สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์
ระบบการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
การมีพลังภายนอกสภา
การเมืองไทยหลังปี พ.ศ. 2475 มักนิยมมองกันว่า เป็นเรื่องทำนองการทดลองระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และเพราะเหตุที่นำเอาระบอบนี้มาใช้ในสภาวะสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากตะวันตกอันถือเป็นแม่บท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยซึ่งมวลชนส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษาเกินกว่าที่จะให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อปัญหาบ้านเมือง จึงเป็นผลเท่ากับพยายามสร้างระบอบขึ้นโดยปราศจากพลังมติมหาชนเป็นฐานรองรับ ผลที่ได้ก็คือ ความล้มเหลวของระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และความเป็นใหญ่ของฝ่ายทหารผู้กุมกำลังอำนาจในสังคม การเมืองระบอบรัฐธรรมนูญจึงจำกัดตัวอยู่ภายในเวทีการต่อสู้ของบรรดากลุ่มชนชั้นนำโดยเฉพาะเป็นสำคัญ หรือ ถ้าจะกล่าวว่า พัฒนาการทางรัฐธรรมนูญของไทยยังตกอยู่ในช่วงการเมืองอภิสิทธิ์ชน ซึ่งแตกต่างจากการเมืองมวลชนก็คงจะไม่ผิดนัก สมดังข้อสังเกตของโจเซีย คร๊อสบี้ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพที่ว่า ประชาธิปไตยที่ขาดพลังมติมหาชนย่อมโน้มเอียงที่จะตกเป็นเหยื่อของพลังทางทหาร
การเมืองยังคงเป็นเรื่องของการขับเคี่ยวต่อสู้กันเฉพาะภายในแวดวงของกลุ่มสถานภาพผู้นำทางราชการ ประชาธิปไตยของไทยเป็นประชาธิปไตยที่ยังขาดฐานสนับสนุนที่กว้างขวางจากมวลชน พลังที่อาจจะยังรวมกันไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อนนัก อาจเพราะยังติดอยู่กับค่านิยมเก่าหรืออาจติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์
ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา (2544-2549) จะเห็นว่า ระบบบริหารมีอำนาจมากเกินไป
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลุ่มพลังภายนอก เช่น กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
เพื่อมาตรวจสอบอำนาจของระบบการบริหาร
และเป็นการฝึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนไปในตัวด้วย
หากการเมืองของพลเมืองเข้มแข็งจะทำให้การเมืองของนักการเมืองดีขึ้น
เป็นการสร้างระบบลดคอร์รัปชัน
เพิ่มอำนาจการต่อรองของภาคประชาชนและลดอำนาจการต่อรองของข้าราชการลง
การให้มีองค์กรภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งและเป็นอิสระที่มีการถ่วงดุล
เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรม การปฏิรูปคุณธรรมจริยธรรมทางจิตใจ
การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่
การมีส่วนร่วม (participation) นี้ ไม่ใช่การเป็นฝูงชน (demonstrator) อยู่กลางถนน
เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้นำทางการเมืองอาจจะเห็นเป็นการเมืองข้างถนน (street
politics) ไปได้ ประชาชนต้องร่วมคิดร่วมวางแผน ลงมือทำ และประเมินร่วมกัน
ซึ่งการดำเนินการเมืองภาคประชาชนที่จะเป็นพลังภายนอกสภาที่มีประสิทธิภาพนี้
ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ระบุว่าจะต้องมีสามปัจจัยที่สำคัญ คือ
ปัจจัยแรก จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ดีพอ ปัจจัยที่สอง คือ
ต้องมีองค์กรภาคประชาชนที่สามารถเข้าไปมีบทบาทด้านนโยบายอย่างได้ผล และปัจจัยที่สาม
ต้องสามารถส่งผ่านอุดมการณ์ที่เป็นอิสระของตนเองขึ้นแข่งขันกับอุดมการณ์ของรัฐได้ด้วย
ฉะนั้นสังคมจึงต้องจัดการศึกษาของตนเอง
หรือมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกับรัฐในการจัดการศึกษา
ทั้งสามปัจจัยดังกล่าวนี้ จะเป็นพลังของสังคมได้ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถจัดตั้งองค์กร และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงองค์กรเหล่านี้ให้กว้างขวางสามารถรับภาระที่เทียบเคียงได้กับกลไกของรัฐดังเช่น ข้อเสนอให้สร้าง ป.ป.ป. ภาคประชาชนขึ้น เป็นต้น องค์กรชาวบ้านเคยมีในเมืองไทยมาตั้งแต่โบราณ แต่มักมีภาระหน้าที่เฉพาะในท้องถิ่น การเชื่อมโยงองค์กรชาวบ้านเป็นเครือข่ายก็ตาม การสร้างองค์กรชาวบ้านที่มีภารกิจกว้างขวางทั้งสังคมก็ตามล้วนเป็นของใหม่ ไม่เคยมีในสังคมไทยมาก่อนทั้งสิ้น จะปรับเปลี่ยนการจัดองค์กรในวัฒนธรรมไทยอย่างไรจึงจะเกิดองค์กรแบบใหม่ดังกล่าว เพื่อรับภาระหน้าที่ในสังคมสมัยใหม่ เพราะหากปราศจากองค์กรชาวบ้านในลักษณะนี้ สังคมก็ต้องปล่อยให้องค์กรของราชการซึ่งอยู่ภายใต้นักการเมืองทำงานด้านนโยบายไปอย่างอิสระ ซึ่งก็คือปล่อยให้ เผด็จการทางรัฐสภา ดำรงอยู่สืบไปไม่สิ้นสุด ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ มองว่า นี่เป็นการท้าทายทางวัฒนธรรมที่สำคัญของคนไทยเวลานี้
อาจจะมีคำถามที่น่าสนใจว่า ประชาธิปไตยมีมานานแล้ว แต่เหตุใดในยุคนี้จึงต้องมาพูดเรื่อง การเมืองภาคประชาชนกันมากนัก เหตุที่ต้องมีก็เพื่อป้องกันเผด็จการแบบชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง ความพยายามของรัฐบาลในการทำลายระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทำลายระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตัวเอง ชาวบ้านจะมีรายได้น้อยลง ความยากจนจะเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลทุกชุดตกเป็นบริวารของทุนนิยมมาโดยตลอด และยิ่งในสมัยของนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ยิ่งไปเชื่อมโยงกับทุนข้ามชาติเต็มตัว ระบบการผลิตแบบนี้ ประชาชนคนระดับล่างไม่มีโอกาส เพราะต้องใช้ทุนมหาศาลมาก ในระบบนี้ คนที่มีเงินมากกว่าก็ย่อมสามารถใช้โอกาสทางการเมืองได้มากกว่า
ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมืองตกอยู่ในมือของคณะราษฎร ต่อมา ย้ายมาอยู่กับกองทัพ (ทหาร) ในปัจจุบันมาอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี จึงคอยย้ำอยู่เสมอว่า การเมืองไม่ได้มีแต่การเมืองของนักการเมืองเท่านั้น แต่มีการเมืองของพลเมืองด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับรับฟังความคิดเห็น
ได้สนับสนุนการเมืองของพลเมืองอย่างเต็มที่ โดยบัญญัติไว้ในหมวด 3
สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 26 มาตรา 68
เพราะหากการเมืองของพลเมืองเข้มแข็ง จะทำให้การเมืองของนักการเมืองมีคุณภาพขึ้น
ภาคประชาชนร่วมกับสื่อมวลชน และนักวิชาการควรจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวในการกำหนดนโยบาย
และในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ศาสตราจารย์ประเวศ แนะให้มีการจัดเวทีนโยบายสาธารณะเป็นรูปธรรมที่ประชาชน สื่อมวลชน
และนักวิชาการจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนานโยบายและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
หากมีเวทีนโยบายสาธารณะในเรื่องต่างๆ และระดับต่างๆ ให้เต็มแผ่นดิน
และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายก็จะเป็นกระบวนการสังคมเข็มแข็ง
จะพบทางออกอย่างน่าอัศจรรย์ภายใต้กรอบประชาธิปไตย
ทุกฝ่ายจึงควรสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน สื่อมวลชน และแสวงหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเมือง เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ปัจจุบัน และสร้างสรรค์การเมืองที่ดีต่อไปในอนาคต เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ ที่ว่า ปิดยุคธนกิจการเมือง เปิดยุคการเมืองของพลเมือง