สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สังคมไทย

ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ได้อธิบายความหมายของสังคมไทยไว้ว่า สังคมไทย หมายถึง ชนทุกกลุ่มที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยมีวัฒนธรรมไทยเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต สังคมไทยมิได้เน้นเฉพาะชนเชื้อชาติไทยเท่านั้น แต่รวมถึงชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ซึ่งอาจมีเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมบางอย่างแตกต่างกัน แต่ทุกกลุ่มยึดถือวัฒนธรรมไทยเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตร่วมกัน

ลักษณะทั่วไปของสังคมไทย

  1. ยึดถือพระมหากษัตริย์และนับถือพระพุทธศาสนา
  2. มีโครงสร้างแบบหลวม ๆ ไม่ค่อยมีการรักษากฎเกณฑ์ระเบียบอย่างเคร่งครัด มีการผ่อนปรนในเรื่องต่าง ๆ
  3. เป็นสังคมเกษตรกรรม ประชากรมีชีวิตอยู่อย่างง่าย ๆ
  4. ส่วนใหญ่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นหลัก
  5. โครงสร้างของชนชั้นยึดสถานภาพ ทรัพย์สมบัติ อำนาจ เกียรติยศ คุณงามความดี เป็นเกณฑ์การแบ่งชนชั้น
  6. มีความรักในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดลักษณะของสังคมไทย

1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรและพืชพรรณธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินี้ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีต มีขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเช่นลักษณะการสร้างบ้านเรือน ประเพณีแห่นางแมว เป็นต้น

2. สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ ศิลป ภาษาและวรรณคดี ความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมทางสังคม อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันยังรับเทคโนโลยีสมัยใหม่จากสังคมตะวันตกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสังคมไทยไปจากอดีต

3. สิ่งแวดล้อมทางสังคม หมายถึง แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม เช่น ความเป็นไมตรีช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน การให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ การมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวอย่างใกล้ชิดสนิทสนม เป็นต้น สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ยกตัวอย่างมานี้ บางอย่างก็เปลี่ยนไปจากอดีตเนื่องจากโครงสร้างประชากรของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป และเนื่องจากการที่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะอิทธิพลจากสังคมตะวันตก ทำให้สิ่งแวดล้อมทางสังคมได้ขยายกว้างออกไปกว่าเดิม และมีผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ในการดำเนินชีวิตของสังคมไทยปัจจุบัน

โครงสร้างของสังคมไทย
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบท
สถาบันสำคัญของสังคมไทย
ค่านิยมทางสังคมไทย
ปัญหาสังคมไทย

ที่มา

  • วัชรา คลายนาทรและคณะ,ส401 สังคมศึกษา สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช(2533)
  • วิทย์ วิศทเวทย์และคณะ,หนังสือเรียนสังคมศึกษารายวิชา ส401 สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์(2533)
  • สุพัตรา สุภาพและคณะ,หนังสือเรียนสังคมศึกษา ส401 สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช(2533)
  • คู่มือครูและแผนการสอนสังคมศึกษา รายวิชา ส401 ฝ่ายวิชาการสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย