สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ตา หู คอ จมูก

อ. พัทรีญา แก้วแพง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตา
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหู
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของจมูก
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของช่องปากและช่องคอ

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของจมูก

กายวิภาคของจมูกโครงสร้างที่สำคัญของจมูก แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  1. จมูกส่วนนอก (external nose)เป็นส่วนที่ประกอบเป็นจมูก คือ ส่วนบนสุดเป็นกระดูกแข็ง (bony section) อีก 2 ส่วนเป็นกระดูกอ่อน (cartilaginous section) และเคลื่อนไหวได้

  2. จมูกส่วนใน (internal nose) เรียกว่าโพรงจมูกจะมีผนังกั้น (nasal septum) แบ่งเป็นซ้ายขวา ด้านหน้าเปิดออกสู่ภายนอก ด้านหลังเปิดสู่ช่องคอหลังโพรงจมูก (nasopharynx) ซึ่งแบ่งเป็นโพรงจมูกส่วนหน้า และส่วนหลัง นอกจากนี้ในด้านข้างของรูจมูก มีกระดูก turbinate 3 อัน คือ inferior, middle และ superior turbinateซึ่งเป็นโครงสร้างหลักในโพรงจมูก

  3. โพรงอากาศข้างจมูก หรือไซนัสมีอยู่ 4 คู่คือ
    - Maxillary sinuses อยู่ใต้กระดูกโหนกแก้ม ใหญ่ที่สุด
    - Frontal sinuses อยู่ที่หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง
    - Ethmoidal sinuses ลักษณะคล้ายรังผึ้ง ระหว่างสันจมูกกับเบ้าตา
    - Sphenoid sinuses อยู่ด้านหลัง Ethmoidal sinuses

เส้นประสาทที่มาเลี้ยงจมูก คือ คู่ที่ 1 olfactory nerve ทำหน้าที่รับกลิ่น, 5 trigeminal nerveทำหน้าที่รับความเจ็บปวด คุมการหลั่งน้ำมูก,7 facial nerve คุมการทำงานกล้ามเนื้อจมูก

การประเมินสภาพ

1. การซักประวัติ
- อาการคัดจมูก (nasal obstruction) เน้นเรื่องระยะเวลา ความรุนแรง จำนวนวัน ร่วมกับประวัติการแพ้สิ่งต่างๆ การบาดเจ็บจมูก อาการนอนกรน
- น้ำมูกไหล (rhinorrhea) ลักษณะ ระยะเวลาที่เป็น
- เลือดกำเดาไหล (epistaxis) ความถี่ประวัติการบาดเจ็บ สั่งน้ำมูกแรงๆ โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เกี่ยวข้องกับประจำเดือนหรือไม่
- จมูกไม่ได้กลิ่น (anosmia) ทดสอบโดยการให้ดมกลิ่นน้ำหอม ประวัติโรคจมูก
- ปวดศีรษะ (headache) ปวดบริเวณใด เวลาใด ระยะ ความถี่

2 การตรวจโดยใช้เครื่องมือ

  • การตรวจโดยใช้กล้องส่อง (Rhinoscopy)
    - ตรวจลักษณะภายนอก เช่น รูปร่าง ผิวหนัง สันจมูก
    - ตรวจภายในจมูกด้านหน้า ดูผนังกั้น เนื้องอก ดูน้ำมูก
    - ตรวจหลังจมูก

  • ตรวจโพรงอากาศข้างจมูก (Sinuses examination)
    - ตรวจดูจมูกด้านหน้าและหลัง ดูว่ามีหนองหรือไม่
    - กดและเคาะตำแหน่งของโพรงอากาศข้างจมูก กดระหว่างคิ้ว สันจมูกที่หัวตาและ โหนกแก้ม
    - Antral puncture เจาะโพรงจมูกอากาศแมกซิลลา ดูดสารน้ำหรือหนองออก

ความผิดปกติของจมูกที่พบบ่อย

1. ไซนัสอักเสบ Sinusitis
ความหมาย ไซนัสอักเสบ Sinusitis หมายถึงการอักเสบของเยื่อบุไซนัสข้างจมูก มีการติดเชื้อเข้าไปสู่ไซนัส
แบ่งเป็น 2 ชนิด

  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) เป็นการอักเสบของไซนัสที่มีการติดเชื้อนาน 3 สัปดาห์- 3 เดือน ซึ่งมักเกิดหลังการเป็นหวัด
    สาเหตุ มักเกิดหลังเป็นหวัด หรือ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น หรือในพวก Swimmer’s sinusitis มักเป็นจากแบคทีเรียประเภท Gram positive cocci การติดเชื้อช่องปาก และฟันการถอนฟันกรามบน กระดูก maxilla หรือ กระดูก frontal หักจากอุบัติเหตุ และมีการติดเชื้อเข้าสู่ไซนัส
    พยาธิสภาพ ตามปกติโพรงอากาศข้างจมูกจะมีรูเปิด และ cilia คอยโบกพัดสิ่งคัดหลั่ง หากมีการอุดตันของช่องระบายของโพราอากาศข้างจมูก หนองที่ขังอยู่ทำให้ออกซิเจนมาเลี้ยงโพรงอากาศลดลง ส่งให้มีการอักเสบติดเชื้อมากขึ้น
    อาการและอาการแสดง คัดแน่นจมูกเกิดจากการหนาตัวของเยื่อจมูก น้ำมูกเหลืองเขียวข้น ไข้ ปวดศีรษะหรือปวดไซนัส อาจมีหูอื้อ ปวดหู
    การรักษา
    การรักษาลดอาการปวด ลดอาการบวมของเยื่อบุจมูกและเยื่อบุไซนัสหรือให้ยาหยอดหรือยาพ่นที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว Antibiotic เช่น Amoxycillin, Co – trimoxazole, Erythromycin Antihistamine / Decongestant พวกยาหดหลอดเลือด พวก pseudoephydine ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนเพียงพอ และงดไปในที่มีคนมาก

  2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) เป็นการอักเสบของไซนัสที่มีการติดเชื้อนานกว่า 3 เดือน
    สาเหตุ การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลันไม่ได้ผล หรือไม่ได้รับการรักษา หรือ เป็นซ้ำๆ เกิดจากเชื้อ anaerobe แบคทีเรีย เชื้อรา ฟันกรามบนผุ รากฟันบนอักเสบ เหงือกอักเสบ
    อาการ คัดแน่นจมูก น้ำมูกเหลืองเขียวและมีเสมหะไหลลงคอ หูชั้นกลางอักเสบ การได้กลิ่นลดลงหรือเสียไป ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว หอบ หลอดลมตีบ
    การรักษา
    1. ขจัดสาเหตุของโรค
    2. ขจัดแหล่งของการติดเชื้อ
    3. ให้การถ่ายเทของน้ำหรือหนองในไซนัสดีขึ้น
    - Antihistamine / Decongestant
    - การเจาะล้างไซนัสและการผ่าตัด
    - ให้ยาปฏิชีวนะ
    4. หลีกเลี่ยงจากควันต่างๆ ไอระเหยของสารเคมี อากาศร้อนหรือเย็นจัด
    5. ลดอาการไอ โดยใช้ยาละลายเสมหะ และดื่มน้ำมากๆ
    6. ให้ความรู้เกี่ยวกับพยาธิสภาพและการรักษา
    7. การเจาะล้างไซนัส (Maxillary sinus irrigation) การเจาะเข้าไปในโพรงไซนัสข้างจมูกแล้งล้างเอาหนองออก
    8. การผ่าตัดไซนัส การผ่าตัด Maxillary sinus เรียกว่า Antrostomy เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างจมูกและโพรงอากาศแม็กซิลา เพื่อให้หนองระบายออก การผ่าตัด Ethmoidal sinus เรียกว่า Ethmoidectomy เพื่อดูดหนองออกและล้างทำความสะอาด, Functional endoscope sinus surgery (FESS) เป็นการใช้กล้องส่องชนิดแข็งผ่านจมูกเข้าสู่โพรงอากาศตำแหน่งต่างๆ และตรวจดูความผิดปกติและกำจัดเนื้อเยื่อที่อักเสบ หรือสิ่งที่อุดตันจมูก

    โรคแทรกซ้อน เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจ เช่น Pneumonia , Otitis media , Periorbital absess (ฝีรอบๆลูกตา), Orbital cellulitis (เนื้อเยื่อลูกตาอักเสบ), Meningitis , Epidural abscess, Brain abscess หรือ Mucocele and pyocele (มีถุงน้ำและหนองดันลูกตา)

การพยาบาล

  1. เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เนื่องจากการมีภาวะช่องจมูกบวมหรืออุดตัน) โดยการประเมินสัญญาณชีพ ประเมินภาวะขาดออกซิเจน แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำบ่อยๆ และกลั้วคอด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะผู้ป่วยหลังผ่าตัดมักได้รับการใส่ตัวกดห้ามเลือดไว้จำเป็นต้องหายใจทางปาก ถ้าคอแห้งอาจได้รับการพ่นละอองความชื้นให้ จัดท่านอนศีรษะสูง 40-45 องศาเพื่อลดอาการบวมบริเวณจมูกและแก้ม หลังผ่าตัด 48 ชม. เมื่อไม่มีอาการเลือดออก อาจช่วยประคบด้วยความร้อน เพื่อลดบวมและบรรเทาปวด

  2. เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดภาวะพร่องสารน้ำและสารอาหาร (เนื่องจากสูญเสียของเหลวในร่างกายและ การเสียเลือดออกทางจมูก) โดยการประเมินการเสียเลือดโดยในผู้ป่วยที่ผ่าตัดอาจได้รับการกดหยุดเลือดไว้ ให้บ้วนออกไม่กลืนน้ำลาย ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารนอกจากนี้สังเกตเลือดที่ออกจากผ้าปิดแผล อาการเลือดไหลลงคอ ในผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัด ประเมินสัญญาณชีพ ติดตามค่า Hb, Hct และดูแลให้ได้รับสารน้ำอย่างเพียงพอ บันทึกสารน้ำเข้าออกจากร่างกาย ถ้าอาเจียนดูแลให้นอนตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลัก แนะนำผู้ป่วยไม่ให้เกิดการเพิ่มแรงดันในช่องจมูก โดยให้ผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการออกกำลัง การยกของ 10-14 วันหลังผ่าตัด ไม่ควรไอจามแรงๆ หลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณแผลให้แปรงเล็กขนอ่อน งดใส่ฟันปลอม

  3. เพื่อบรรเทาความไม่สุขสบายจากความเจ็บปวดในการผ่าตัดช่องจมูก โดยประเมินอาการปวด อาจใช้การประคบเย็นใน 24 ชม.แรกหลังผ่าตัด 48 ชม. อาจต้องนำตัวกดเลือดออกให้ยาแก้ปวดก่อนการนำตัวกดเลือดออก

  4. เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากการมีของเหลวคั่งค้าง ในช่องจมูก โดยประเมินอากรแสดงของการติดเชื้อ อาการไข้ ปวดหัว การระบายหนอง สิ่งคัดหลั่ง ประเมินสัญญาณชีพ ติดตาม lab PMN, WBC แนะนำให้ทำความสะอาดช่องปากโดยการบ้วนด้วยน้ำเกลือเพื่อแบคทีเรียในช่องปาก

  5. เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนขณะกลับบ้าน โดยอธิบายถึงอาการที่จะยังคงอยู่ ได้แก่ ช่องจมูกบวม อาจมีเลือดซึมเล็กน้อย ยังคงปวด แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ ใช้ควันของไอน้ำร้อน ประคบร้อนลดอาการบวม คอแห้ง และให้งดว่ายน้ำ ดำน้ำ การสั่งน้ำมูก เปิดปากเวลาไอจาม ลดการสูดกลิ่น ควัน การยกของหนักๆ ในรายที่ผ่าตัด antrostomy แพทย์จะนัดมาทำการล้างโพรงจมูกทุกๆสัปดาห์ ในรายที่ผ่าตัด maxillectomy อาจมีอาการอ้าปากไม่ขึ้นจากกระทบกระเทือนเส้นเลือดที่มาเลี้ยงใบหน้า แนะนำให้บริหารช่องปากโดยเริ่มทำทันทีที่อ้าปากได้เพิ่มความกว้างขึ้นเรื่อยๆทำวันละ 50-200 ครั้ง

    ในรายที่มีหนองคั่งค้างในโพรงจมูก สอนให้ผู้ป่วยล้างโพรงอากาศข้างจมูก (nasal irrigation) โดยให้ผสมน้ำสะอาด 1 ถ้วยกับเกลือ 1 ช้อนชา ใช้ลูกยางแดงบีบเพื่อทำความสะอาดก่อน ดูดน้ำยาใส่ลงในช่องจมูกช้าๆสั่งน้ำมูกเบาหลังจากนั้น

 

2. หวัดภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)

สาเหตุ เกิดจากการแพ้สิ่งต่างๆ โดยมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา
อาการ หวัด คัดจมูก จามบ่อย น้ำมูกใสหรือหนองเหลวจากจมูกจำนวนมาก (Rhinorrhea) มักเป็นตอนเช้าๆ ถูกอากาศเย็น ฝุ่นละออง คันจมูก อาจมีปวดศีรษะร่วมด้วย
การรักษา ให้ยาแก้แพ้ (antihistamine) เพื่อลดอาการไอ จาม ลดอาการคัดจมูก ถ้าเป็นจมูกอักเสบจากการแพ้ที่มีการระคายเคืองตามาก และคัดแน่นจมูกอาจให้ยา corticosteroids ร่วมด้วย

คำแนะนำแก่ผู้ป่วย
- พยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมากๆ หรืออยู่ใกล้ผู้ที่มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- คัดจมูก แน่นจมูก น้ำมูกไหลมาก ให้ยาแก้แพ้
- ไอมาก กินยาระงับการไอ
- ยังไม่ดีขึ้น พิจารณาเปลี่ยนให้ยาแก้แพ้ชนิดอื่น อาจให้ steroid ชนิดพ่นจมูก

3. เลือดกำเดาไหล (epistaxis)

ความหมาย เลือดกำเดาไหล คือภาวะที่มีเลือดออกทางจมูก เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก ทำให้มีเลือดไหลออกข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาจเกิดจากส่วนหน้าหรือส่วนหลังของจมูก พบได้ทุกอายุทั้งเพศหญิงและชาย เลือดออกทางส่วนหน้าของจมูกมักพบในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย เลือดออกจากส่วนหลังมักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูง

สาเหตุ

  1. จากการระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก ได้แก่ การแคะจมูก ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูกจะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอก การสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างเร็ว เช่นระหว่างขึ้นเครื่องบินหรือการดำน้ำ อาจมีผลให้เกิดเลือดออกในโพรงอากาศข้างจมูกและมีเลือดกำเดาไหล นอกจากนี้ยังเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและใบหน้า อาจโดนที่จมูกโดยตรงหรือโพรงไซนัส ทำให้มีเลือดออกได้

  2. การอักเสบในช่องจมูก ได้แก่ ภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคแพ้อากาศ ซึ่งมีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูกและเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก ถ้ามีการสั่งน้ำมูก อาจทำให้เลือดกำเดาไหล มีน้ำมูกปนเลือด ส่วนภาวะอากาศหนาว ความชื้นต่ำ จะทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง มีแนวโน้มที่จะทำให้เลือดออกได้ง่าย

  3. การผิดรูปของผนังกั้นช่องจมูกมีการโค้งงอหรือเป็นสันแหลมทำให้มีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะจะมีเลือดออก

  4. เนื้องอกในจมูกหรือโพรงอากาศข้างจมูก ทั้งชนิดร้ายและไม่ร้าย ก็อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน

  5. โรคทางระบบอื่น ๆ ได้แก่ โรคเลือดที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ, การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด , โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย หรือความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดแตกได้

การตรวจเพิ่มเติม ที่อาจเลือกใช้

1.ความเข้มข้นของเลือดและส่วนประกอบต่างๆของเลือด (complete blood count and platelet count)
2.ระบบการแข็งตัวของเลือด
3.ตรวจเส้นเลือดของจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก

อาการและอาการแสดง เลือดที่ออกมีทั้งแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป และแบบไหลแรง พบได้จาก 2 ตำแหน่งของจมูกดังนี้

  1. จากผนังกั้นจมูกส่วนหน้า (Anterior Epistaxis) เป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงจมูกรวมอยู่ มักพบในเด็กและคนหนุ่มสาว

  2. จากผนังกั้นจมูกส่วนหลัง (posterior Epistaxis) มักพบในผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เลือดมักออกง่ายหยุดยาก

การรักษา

ขั้นต้นให้ผู้ป่วยเงยหน้าหรือก้มหน้าลง ใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5 – 10 นาที ให้หายใจทางปากแทน อาจวางผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งบนดั้งจมูกด้วยก็ได้ ถ้าเลือดไม่หยุดไหลควรรีบมาพบแพทย์ อาจต้องทำการห้ามเลือดด้วยวิธีจี้บริเวณที่เลือดออกด้วยสารเคมีหรือไฟฟ้า, การใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูก (nasal packing) หรือการผูกหลอดเลือดแดง เพื่อให้เลือดหยุด และหาสาเหตุ แล้วรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น

  • สาเหตุที่เกิดจากการระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก ควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูก หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ และ ถ้ามีการอักเสบของโพรงไซนัสหรือแพ้อากาศก็รักษาโรคนั้น

  • ถ้ามีความดันโลหิตสูง ก็ต้องควบคุมความดันให้ปกติ

  • ถ้ามีความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก หรือเป็นริดสีดวงจมูก หรือเป็นก้อนเนื้องอก อาจรักษาด้วยการผ่าตัด

  • ถ้ามีตับม้ามโตหรือจุดจ้ำเลือดออก ต้องตรวจหาความผิดปกติและรักษาทางโรคเลือด

  • ถ้ารับประทานยาที่อาจทำให้เลือดหยุดยาก เช่น แอสไพริน ควรแจ้งแพทย์ทราบด้วย

ผลแทรกซ้อน โลหิตจาง ความดันโลหิตต่ำ ช็อค เสียชีวิต

การพยาบาล
เพื่อป้องกันอันตรายและหยุดการเสียเลือด โดยการจัดท่านั่งศีรษะสูง ก้มหน้าเล็กน้อยเพื่อป้องกันเลือดไหลลงคอ ประเมินจำนวน สี ลักษณะของเลือดที่ไหล ถ้าเลือดออกไม่มากใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5 – 10 นาที ให้หายใจทางปากแทน อาจวางผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งบนดั้งจมูกด้วยก็ได้ ตรวจประเมินสัญญาณชีพ รวมทั้งอาการแสดงของภาวะช็อคจากการเสียเลือด ถ้าพบรายงานแพทย์ รวมทั้งดูแลให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ถ้าไม่หยุด ใช้ผ้าgauze ชุบ adrenaline 1:1000 pack ให้แน่นนาน 2-3 ช.ม.(ห้ามทำในรายที่เป็นความดันโลหิตสูง)

เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยวิธีการจี้ (cautery) แนะนำให้ผู้ป่วยอ้าปากเวลาไอ จาม ห้ามผู้ป่วยสั่งน้ำมูก หรือแคะจมูก อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และดูแลให้ได้รับยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษา ซึ่งมักเป็นขี้ผึ้งป้ายบริเวณที่ถูกจี้จนกว่าแผลจะหาย

การพยาบาลขณะใส่ตัวกดห้ามเลือด (nasal packing) โดยการวัดสัญญาณชีพทุก 4 ชม. เพื่อประเมินภาวะช็อค รวมทั้งการติดเชื้อในช่องปากและคอ หลีกเลี่ยงการวัดอุณหภูมิทางปาก ประเมินอาการเลือดออก โดยสังเกตผ้าก๊อซ รวมทั้งตำแหน่งผ้าก๊อซว่าเลื่อนหลุดหรือไม่ แนะนำผู้ป่วยห้ามดึงผ้าก๊อซ รวมถึงประเมินเลือดที่ไหลลงคอและให้ผู้ป่วยบ้วนลงชามรูปไตติดตามค่าอีโมโกลบินและฮีมาโตรคริท ดูแลให้ผู้ป่วยกลั้วคอด้วย NSS บ่อยๆ ถ้าไม่มีแผลในปากให้แปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ เพื่อลดการอักเสบในช่องปากและคอทำให้การระคายเคืองลดลง ทานอาหารได้มากขึ้น ดูแลให้ดื่มน้ำมากๆเนื่องจากต้องหายใจทางปากอาจทำให้เยื่อบุช่องปาก ลำคอ แห้ง แสบได้ และควรทาปากด้วยขี้ผึ่งหรือวาสลิน ถ้าจมูกบวมมากควรประคบด้วยความเย็น และจัดท่านอนศีรษะสูง ดูแลให้รับยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษา

แพทย์จะนำตัวกดห้ามเลือดออกใน 48-72 ชม. จนถึง สัปดาห์ หลังจากนำออกแล้วแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักนิ่งๆ 2-3 ชม. ห้ามออกกำลังกายหนักๆ อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์

4. ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps)

ความหมาย ริดสีดวงจมูก คือการที่เยื่อบุจมูกหรือไซนัสมีการอักเสบและบวม จนยื่นออกมาเป็นก้อน ทำให้โพรงจมูกและ/ หรือไซนัสแคบ
สาเหตุ จนถึงปัจจุบันสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดริดสีดวงจมูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่อาจมีส่วนในการเกิดริดสีดวงจมูก ได้แก่

  • การอักเสบเรื้อรังและการติดเชื้อซึ่งกลับเป็นซ้ำบ่อยๆ ของเยื่อบุจมูกและเยื่อบุไซนัส ซึ่งมีผลทำให้เกิดการบวมของเยื่อบุ

  • ความผิดปกติของการตอบสนองของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหลอดเลือดและภาวะความไวเกินของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อบุจมูกและเยื่อบุไซนัสทำให้เกิดการบวมของเยื่อบุ

  • ความผิดปกติของกระแสลมที่ผ่านเข้าไปบริเวณซึ่งเป็นต้นตอของริดสีดวงจมูก ได้แก่ บริเวณโพรงจมูกส่วนกลาง และบริเวณรูเปิดของไซนัส

ริดสีดวงจมูกที่เกิดขึ้นโดยมีความสัมพันธ์หรือเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ

ริดสีดวงจมูกอาจเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ หรืออาจเป็นผลที่เกิดจากการอักเสบซึ่งสัมพันธ์กับโรคเหล่านั้น หรือเป็นผลที่เกิดท้ายสุดของโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าริดสีดวงจมูกอาจเกิดจากสาเหตุหลายๆ ประการ โรคที่พบว่ามีริดสีดวงจมูกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ โรคหืดในผู้ใหญ่ชนิดที่เกิดและไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้, การแพ้ยาแอสไพริน, ไซนัสอักเสบเรื้อรัง, เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และชนิดไม่แพ้

อุบัติการณ์
การศึกษาเรื่องความชุกของโรคริดสีดวงจมูกในประชากรทั่วไปมีน้อยมาก เท่าที่มีตัวเลขในรายงานก็แตกต่างกันไปแล้วแต่วิธีการสำรวจ รายงานในประเทศสหรัฐอเมริกาพบร้อยละ 1-4 สำหรับในประเทศไทยไม่มีการสำรวจความชุกของโรคริดสีดวงจมูกในหมู่ประชากรทั่วไป ในระหว่างปีพ.ศ. 2540-2542 ที่แผนกผู้ป่วยนอก ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา โรงพยาบาลศิริราช พบผู้ป่วยที่เป็นริดสีดวงจมูกร้อยละ 2.6 ของผู้ป่วยหู คอ จมูก ทั้งหมด ส่วนใหญ่พบมากในผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 20-40 ปี ในเด็กพบได้น้อยมาก

อาการ
เมื่อริดสีดวงจมูกมีขนาดโตขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัดแน่นจมูก ซึ่งจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีอาการจามหรือน้ำมูกได้ ซึ่งอาจมีลักษณะใส ขุ่นข้น เหนียวหรือมีสีเหลืองเขียว ผู้ป่วยอาจได้รับกลิ่นน้อยลงหรือไม่ได้กลิ่น ในรายที่มีไซนัสอักเสบร่วมด้วยอาจมีน้ำมูก เสมหะเหลืองเขียวไหลลงคอ อาจมีอาการปวดตื้อบริเวณแก้มหรือสันจมูก ปวดหรือมึนศีรษะ เจ็บคอเรื้อรัง ไอหรือกระแอมบ่อย ระคายคอ แสบคอ และหูอื้อได้

การรักษา เป้าหมายของการรักษา มีดังนี้

1. กำจัดริดสีดวงจมูกหรือทำให้ริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็กลง
2. ทำให้จมูกโล่งขึ้น และหายใจทางจมูกได้
3.ไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คัน จาม หรือ เสมหะไหลลงคอ
4. ดมกลิ่นได้ปกติ
5. รักษาไซนัสอักเสบ (ถ้ามีร่วมด้วย) โดยการให้ยา และ/หรือ การผ่าตัด
6. รักษาโรคที่เกิดร่วมกับริดสีดวงจมูก หรือภาวะที่เป็นปัจจัยส่งเสริม หรืออาจเป็นสาเหตุของริดสีดวงจมูก เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของริดสีดวงจมูก

โดยทั่วไปวิธีการรักษาริดสีดวงจมูกแบ่งเป็น 4 วิธี คือ

  1. ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก เป็นยาที่ใช้ในการรักษาริดสีดวงจมูกที่มีการศึกษาแล้วว่าได้ผลดี และปลอดภัย โดยยาจะช่วยลดขนาดของริดสีดวงจมูกและป้องกันไม่ให้มีขนาดโตขึ้น ผู้ป่วยบางรายไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ยาไม่สามารถกระจายเข้าไปในโพรงจมูกได้เต็มที่เนื่องจากมีริดสีดวงจมูกอยู่เต็มจมูก หรือในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเช่น ไซนัสอักเสบร่วมด้วย อาจมีน้ำมูกเหลืองข้นคาอยู่ในโพรงจมูก ถึงแม้ว่าการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจะได้ผลดีในการรักษาริดสีดวงจมูก แต่ริดสีดวงจมูกก็ไม่ได้ยุบหายไปหมด ดังนั้นหลังจากการใช้สเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกระยะหนึ่งแล้ว ถ้ายังมีริดสีดวงจมูกเหลืออยู่และอาการผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น ควรผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออก

  2. ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีด การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีดร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจะทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นมากและขนาดของริดสีดวงจมูกเล็กลงอย่างชัดเจน และทำให้การได้รับกลิ่นดีขึ้นด้วย ลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดได้ ขนาดของยาสเตียรอยด์สามารถลดลงได้เรื่อยๆ โดยที่อาการทางจมูกของผู้ป่วยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่อาจจะไม่สามารถทำให้ริดสีดวงจมูกหมดไปได้ นอกจากนั้นยาสเตียรอยด์ยังช่วยลดการกลับเป็นซ้ำของริดสีดวงจมูกได้ด้วย ดังนั้นการให้ยาสเตียรอยด์ถือเป็นการรักษาหลักสำหรับริดสีดวงจมูก

  3. การทำผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกแบบธรรมดา (simple polypectomy) การผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกอาจจะใช้วิธีดั้งเดิมคือ การใช้ลวดคล้องและดึงออกมา เป็นการผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกเท่านั้น ไม่ได้ผ่าตัดเข้าในไซนัส พบว่าการกลับเป็นซ้ำของริดสีดวงจมูกหลังจากผ่าตัดวิธีนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง

  4. การผ่าตัดริดสีดวงจมูกและไซนัสด้วยการใช้กล้อง (endoscopic sinus surgery) ส่วนใหญ่จะได้ผลดีถึงดีมาก โดยได้ผลสำเร็จร้อยละ 80 ขึ้นไป การผ่าตัดริดสีดวงจมูก และไซนัสด้วยกล้องในที่นี้ประกอบด้วย การตัดเอาริดสีดวงจมูกออกร่วมกับการผ่าตัดบริเวณรูเปิดไซนัสให้โล่ง การผ่าตัดด้วยกล้อง จะมีข้อดีกว่าในแง่ประสิทธิภาพของการรักษาริดสีดวงจมูก เมื่อเทียบกับการทำผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกแบบธรรมดา

โดยสรุปการผ่าตัดโดยการใช้กล้องเป็นทางเลือกที่ดีในการผ่าตัดรักษาริดสีดวงจมูก ควรเลือกใช้การผ่าตัดด้วยกล้องหลังจากให้การรักษาด้วยยาเต็มที่แล้ว แต่อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ในรายที่มีริดสีดวงจมูกเต็มโพรงจมูก อาจใช้การผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกแบบธรรมดาก่อน แล้วจึงให้การรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน ถ้าไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรจึงให้การรักษาด้วยการผ่าตัดโดยการใช้กล้อง หลังผ่าตัดก็จะต้องติดตามผู้ป่วยและให้การรักษาด้วยยาต่อเนื่องไป โดยการปรับขนาดของยาสเตียรอยด์ชนิดกินและพ่นให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษาริดสีดวงจมูก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย