วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

ร้อยกรองไทย

วิทยา ผิวงาม

ฉันทลักษณ์
โคลง
ฉันท์
กาพย์
กลอนสุภาพ
ร่าย
ประวัติการประพันธ์
การพัฒนาร้อยกรองไทยในปัจจุบัน
การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง
บทอาขยาน

ประวัติการประพันธ์

ประเทศไทยเรามีภาษาไทยและอักขระไทยเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับด้วย ความที่คนไทยเรานั้นมีนิสัยประณีต บรรจงและรักสงบ นักปราชญ์ นักกวีไทยในสมัยก่อน จึงได้สรรค์สร้างเอาอักขระไทยและภาษาไทยมาผสมผสานกัน โดยให้มีความไพเราะ และเกิดการวิจิตรทางภาษานั้นก็คือ การประพันธ์ เมื่อการเวลาผ่านไปนักปราชญ์ชาวไทย ก็ได้พัฒนาการประพันธ์ให้วิจิตรและงดงามมากขึ้น ดั่งเช่น คำคล้องจอง ธรรมดา ซึ่งเราอาจะเรียกว่าร่ายโบราณก็ได้ ต่อมาก็เริ่มมีการสัมผัสอักษร ก่อให้เกิดโคลงและกลอน เราได้รู้จักเอาของอินเดียบ้าง บทสวดบ้างมาประยุกต์จนเกิดกาพย์ขึ้นมา รู้จักการใช้สระ เสียงหนัก-เบา ก่อให้เกิดฉันท์ และที่สำคัญที่สุดคือการประยุกต์สิ่งของที่มีอยู่เดิม ทำให้ เกิดลิลิตขึ้นมา

ความหมายการประพันธ์

คำว่าประพันธ์มาจากภาษาบาลีว่า ปพนธ และภาษาสันสกฤตที่ว่า ปรพ.นธ ซึ่งหมายถึงการร้องกรอง การผูกถ้อยคำเป็นเชิงวรรณคดี

ร้อยกรองสมัยสุโขทัย

1. การปรากฏของร้อยกรองสมัยสุโขทัย

การปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงการละเล่นในสมัยนั้นว่า ” …เสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน..” ในสมัยสุโขทัยนี้มีการขับอยู่แล้วและถ้อยคำที่นำมาขับนั้นย่อม มีรูปแบบเฉพาะ หรือไม่มีรูปแบบ แต่อาศัยจังหวะการเอื้อนทอดเสียงให้ไพเราะ มีสัมผัสคล้องจองกันตามแบบฉบับร้อยกรองไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นมีเพลงพื้นบ้าน ทำนอง ต่างๆเกิดขึ้นมาก่อนก็ได้ แสดงว่าร้อยกรองของไทยเกิดขึ้นแล้วก่อนสมัยสุโขทัย

2. รูปแบบของร้อยกรองสมัยสุโขทัย

จะมีรูปแบบคำประพันธ์ที่ไม่ชัดเชน แต่จะมีบางวรรคที่ร้อยสัมผัสใน ลักษณะร้อยกรอง เช่น …เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว… หรือออกมา ในรูปของการเล่นคำซ้ำ เช่น …เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่มีนา… เพราะฉะนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่าร้อยกรอง ที่ปรากฏในสมัยโบราณและสมัยสุโขทัยนั้นยังไม่มีรูปแบบที่แน่นอน แต่ก็ถือได้ว่า มีคำร้อยกรองของไทยเกิดขึ้น และถ่ายทอดกันในรูปแบบของเพลงพื้นบ้าน


ร้อยกรองสมัยกรุงศรีอยุธยา

1. การปรากฏของร้อยกรองสมัยกรุงศรีอยุธยา

ร้อยกรองสมัยนี้จะปรากฏในวรรณคดีเป็นส่วนมาก แต่สูญไปบ้าง ในระหว่าง สงครามก็ได้ ซึ่งยังพอมีหลักฐานในการร้อยกรองในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็น 2 ระยะ ได้แก่

1.1 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น(พ.ศ.1893 – 2171) ปรากฏร้อยกรอง ดังนี้

  • ลิลิต คือ บทร้อยกรองที่ใช้โคลงและร่ายแต่งปะปนกัน เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำ ลิลิตยวนพ่าย
  • โคลง นิยมแต่งเป็นโคลงดั้น เช่น ลิลิตยวนพ่าย มหาชาติคำหลวง ส่วนโคลงสุภาพมีในมหาชาติคำหลวงและลิลิตพระลอ
  • ฉันท์ ปะปนในมหาชาติคำหลวงหลายบท
  • กาพย์ เช่นเดียวกับฉันท์ 1.2 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย(พ.ศ.2171 – 2310)

ปรากฏร้อยกรองทุกประเภท ดังนี้

  • โคลง นิยมมากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น โคลงพาลีสอนน้อง โคลงทศรถสอนพระราม กาพย์ห่อโคลงของพระศรีมโหสถ
  • ฉันท์ ใช้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง เป็นต้น
  • กาพย์ นอกจากนิยมแต่งกับฉันท์แล้ว ยังนิยมแต่งเป็นกาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ ซึ่งเป็นลักษณะของการแต่งโคลงปนกาพย์ ปรากฏในกาพย์ห่อโคลงเรื่องต่างๆ กาพย์ห่อโคลงประพาสทองแดง กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เป็นต้น
  • กลอน ปรากฏในรูปของกลอนเพลงยาวต่างๆ เช่น เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

เพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง บทละครครั้งกรุงเก่า เป็นต้น ร่ายและลิลิต มีแต่คำประพันธ์ประเภทร่ายยาว ที่ปรากฏในนันโทปนันทสูตรคำหลวง และร่ายโบราณในพระมาลัยคำหลวงเท่านั้น

กลบท ในกลบทสิริวิบุลกิติ์และจินดามณี

2. รูปแบบ

มิได้เคร่งครัดในฉันทลักษณ์เท่าใดนัก แต่จะเน้นจังหวะและเสียงเป็นสำคัญ จึงต้องสังเกตจากสำนวนและการแบ่งวรรคตอน เช่น

นกหกต่างรวงรัง และประนังบังเหิรโหย
พากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง

(สมุทรโฆษคำฉันท์)

จะเห็นได้ว่าในคำบังคับของฉันท์นั้น กวีถือเสียงเป็นสำคัญ จึงต้องสังเกต โดยมิได้คำนึงถึงรูปฉันทลักษณ์เท่าใดนัก แต่ทั้งนี้คำที่อยู่ในลหุจะอ่านเป็นเสียงเบาทั้งสิ้น

รัตนโกสินทร์ตอนต้น

1. การปรากฏของร้อยกรอง

ในสมัยนี้ร้อยกรองไทยมีปรากฏในวรรณคดีต่างๆ เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาแยกประเภทได้ ดังนี้

  • โคลง มีแทรกอยู่ในลิลิตต่างๆ เช่นลิลิตเพชรมงกุฎ ลิลิตตะเลงพ่าย หรือลักษณะที่เป็นโคลงล้วน เช่น โคลงนิราศนรินทร์ นิราศสุพรรณ และโคลงโลกนิติ เป็นต้น
  • ฉันท์ เช่น อิเหนาคำฉันท์ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย และมีตำราการแต่งฉันท์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก
  • กาพย์ มีปรากฏแทรกอยู่ในคำฉันท์สมัยกรุงธนบุรีบ้าง ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน กาพย์พระไชยสุริยา เป็นต้น
  • กลอน ได้รับความนิยมสูงสุดมีทั้งที่แต่งเป็นนิทานคำกลอนและบทละคร เช่น รามเกียรติ์พระเจ้ากรุงธนบุรี รามเกียรติ์รัชกาลที่ 1 บทละครเรื่องอิเหนา เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี กลอนนิราศต่างๆ
  • ร่ายและลิลิต เช่น ลิลิตเพชรมงกุฎ ลิลิตตะเลงพ่าย
  • กลบท ปรากฏมากในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน และปรากฏเป็นบางส่วน ในกาพย์พระไชยสุริยา


2. รูปแบบ

จะเป็นไปตามบทบัญญัติและลักษณะบังคับโดยเคร่งครัดทุกชนิด เช่น

  • โคลง ถือตามแบบฉบับของลิลิตพระลอว่าเป็นแบบที่ถูกต้อง โดยมีการอนุโลม ให้ใช้คำตาย คำเอกโทษและโทโทษได้
  • ฉันท์ มีการแต่งตำราฉันท์มาตราพฤติและวรรพฤติของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสโดยคำฉันท์แต่ละชนิดได้กำหนดคณะให้เป็นรูปแบบได้
  • กาพย์ มีการพลิกแพลงหรือดัดแปลงให้เป็นกาพย์กลอนที่มีลีลาที่แพรวพราวไปบ้าง เพิ่มสัมผัสระหว่างวรรคมากขึ้น
  • กลอน รูปแบบของกลอนสุนทรภู่ที่มีรูปแบบสวยงามและมีลีลาไพเราะที่สุด
  • ร่ายและลิลิต เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้กำหนดรูปแบบของลิลิตขึ้นใหม่ ในลิลิตพระมงกุฎ ซึ่งก็ยึดถือตามกันมา
  • กลบทและคำประพันธ์รูปแบบใหม่ ได้มีการคิดรูปแบบกลบท และคำประพันธ์รูปแบบใหม่ขึ้นหลายชิ้น มีการฟื้นฟูเพลงพื้นบ้าน และการละเล่นต่างๆมากมาย
  • คำสร้อย คือ คำที่เติมท้ายวรรคเพื่อเอื้อนเสียงให้ไพเราะ เพิ่มความสมบูรณ์ ของข้อความ ใช้ในโคลงและร่าย ได้แก่คำว่า พี่เอย สูงเอย นาพ่อ น้องนอ หนึ่งรา ก็ดี ฤๅแม่ ฤๅพ่อ เป็นต้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย