่ผู้นำ โดยเฉพาะการใช้อำนาจเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ

ไม่ใช่เฉพาะคนไทยบางกลุ่มที่มีความเชื่อในลักษณะนี้ แม้ประชาชนในประเทศเพื่อนสมาชิกสมาคมอาเซียนของเรา เช่น ฟิลิปปินส์ ก็คิดเช่นนี้เหมือนกัน Alex Magno ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (University of the Philippines) ในกรุงมะนิลา มีความเห็นว่า ในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเหตุการณ์ในบ้านเมืองทุกอย่างปกติ และสงบสุข ประชาชนจะยกความดีความชอบทั้งหมดให้ผู้นำของตนว่า เป็นฮีโร่มากอบกู้สถานการณ์ แต่ถ้าเหตุการณ์ไม่เรียบร้อย หรือมีเรื่องยุ่งยากจะบอกว่า นี่เป็นเพราะบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่ดีของประธานาธิบดีผู้นั้น (ในที่นี้ หมายถึง Joseph Estrada อดีตประธานาธิบดีพระเอกหนังของประเทศ ซึ่งถูกโค่นลงจากอำนาจเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2544) แต่ไม่เคยคิดจะไปแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือวางระบบสถาบันทางการเมืองให้รัดกุม Professor Magno กล่าวว่า คนฟิลิปปินส์ดูจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับการมีสถาบันการเมืองที่อ่อนแอ และการมีผู้นำ (ที่คิดว่า) เข้มแข็ง ซึ่ง Professor Magno
ก็สรุปว่า คงแก้ลำบากเพราะมันเป็นวัฒนธรรม เป็นชะตากรรมของประชาชนฟิลิปปินส์ไปแล้ว

หลักการคิดของคนฟิลิปปินส์ไม่ต่างกับคนไทยมากนัก “อัศวินม้าขาว” จะดีตอนเริ่มต้น แต่มักจะตกม้าตายตอนจบ เช่น ฮิตเลอร์ของเยอรมนี มุสโสลินีของอิตาลี ซูการ์โนของอินโดนีเซีย มาร์คอสของฟิลิปปินส์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ของไทย เพราะพอได้รับการยกย่องเป็นอัศวินม้าขาวก็จะฮึกเหิม เพราะประชาชนสนับสนุนจึงเริ่มมีอำนาจมาก จะเริ่มค่อยๆ ละเมิดกฎหมายเพราะต้องทำทุกทางที่จะให้ประชาชนเชื่อในความคิด และการกระทำของผู้นำอย่างสมบูรณ์ในทุกเรื่อง คือ ให้คล้อยตามไปได้ทุกเรื่อง จะเริ่มอึดอัดและรำคาญกับสื่อมวลชน และกลุ่มพลังประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การละเมิดจริยธรรมค่อยๆ ติดในวังวนของอำนาจ เริ่มต้นอาจจะเป็น “เผด็จการแบบประชาธิปไตย” (เผด็จการพลเรือน) คือ ควบคุมสถาบันหลักในทางการเมืองได้ทั้งหมด และต่อไปจะค่อยๆ พัฒนากลายเป็นเผด็จการอย่างสมบูรณ์แบบ

5.9 การดำเนินการลงโทษผู้นำการเมืองที่มีปัญหาในเรื่องจริยธรรม และผลประโยชน์ทับซ้อน
ระบบโครงสร้างของไทย เป็นระบบโครงสร้างรวมศูนย์อำนาจ และวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ใต้อุ้งบารมีการอุปถัมภ์ของชนชั้นปกครอง ผู้นำทางการเมืองส่วนใหญ่ของไทย ไม่รักษากติกาการต่อสู้ทางการเมือง ผู้นำไทยไม่ค่อยมีคุณสมบัติตรงนี้เลย นายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารต้องเป็นผู้นำในการวางกติกาและยึดกติกา เมื่อไม่ยึดกติกาตัวเองก็เสื่อม เมื่อเกิดปัญหาเรื่องจริยธรรม ก็ตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ตัวเองต้องการ เอาการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญเป็นอาวุธ โดยกติการัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่สามารถจัดการกับนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ในเรื่องเกี่ยวกับผู้บริหารสูงสุดของประเทศ เคยมีคำกล่าวของจีนที่ว่า “ผู้นำที่แท้จริง เมื่อทำงานเสร็จแล้วต้องหายตัวไป เมื่อมีปัญหาแล้วค่อยปรากฎตัวอีกที” แต่นายกรัฐมนตรีของไทยหลายคน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา จะอยู่ในลักษณะทำงานก็ไม่สำเร็จ แต่ก็หวงเก้าอี้ แล้วก็ไม่ยอมหายตัวไป ไล่แล้วไล่อีกก็ไม่ไป แต่กลับปรากฎตัวพร้อมปัญหาให้ประชาชนเบื่อหน้าอยู่ตลอดเวลา จึงมีความพยายามพูดกันมานานเรื่องจริยธรรม และการลดอำนาจของนายกรัฐมนตรี การพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี มีข้อจำกัดเกินไปจึงเกิดมีกรณี นักการเมืองประพฤติมิชอบ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตคอร์รัปชัน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง แนวทางแก้ไขเฉพาะประเด็นนี้จึงควรมีการกำหนดคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมือง และมีบทลงโทษ ที่แล้วมาก็มีการกำหนดคุณธรรม จริยธรรม แต่ล้มเหลวเพราะไม่มีการบังคับกันอย่างจริงจัง จริยธรรมจึงมีอยู่บนแผ่นกระดาษ ดังนั้น ต้องวางพื้นฐานให้ประชาชนมีจริยธรรมและคุณธรรมด้วย ให้ประชาชนเลือกนักการเมืองที่มีจริยธรรม และคุณธรรมจึงจะควบคุมกันได้ ต้องมีการกำหนดห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งในระหว่างดำรงตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีช่องโหว่ตรงนี้ เลยทำให้เกิดการกระทำที่ไม่สุจริต สร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง และเอาผิดยากด้วย เพราะจะอ้างว่าทำทุกอย่างตามกฎหมาย แต่เป็นที่น่ายินดีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้วในหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 265 ถึงมาตรา 269 ซึ่งคิดว่าเพียงพอแล้ว เพียงแต่ขอให้ใช้บังคับทางกฎหมายกันอย่างจริงๆ จังๆ รัฐสภาต้องมีการจัดทำคู่มือเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนแจกนักการเมืองทุกคน ตั้งแต่วันรายงานตัวที่สภาฯ ในคู่มือ มีคำจำกัดความของผลประโยชน์ทับซ้อน การตีความรายละเอียด การยกตัวอย่างประกอบ ฯลฯ คือ ทำทั้งแจกคู่มือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างละเอียด ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอให้มีองค์กรของผู้ใช้แรงงานในทุกหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจในการตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อน โดยทำเป็นทีม มีฐานในการรองรับ ซึ่งจะทำให้สหภาพแรงงานสามารถตรวจสอบได้ โดยไม่ถูกกลั่นแกล้ง หรือโยกย้ายจากนักการเมือง

5.10 คุณสมบัติส่วนตัวของผู้นำ
ผู้นำต้องไม่โกหก ต้องเป็นคนสุภาพ ไม่ก้าวร้าว ไม่นิยมความรุนแรง การเลือกผู้นำประเทศ ไม่ควรดูที่นโยบายการเมืองหรือเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวแต่ควรดูที่นโยบายสังคม และจริยธรรมของผู้นำประกอบด้วย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ทางรายการ Talk Asia ทอล์ค เอเชีย กับ “แดนริเวอร์ส” ผู้สื่อข่าว ซีเอ็นเอ็น โดยมีคำถามหนึ่งถามถึงบทบาทรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในอดีต เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วันที่ 6 ตุลาคม) ในปี 2519 โดยนายสมัครให้สัมภาษณ์ว่าเหตุการณ์นี้มีชายโชคร้ายเสียชีวิตเพียง 1 คนเท่านั้น ซึ่งต่อมาทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างมากจากคนเดือนตุลาคม นักวิชาการ รวมถึงคนในพรรคพลังประชาชนเอง ซึ่งหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ได้ลงรายละเอียดบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแบบคำต่อคำ ดังนี้

ริเวอร์ส: แต่ตัวเลขที่เป็นทางการบอกว่ามีผู้เสียชีวิต 46 คน และคนจำนวนมากบอกว่า จริงๆ แล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงกว่านั้น
นายสมัคร: ไม่ สำหรับผม ไม่มีการตาย คนหนึ่งโชคดีแค่ถูกแทง ส่วนอีกคนถูกเผา ที่ท้องสนามหลวง มีแค่คนเดียวที่ตายในวันนั้น
ริเวอร์ส: แล้วที่บอกว่า เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่?
นายสมัคร: ไม่ ไม่เลย แต่ถ้าดูจากภาพ มีแต่นักศึกษาหญิงชาย 3 พันคน เข้าแถวกัน พวกเขาบอกว่ามียอดคนตาย 3,000 คน

ผู้นำประเทศต้องเป็นบุคคลในลักษณะ compromise ประสานความสมัครสมานสามัคคีกับคนทุกฝ่าย ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ค่อยยอมแพ้อะไรง่ายๆ ต้องไม่ใช้อารมณ์รุนแรง ควรมีความยับยั้งใจ คำพูดต้องไม่ใช่ในลักษณะท้าทายและก่อศัตรู ท่านนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช มักถูกวิจารณ์เสมอว่า “ก้าวร้าวเกินไป” ตามบางตัวอย่างดังนี้
30 มกราคม 2547 “พวกที่จะไปรถไฟให้เดินออกมา จะไม่ขอพูดอะไรแล้วให้กลับรถไฟให้หมด ไม่รู้ว่าไอ้พวกหน้าหมาใครสอนมา”
8 พฤศจิกายน 2550 “ถ้าผมถามกลับว่า....อย่าหาว่าหยาบคายนะ เมื่อคืนคุณไปร่วมเมถุนกับใครหรือไม่”
“แล้วผมจะไปบอกเขาทำหอกอะไร ถ้าไม่บอกแล้วจะตั้งมาเป็นคดีได้ไหม ผมไม่บอกแล้วไงล่ะ... เออ”
“เป็นสันดานโทรทัศน์ เลวทรามต่ำช้า ให้มันรู้ไปหากออกไปแล้วคนจะไม่เลือก ผมก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว”
21 มีนาคม 2551 “... ก็ขอบอกไว้เลยว่าต่อไปจะแหวกวันไว้สำหรับ นายอภิสิทธิ์ เพื่อให้นายกฯ ไปถูกเคล้าคลึงในสภาทุกวันพฤหัสบดี
31 สิงหาคม 2551 “... สมาชิกจะได้แสดงความเห็น วันนี้จะได้ดูกันเลยว่าใครจะแสดงความรู้สึกอย่างไร เข้าข้างใครจะได้ดูว่าใครนุ่งกางเกงในสีอะไร แก้ผ้าให้เห็นความคิดของแต่ละคนกันไปเลย...
ท่านนายกสมัครฯ อาจจะเห็นเป็นเรื่องไม่เสียหาย เพราะท่านเคยกล่าวว่า “... มันไม่มีข้อบัญญัติ
ตรงไหนบอกว่านายกรัฐมนตรีควรจะเป็นคนดี หรือ ควรจะพูดสุภาพ”

6. สรุป
การเสื่อมศรัทธา และเสียความชอบธรรมของระบบจะนำไปสู่ผลเสียที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ ความรู้สึกที่ขาดความน่าเชื่อถือ ขาดศรัทธาต่อรัฐบาล หรือ บุคคลที่อยู่ในอำนาจ ผลที่ตามมาคือ การสูญเสียความชอบธรรมของรัฐบาล และของนักการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อการเสื่อมศรัทธาต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ในช่วงนี้เป็นแต่เพียงรูปแบบ ทำให้ขาดการสนับสนุนจากประชาชน ประชาชนแทนที่จะเชื่อฟังผู้นำ และเคารพต่อกฎเกณฑ์ก็กลายเป็นไปเคารพหัวหน้าม๊อบผู้นำฝูงชนตามท้องถนนแทน เพราะรู้สึกว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็วมากกว่า ซึ่งทำให้ภาพพจน์ ชื่อเสียง เศรษฐกิจ และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยพังทลายไปเกือบหมดสิ้น

ประชาธิปไตยในประเทศไทยจะหลงทางไปเน้นที่รัฐสภา และรัฐธรรมนูญกันเป็นเวลานาน ร่างรัฐธรรมนูญแล้วร่างอีกถึง 18 ฉบับ แต่ในปัจจุบันควรเน้นเรื่องผู้นำและพลังประชาชนเป็นหลัก ถ้าประชาชนมีศรัทธาในผู้นำประเทศ มีศรัทธาในประชาธิปไตย ก็จะมีความหวังอยากร่วมทำทุกอย่างให้ดีขึ้น ถ้าไม่ต้องการให้มีการล้มกระดานไม่ต้องการให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญกันบ่อยๆ แล้ว ผู้นำก็ต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์ และยืนอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องทั้งทางกฎหมาย และจริยธรรม เมื่อคิดดี พูดดี ทำดี แล้วความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครองก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ และจะแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่

ผู้ปกครองจะต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน เพราะถ้าประชาชนไม่มีศรัทธาในตัวผู้ปกครอง หรือ ในระบอบการปกครองแล้วก็ยากที่จะปกครองประชาชนได้ นักการเมืองจะต้องมี “จริยธรรมในการเมือง” ทำสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้อง ถูกต้องต่อสถาบันทางกฎหมาย และถูกต้องต่อสถาบันครอบครัว ผู้นำและนักการเมืองเป็นบุคคลที่อยู่ในสายตาของประชาชนตลอดเวลาไม่มีคำว่า “เรื่องส่วนตัว” ทุกอย่างเป็นเรื่องสาธารณะหมดตราบตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้าสู่วงการเมือง เหมือนดังที่ท่านขงจื้อนักปราชญ์ชาวจีนได้เคยกล่าวไว้ “ถ้าหากว่าผู้ปกครองเองเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมคนทั้งหมดก็จะตั้งอยู่ในธรรม โดยมิต้องบังคับเลย แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ได้ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว แม้จะออกคำสั่งสักเท่าไร ประชาชนทั้งหมดก็จะไม่เชื่อฟังเลย” ถ้าส่วนใหญ่ของนักการเมืองเป็นคนไม่ดี ก็จะทำให้คนมองเป็นภาพรวมไปหมดว่า การเมือง คือ แวดวงของคนไม่ดี

กล่าวโดยสรุป การที่จะเรียกศรัทธาให้คืนกลับมาได้นั้น ผู้บริหารประเทศในระดับสูงจะต้องเคารพกฎหมาย มีจริยธรรมในทางการเมือง บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน คือ ปกครองให้น้อยที่สุด แต่เอาใจใส่ทุกข์ยากของประชาชนให้มากที่สุด ผู้ปกครองต้อง “เลี้ยงใจ” ของประชาชน ถ้ารัฐบาลใดไม่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนแล้ว การที่จะดำรงความเป็นชาติอยู่ได้อย่างปลอดภัย และมั่นคงมีเสถียรภาพนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คุนฺนญฺเจ ตรมานานํ อุชุ์ คจฺฉติ ปุงคโว ...” แปลความว่า “หากโคที่เป็นหัวโจกพาฝูงโคทั้งหลาย ข้ามฟากอยู่ เดินไปตรง โคลูกฝูงก็เดินตามตรงไปด้วย ถ้าหากผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมประชาชนทั้งหลายก็จะเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมด้วย”

ถึงแม้จะมีสุภาษิตละตินบทหนึ่งที่ว่า “Corruptio optimi pessima” (เมื่อคนสูงสุดเลวร้ายเสียแล้ว ย่อมเลวร้ายถึงที่สุด) ก็ตามแต่ยังมีนักประพันธ์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง คือ F.Scott Fitzgerald ได้เคยให้ข้อสังเกตไว้ว่า “ในช่วงชีวิตของคน เราอาจจะเห็นอะไรที่หมดหวังแต่อยากเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้น” ในโลกของการเมือง ยังไม่มีอะไรที่หมดหวัง เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นไม่เคยคิด ไม่เคยเข้าใจ และไม่เคยลงมือปฏิบัติ

ผู้นำทางการเมือง
วิเคราะห์ผู้นำทางการเมืองของประเทศไทย
ทฤษฎีและแนวความคิดทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางแก้ไข

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย