สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์
ระบบการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
การมีศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตย
ศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ ศรัทธาจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นว่า แม้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ระบบประชาธิปไตยก็จะเป็นระบบการเมืองที่ต้องจรรโลงไว้ ทั้งนี้เนื่องจาก เป็นระบบที่ทำงานได้ผล และก่อความเสียหายน้อยที่สุด เพราะเป็นระบบที่มีการประชุมต่อรองหาข้อยุติ และเคารพในหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพ ด้วยเหตุนี้ จิตสำนึก และศรัทธาในระบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของระบบ
การเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย เชื่อว่า ประชาธิปไตยสามารถแก้ปัญหาของชาติได้
แม้จะวิกฤตขนาดไหนก็ตามที การจะให้ประชาชนมีศรัทธาต่อประชาธิปไตย
ผู้นำและนักการเมืองก็ต้องมีความชอบธรรมในการปกครอง
มีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างความถูกต้องตามกฎหมาย (Legality) กับ
ความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครอง (Legitimacy) ศาสตราจารย์ ดร. ทินพันธุ์ นาคะตะ
ได้สรุปความคิดเห็นของนักวิชาการต่างชาติเกี่ยวกับความชอบธรรมไว้ดังนี้
ความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครอง
เป็นเรื่องของความเชื่อหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจ การมีอำนาจ
และการใช้อำนาจในการปกครอง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการอ้างสิทธิในการปกครองของฝ่ายปกครอง
หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และขึ้นอยู่กับการยอมรับ
หรือการมีความเชื่อฟังในข้ออ้างอันนั้นของฝ่ายรับการปกครอง
โดยไม่จำกัดว่าจะอยู่ในการปกครองแบบใด เช่น ระบบกษัตริย์ ระบบเผด็จการ
หรือระบบประชาธิปไตย
การปกครองแต่ละแบบจะมีหลักแห่งความชอบธรรมในการปกครองของตนเองโดยเฉพาะ
Michael G. Roskin นักรัฐศาสตร์ต่างประเทศ Lycoming College, Williamsport, Pennsylvania, U.S.A. ระบุว่า ความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครอง (Legitimacy) เป็นแนวความคิดที่สำคัญมากแนวความคิดหนึ่งในวิชารัฐศาสตร์ เพราะไม่ได้หมายถึง สิทธิตามกฎหมายที่จะปกครอง (legal right to govern) แต่หมายถึง สิทธิตามจิตวิทยา (ตามความรู้สึก) ที่จะปกครอง (psychological right to govern) เป็นทัศนคติในจิตใจของประชาชนที่ว่า การปกครองของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง บางทีเราไม่ชอบรัฐบาล แต่ก็เต็มใจเชื่อฟัง ยอมเสียภาษีอย่างซื่อสัตย์และถูกต้อง เพราะเรารู้สึกว่ารัฐบาลมีสิทธิตามชอบธรรม (legitimate right) ที่จะเก็บภาษีเรา
ความยุ่งยากจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลใดก็ตาม ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครองได้หมดสิ้นไป เมื่อนั้น ประชาชนจะแข็งขืนต่อการเสียภาษี และการเคารพต่อกฎหมาย การไม่เคารพต่อกฎหมายจะถูกมองว่า ไม่ใช่สิ่งที่สกปรก หรือแสดงความไม่ซื่อสัตย์ เพราะตัวรัฐบาลเองก็ให้ภาพกับประชาชนในความรู้สึกเช่นเดียวกันนั้น มีปรากฏเป็นตัวอย่างอยู่มากมาย เช่น อดีตกษัตริย์ชาห์ของอิหร่าน อดีตประธานาธิบดีมาร์คอสของฟิลิปปินส์ อดีตประธานาธิบดีเชาเชสคูของโรมาเนีย หรือกำแพงเบอร์ลินที่พังทลายลงในปี พ.ศ. 2532 เมื่อรัฐบาลเยอรมันตะวันออกหมดความชอบธรรมในการปกครอง ประชาชนไม่เคารพ และเชื่อฟังผู้มีอำนาจในการปกครองอีกต่อไป และเมื่อความชอบธรรมในการปกครองหมดลงแล้ว ความพยายามที่จะใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนที่ไร้ระเบียบยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น
วิธีการในการตัดสินว่า รัฐบาลใดมีความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครองหรือไม่นั้น Roskin ให้สังเกตจากการใช้กำลังตำรวจในการควบคุมสถานการณ์ ถ้าประเทศอย่างสวีเดน หรือนอร์เวย์ที่ขึ้นรถไปไหนก็แทบจะไม่เห็นตำรวจเลยเช่นนี้ แสดงว่าบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น มีความชอบธรรมในการปกครองสูง แต่ถ้ามีตำรวจออกมาเตรียมปราบจลาจลเต็มถนนอยู่ทุกหย่อมหญ้า เช่น สเปนในยุคนายพลฟรังโก หรือ โรมาเนียในช่วงภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการอย่างเชาเชสคู ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครองอยู่ในระดับต่ำ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลจะได้ความชอบธรรมมาจากประชาชนด้วยวิธีใดบ้าง
วิธีแรก คือ การมีสถาบันการเมืองที่มั่นคง ผู้นำที่อยู่ครบตามระยะเวลา เช่น สหรัฐอเมริกามีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ และใช้มาเป็นเวลา 231 ปี ในขณะที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 17 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 77 ปี ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง และเกือบทุกคนอยู่จนครบวาระ ในลักษณะของสหรัฐฯ นี้จะเห็นว่า ความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครองอยู่ในระดับที่สูง การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ จะทำให้ความชอบธรรมคลอนแคลน เพราะประชาชนส่วนใหญ่เกิดความไม่มั่นใจและไม่เคารพรัฐบาลเท่าที่ควร
วิธีที่สอง รัฐบาลจะได้ความชอบธรรมต่อเมื่อปกครองเป็นอย่างดี ดัชนีชี้วัด คือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) การที่ประชาชนมีงานทำในอัตราที่สูง (high employment) ไม่มีการรุกรานจากภายนอก (protection from foreign invasion) ไม่มีความยุ่งยากภายใน (no domestic disturbance) และให้ความยุติธรรม (equal justice) กับประชาชนทุกหมู่เหล่า
วิธีที่สาม โครงสร้างของรัฐธรรมนูญจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครอง ถ้าประชาชนรู้สึกว่า เขาได้มีส่วนร่วมในการปกครอง และมีสิทธิมีเสียงในการร่วมบริหารประเทศ เขาจะเชื่อฟังผู้ปกครอง จึงเป็นที่มาของสภานิติบัญญัติที่จะต้องได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ถึงแม้สภาฯ จะปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดีมาก ประชาชนก็ยังรู้สึกพอใจในตัวแทนของพวกเขา แต่สภาฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง หรือมาจากการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสก็จะไม่มีความชอบธรรมในสายตาของประชาชน
รัฐบาลในทุกประเทศจะพยายามอ้างความชอบธรรมโดยใช้สัญลักษณ์ของชาติ (national symbol) มาประกอบเพื่อให้ดูหนักแน่นมั่นคงขึ้น อาทิเช่น ธงชาติ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ การเดินพาเหรดในวันสำคัญของประเทศ สุนทรพจน์ของผู้นำ ฯลฯ โดยมีเป้าหมายที่จะพยายามโน้มน้าวประชาชนว่า รัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม และประชาชนจะต้องเชื่อฟัง ถ้าความชอบธรรมในการใช้อำนาจหน้าที่ สำหรับการกระทำดังกล่าวขาดไป บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายจะต้องอาศัยสิ่งอื่นๆ มากขึ้น เช่น เงิน กำลังตำรวจ การให้อภิสิทธิ์ การใช้อาวุธ และการให้ฐานะตำแหน่ง
สัญลักษณ์ของชาตินั้น ไม่ใช่อยู่ที่นักการเมืองอย่างที่ผู้นำบางประเทศพยายามทำ เช่น อดีตประธานาธิบดีมาร์คอสของฟิลิปปินส์พยายามทำทุกทางที่จะให้ตนเองเป็นสัญลักษณ์ (symbol) ของประเทศฟิลิปปินส์ แต่นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังต้องถูกไล่ออกไปนอกประเทศอีกด้วย ข้ออ้างสำหรับการมีความชอบธรรมในการปกครองในประเทศไทยมักจะอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่น่าเชื่อถือเป็นพิเศษ รวมทั้งชอบอ้างความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งที่พระองค์ท่านสะอาดบริสุทธิ์ ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
เมื่อดูสถานการณ์ในประเทศไทย จะเห็นได้ชัดว่า ความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครอง แตกต่างกับการปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 เกิดขึ้นเพราะประชาชนไม่รับพลเอกสุจินดา คราประยูร แต่รับคุณอานันท์ ปันยารชุน ทั้งที่ทั้งสองคนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ แต่พลเอกสุจินดา ประชาชนมีความรู้สึกว่า พื้นฐานมาจากทหารที่ปราบปรามประชาชนบริเวณถนนราชดำเนิน ประชาชนมองว่าเป็น มือที่เปื้อนเลือด แต่คุณอานันท์ ประชาชนมองว่าเป็นผู้มีประวัติสะอาด และเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจึงอยากให้มากอบกู้สถานการณ์ในช่วงวิกฤต พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อถูกทหารปฏิวัติ เพราะกิตติศัพท์การคอร์รัปชันของทีมงาน (buffer cabinet) ประชาชนก็ดีใจที่ทหารเข้ามา
อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 2
ครั้ง คือ การเลือกตั้งครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544
และการเลือกตั้งครั้งที่ 23 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมา พ.ต.ท. ทักษิณฯ
ได้ยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 ต่อมา
ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ
เพราะมีพรรคการเมืองหลักเพียงพรรคเดียวที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง คือ พรรคไทยรักไทย
โดยมีคะแนน No Vote ประมาณ 10 ล้านเสียง การเลือกตั้ง คือ
กระบวนการที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบประชาธิปไตยจะขาดเสียมิได้
และต้องไม่ใช่เลือกตั้งในระบบพรรคเดียว
หากแต่ต้องมีหลายพรรคเพื่อประชาชนจะได้มีโอกาสเลือก
ความชอบธรรมในการปกครองแบบประชาธิปไตยยังขึ้นอยู่กับหลักอีกสองประการ คือ
การปกครองโดยเสียงข้างมาก กับการพิทักษ์สิทธิของเสียงข้างน้อย
คือต้องมีทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน
ผู้เขียนขออัญเชิญบางส่วนของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มาลงไว้เพื่อเป็นสิริมงคลกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะ ที่บอกว่ามีการยุบสภาและต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน
ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกก็จะต้องแก้ไข
แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะ หรือเป็นอะไร ซึ่งท่านจะมี
จะมีสิทธิที่จะบอกว่า อะไรที่ควร ที่ไม่ควร ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่ดี
แต่ว่าเท่าที่ฟังดู มันเป็นไปไม่ได้ คือ การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย
เลือกตั้งพรรคเดียวคนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป ทั่ว
แต่ในแห่งหนึ่งมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่
ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย...
การที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ป 73,213 ล้านบาท
อันเป็นธุรกิจของตระกูล ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกว่า พ.ต.ท. ทักษิณฯ
เป็นนักธุรกิจทุนนิยมที่เน้นผลประโยชน์สูงสุดอย่างเดียว
การขายธุรกิจสื่อสารให้ต่างชาติทำให้คนไทยรู้สึกไม่มั่นคง เพราะธุรกิจที่ขาย
เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ แต่กลับไปให้ต่างชาติถือครอง
นอกจากนั้น ยังขายโดยไม่ต้องเสียภาษีรายได้ให้กับกรมสรรพากรอีกด้วย
การเมืองจึงเข้าสู่มิติใหม่ของการคิดว่าการทำถูกต้องตามกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ
ต้องถูกจริยธรรมด้วย ประกอบกับมีข่าวการทุจริตคอร์รัปชันในคณะรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพของความไม่ถูกต้องจึงเห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ
พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องเว้นวรรคชั่วคราว และในที่สุดต้องออกไปอยู่นอกประเทศ ในขณะที่ทหารปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ประชาชนกลับชื่นชมเอาอาหาร น้ำดื่ม ดอกไม้ ไปให้ทหาร เพราะในสายตาของประชาชนกลุ่มใหญ่ อาจจะไม่ใช่ทั้งประเทศ มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯ หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครองไว้ดังนี้
ไม่ว่าจะได้อำนาจปกครองมาด้วยทางใดทางหนึ่ง ผู้ปกครองประเทศจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Moral Authority จึงจะปกครองประเทศต่อไปได้ (คือ) วุฒิในทางศิลธรรม หมายถึง ผู้ปกครองประเทศมีศิลธรรมในตนเอง และใช้อำนาจปกครองด้านศิลธรรม พร้อมกันนั้น ก็คอยดูแลให้ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง มีศิลธรรมในความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อกันและกันด้วย
รัฐบาลใดที่ขาดวุฒิในทางศิลธรรมเสียแล้ว
รัฐบาลนั้นก็ไม่สามารถจะเป็นรัฐบาลต่อไปได้
ถึงแม้ว่าจะยังรักษาอำนาจการปกครองของตนไว้ได้ด้วยกำลังคนและกำลังอาวุธ
ผู้ปกครองประเทศชนิดนี้ ก็จะเป็นคนละฝ่ายกับประชาชน
มีผลประโยชน์ซึ่งแตกต่างกันไปจากผลประโยชน์ของประชาชน
และคนที่มีผลประโยชน์แตกต่างไปจากผลประโยชน์ของประชาชนนั้นไม่ใช่ผู้ที่มีลักษณะเป็นรัฐบาลอย่างแน่นอน
เรามาฟังทัศนะเรื่องความชอบธรรมในสายตาของนักวิชาการรัฐศาสตร์ไทย อย่างศาสตราจารย์
ดร. สุจิต บุญบงการ กันดูบ้าง
ความชอบธรรม คงมิใช่เพียงความถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่หมายถึงการถูกต้องในแง่ของความคิดความอ่านของประชาชนควบคู่ไปด้วย ถ้าสองสิ่งนี้ไปด้วยกันก็ไม่มีปัญหา แต่ส่วนใหญ่อาจจะมีความชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ถูกต้องกับความรู้สึกของประชาชนก็ได้ ความถูกต้องตามกฎหมายต้องสอดคล้องกับความคิดความอ่านของประชาชนด้วย ดังนั้น ความชอบธรรมกับวัฒนธรรมทางการเมืองจึงต้องสอดคล้องกัน
ความชอบธรรมนั้น มักจะผูกโยงกับประสิทธิภาพทางการเมือง กับจริยธรรมและความซื่อสัตย์ หลายครั้งเราพบความจริงว่า บางรัฐบาลอาจจะมีประสิทธิภาพแต่มองข้ามจริยธรรม ในขณะที่บางรัฐบาลมีจริยธรรมสูง แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ความชอบธรรมนั้นไปด้วยกันได้
ความชอบธรรม
ในอดีตเรามีรัฐบาลทุกชุดที่อ้างว่าชอบด้วยกฎหมายเพราะมีรัฐธรรมนูญรองรับ
ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่
แต่รัฐบาลเหล่านั้นก็มีปัญหาทั้งสิ้น เพราะรัฐบาลนั้น อาจจะไม่ได้บริหารโดยประชาชน
ดังนั้น ความชอบธรรมก็น้อยลง เมื่อเรามีรัฐบาลประชาธิปไตย
แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลนั้นจะชอบธรรมโดยทันที
แต่ใช่ว่าปัญหานี้จะทำให้เรายุบเลิกระบบทุนนิยม ยกเลิกระบอบประชาธิปไตย
เราต้องแก้ปัญหาในครรลองของประชาธิปไตย ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี
และกรอบของรัฐธรรมนูญใหม่
ถ้าประชาชนมีศรัทธาในผู้นำประเทศ มีศรัทธาในประชาธิปไตย ก็จะมีความหวัง
อยากทำทุกอย่างให้ดีขึ้น
ประชาชนจะร่วมมือกันระมัดระวังมิให้กลุ่มทุนเข้ามาแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง
ทั้งนี้
เพื่อให้สามารถดำเนินการไปยังเป้าหมายที่มุ่งประสงค์ในอันที่จะขจัดความไม่ถูกต้องต่างๆ
ให้หมดไป
กล่าวโดยสรุป ถ้าไม่ต้องการให้มีการล้มกระดาน ไม่ต้องการให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญกันบ่อยๆ แล้ว นักการเมืองก็ต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์ และยืนอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องทั้งทางกฎหมาย และจริยธรรม เมื่อคิดดี พูดดี ทำดีแล้ว ความชอบธรรมแห่งอำนาจปกครอง ก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ และจะแก้ไขปัญหาในทางการเมืองโดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่
- การศึกษาอบรม
- การศึกษาอบรมทางจริยธรรม
- การมีศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตย
- การมีบุคลิกภาพประชาธิปไตย
- การมีพลังภายนอกสภา