สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์
ทฤษฎีและแนวความคิดทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
กรณีวิกฤตศรัทธาสถาบันการเมืองไทย: วิกฤตศรัทธาผู้นำไทยนี้ เป็นไปตามทฤษฎีสัจจนิยม (Realism) ทฤษฎีนี้เป็นแนวแสวงหาผลประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัวในทางการเมือง หมายถึง การมองสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่มันควรเป็น และการยอมรับว่าจุดมุ่งหมายหลักของทุกคนในปริมณฑลของการเมือง คือ อำนาจและการสนองผลประโยชน์ของตนเอง ตรงกับทฤษฎีด้านนโยบายสาธารณะ (Public Theory) ที่ว่านักการเมืองคิดนโยบายออกมาเพื่อให้ตนเองอยู่ในอำนาจเป็นหลักผนวกกับทฤษฎีธุรกิจการเมืองที่ว่านักการเมืองเข้าสู่การเมืองเพื่อหารายได้ส่วนตัวเพื่อพวกพ้อง
เหตุที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ เพราะโครงสร้างประชาธิปไตยของไทยไม่เข้มแข็ง การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น มีส่วนประกอบสำคัญ คือ จะต้องมีโครงสร้างหลักซึ่งได้แก่ รัฐธรรมนูญ รัฐสภา พรรคการเมือง และรัฐบาล
ในการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างประชาธิปไตยนั้น มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง คือ ทฤษฎีโครงสร้างนิยม (Structuralism)16 แนวทางการศึกษาซึ่งมองว่า ความหมาย (significance) ของสิ่งของต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะผลผลิตทางสังคม และวัฒนธรรมอยู่ที่โครงสร้างของมัน การที่สิ่งต่าง ๆ มีโครงสร้างได้ สิ่งนั้นจะต้องมีส่วนต่าง ๆ (parts) ที่ประสานสามัคคีกันภายใต้ความสัมพันธ์ที่เป็นระเบียบ (ordered relations) การกล่าวว่า โครงสร้างเป็นตัวกำหนดความหมาย สิ่งที่สำคัญไม่ใช่อยู่ที่ส่วนต่าง ๆ แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ของส่วนเหล่านั้น ความหมายจึงอยู่ที่แบบแผนของความสัมพันธ์ (โครงสร้าง) ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ
โครงสร้างประชาธิปไตยของไทยนั้น ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่ในทางปฏิบัติที่ประชาชนพบเห็นอยู่ทุกวันก็คือ การที่แต่ละโครงสร้างนั้นมิได้ประสานสามัคคีกัน ความสัมพันธ์ที่มีอยู่ก็ไร้ระเบียบโดยสิ้นเชิง
สถาบันการเมืองของประเทศจะมั่นคงถ้าผู้นำของประเทศยึดถือลัทธิการเมืองแบบพหุนิยม (Pluralism) เป็นหลัก17 ลัทธิการเมืองแบบนี้ ให้ความสำคัญกับวิธีการปฏิบัติ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากการปฏิบัติ โดยที่มีระบบระเบียบ และองค์กรสถาบันทางการเมืองรองรับ รวมทั้งสามารถควบคุมตรวจสอบ และพิสูจน์ความผิดพลาด และความถูกต้องได้ด้วย ลัทธินี้มีความเชื่อพื้นฐานว่า ประชาชนทั่วไปมีข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งคือ ไม่มีใครสามารถปกครองตนเองได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องสรรหาผู้แทน และผู้นำมาทำการปกครองแทนในนามของพวกตน การเมืองตามลัทธิดังกล่าว จึงต้องพึ่งพาอาศัยสถาบันทางการเมือง และระเบียบปฏิบัติที่ซับซ้อนเข้ามารองรับหลายประการ ทั้งนี้ มีหลักการที่สำคัญ คือ หลักการยอมรับการแข่งขันทางการเมืองของกลุ่มที่มีความแตกต่างหลากหลายโดยที่ไม่มีการผูกขาด หรือ ครอบงำโดยกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองให้เป็นตัวเลือกมากกว่าหนึ่งพรรค และมีสองพรรคที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างน้อย แต่ตัวเลือกที่มาให้ประชาชนเลือกนั้น ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ประชาชนก็จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่พลเมืองดีโดยออกไปเลือกตั้งและได้คนคุณภาพต่ำเหล่านั้นเข้ามาเป็นผู้บริหารปกครองประเทศ
ถ้าดูรูปแบบสังคมและการเมืองไทย จะพบว่าเป็นไปตามทฤษฎีชนชั้นนำ (Elitist Theory) หรือในบางตำราเรียก ทฤษฎีนิยมอภิชน (Elite Theorism) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางสังคม และการเมืองที่มีทัศนะหรือมีการปฏิบัติที่นำไปสู่การแบ่งแยกคนในสังคมเป็นผู้นำที่เป็นผู้ปกครอง และมวลชนที่ถูกปกครอง โดยจะมีกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจการเมืองสูง และมีอิทธิพลที่สุดในสังคม ประชาชนจริง ๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก ชนชั้นนำจะอยู่ในระบบการเมืองทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบเผด็จการ หรือประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง อำนาจทั้งหลายก็ยังคงอยู่ในมือของคนกลุ่มนี้อย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง และพยายามฟอกตัวให้สะอาดโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และอ้างว่าเป็นผู้นำที่มีความชอบธรรมในการปกครองเพราะเป็นผู้นำที่มีที่มาอย่างถูกต้องตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
ตามความเชื่อของ Thomas Hobbes เจ้าของทฤษฎีว่าด้วยสิทธิของรัฐ(Proprietary Theory of State)18 หน้าที่ของผู้ปกครองตามอำนาจอธิปไตยนั้นก็คือ การดำรงไว้ซึ่งรัฐ การจัดระเบียบและรักษาความสงบ การป้องกันรัฐ และประชาชนให้รอดพ้นจากภัยอันตราย และการรุกรานจากภายนอกเพื่อให้ประชาชนอยู่อย่างสงบ และมีความสุข ประชาชนจึงมอบสิทธิของตนเองทั้งในเรื่องรายได้ อำนาจและเกียรติภูมิให้กับผู้มีอำนาจเหนือกว่าโดยยอมอยู่ในโอวาทของผู้ปกครองเป็นอย่างดี
แต่เนื่องจากธรรมชาติของผู้ปกครองนั้นไม่ใช่คนดีกันหมดทุกคน ดังนั้น การคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากผู้ปกครอง (ruling class) และพรรคพวกที่มีอำนาจในธุรกิจ และรัฐบาลได้เข้ามาแสวงอำนาจและผลประโยชน์ การเข้าครอบครองกลไกรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ อาจจะฉกฉวยทรัพยากรของรัฐมาเป็นของครอบครัว และอาจจะโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน (Privatization) หรือโดยการเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ และระเบียบ ตลอดจนผลักดันกฎหมายขึ้นมาเพื่อสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (rent-creating) ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยอาจจะเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมือง (political rent seeking) ก็ได้ เพราะในความเป็นจริงบุคคลกลุ่มนี้ก็จะได้เปรียบอยู่แล้วในเรื่องข้อมูลข่าวสาร และวาระลับต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตนเองและพรรคพวก คนไทยจึงไม่ให้ความเคารพต่อผู้นำอีกต่อไป และหันไปดำเนินการตามวิถีทางของตนเองที่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้นั่นคือ การรวมกลุ่มเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยยึดถนนและสถานที่ราชการกลายเป็น street politics และมุ่งต่อรองเพื่อให้ตัวแทน (nominee) ของผู้นำคนเดิมพ้นอำนาจ
การคอร์รัปชันของอดีตผู้นำถูกเปิดโปง และเป็นคดีขึ้นสู่ศาลหลายคดีด้วยกัน ทฤษฎีเชิงหน้าที่ (Functional Approach Theory) อธิบายสาเหตุของการคอร์รัปชันว่าเกิดจากความไม่สามารถปรับตัวของระบบได้ดีพอ ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนากับการสร้างสังคมที่ทันสมัย และความสัมพันธ์ระหว่างระบบทุนนิยมกับระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนออกมาที่ความอ่อนแอของสถาบันทางการเมือง และความอ่อนแอทางภาคประชาสังคม การมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ล้าหลังกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม หรือการปรับตัวขององค์กรของรัฐที่ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบธุรกิจทำให้นักการเมือง และข้าราชการสามารถหาผลประโยชน์ได้
ถ้านำแนวคิดหลักที่ชัดเจน และรัดกุมมาอธิบายเรื่องการคอร์รัปชันในประเทศไทยซึ่งมีอยู่จริงในลักษณะต่างๆ กันแล้ว แนวเข้าสู่การศึกษาเชิงโครงสร้างและหน้าที่ (structural-functional approach) น่าจะเป็นแนวที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์ กล่าวคือ ระบบการเมืองคือระบบย่อยของระบบสังคม และระบบการเมืองเองก็ประกอบด้วยระบบย่อยต่างๆ เช่น รัฐบาล รัฐสภา ศาล พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ โดยที่แต่ละระบบมีโครงสร้างต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน และทำหน้าที่อยู่ภายในสิ่งแวดล้อมของมัน เพื่อการดำรงอยู่ของตนเอง โดยการปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นต่างๆ
ในความเป็นจริงโครงสร้างที่แตกต่างกันก็จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่แตกต่างกันไปด้วยในแต่ละสังคม ในประเทศไทยนั้นบุคคลจำนวนไม่น้อยซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในแต่ละโครงสร้างของหน่วยราชการนั้นๆ ต่างละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับใช้โครงสร้างหน้าที่เหล่านั้นในการรักษาสถานะเดิม (status quo) ของตนไว้ โดยมุ่งในการรักษาเสถียรภาพของระบอบการปกครองที่มีอยู่รวมทั้งศึกษาถึงโครงสร้าง ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับการทำหน้าที่เหล่านั้น และพยายามอธิบายว่าโครงสร้างหน้าที่ในลักษณะเดิมนั้นยังไปได้ดี แต่ก็ยังมีความพยายามเป็นขั้นตอนที่จะหาวิธีทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อผู้นำอับจนเข้าจริงๆ ก็จะหวังพึ่งพิงสถาบันทหาร และใช้ความรุนแรงดังที่ปรากฎในเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535, ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ Force Theory กล่าวคือ รัฐสถาปนาขึ้นมาจากการเข้ายึดครอง หรือ การบังคับ โดยผู้ที่แข็งแรงกว่าใช้กำลังบีบบังคับผู้ที่อ่อนแอกว่า สิ่งที่เรียกว่า ยุติธรรม หรือ ถูกต้อง ไม่ได้มีความหมายอื่นใดนอกเหนือไปจากเป็นผลประโยชน์ของผู้ที่แข็งแรงกว่า ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่ร่างกายแข็งแรงกว่าเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ที่มีความสามารถที่สุด และมีความเชี่ยวชาญมากที่สุดด้วย ใครก็ตามที่ในข้อเท็จจริงมีอำนาจในการปกครองก็สามารถที่จะอ้างด้วยความชอบธรรมว่าตนมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการปกครอง
จอร์จ เฮเกล (George Hegel 1770-1831) และเฟรดริช นิทส์เช (Friedrich Nietzsche 1884-1900) เป็นผู้พัฒนาทฤษฎีรัฐถือกำเนิดขึ้นมาด้วยกำลังอำนาจ ทฤษฎีของคนทั้งสองก่อให้เกิดพื้นฐานของสิ่งที่เรียกในปัจจุบันว่า ลัทธิรัฐนิยม (Statism) เขาทั้งสองได้อ้างว่า รัฐนั้นสร้างโดยกำลังอำนาจ ซึ่งอำนาจนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ชั่วร้ายอะไร แต่มีลักษณะที่เชิดชูรัฐ กำลังอำนาจมิใช่สิ่งที่ต้องหลีกหนี ตรงกันข้าม มันเป็นสิ่งที่มีค่าเอกอุในสังคม อำนาจนั้นมีเหตุผลในตัวของมันเอง ดังที่นิทส์เชได้กล่าวว่า อำนาจก่อให้เกิดธรรม (might makes right) รัฐซึ่งสร้างความเป็นสถาบันให้แก่อำนาจของผู้ที่แข็งแรงให้เหนือกว่าผู้ที่อ่อนแอเป็นเพียงผู้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ควรจะเป็นตามความเห็นของนักทฤษฎีกำลังอำนาจ ผู้ที่แข็งแรงควรจะต้องปกครองผู้ที่อ่อนแอบรรดาสานุศิษย์ของเฮเกล และนิทส์เช ต่างอ้างว่า รัฐเป็นองค์กรมนุษย์ที่ทรงพลานุภาพมากที่สุด การดังกล่าวทำให้รัฐอยู่เหนือข้อกำหนดในทางศีลธรรมหรือจริยธรรมสามัญใดๆ และยิ่งใหญ่กว่าปัจเจกบุคคลใดๆ
นักปราชญ์สมัยก่อนมักถกเถียงกันว่า รากฐานของรัฐ (state) คือ ความอยุติธรรม (injustice) และความชั่วร้าย (evil) ฉะนั้น ผู้ที่แข็งแรงกว่าจึงสามารถข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า และได้สร้างกฎเกณฑ์ (legitimacy) เสมือนหนึ่งว่าชอบด้วยกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของบุคคลอื่น เมื่อคนไทยถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจากผู้นำ จึงนำมาซึ่งการเกิด วิกฤตศรัทธา ในที่สุด ศรัทธานั้นยิ่งใหญ่กว่าความเชื่อ เพราะศรัทธาไม่จำเป็นต้องอาศัยเหตุผล ศรัทธาของประชาชนชาวไทยในยุคปัจจุบันเมื่อมองการเมืองจะเริ่มคลอนแคลนแล้วถ้าคลอนแคลนในตัวบุคคลไม่น่าเป็นห่วงเพราะเป็นเรื่องเฉพาะราย แต่ปัจจุบันเลยไปถึงสถาบันหลักทางการเมืองทั้งหลายซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคง ต่อระบอบการปกครอง ปัญหานี้ถ้าทิ้งไว้นานจะฝังรากลึกจนแก้ไขไม่ได้ จึงน่าจะมาพิจารณากันว่าปัญหานี้ควรแก้ไขกันอย่างไร
ผู้นำทางการเมือง
วิเคราะห์ผู้นำทางการเมืองของประเทศไทย
ทฤษฎีและแนวความคิดทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางแก้ไข