สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เอกสารประกอบการสอนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
บรรณานุกรม
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
วิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของโลก
วิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการจัดรูปแบบการปกครองที่อาจจะจำแนกได้ดังนี้
1. การเมืองการปกครองยุคก่อนรัฐชาติ
รูปแบบการปกครองในยุคก่อนการเกิดรัฐชาติแบ่งออกได้ดังนี้
การปกครองแบบเผ่าชนหรือกลุ่มชน เป็นการรวมตัวกันของสังคมขนาดย่อมมีรากฐานมาจากหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุดคือ ครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวรวมกันในระบบเครือญาติเป็นเผ่าชนมีขนบธรรมเนียมประเพณีประจำเผ่า ซึ่งได้กลายเป็นรูปแบบการปกครองในที่สุด
การปกครองแบบนครรัฐหรือแว่นแคว้น หลังจากที่มนุษย์เริ่มมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แน่นอน มีการรวมตัวเป็นกลุ่มเผ่าชนในยุคหินใหม่ ก็มีการติดต่อกันระหว่างเผ่า พัฒนามาเป็นนครรัฐ เป็นแคว้น เป็นอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ปกครองราชวงศ์ต่างๆ เช่นนครรัฐของกรีก และอาณาจักรโรมัน เป็นต้น
สังคมกรีกโบราณเป็นตัวอย่างของรูปแบบการปกครองที่สำคัญของโลก
กรีกประกอบด้วยนครรัฐมากมายแต่ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ นครรัฐเอเธนส์และนครรัฐสปาร์ตา
นครรัฐเอเธนส์มีรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางตรง
ซึ่งถือว่าเป็นแบบฉบับหรือต้นกำเนิดของรูปแบบการปกครองที่เจริญที่สุดในสมัยนั้น
ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในขอบเขตที่กว้างขวางจนกลายเป็นพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน
ส่วนนครรัฐสปาร์ตาเป็นตัวอย่างทางรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการตามแบบทหาร
ในช่วงระยะเวลาที่นครรัฐของกรีกกำลังพัฒนาเจริญรุ่งเรือง
อาณาจักรโรมันก็ก่อตัวขึ้นและมีรูปแบบการปกครองในช่วงแรกเป็นแบบนครรัฐเช่นเดียวกับกรีก
ต่อมาได้พัฒนามาเป็นแบบสาธารณรัฐ (Republic)
มุ่งให้คนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง
แต่ปรากฏว่าอำนาจส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนร่ำรวย และมีฐานะทางสังคมสูง
รูปแบบการปกครองพัฒนามาเป็นจักรวรรดิ
การปกครองแบบจักรวรรดิ เป็นรูปแบบการปกครองที่รวมเอานครรัฐ หรือแคว้นต่าง ๆ
เข้าด้วยกัน เป็นกลุ่มสังคมขนาดใหญ่ เช่น จักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิจีน
จักรวรรดิอินเดีย เป็นต้น
การปกครองในรูปแบบจักรวรรดินั้นเป็นการปกครองดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล
มีชาวต่างชาติหลายเผ่าพันธุ์
แต่อำนาจปกครองถูกรวมอยู่ที่จักรพรรดิเพียงผู้เดียวนั้น
ต่อมาจักรวรรดิก็เริ่มอ่อนแอ พวกอนารยชนเข้ารุกรานจักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิจีน
การปกครองในรูปแบบใหม่คือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism)
จึงเกิดขึ้นการปกครองในระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ การปกครองในระบบศักดินาสวามิภักดิ์
กำเนิดขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 9
ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นเป็นระบอบการปกครองที่เน้นเรื่องที่ดินและกรรมสิทธิ์ในที่ดินและความผูกพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินและผู้ทำกินในที่ดิน
การปกครองระบอบศักดินาพัฒนามาจนถึงกลางศตวรรษที่ 15 หลังการสิ้นสุดสงครามครูเสด
2. การเมืองการปกครองในยุครัฐชาติ
หมายถึงรัฐที่มีการปกครองเป็นปึกแผ่นมีอาณาเขตที่แน่นอน ประชาชนมีเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบเดียวกัน ปัจจัยที่สำคัญในการก่อให้เกิดรัฐบาลคือ ความรู้สึกชาตินิยม (Nationalism) ทำให้ประชาชนเกิดความภูมิใจ และมีความจงรักภักดีต่อชาติและพระมหากษัตริย์ของตนเอง
2.1 ทฤษฎีกำเนิดรัฐ
1) ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Divine Right Theory) ทฤษฎีนี้เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างรัฐ สร้างมนุษย์ อำนาจในการปกครองเป็นของพระเจ้า กษัตริย์มีพันธะกับพระเจ้าและปกครองรัฐในนามของพระเจ้า การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์จึงไม่ถือเป็นความผิด เป็นที่มาของหลักการที่ว่ากษัตริย์ทำอะไรไม่ผิด (The king can do no wrong) นำไปสู่ระบอบการปกครองที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)
2) ทฤษฎีสัญญาประชาคม(Social Constract) ทฤษฎีนี้เชื่อว่ารัฐเกิดขึ้นโดยมนุษย์เป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะมนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด คนทุกคนจึงมีสิทธิปกครองตนเอง แต่เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการตัดสินปัญหาเมื่อเกิดการขัดแย้งกันขึ้น มนุษย์จึงมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนตน ทฤษฎีนี้จึงมีส่วนสนับสนุนทั้งรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย
3) ทฤษฏีวิวัฒนาการ (Evolution Theory) ทฤษฏีนี้ใช้เหตุผลและความจริงที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมืองและสัตว์สังคม มนุษย์กับการเมืองจึงแยกกันไม่ออก และทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง มีวิวัฒนาการ การเมืองก็เช่นเดียวกัน องค์การทางการเมืองในอดีตมีวิวัฒนาการจากเผ่าชน นครรัฐ จักรวรรดิ จนถึงรัฐประชาชาติในปัจจุบัน
2.2 องค์ประกอบของรัฐ
ประกอบด้วย ประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปจะทำให้ขาดสภาพของความเป็นรัฐที่สมบูรณ์
- 2.2.1 ประชากร (Population)
หมายถึง พลเมืองของรัฐ ทุกรัฐจะต้องมีประชากรอาศัยอยู่แต่ไม่มีข้อกำหนดแน่นอนว่ารัฐจะต้องมีประชากรจำนวนเท่าใด อริสโตเติลได้ให้ความเห็นว่ารัฐที่ดีควรมีประชากรประมาณ 5040 คน อีกหลายศตวรรษต่อมารุสโซมีความเห็นว่ารัฐที่ดีควรมีพลเมืองหนึ่งแสนคน ปัจจุบันถือกันว่า รัฐควรมีประชากรจำนวนมากพอสมควรที่จะทำให้รัฐดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง ดังนั้น แต่ละรัฐจึงมีประชากรมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะการตั้งถิ่นฐาน ภูมิอากาศและเผ่าพันธุ์ เช่น รัฐวาติกันมีประชากรประมาณ 1000 คน สาธารณรัฐประชาชนจีนมีประชากรประมาณ 1,200 ล้านคน (นงเยาว์ พีระตานนท์ 2541 : 11)
- 2.2.2 ดินแดน (Territory)
หมายถึง อาณาเขตของรัฐที่ประกอบด้วยพื้นดิน พื้นน้ำและท้องฟ้าที่อยู่เหนือเขตพื้นดินและพื้นน้ำ (ทะเลหรือมหาสมุทร) รวมทั้งทะเลอันเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (The Exclusive Economic Zone) ด้วย รัฐทุกรัฐจะต้องมีดินแดนเป็นของตนเอง แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีดินแดนเท่าใด อันจะเห็นได้ว่าบางรัฐที่ดินแดนน้อยมากเช่นโมนาโก มีดินแดนเพียง 8 ตารางไมล์ ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีดินแดนกว้างใหญ่ถึง 9,596,961 ตารางกิโลเมตร ความกว้างใหญ่ของดินแดนมิใช่เครื่องชี้บอกที่แน่นอนถึงความเป็นมหาอำนาจ เสมอไป
- 2.2.3 รัฐบาล (Government)
หมายถึง คณะบุคคลที่ใช้อำนาจในการบริหารปกครองประเทศ มีหน้าที่จัดระเบียบภายในรัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้เป็นไปตามตัวบทกฏหมาย ประเทศต่าง ๆ จะต้องมีรัฐบาลปกครองประเทศ ถ้าปราศจากรัฐและปราศจากประเทศแล้ว รัฐก็จะไม่มีตัวแทนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน การจะใช้อำนาจอธิปไตยในรูปแบบใดขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
- 2.2.4 อำนาจอธิปไตย (Sovereignty)
หมายถึง อำนาจสูงสุดของรัฐที่ใช้บังคับบัญชาภายในรัฐที่จะทำให้รัฐดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐอื่น ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐอื่นในรูปของอาณานิคม ดินแดนในอารักขาหรือดินแดนในอาณัติของรัฐอื่น ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตย นักรัฐศาสตร์มีความ เห็นว่า อำนาจอธิปไตยจะต้องมีลักษณะทางความเด็ดขาด (Absoluteness) เป็นอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจใด ๆ ในรัฐ มีลักษณะเป็นการทั่วไป คือ การใช้อำนาจอธิปไตยนั้นต้องครอบคลุมทั่วทั้งรัฐไม่ว่าจะเป็นบุคคล ดินแดน องค์การ หรือกลุ่มบุคคล ที่อยู่ภายในอาณาเขตของรัฐนั้น ๆ ยกเว้นตัวแทนทางการทูตเท่านั้น มีลักษณะความถาวร หมายความว่าแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลแต่อำนาจอธิปไตยจะยังคงอยู่ การสิ้นสุดอำนาจอธิปไตยคือการสิ้นสุดของรัฐ รัฐหนึ่งจะมีอำนาจอธิปไตยเพียงหนึ่งเท่านั้น หากอำนาจอธิปไตยมีการแบ่งแยกก็จะทำให้รัฐนั้นล่มสลายหรือเกิดรัฐใหม่ขึ้นมา เช่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เป็นต้น
2.3 รูปแบบการใช้อำนาจอธิปไตย
อาจมีได้หลายรูปแบบ ดังนี้
- 2.3.1 การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absoluted Monarchy)
หรือ ราชาธิปไตย ในระยะแรกของการตั้งรัฐชาติในยุโรป แต่ละรัฐต้องเผชิญกับปัญหาภายในทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีความจำเป็นต้องแก้ไขโดยผู้มีอำนาจอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้จึงเปิดโอกาสให้กษัตริย์มีอำนาจโดยสมบูรณ์ดังที่เรียกว่า ทฤษฎีเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ (Divine Right of Kings) โดยอ้างว่ากษัตริย์ปกครองประเทศในรูปแบบผู้แทนโดยชอบธรรมของพระเจ้า ดังนั้นกษัตริย์จึงมีพันธะหน้าที่ต่อพระเจ้าเท่านั้น กษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย ทรงออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนทรงอยู่ในฐานะที่ทำอะไรไม่ผิด (The King can do no wrong) การที่ประชาชนเชื่อฟังกษัตริย์ก็เท่ากับเป็นความเคารพเชื่อฟังพระเจ้าด้วย ประชาชนไม่มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การปกครองของกษัตริย์แต่อาจให้คำปรึกษาแก่กษัตริย์ได้ การปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจโดยสมบูรณ์ เช่นนี้ เรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absoluted Monarchy) หรือราชาธิปไตย
อย่างไรก็ตามในบางยุคบางสมัย กษัตริย์บางพระองค์ก็มิได้มีอำนาจในการปกครองโดยสมบูรณ์ตามทฤษฎีเทวสิทธิ์ เช่น สมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 (ค.ศ. 1509-1547) และพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 (ค.ศ. 1558-1603) แห่งอังกฤษ กษัตริย์ต้องขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาในการดำเนินการเกี่ยวกับการปกครอง แต่กษัตริย์ก็ยังสามารถควบคุมสภาไว้ได้ และทรงปกครองประเทศด้วยพระราชอำนาจเกือบสมบูรณ์แต่ไม่สมบูรณ์จนเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนกษัตริย์ฝรั่งเศส สำหรับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฝรั่งเศสนั้นได้พัฒนาถึงขีดสุดในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ.1643-1715) พระองค์สามารถรวมอำนาจทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การคลัง และการทหารไว้ที่ส่วนกลางคือพระราชวังแวร์ซายร์ ทรงสมมติพระองค์เป็นสุริยกษัตริย์ (Sun King) ปกครองประเทศโดยอาศัยทฤษฎีเทวสิทธิ์และตลอดสมัยของพระองค์ไม่เคยเรียกประชุมรัฐสภาเลย
หลังสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มเสื่อมลง การขยายอำนาจของฝรั่งเศสในยุโรปในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และ 15 เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสต้องเข้าสู่สงครามบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองจนกลายเป็นการปฏิวัติใหญ่ในปี ค.ศ. 1789
- 2.3.2 การปกครองระบอบประชาธิปไตย (Democratic Regime)
การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รุ่งเรืองมากในคริสตศตวรรษที่ 17 และเริ่มเสื่อมลงในคริสตศตวรรษที่ 18 ถูกโจมตีอย่างมากโดยนักปราชญ์แห่งยุคเหตุผล ประกอบกับการขยายตัวทางการค้าทำให้ชนชั้นกลางที่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจแต่ไม่มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศได้เรียกร้องสิทธิทางการเมือง การปกครอง ผลการเรียกร้องดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย นักปราชญ์ทางการเมืองที่สำคัญในคริสตศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นเจ้าของแนวคิดทางการเมืองอันเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีดังนี้
