สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เอกสารประกอบการสอนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
บรรณานุกรม
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
วิวัฒนาการทางสังคมของโลก
สังคมมนุษย์ในยุคแรกๆ ต้องพึ่งพิงธรรมชาติและดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดใช้ชีวิตเร่ร่อนหาอาหารไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งต่อมารู้จักการผลิตอาหารและตั้งหลักแหล่งอยู่ประจำที่ วิถีชีวิตความเป็นอยู่และกิจกรรมของมนุษย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทุก ๆ ด้าน เมื่อมนุษย์ตั้งหลักแหล่งอยู่ประจำที่ มนุษย์ก็พยายามคิดหาวิธีที่จะทำให้ตนเองอยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย ชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นหมู่บ้าน เมือง รัฐ ตามที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ ความพยายามของมนุษย์ในการที่จะเอาชนะธรรมชาติทำให้มนุษย์สร้างสรรความเจริญด้านต่างๆก้าวหน้ามาเรื่อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
1. สภาพสังคมมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
นับเป็นเวลาหลายแสนปีแล้วที่มนุษย์ได้จับกลุ่มกระทำการเพื่อประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง สังคมมนุษย์ในยุคแรก ๆ ยังเป็นสังคมของชนกลุ่มเล็กๆที่เร่ร่อนไปตามแหล่งอาหาร การคบหาสมาคมระหว่างกลุ่มยังจำกัด (ปริญญา เวสารัชธ์. 2535:18) นักสังคมวิทยาเรียกสังคมมนุษย์ยุคนี้ว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Pre-historic World) เริ่มตั้งแต่การปรากฏตัวเป็นครั้งแรกของมนุษย์ จนถึงยุคก่อนที่จะมีการใช้ตัวอักษร สังคมในยุคนี้ถูกเรียกว่า สังคมดั้งเดิม (Primitive Society) ผู้คนในสมัยนี้จะมีประวัติความเป็นมาร่วมกันเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติวงศ์เดียวกัน มีภาษาพูดและวัฒนธรรมรูปแบบเดียวกัน มนุษย์ในสมัยนี้มีชีวิตแบบคนเถื่อนพึ่งพาธรรมชาติ นักโบราณคดีแบ่งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคหินและยุคโลหะ โดยยุคหินแบ่งได้เป็น ยุคหินเก่า (Old Stone Age) ยุคหินใหม่ (New Stone Age) และยุคโลหะแบ่งออกเป็น ยุคทองแดง (Copper Age) ยุคสำริด (Bronze Age) และยุคเหล็ก (Iron Age)
1.1 สังคมมนุษย์ยุคหินเก่า
ยุคหินเก่าแบ่งเป็นยุคย่อยๆได้ 3 ระยะ ได้แก่ยุคหินเก่าตอนต้น ยุคหินเก่าตอนกลางและยุคหินเก่าตอนปลาย คนในยุคหินเก่าดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเสาะแสวงหาพืชผักผลไม้กินเป็นอาหาร มีการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมอย่างเต็มที่ กล่าวคือ เมื่อฝูงสัตว์ที่ล่าเป็นอาหารหมดลง ก็ต้องอพยพย้ายถิ่นติดตามฝูงสัตว์ไปเรื่อยๆ การที่มนุษย์จำเป็นต้องแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่เพราะต้องล่าสัตว์ดังกล่าว อาจทำให้คนต้องปรับพฤติกรรมการบริโภคไปในตัวด้วย เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่ของคนในยุคหินเก่าต้องอยู่กับการแสวงหาอาหาร และการป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายและภัยธรรมชาติ รวมถึงการต่อสู้ในหมู่พวกเดียวกันเพื่อการอยู่รอด จึงทำให้ต้องพัฒนาเกี่ยวกับเครื่องมือล่าสัตว์ โดยการพัฒนาอาวุธที่ทำด้วยหินสำหรับตัด ขูดหรือสับ เช่น หอก มีด และเข็ม เป็นต้น
ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมพบว่า คนในยุคหินเก่าเริ่มอยู่กันเป็นครอบครัวแล้ว แต่ยังไม่มีการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนอย่างแท้จริง เพราะวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน ไม่เอื้ออำนวยให้มีการตั้งหลักแหล่งถาวร ขณะเดียวกันองค์กรทางการเมืองการปกครองก็ยังไม่เกิดขึ้น สังคมจึงมีสภาพเป็นอนาธิปัตย์คือไม่มีผู้เป็นใหญ่แน่นอน ผู้ที่มีอำนาจมักเป็นผู้ที่มีความแข็งแรงเหนือผู้อื่น
นอกจากนี้ยังพบว่า คนในยุคนี้เริ่มรู้จักแสดงความรู้สึกออกมาในรูปของศิลปะบ้างแล้ว ศิลปะที่สำคัญได้แก่รูปเขียนกระทิงเรียงกันเป็นขบวน ขุดค้นพบภายในถ้ำอัลตะมิระ(Altamira) ทางตอนใต้ของสเปน และภาพสัตว์ส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์ที่คนสมัยนั้นล่าเป็นอาหารมีวัวกระทิง ม้าป่า กวางแดงและกวางเรนเดียร์ เป็นต้น พบที่ถ้ำลาสโก (Lascaux) ในประเทศฝรั่งเศส ส่วนในประเทศไทย พบที่ถ้ำตาด้วง จังหวัดกาญจนบุรี ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี และถ้ำผีหัวโต จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
สังคมของมนุษย์ยุคหินเก่าตอนกลางและยุคหินเก่าตอนปลายมีระยะเวลาที่สั้น ปรากฏอารยธรรมเกิดขึ้นในทวีปยุโรป แอฟริกาและเอเชีย สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุคหินเก่าตอนกลาง ส่วนมากคล้ายกับยุคหินเก่าตอนต้น แต่ก็พบว่าคนยุคหินเก่าตอนกลางบางแห่งมีพัฒนาการมากขึ้น
มีการพบหลักฐานแสดงว่า คนยุคหินเก่าในช่วงปลายมีความสามารถในการจับสัตว์น้ำได้ดีและมีการคมนาคมทางน้ำเกิดขึ้นแล้ว เทคโนโลยีของยุคหินเก่าตอนปลายจะมีขนาดเล็กกว่ายุคหินเก่าตอนต้นและประโยชน์ใช้สอยดีขึ้นกว่าเดิม คนยุคหินเก่าตอนกลางจะมีวัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บนภูเขา ตามถ้ำ หรือเพิงผา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บนพื้นราบ ริมน้ำ หรือชายทะเล
1.2 สังคมมนุษย์ยุคหินใหม่
คนในยุคหินใหม่ได้เริ่มปฏิวัติการครองชีพด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการล่าสัตว์และหาของป่ามาเลี้ยงสัตว์มาทำการเพาะปลูกแทน ถือเป็นการปฏิวัติทางสังคมและเศรษฐกิจครั้งสำคัญของมนุษยชาติ การเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นเกษตรกรดังกล่าว นอกจากจะทำให้คนต้องหันมาเลี้ยงสัตว์และฝึกหัดสัตว์ให้เชื่องแล้ว คนยังต้องเรียนรู้การไถหว่านและเก็บเกี่ยวพืช เช่น ลูกเดือย ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นต้น อีกด้วย
สภาพสังคมขณะนั้นพบว่า ผู้คนต้องหักร้างถางพงสำหรับการเพาะปลูกมีการทำคอกสำหรับขังสัตว์และสร้างที่พักอาศัยอย่างถาวรแทนการเร่ร่อนอาศัยอยู่ในถ้ำเช่นคนยุคหินเก่า เมื่อหลายครอบครัวอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน จึงถือว่าหมู่บ้านเกษตรกรเหล่านี้คือหมู่บ้านแห่งแรกของโลก
เทคโนโลยีของคนในยุคหินใหม่ทำขึ้นจากวัสดุหลายชนิด เช่น หิน กระดูก และเขาสัตว์ที่แตกต่างจากคนในยุคหินเก่า คือ เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านั้นมีประโยชน์ใช้สอยและประณีตมากขึ้น เครื่องมือที่สำคัญคือ ขวานหินด้ามเป็นไม้ และเคียวหินเหล็กไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างงานหัตถกรรมในครัวเรือนอีกหลายอย่างได้แก่ เครื่องปั่นด้าย เครื่องทอผ้า เครื่องจักสาน และเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งมักทำขึ้นอย่างหยาบ ๆ ไม่มีการตกแต่งลวดลายมากนัก
ในด้านศิลปะพบว่า คนในยุคหินใหม่มีการปั้นรูปสตรี และทารกลักษณะคล้ายรูปแม่พระธรณี อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ชุมชนยุคหินใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดพบในตะวันออกกลาง บริเวณที่เป็นประเทศ ตุรกี ซีเรีย อิสราเอล อิรัก ภาคตะวันออกของอิหร่าน และเลยไปถึงอียิปต์ในทวีปแอฟริกาในปัจจุบัน จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่า คนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ได้ค้นพบวิธีการเกษตรกรรมมาประมาณ 7,000 ปีมาแล้ว และดูเหมือนว่ารากฐานความรู้ทางเกษตรกรรมของชาวยุโรปก็รับไปจากบริเวณนี้
1.3 สังคมมนุษย์ยุคโลหะ
คนยุคโลหะเริ่มรู้จักใช้ทองแดงและสัมฤทธิ์ มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ ในส่วนของกิจกรรมการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วิถีชีวิตของคนในยุคโลหะได้เปลี่ยนจากสภาพความเป็นอยู่แบบชุมชนเกษตรมาเป็นชุมชนเมือง ซึ่งเมืองดังกล่าว ต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเกษตรกร การปกครองและสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนยุคนี้จะอยู่กันแบบเครือญาติ (Kinship relations) มีความรักใคร่กลมเกลียว และผูกพันอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นสังคมขนาดเล็ก การจัดระเบียบทางสังคมจะเป็นไปในแบบของตระกูล (Clan) และหมู่บ้าน (Village) มากกว่าที่จะเป็นไปในสังคมแบบปัจจุบัน
ในด้านความเชื่อพบว่า คนในสังคมเกษตรกรรมจะมีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจที่ไม่มีตัวตนอย่างเข้มข้น ทั้งนี้เพราะ มีประสบการณ์ว่าอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวอยู่เหนืออำนาจมนุษย์ ดังนั้น คนในสมัยนั้น จึงได้คิดลัทธิวิญญาณ (Animism) ขึ้นมา (Kimball Young และ Raymand. W. Mack, 1972. 376) เพื่อคุ้มครองป้องกันตนเองและกลุ่ม ขณะเดียวกัน ผู้คนก็พยายามนำตนเองเข้าไปใกล้ชิดกับอำนาจลึกลับนั้น ผ่านกระบวนการของพิธีกรรม และการบวงสรวงบูชา จนเกิดเป็นระบบศาสนาและขนบธรรมเนียมในเวลาต่อมา (สุเทพ สุนทรเภสัช, 2512. 261)
2. สภาพสังคมมนุษย์สมัยประวัติศาสตร์
สังคมมนุษย์สมัยประวัติศาสตร์ เริ่มขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักการใช้ตัวอักษรในการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เราสามารถศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ได้กระจ่างชัดมากขึ้น สภาพสังคมในสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหมู่บ้านแบบเกษตรกรรมได้ขยายใหญ่ขึ้นกลายสภาพมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมิได้มีเพียงผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น แต่มีผู้ประกอบอาชีพอื่นๆมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในยุคนี้ขึ้นอยู่กับอาชีพ และตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม ได้แก่ พวกช่างฝีมือ ช่างปั้นหม้อ ช่างก่อสร้าง ช่างทอผ้า เป็นต้น ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายปกครองได้แก่ พระ และนักรบ ซึ่งถือเป็นกลุ่มชนชั้นสูง รองลงมาคือ ช่างฝีมือ พ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ ชนชั้นต่ำสุดคือ พวกทาสหรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จะเห็นได้ว่าสังคมมนุษย์สมัยประวัติศาสตร์จะมีความเป็นชุมชนเมืองสูง ผู้คนประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ แต่ละกลุ่มจะประกอบอาชีพหรือมีหน้าที่ต่างกัน รวมอยู่ในชุมชนเดียวกัน ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าสังคมเดิม การครองชีพมีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้คนมีเวลาว่างมากขึ้น เอื้ออำนวยต่อการสร้างสมความเจริญต่าง ๆ จนกลายเป็นอารยธรรมของโลก ซึ่งพอจะแยกได้ดังนี้
2.1 สังคมมนุษย์สมัยโบราณ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมโบราณจะ
อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสายสำคัญในทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกาและรอบๆทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เช่น ลุ่มแม่น้ำไนล์ ลุ่มแม่น้ำไทรกรีส-ยูเฟรตีส ลุ่มแม่น้ำสินธุ ลุ่มแม่น้ำฮวงโห
เป็นต้น ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นอารยธรรมโบราณตะวันตก และอารยธรรมโบราณตะวันออก
ดังจะกล่าวถึงอาณาจักรสำคัญ ๆ ดังนี้
- 2.1.1 เมโสโปเตเมีย เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia)
หมายถึง ดินแดนที่อยู่ระหว่างแม่น้ำไทกรีส (Tigris) และยูเฟรติส (Euphrates) ปัจจุบันคือเขตประเทศอิรัก ณ ที่นี้สังคมแบบเมืองในยุคหินใหม่ได้เจริญขึ้นเป็นครั้งแรก จึงนับว่าเป็นแหล่งความเจริญที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นครรัฐซูเมอร์ (Sumer) คือแหล่งกำเนิดอารยธรรมแห่งแรกในเมโสโปเตเมีย ผู้ให้กำเนิดอารยธรรมแห่งนี้คือ ชาวสุเมเรียน (Sumerians) เชื่อว่ามาจากที่ราบสูงอิหร่านและเข้ามาอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำไทกรีสเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล
เมื่อแรกเริ่มที่ชาวสุเมเรียนอพยพเข้ามาในเมโสโปเตเมียได้รวมกันอยู่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ต่อมาจึงได้รวมกันในลักษณะนครรัฐ แต่ละนครรัฐเป็นอิสระแก่กัน รัฐสำคัญ ได้แก่ อิริดู อิรุค นิปเปอร์ นครรัฐเหล่านี้บางครั้งก็จะรบราฆ่าฟันกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ ชาวสุเมเรียนนับถือพระเจ้าหลายองค์ แต่ละนครรัฐจะมีพระเป็นเจ้าประทับอยู่ในวัดใหญ่ที่เรียกว่า ซิกกูแรต (Ziggurat) ซึ่งชาวสุเมเรียนสร้างขึ้นเป็นศูนย์กลางของนครรัฐ ในระยะแรกชาวสุเมเรียนมีพระเป็นผู้ดูแลกิจการต่างๆในนครรัฐ นับแต่การเก็บภาษี ข้าวปลาอาหาร ตลอดจนควบคุมดูแลเกี่ยวกับการชลประทานและการทำไร่ทำนา ต่อมาเมื่อเกิดการแข่งขันและรบกันระหว่างนครรัฐ อำนาจการปกครองจึงเปลี่ยนมาอยู่ที่นักรบหรือกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้เข้มแข็งสามารถสู้รบป้องกันนครรัฐ และทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการต่าง ๆ แทนพระ
ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสุเมเรียนมีความก้าวหน้ามาตามลำดับ เริ่มจากหมู่บ้านมาเป็นชีวิตในเมือง ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ หลายอย่าง เช่น ระบบการชลประทาน การปศุสัตว์ การช่างฝีมือ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม วิธีการคิดเลข ระบบชั่ง ตวง วัด เป็นต้น ความเจริญต่าง ๆ ของชาวสุเมเรียนมีพื้นฐานมาจากยุคหินซึ่งได้พัฒนาขึ้น และความเจริญของชาวสุเมเรียนได้กลายเป็นรากฐาน และมีอิทธิพลต่อความเจริญของชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งอยู่ในเมโสโปเตเมียในรุ่นต่อ ๆ มา อันได้แก่ ชาวอัคคาเดียน ชาวอะมอไรต์ ชาวอัสซีเรียน ชาวคาลเดียน ชาวฟินิเซียน และชาวเปอร์เซียน
- 2.1.2 อาณาจักรอียิปต์
อียิปต์โบราณอันเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณ หมายถึง ดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์ นับตั้งแต่ที่ตั้งเขื่อนอัสวันทางตอนใต้ขึ้นมาถึงนครไคโรปัจจุบัน ข้อแตกต่างในการสร้างอาณาจักรระหว่างชาวสุเมเรียนกับชาวอียิปต์คือ ชาวสุเมเรียนเข้ามารวมกลุ่มในรูปของนครรัฐ แต่สำหรับอียิปต์ได้รวมเข้าอยู่ภายใต้กษัตริย์องค์เดียว เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์ผู้ครองอียิปต์พระนามว่าเมนิส (Menes) ได้สถาปนาราชวงศ์ขึ้นปกครองเป็นฟาโรห์ (Pharaoh) องค์แรกของราชอาณาจักรอียิปต์ ราชอาณาจักรนี้ได้รุ่งเรืองสืบต่อเนื่องกันมาอีกเป็นเวลาเกือบ 3,000 ปี
ชาวอียิปต์คล้ายชาวสุเมเรียนในเรื่องการนับถือพระเจ้าหลายองค์ องค์สำคัญที่สุดคือ สุริยเทพมีสัญลักษณ์คือ หินที่มีรูปร่างคล้ายปิรามิด นอกจากนี้ก็มี โอซิริส (Osiris) คือเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์ และยมเทพ เชื่อว่า เป็นเทพผู้นำความอุดมสมบูรณ์ ชาวอียิปต์เชื่อว่าฟาโรห์ทุกพระองค์คือสุริยเทพ แบ่งภาคมาจุติในรูปของมนุษย์ และเมื่อตายจะเข้าไปรวมเป็นส่วนเดียวกับเทพโอซิริส
ทัศนะเกี่ยวกับพระเจ้าดังกล่าวนำไปสู่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่มหัศจรรย์และยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ปิรามิด ความคิดที่ว่าฟาโรห์คือ เทพเจ้าทำให้เกิดความเชื่อว่าฟาโรห์ คือ ผู้ที่อมตะหรือผู้ที่ไม่ตาย ดังนั้น พวกเขาจึงเก็บรักษาร่างกายไว้มิให้เน่าเปื่อยผุพัง วิญญาณของฟาโรห์จะคงอยู่ตลอดไป นี่คือเหตุผลที่ชาวอียิปต์ได้สร้างปิรามิดขึ้นอย่างใหญ่โต แข็งแรง มั่นคง ท้าทายกาลเวลามาเป็นเวลาเกือบ 5,000 ปีมาแล้ว ปิรามิดทั้งหมดถูกสร้างเรียงรายอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์จากกิเซห์ลงไปทางใต้ เป็นระยะทางประมาณ 60 ไมล์ มีปิรามิดรวมกันทั้งสิ้นราว 60 แห่ง สร้างขึ้นระหว่าง 2,700 2,400 ปีก่อนคริสตกาล
- 2.13 อาณาจักรกรีก
กรีกโบราณได้รับอิทธิพลความเจริญโดยตรง จากทั้งเมโสโปเตเมีย และอียิปต์ ด้วยอิทธิพลดังกล่าว ชาวกรีกโบราณจึงพัฒนาอารยธรรมจนกลายเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ชาวกรีกเป็นชาวอารยันซึ่งชนเผ่านี้มีถิ่นเดิมอยู่ทางเหนือ เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน คริสตกาลได้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง เดินทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเรียกว่า ชาวอินโดอารยัน อีกกลุ่มหนึ่งเดินทางมุ่งไปทางตะวันตก ผ่านตอนใต้ของรัสเซียลงสู่แหลมบอลข่าน และเข้ามาตั้งรกรากบริเวณคาบสมุทรเพโลพอนเนซัส ( Peloponnesus ) ที่ในปัจจุบันเรียกว่ากรีซ
นครรัฐอันยิ่งใหญ่ของกรีก คือ นครรัฐเอเธนส์ ซึ่งรัฐนี้เจริญถึงขีดสุดในระยะ 500 ปีก่อนคริสตกาล เอเธนส์ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนแห่งนครรัฐกรีกทั้งปวงเพราะเอเธนส์เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาความรู้ ปราชญ์ และวิชาการสาขาต่าง ๆ ซึ่งต่อมา ได้ส่งทอดมรดกทางวัฒนธรรมผ่านทางยุโรป เป็นการวางรากฐานอารยธรรมตะวันตกมาจนถึงปัจจุบัน อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของกรีกโบราณมีหลายประการ เช่น สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบคลาสสิค สถาปัตยกรรมคลาสสิคชิ้นที่งดงามที่สุดคือ วิหารพาร์เธนอน (Parthenon) ซึ่งตั้งอยู่บนเนินอโครโปลิส (Acropoles) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของนครรัฐเอเธนส์ กรีกโบราณได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งนักปราชญ์เนื่องจากได้มีนักปราชญ์กรีกหลายท่านถือที่ถือว่า เป็นผู้ให้กำเนิดศิลปวิทยาการแทบทุกแขนงมาจนถึงยุคปัจจุบัน อาทิเช่น เพลโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) เฮโรโดตุส (Herodutus) และอาร์คิมิดิส (Arcimides) เป็นต้นกรีกโบราณ ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาด
- 2.1.4 อาณาจักรโรมัน
ชาวโรมันก็เป็นชนเผ่าอินโดยูโรเปียนเช่นเดียวกับชาวกรีก ซึ่งชนเผ่าอินโดยูโรเปียนแยกออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ หลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มชาวละติน (Latin) กลุ่มชาวอีทรัสกัน (Etruscan) เป็นต้น ในบรรดากลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ชาวโรมันเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุด
ในชั้นต้น ชาวโรมันตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของพวกอีทรัสกัน ต่อมาได้ร่วมใจกันขับไล่กษัตริย์อีทรัสกันออกไปจากกรุงโรมเป็นผลสำเร็จ และได้สถาปนากรุงโรมเป็นสาธารณรัฐอิสระ (Republic) และเพื่อความปลอดภัยจากชาวละตินกลุ่มอื่น ๆ ชาวโรมันจึงคอยปราบปรามพวกกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งพวกกรีกเข้าไว้ในอำนาจได้มากที่สุด เพราะชาวโรมันเป็นชาตินักรบที่เข้มแข็ง และสามารถครอบครองดินแดนต่าง ๆ เป็นบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล คนทั่วไปจึงมักเรียกชาวโรมันว่า จักรวรรดิโรมัน
มรดกทางอารยธรรมของโรมันมีหลายด้าน เช่น ด้านศิลปะ วรรณคดี การละคร และปรัชญา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เลียนแบบกรีก แต่ในด้านการจัดกำลังกองทัพ การจัดการปกครอง กฎหมายและการก่อสร้างเพื่อสาธารณะประโยชน์ทั้งหลาย โรมมีความสามารถกว่าชนชาติอื่นใดในสมัยโบราณ ถ้าจะเทียบกันระหว่างกรีกกับโรมันแล้วจะพบว่า ชาวกรีกเป็นนักคิด บูชาเหตุผล และเป็นผู้มีจินตนาการสูง ส่วนชาวโรมันเป็นนักปฏิบัติและนักดัดแปลงที่ชาญฉลาด ชาวโรมันแม้จะไม่มีจินตนาการแต่ก็เป็นผู้สามารถในทางปฏิบัติ ดังนั้น สิ่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ ของโรมันจึงเป็นคุณค่าในแง่ประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความงามในเชิงศิลปะ และความลึกซึ้งในทางวิชาการ
- 2.1.5 อาณาจักรลุ่มแม่น้ำสินธุ
บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ตั้งแต่เขตที่ราบหุบเขาหิมาลัยไปจนจดชายฝั่งทะเลในเขตอินเดียภาคตะวันตก ทางแคว้นปัญจาบและบริเวณประเทศปากีสถานในปัจจุบันเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมอินเดีย และต่อมาได้ขยายไปครอบคลุมลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบน แม่น้ำสินธุมีความสัมพันธ์กับอารยธรรมของพวกสุเมเรียนในดินแดนเมโสโปเตเมีย อาจกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์จากนครในลุ่มแม่น้ำสินธุได้เผยแพร่ไปถึงริมฝั่งแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรติส มีการแลกเปลี่ยน สินค้าไม่ใช่เฉพาะวัตถุดิบและสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพวกอาหารด้วย
เมืองสำคัญของอารยธรรมแห่งนี้คือเมืองโมเฮนโจดาโร (Mohenjodaro) และเมืองฮารัปปา (Harappa) ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการค้าของบริเวณนี้ สันนิษฐานว่าทั้งสองเมืองนี้มีอายุประมาณ 4,000 2,500 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมของดินแดนแห่งนี้เป็นอารยธรรมชั้นสูงยิ่ง และได้สร้างความเจริญมาเป็นพันๆ ปีก่อนสมัยประวัติศาสตร์ ผู้คนที่อยู่ในดินแดนนี้รู้จักการทอผ้าฝ้าย ทำเครื่องนุ่งห่ม การสร้างเมืองที่มีแบบแผน มีถนนสายตรงหลายสาย พร้อมทั้งท่อระบายน้ำ มีที่อาบน้ำสาธารณะ ระบบชลประทานดีเยี่ยม แสดงให้เห็นว่าความคิดของประชาชนในลุ่มแม่น้ำสินธุนี้ ต้องการเน้นความสำคัญของระเบียบและ สุขลักษณะเป็นสำคัญแตกต่างจากอารยธรรม เมโสโปเตเมียที่มุ่งเน้นความสำคัญของศาสนสถาน อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถลงความเห็นได้แน่นอนว่า มนุษย์สร้างอารยธรรมในดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุนี้เป็นชนชาติใด กันแน่ ซึ่งอาจจะเป็นคนพื้นเมืองของอินเดียเอง คือ พวกดราวิเดียนบางเผ่าก็เป็นได้
ต่อมาประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำสินธุถูกรุกรานโดย พวกอารยันซึ่งมีเชื้อสายอินโดยูโรเปียนได้อพยพเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย พวกนี้ได้รับอารยธรรมของลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งมีความเจริญสูงกว่า ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกตน กลายเป็นอารยธรรมฮินดู และได้ขยายออกไปยังเขตต่าง ๆ ของอินเดีย พร้อมกับการขยายอำนาจการ ครอบครองดินแดนในเวลาเดียวกัน
- 2.1.6 อาณาจักรลุ่มแม่น้ำฮวงโห
ลุ่มแม่น้ำฮวงโห หรือลุ่มแม่น้ำเหลือง เป็นแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในประเทศจีน เรื่องราวของจีนในสมัยดึกดำบรรพ์นั้น ประกอบด้วยนิทานและนิยายต่าง ๆ มากมาย ต่อมาเราสามารถสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งอารยธรรมของลุ่มแม่น้ำ ฮวงโหได้ถึง 5,000 ปีเศษ เพราะว่ามีผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ มีการค้นพบอาวุธและเครื่องมือหินในประเทศอีกมากมาย โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นโฮนาน และขุดค้นพบซากโครงกระดูกมนุษย์ในถ้ำใกล้กับกรุงปักกิ่ง นักโบราณคดีตั้งชื่อโครงกระดูกว่า โครงกระดูกมนุษย์ปักกิ่ง ทำให้ทราบว่าบริเวณที่เป็นประเทศจีนเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์รุ่นแรกๆ ที่ยังมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน มนุษย์สมัยปัจจุบันอายุ 50,000-110,000 ปีมาแล้ว อารยธรรมสมัยนี้จัดอยู่ในยุคหินเก่าตอนต้น
การศึกษาเกี่ยวกับแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโหนั้นทำได้สะดวกกว่าชาติอื่นมาก เพราะชาวจีนมีการบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้นไว้ ตลอดเวลาอันยาวนานแห่งประวัติศาสตร์จีน ได้มีราชวงศ์ต่าง ๆ ผลัดกันขึ้นครองประเทศ เจริญรุ่งเรืองและเสื่อมสลาย แต่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโหยังมีการถ่ายทอดสืบกันมาไม่ขาดสาย
โลกปัจจุบันถือว่าเป็นหนี้บุญคุณของคนจีนในด้านปรัชญาการดำรงชีวิต การปกครอง ศิลปะ สถาปัตยกรรม ดังจะเห็นได้จากคำสอนของขงจื้อ เล่าจื๊อ เม่งจื๊อ การสร้างกำแพงเมืองจีน เป็นต้น อารยธรรมของลุ่มแม่น้ำฮวงโหได้มีบทบาทและอิทธิพลต่อโลก เช่น คำสอนของนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของจีนโบราณ
ทางด้านเทคโนโลยี จีนได้เป็นผู้ให้กำเนิดความคิดแก่โลกตะวันตกในการพัฒนาอาวุธเป็นปืนไฟ โดยเริ่มจากการประดิษฐ์ดอกไม้ไฟของจีน นอกจากนี้จีนยังรู้จักการใช้เข็มทิศ เครื่องวัดแผ่นดินไหว การพิมพ์ ลูกคิด ที่สำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่ เทคโนโลยีทางการแพทย์ คือ การรักษาด้วยวิธีฝังเข็มซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่อินเดียเป็นแม่แบบของอารยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนก็เป็นแม่แบบของอารยธรรมในเอเชียตะวันออก ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น และยังมีดินแดนอื่น ๆ ที่รับอารยธรรมของจีน เช่น เวียดนาม ทิเบต เป็นต้น ส่วนดินแดนที่ห่างไกลออกไป เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรู้จักจีนในฐานะพ่อค้า ผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องถ้วยชาม ผ้าไหม อันเป็นสินค้าที่ตลาดโลกต้องการเป็นอย่างมาก
2.2 สังคมมนุษย์สมัยกลาง
สมัยกลาง หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกถูกพวกอนารยชนเผ่าเยอรมันเข้ายึดครอง จนกระทั่งถึงคริสศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นปีที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออก อยู่ใต้อิทธิพลของพวกออตโตมันเตอร์ก ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม รวมระยะเวลาของสมัยกลางราว 1,000 ปี สังคมสมัยกลางเป็นสังคมเกษตรกรรม ไม่มีอุตสาหกรรมหรือการค้าขาย ในแง่อารยธรรมกล่าวได้ว่า สมัยกลางเป็นยุคมืด ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนโดยทั่วไป วัดกลายเป็นศูนย์กลางความรู้โดยมีพระและบาทหลวงเป็นผู้สอนอ่านเขียน และถ่ายทอดวิทยาการ สังคมยุโรปจึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนาคริสต์ ในราวคริสตศตวรรษที่ 8 9 ได้มีการก่อตัวของระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism)
ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ หรือระบบฟิวดัล คำว่าฟิวดัล (Feudal) มาจากภาษาละตินว่า Feudum ในภาษาอังกฤษหมายถึง Fee หรือ Fief แปลว่า ที่ดิน ลักษณะสำคัญของระบบฟิวดัลคือ ความผูกพันระหว่างเจ้าของที่ดิน (Lord) กับผู้ทำกินในที่ดิน หรือผู้รับมอบที่ดิน เรียกว่า วาสซาล (Vassal) ทั้งลอร์ดและวาสซาลจะต้องทำพิธีสาบานต่อกันว่าจะรักษาพันธะและหน้าที่ของตน กล่าวคือ ลอร์ดจะต้องพิทักษ์รักษาวาสซาลให้ปลอดภัยจากศัตรู ให้ความยุติธรรมปกป้องคุ้มครอง ส่วนวาสซาลจะต้องช่วยทำงานให้ลอร์ด ทั้งทางด้านการทหาร และช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ลอร์ด สังคมสมัยกลางแบ่งคนออกเป็น 3 ชนชั้น คือ ชนชั้นขุนนาง มีหน้าที่ในการปกครอง กลุ่มที่สองคือ สามัญชน ส่วนใหญ่เป็นชาวนาซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินของขุนนางในลักษณะของทาสติดที่ดิน ชาวนาโดยทั่วไปมีชีวิตที่ลำบากยากไร้ ต้องส่งผลผลิตให้แก่ขุนนาง ชนกลุ่มที่ 3 คือ พระและนักบวช ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ ซึ่งสมัยกลางนี้ ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลมาก จนกล่าวได้ว่าสมัยกลางเป็นสมัยแห่งศรัทธา (Age of Faith) ชีวิตผู้คนตั้งแต่เกิดจนตายจะถูกควบคุมด้วย ศาสนจักร พวกที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาจะถูกลงโทษด้วยวิธีที่เรียกว่า บัพพาชนียกรรม( Excommunication )
ศาสนาอิสลาม ในราวคริสตศตวรรษที่ 7 ได้กำเนิดศาสนาใหม่คือ ศาสนาอิสลาม โดยมีศาสดาคือ นบีมูฮัมหมัด ได้ประกาศคำสอนหรือความเชื่อในดินแดนตะวันออกกลาง และแพร่กระจายไปทั่วจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ การขยายตัวของศาสนาอิสลามทำให้ภาษาอาหรับเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นคู่แข่งสำคัญของศาสนาคริสต์ จนทำให้เกิดสงครามศาสนาที่เรียกว่า สงครามครูเสดขึ้น
สงครามครูเสด เป็นสงครามศาสนาที่เกิดขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 1095 ถึง ค.ศ. 1272 โดยมีสงครามครั้งสำคัญๆ 8 ครั้ง ชาวคริสต์ในยุโรปได้เดินทางไปสู้รบกับพวกมุสลิมในตะวันออกกลาง จุดประสงค์สำคัญ คือการแย่งชิงนครเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาคริสต์แลศาสนาอิสลาม สงครามครูเสดทำให้ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ถูกทำลายลง เพราะขุนนางต้องสูญเสียกำลังคน และกำลังทรัพย์ในการรบ ส่วนทาสติดที่ดินที่อาสาไปรบ หากรอดชีวิตกลับมาก็ได้เป็นอิสระ อำนาจของขุนนางจึงลดลง นอกจากนี้สงคราม ครูเสดยังกระตุ้นการค้าระหว่างโลกตะวันตก และโลกตะวันออก พวกนักรบครูเสดได้นำสินค้า เช่น เครื่องเทศ ผ้าไหม ผ้าซาติน และผลไม้ชนิดต่าง ๆ กลับไปเผยแพร่ในยุโรป สังคมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดชุมชนเมืองขยายตัวครอบคลุมไปทั่วยุโรป อิทธิพลของศาสนาคริสต์ลดน้อยลง มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาสนา
2.3 สังคมมนุษย์สมัยใหม่
สมัยใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่ราวกลางคริสตศตวรรษที่ 15 เมื่อระบบศักดินาสวามิภักดิ์เสื่อมลงได้มีการสถาปนารัฐชาติ (Nation State) ขึ้น ปัจจัยสำคัญสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของศาสนาจักรเสื่อมลง เกิดความรู้สึกชาตินิยมขึ้น นอกจากนี้ยุคของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการซึ่งเกิดในช่วง คริสตศตวรรษที่ 1416 ได้เกิดการก่อตัวของลัทธิมนุษยนิยม (Humanism) ขบวนการฟื้นฟูศิลปวิทยาการเกิดขึ้นในแหลมอิตาลี มีความก้าวหน้าทางวิทยาการ ส่วนการปฏิรูปศาสนาทำให้เกิดศาสนาคริสต์นิกายใหม่ คือ โปรเตสแตนท์ และเป็นการลดบทบาทของสันตปาปาลง พระมหากษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น จึงก่อให้เกิดสังคมในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า รัฐชาติเกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรปแล้วแพร่กระจายไปทั่ว รัฐชาติที่สำคัญในระยะแรกได้แก่ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น รัฐชาติเหล่านี้จะปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การค้นพบดินแดนใหม่ทำให้ชาวยุโรปเข้าไปจับจองดินแดนส่วนต่าง ๆ ของโลกในลักษณะของการยึดครองอาณานิคม และนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมมนุษย์อย่างมาก กล่าวคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง มีประชากรเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดการผลิตในระบบ โรงงานทำให้ประชากรถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ทั้งในด้านค่าจ้าง สวัสดิการและทั่วไป การทำงาน การใช้แรงงานเด็กและสตรี เกิดชนชั้นใหม่ที่มีบทบาทและระบบทางเศรษฐกิจ คือ ชนชั้นกลาง หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เกิดการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมในทวีปเอเชียและแอฟริกา จนเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 สงครามโลกทั้งสองครั้งมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 มนุษย์ได้นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาผลิตอาวุธประหัตประหารกัน
วิวัฒนาการทางสังคมของโลก
วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจของโลก
วิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของโลก