สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมไทย
ปัญหาสังคมไทย
ปัญหาสังคม (Social Problem) หมายถึง สถานการณ์ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากพอควรและเกิดความรู้สึกกว่าควรมาร่วมกันแก้ปัญหานั้นให้ดีขึ้น
ลักษณะของปัญหาสังคม ปัญหาสังคมโดยทั่วไปมีลักษณะดังนี้คือ
1. เป็นสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนบุคคลเป็นจำนวนมาก
2. เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม
3. รู้สึกว่าสามารถจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งได้
4. การแก้ไขมีลักษณะที่จะร่วมมือร่วมใจกัน
สาเหตุของปัญหาสังคม มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น
1. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้แก่
- สมาชิกในสังคมสร้างระบบสังคมและค่านิยมใหม่ ๆ
ทำให้ระเบียบกฎเกณฑ์เดิมไม่อาจนำมาใช้ได้
- การเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมือง ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น แหล่งเสื่อมโทรม
ความยากจน ฯลฯ
- การเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น
การอพยพเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อหางานทำ
2. เกิดจากสมาชิกในสังคมบางคนหรือบางกลุ่ม ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่สังคมวางไว้ ทำให้เกิดการขาดระเบียบและก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้น โดยมีสาเหตุเกิดจาก
- ความขัดแย้งระหว่างกฎเกณฑ์กับความมุ่งหมาย เช่น นักเรียนขยันท่องหนังสือ
แต่สอบตกจึงต้องทุจริตในการสอบ
- ความล้มเหลวของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม
- สมาชิกในสังคมบางคนหรือบางกลุ่ม
มีบุคลิกภาพที่เป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้สังคม เช่น ชอบก่อการวิวาท เป็นต้น
3. เกิดจากการที่กลุ่มสังคมต่าง ๆ มีความคิดเห็นความต้องการและผลประโยชน์ขัดกัน ไม่ยอมร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของสังคม เช่น นายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง เป็นต้น
4. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ก่อให้เกิดปัญหา 2 ประการ คือ
- ปัญหาการว่างงานเพราะมีการนำเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรงมาใช้
- ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เนื่องจากผลกระทบของเทคโนโลยีนั้น
5. การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานของสังคม เช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย อาจก่อให้เกิดการต่อต้านหรือการผูกขาดอำนาจทางการเมือง
6. ความล้าหลังทางวัฒนธรรม ทั้งนี้เพราะความเจริญทางวัตถุกับจิตใจยังไม่มีความสัมพันธ์กัน
แนวทางแก้ปัญหาสังคมไทย
1. แก้ปัญหาแบบระยะสั้น หรือแบบย่อย เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ไม่ได้มีการวางแผนมาก่อน เช่น ปี 2538 น้ำท่วมกรุงเทพมหานครฉับพลัน กรุงเทพมหานครวางแผนรับมือ โดยการสร้างคันดินกั้นน้ำเป็นการด่วน
2. แก้ปัญหาแบบระยะยาว หรือแบบรวม เพื่อหามาตราการมิให้เกิดปัญหานั้นอีก เช่น หลังจากสร้างคันดินแล้ว กรุงเทพมหานครได้วางโครงการป้องกันน้ำท่วมระยะยาว เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมตลอดไป
ปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย
1. ปัญหาความยากจน มีสาเหตุมาจาก
- การเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว
- การขาดการศึกษา ทำให้ต้องประกอบอาชีพที่มีรายได้ต่ำ
- ขาดความชำนาญหรือทักษะในการประกอบอาชีพ จึงหางานทำยาก
- ครอบครัวแตกแยก เช่น หัวหน้าครอบครัวเล่นการพนัน ดื่มสุรา ทำให้เกิดความยากจน
- ได้รับบาดเจ็บหรือทุพพลภาพจากเครื่องจักรในโรงงาน ทำให้ทำงานไม่ได้ หรือได้น้อยลง
- ลักษณะอาชีพมีรายได้สม่ำเสมอ จะเห็นจากพวกเกษตรกร และกรรมกรรับจ้าง
- ภัยจากธรรมชาติ หรือโรคระบาด เห็นได้ชัดเจนจากการเกษตร ทำให้ผลผลิตเสียหาย
ขายไม่ได้ราคา
- การมีบุตรมากเกินไป รายได้ไม่พอกับรายจ่าย
- มีนิสัยเฉื่อยชาและเกียจคร้าน เช่น ไม่กระตือรือร้นที่จะพัฒนาอาชีพของตน
ไม่ชอบทำงาน เป็นต้น
แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา
- พัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปที่ดิน ขยายการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
- พัฒนาสังคม เช่น บริหารฝึกอาชีพให้ประชาชน พัฒนาโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา
- พัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร เช่น ขยายโรงพยาบาล เสริมสร้างค่านิยมในการทำงาน เป็นต้น
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมในสังคมไทย
สาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมมี 2 ประการคือ
1. สภาวะทางธรรมชาติ เช่น ความร้อน แสงแดด ฝนลม ทำให้สภาพภูมิประเทศถูกทำลายได้เอง ยากที่จะบรรเทารักษา แต่การทำลายโดยวิธีนี้ใช้เวลานานมาก
2. การกระทำของมนุษย์ ทำลายได้รวดเร็วและรุนแรงยิ่งกว่าธรรมชาติมากนัก
สาเหตุหลักมาจาก
- การเพิ่มประชากร
- การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี
แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา
- แก้พฤติกรรมของคนอันเป็นสาเหตุของปัญหา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น
ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำไปถึงเรื่องใหญ่โตกว้างขวาง
โดยการสร้างจิตสำนึกให้รู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อม
- อนุรักษ์สภาพแวดล้อม โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- พัฒนาสภาพแวดล้อมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นกว่าเดิม
และสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ดีขึ้นมาเพิ่มเติม
ปัญหาสิ่งเสพย์ติดยาเสพย์ติด
มีหลายชนิด ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน กระท่อม แอมเฟตามีน บาร์บิท-เรต แอล.เอส.ดี. และสารระเหย ปัญหาสิ่งเสพย์ติดส่วนใหญ่มักจะพบในกรุงเทพมหานคร และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น นับเป็นปัญหาแก่สังคมไทยอย่างร้ายแรง
แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา
- ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ ครู ผู้ปกครอง โรงเรียน สื่อมวลชน
ต้องประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้อันตรายจากสิ่งเสพย์ติด
- รัฐบาลจะต้องกำหนดมาตรฐานการลงโทษแก่ผู้ค้ายาเสพย์ติด
และจัดบริการบำบัดแก่ผู้ติดยาเสพย์ติดอย่างเพียงพอ
- สมาชิกในสังคมไทยโดยเฉพาะเยาวชน และผู้ใช้แรงงาน ต้องมีความรับผิดชอบตนเอง
มีเหตุผล ไม่หลงเชื่อคำชักจูงของผู้อื่น
- ครอบครัวจะต้องให้การอบรมบุตร ให้ความรักและความอบอุ่นทางด้านจิตใจ
แก่สมาชิกในครอบครัว
ปัญหาโรคเอดส์
เกิดจากเชื้อไวรัสเอดส์ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Human immunodeficiency Virus หรือ เอชไอวี (H.I.V.) กลุ่มที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากผู้ที่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ และติดยาเสพย์ติด ในปัจจุบันปัญหานี้เป็นภัยอย่างร้ายแรงของสังคมไทย และนับวันจะทวีมากขึ้นหากไม่มีการวางแผนป้องกันที่ดี
แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา
- หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข
จะต้องวางแผนและโครงการป้องกันการแพร่ของโรคเอดส์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ
ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
- รัฐจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์
- สร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้สังคมไทย เช่น ผู้ชายไม่ควรเที่ยวหญิงบริการ
เพราะจะทำให้ภรรยาติดเชื้อได้
- แก้ปัญหาอื่น ๆ อันเป็นสาเหตุเกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ เช่น ปัญหาความยากจน
ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาโสเภณี ฯลฯ
ปัญหาอาชญากรรม
เป็นปัญหาที่คุกคามต่อความสงบเรียบร้อยและความผาสุกของประชาชนในสังคม สาเหตุของปัญหาอาชญากรรมมีหลายประการดังต่อไปนี้
- เกิดความบกพร่องทางร่างกาย
- เกิดจากความบกพร่องทางจิตใจ
- เกิดจากสิ่งแวดล้อม
- เกิดจากการไร้ระเบียบในสังคม
แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา
- การลงโทษผู้กระทำผิด
- การเข้าค่ายฝึกอบรมให้กลับประพฤติตนเป็นคนดี
- ให้คำแนะนำปรึกษาให้ประพฤติตนอย่างถูกต้อง
- การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ประชากรมีคุณภาพที่ดี
ปัญหาสุขภาพอนามัย
เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเจ็บป่วยอันเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย โภชนาการ การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ สาเหตุของปัญหาสุขภาพอนามัยมีดังนี้
1. ขาดความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย
2. ขาดแคลนหมอและอุปกรณ์การแพทย์
3. ข้อผิดพลาดและปัญหาด้านการบริการ
4. ปัญหาด้านการกระจายแพทย์ไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ
ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง
เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกสังคมรวมทั้งประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหาที่บั่นทอนความก้าวหน้าของสังคมไทยมาโดยตลอด ก่อให้เกิดผลเสียดังต่อไปนี้
1. ทำให้ชาติเสื่อมเสียชื่อเสียง
2. เกิดความแตกแยกและความไม่ยุติธรรมในสังคม
3. เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
4. ประชาชนขาดความศรัทธาในข้าราชการและรัฐบาล
5. เป็นข้ออ้างของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
สาเหตุของปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง
1. แรงจูงใจและโอกาสอำนวย
2. ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ
3. กฎหมายมีข้อบกพร่อง
4. การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ
5. ค่านิยมในทางที่ไม่ถูกต้อง
ปัญหาโสเภณี
นับเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญปัญหาหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมทางศีลธรรมและส่งผลไปยังปัญหาโรคร้ายต่าง ๆ รวมทั้งโรคเอดส์
สาเหตุที่สำคัญของปัญหาโสเภณี คือ ค่านิยมในด้านเงินตราและวัตถุ รวมทั้งการแสวงหาผลประโยชน์จากสถานบริการและนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมไทย
การแก้ไขปัญหาสังคมนั้นต้องแก้ตามปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะแต่ละปัญหามีสาเหตุแตกต่างกันออกไป แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม อาจสรุปได้ดังนี้
- รัฐบาลจะต้องวางระเบียบและออกกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างรัดกุม เช่น ออกกฎหมายลงโทษผู้ที่ค้ายาเสพย์ติด หรือล่อลวงหญิงมาเป็นโสเภณี เป็นต้น
- วางแผนและนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ประสานการทำงานระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ เช่น จัดโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการรณรงค์โรคเอดส์ เป็นต้น
- ให้การศึกษาแก่ประชาชนเพราะการศึกษาเป็นบ่อเกิดของเหตุผลและการมีความคิดที่ดี
- ปรับปรุงระบบสังคมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบการให้สวัสดิการแก่ผู้ยากไร้ การประกันสังคม การวางแผนครอบครัว เป็นต้น
- พัฒนาเศรษฐกิจทั้งทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่น การประกันราคาพืชผล ส่งเสริมการลงทุน พยายามให้บุคคลในท้องถิ่นมีงานทำตลอดปี
- พัฒนาสังคม เช่น สื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่สร้างค่านิยมที่ดีแก่สังคม ครอบครัวพยายามสร้างค่านิยมที่ดีให้แก่บุตร รณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือในการแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เป็นต้น
โครงสร้างของสังคมไทย
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบท
สถาบันสำคัญของสังคมไทย
ค่านิยมทางสังคมไทย
ปัญหาสังคมไทย