จอห์น ล็อค (John Locke, ค.ศ. 1632-1704) เป็นชาวอังกฤษ จอห์น
ล็อคมีแนวความคิดว่าประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิ์ตามธรรมชาติในชีวิต
เสรีภาพและทรัพย์สิน ประชาชนเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้น
และมอบอำนาจแก่รัฐบาลเพื่อให้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิตามธรรมชาติดังกล่าว
หากรัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายประชาชนก็มีสิทธิเปลี่ยนแปลงหรือถอดถอนรัฐบาลได้
ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau, ค.ศ. 1712-1778) เป็นชาวฝรั่งเศส
ได้เขียนหนังสือชื่อ สัญญาประชาคม (Social Contract) ในหนังสือเล่มนี้
รุสโซกล่าวถึงสัญญาประชาคมว่า
หมายถึงสัญญาที่แต่ละคนเข้าร่วมกับทุกคนภายใต้เอกภาพและเจตจำนงเดียวกัน
โดยที่ประชาชนสามารถก่อตั้งรัฐบาลขึ้นได้และให้อำนาจแก่รัฐบาลเพื่อรับใช้ประชาชน
แต่ถ้าเมื่อใดที่ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลก็อาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้
รุสโซชี้ให้เห็นว่าสภาวะธรรมชาตินั้นเป็นสภาวะที่มนุษย์มีความผาสุข
มีอิสระเสรีและความเสมอภาค
อย่างไรก็ตามแม้มนุษย์จะเกิดมาเสรีแต่ทุกหนทุกแห่งมนุษย์ก็ถูกตรึงด้วยโซ่ตรวนแห่งพันธนาการ
แนวความคิดของรุสโซถือว่าเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา
มองเตสกิเออ (Montesquieu, ค.ศ. 1689-1775) เป็นชาวฝรั่งเศส มองเตสกิเออกล่าวว่า การเมืองการปกครองนั้นเกี่ยวกับ 3 เรื่องเท่านั้น คือ การออกกฎหมาย(นิติบัญญัติ) การทำตามกฎหมาย(การบริหาร) และดูแลทางด้านการศาล(การยุติธรรม) แนวคิดของมองเตสกิเออมีอิทธิพล อย่างสูงต่อการเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในโลกตะวันตกและมีความสำคัญต่อการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ (ค.ศ. 1688) การปฏิวัติในอเมริกา (ค.ศ. 1776) และการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789)
3. การเมืองการปกครองยุคใหม่
การเมืองการปกครองหลังจากเกิดรัฐชาติแล้ว ได้เกิดลักษณะที่สำคัญคือ
3.1 ลัทธิชาตินิยม
ซึ่งลัทธิชาตินิยมนั้น คนในชาติต้องการเห็นชาติของตนเจริญรุ่งเรืองกว่าชาติอื่นและการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกทำให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยม หรือลัทธิอาณานิคม หมายถึง การขยายอำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง หรือชาติหนึ่งเข้าครอบงำเหนือคนต่างชาติในต่างแดน การขยายอำนาจดังกล่าวอาจเป็นไปทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ หรือทางวัฒนธรรม ซึ่งวิวัฒนาการของจักรวรรดินิยมมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เป็นการที่คนชาติหนึ่ง หรือรัฐหนึ่งเข้าควบคุมทางการเมืองการปกครองเหนือคนอีกชาติหนึ่ง เช่น การขยายอำนาจของกรีก เปอร์เซีย และโรมัน ส่วนในยุคกลางก็จะเห็นการขยายอำนาจของอาหรับ เติร์ก มองโกล และจีน อย่างไรก็ตามลัทธิจักรวรรดินิยมในสมัยใหม่ก็แบ่งได้เป็น 2 ยุค คือ ยุคแห่งการค้นพบ (The Age of Discovery) ช่วงคริสตศตวรรษที่ 15-18 มีการสำรวจและค้นพบดินแดนใหม่ๆโดยสเปน โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส ประเทศเหล่านี้ได้ออกไปยึดครองดินแดนในส่วนต่าง ๆ ของโลก เป็นอาณานิคมของตน เช่น ดินแดนในทวีปอเมริกา เอเชียและแอฟริกา มีการแข่งขันในการล่าอาณานิคมจนทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่มีอาณานิคมมากที่สุด จนได้รับสมญาว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ต่อมาในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 เรียกว่าจักรวรรดินิยมยุคใหม่ (New Imperialism) การล่าอาณานิคมในช่วงนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ความแตกต่างระหว่างการล่าอาณานิคมในยุคแห่งการค้นพบกับจักรวรรดินิยมยุคใหม่ คือในยุคแห่งการค้นพบนั้น คนจากประเทศในยุโรปจะอพยพไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่ตนเข้าไปครอบครอง เช่น การเข้าไปตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเหนือซึ่งในเวลาต่อมาได้พัฒนามาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา แต่การยึดครองในจักรวรรดินิยมยุคใหม่มักจะเป็นการผนวกดินแดนอื่นเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของตน หากพิจารณาโดยละเอียดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมอาจพิจารณาได้ดังนี้
1. เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ การขยายตัวทางการค้าตั้งแต่ คริสตศตวรรษที่ 14 นำไปสู่การค้นพบดินแดนใหม่อันเนื่องมาจากการสำรวจทางทะเล จึงยึดครองดินแดนเหล่านั้นเป็นอาณานิคม จนกระทั่งคริสตศตวรรษที่ 18-19 ได้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้มีความต้องการวัตถุดิบมากขึ้น และเมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วก็จำเป็นต้องหาตลาดรองรับสินค้า จึงต้องแสวงหาดินแดนเพื่อซื้อวัตถุดิบและขายสินค้าสำเร็จรูป
2. เพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และความเจริญของโลกตะวันตก ชาวตะวันตกได้พยายาม เผยแผ่คริสต์ศาสนาตามหน้าที่ของคริสตศาสนิกชนที่ดี นอกจากนี้ชาวตะวันตกยังเชื่อว่าเป็นภาระหน้าที่ของคนผิวขาวที่เชื่อว่า ตนเป็นผู้เจริญกว่าผู้อื่นได้นำความเจริญไปยังดินแดนนอกทวีปยุโรป ด้วยเหตุนี้ศาสนาคริสต์และวัฒนธรรมของชาวตะวันตกจึงแพร่กระจายเข้าไปในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย
3. เพื่อแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรในโลกตะวันตก ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านการแพทย์ทำให้อัตราการตายของคนยุโรปลดน้อยลง ประชากรจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงส่งเสริมให้มีการแสวงหาดินแดนใหม่เพื่ออพยพผู้คนบางส่วนไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในดินแดนเหล่านั้น ดินแดนที่คนยุโรปอพยพไปอยู่มากที่สุดคือทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการแก้ปัญหาการเพิ่มประชากรของยุโรปมีส่วนสำคัญในการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยม
4. ปัจจัยทางด้านลัทธิชาตินิยมและยุทธศาสตร์ทางการทหาร ในปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ลัทธิชาตินิยมมีกระแสที่รุนแรงมาก ทำให้ประเทศในยุโรปแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมเพื่อศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติ รวมทั้งต้องการสร้างแสนยานุภาพทางกองทัพเรือแข่งกับชาติมหาอำนาจทางทะเล
การขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมเนื่องมาจากการแข่งขันกันสร้างแสนยานุภาพของประเทศตะวันตกนำไปสู่การรวมกลุ่มระหว่างประเทศและเผชิญหน้ากันจนเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ในระหว่าง ค.ศ.1914-1918 ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กล่าวคือชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นชาติมหาอำนาจของโลก และผู้นำชาติที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้รับการสถาปนาเป็นระบอบการปกครองอย่างเป็นทางการในรัสเซีย นอกจากนี้ยังเกิดลัทธินาซีในเยอรมนี ลัทธิฟาสซิสต์ใน อิตาลี ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ ส่วนญี่ปุ่นก็เป็นเผด็จการทหาร
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศทั้ง 3 นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อโลก แต่ในขณะเดียวกันลัทธิการปกครองแบบเผด็จการอย่างลัทธินาซี ลัทธิฟาสซิสต์ และเผด็จการทหารของญี่ปุ่นก็ถูกทำลายลงอย่างเด็ดขาด เปิดโอกาสให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้แพร่หลายในเวลาต่อมา ประเทศที่เป็นอาณานิคมก็เรียกร้องความเสมอภาคและสิทธิในการปกครองตนเองมากขึ้นและทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นหมดอำนาจลง มีสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตมาเป็นมหาอำนาจใหม่แทน
บทสรุป
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครองของสังคมโลกเริ่มตั้งแต่มนุษย์ยุคหินก่อนประวัติศาสตร์ และมนุษย์สมัยประวัติศาสตร์ โดยพิจารณาวิวัฒนาการทางสังคมของสังคมโลก จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราทราบว่า มนุษย์ในยุคแรกๆต้องพึ่งพิงธรรมชาติและ ดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ใช้ชีวิตเร่ร่อนหาอาหารไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต่อมารู้จักการผลิตอาหารและตั้งหลักแหล่งอยู่ประจำที่ มนุษย์คิดหาวิธีจะทำให้ตนเองอยู่ดีกินดีมีความปลอดภัย ความพยายามในการที่จะเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์ทำให้มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญมาตั้งแต่ยุคหินเก่า ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมมนุษย์เริ่มอยู่เป็นครอบครัว มีการแสดงความรู้สึกออกมาในรูปของศิลปะที่พบตามถ้ำต่าง ๆ ต่อมาในยุคหินใหม่มนุษย์ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นเกษตรกร รู้จักการเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ในการบริโภคและการใช้งาน หลายครอบครัวมาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน เครื่องมือเครื่องใช้มีความประณีตมากขึ้น เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคโลหะ สังคมมนุษย์ขยายเป็นหมู่บ้าน มีคติความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจที่ไม่มีตัวตน จึงเกิดกระบวนการในการบวงสรวงบูชาจนกลายเป็นลัทธิความเชื่อและศาสนาในเวลาต่อมา
จากหลักฐานทางโบราณคดี มนุษย์รู้จักการใช้ตัวอักษรในการสื่อสารเมื่อประมาณ 5,000 ปีล่วงมาแล้ว การศึกษาเรื่องราวของมนุษย์มีความกระจ่างชัดมากขึ้น ได้พบว่ามนุษย์ได้สร้างสรรค์ความเจริญตามบริเวณลุ่มแม่น้ำสายสำคัญ คือ ลุ่มแม่น้ำไนล์ ลุ่มแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟตีส ลุ่มแม่น้ำสินธุ ลุ่มแม่น้ำฮวงโหและบริเวณโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ความเจริญต่าง ๆ ได้หยุดชะงักลงในช่วงคริสตศตวรรษที่ 5 ถึง คริสตศตวรรษที่ 15 สังคมมนุษย์ถูกรุกรานจากพวกอนารยชน ต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ จนกระทั่งเกิดสงครามครั้งสำคัญคือ สงครามครูเสด อันเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม ทำให้สังคมมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการค้นพบดินแดนใหม่ มนุษย์ได้อพยพเข้าไปอยู่ในทวีปอเมริกา ทวีปเอเชียและทวีปออสเตรเลีย เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการขยายตัวของเมือง ประชากรเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวทางการค้าทำให้เกิดชนชั้นทางสังคมแบบใหม่ คือ ชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ เกิดลัทธิจักรวรรดินิยม และลัทธิชาตินิยมอันนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์อย่างมาก
วิวัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของโลกในยุคหินเก่า มนุษย์มีชีวิตในการพึ่งพิงธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจเป็นแบบพึ่งพาตนเอง ต่อมาในยุคหินใหม่ และยุคโลหะมนุษย์เริ่มรู้จักการแบ่งงานกันทำจึงมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ใช้ในการดำรงชีวิต และพัฒนามาเป็นระบบการซื้อขายสินค้าโดยมีเงินตราเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า มนุษย์มีอำนาจการซื้อมากขึ้น มีความมั่งคั่งร่ำรวย มีสินค้าจำนวนมากขึ้น ในสมัยอาณาจักรอียิปต์ กรีกและโรมัน ในยุคกลางเศรษฐกิจดำเนินไปภายใต้ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ เงินตราเป็นสิ่งที่หายาก ตลาดถูกจำกัดเพราะกลัวการรุกรานของอนารยชน การค้าขายหยุดชะงักจนกระทั่งเกิดสงครามครูเสด โลกตะวันตกได้ติดต่อโลกตะวันออก การค้าจึงขยายตัวขึ้น สินค้าประเภทเครื่องเทศและของฟุ่มเฟือยเป็นที่นิยม มีการลงทุน เพื่อการแสวงหาผลกำไร เกิดลัทธิทุนนิยม เกิดสถาบันการเงิน คือธนาคารพาณิชย์ เกิดลัทธิพาณิชย์นิยม รัฐบาลต้องการมีอำนาจในการควบคุมระบบเศรษฐกิจจนนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการแข่งขันกันทางด้านการค้าจนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามโลกยุติ ได้เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อ การล้มละลายของธนาคาร เกิดระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สหรัฐอเมริกาได้มีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก มีการเชื่อมโยงระบบการเงินระหว่างประเทศ มีการช่วยเหลือกันทางด้านเศรษฐกิจ
วิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของโลก มนุษย์ในยุคหินมีรูปแบบการปกครองเป็นแบบเผ่าชน อำนาจการปกครองอยู่ที่หัวหน้าเผ่า ต่อมาเมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ เป็นเมือง เป็นนครรัฐ เริ่มมีการปกครองแบบนครรัฐ มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครอง บางนครรัฐประชาชนก็มีส่วนร่วมในการปกครองด้วย ต่อมาสังคมขยายใหญ่ขึ้นเป็นอาณาจักรและจักรวรรดิ อำนาจการปกครองอยู่ที่องค์จักรพรรดิ อำนาจของผู้ปกครองถือเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากเทพเจ้า มนุษย์จะต้องเชื่อฟัง ลัทธิความเชื่อและศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อการปกครอง แม้แต่ในสมัยกลางที่มนุษย์ตกอยู่ภายใต้การปกครองในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ จนกระทั่งภายหลังสงครามครูเสดในคริสตศตวรรษที่ 15 รูปแบบการปกครองปรากฎในลักษณะของรัฐชาติที่ให้ ความสำคัญของการเป็นรัฐโดยเน้นเชื้อชาติของประชากร มีอาณาเขตที่แน่นอน มีรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองประชากร รูปแบบการใช้อำนาจมีทั้งรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รูปแบบประชาธิปไตย รูปแบบเผด็จการและรูปแบบสังคมนิยมที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
- จรูญ สุภาพ. 2532. หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิชย์.
- จันทรเกษม, สถาบันราชภัฏ. ม.ป.ป. เอกสารประกอบการสอนกลุ่มวิชาการศึกษาทั่วไปรายวิชาวิถีโลก. กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏจันทรเกษม.
- จุณณเจิม ยุวรี และคณะ. 2544. วิถีโลก พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต.
- ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน. 2535."อารยธรรมตะวันตก". มนุษย์กับสังคม พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
- นงเยาว์ พีระตานนท์. 2541. การเมืองการปกครอง. กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏสวนดุสิต.
- ประชุม ผลผ่าน และคณะ. ม.ป.ป. เอกสารประกอบการสอนกลุ่มวิชาการศึกษาทั่วไปรายวิชาวิถีโลก อุบลราชธานี : สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.
- ปรัชญา เวสารัชธ์. 2535. สังคมโลก พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
- ภารดี มหาขันธ์. 2532.พื้นฐานอารยธรรม. กรุงเทพฯ :โอเดียนสโตร์.
- มนัส ธัญญเกษตร และคณะ. 2542. วิถีโลก. กรุงเทพฯ : เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด.
- สุจิตรา วุฒิเสถียร และคณะ(แปล). 2519. ประวัติศาสตร์โลก. กรุงเทพฯ: ธนาคารแห่งประเทศไทย.
- สุดา เพียรธัญกรณ์ และยุพิน คำแท่ง. 2544. เอกสารประกอบการสอนวิชาวิถีโลก. กรุงเทพฯ :
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏพระนคร.
- สุเทพ สุนทรเภสัช. 2515. แนะแนวการศึกษามนุษยวิทยา. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์.
- Young, Kimbal and Raymand W. Mack. (1972). Systematic Sociology: Text
and Reading.
New Delhi : Affielated East-West Press, Pvt. Ltd.,.
วิวัฒนาการทางสังคมของโลก
วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจของโลก
วิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของโลก