สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ตา หู คอ จมูก

อ. พัทรีญา แก้วแพง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตา
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหู
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของจมูก
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของช่องปากและช่องคอ

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหู

กายวิภาคศาสตร์ของหู ในการศึกษาเกี่ยวกับการให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหูนั้นควรที่จะมีความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคของหู ซึ่งในที่นี้จะขอสรุปพอสังเขปดังนี้ หน้ามี่ของหูที่สำคัญมี 2 ประการคือ การฟังเสียงและการทรงตัว โดยมีอวัยวะทั้งหมด 3 ส่วนได้แก่

  1. หูชั้นนอก (External ear) ประกอบด้วย ใบหูช่องหูส่วนนอก ยาวประมาณ 2.5 ซม. ทำหน้าที่ รวบรวมเสียงไปยังหูชั้นกลางปกป้องอันตรายจากสิ่งสกปรก น้ำและสิ่งแปลกปลอมเข้าหู มีขนและขี้หู (cerumen) ไว้ป้องกัน แมลงเข้าหู และป้องกันผิวหนังช่องหูและแก้วหูไม่ให้แห้ง

  2. หูชั้นกลาง (Middle ear) ประกอบด้วย แก้วหู (eardrum) กระดูกภายในหูชั้นกลาง 3 ชิ้น คือกระดูกค้อน(malleus) กระดูกทั่ง (incus) และกระดูกโกลน (stapes) มีเส้นประสาทที่ผ่านหูชั้นกลาง คู่ที่ 5 , 7 , 9 ทำหน้าที่ รับการสั่นสะเทือนจากแก้วหูต่อไปยังกระดูกทั่งและกระดูกโกลนและส่งไปยังหูชั้นใน ปรับเสียง ปรับความต้านทานที่เกิดขึ้นระหว่างอากาศกับน้ำ ท่อ Eustachian tube จะปรับแรงดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับแรงดันบรรยากาศภายนอก

  3. หูชั้นใน ( Inner ear ) มีส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง (cochlear portion) และส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว (vestibular portion)

การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางหู

การซักประวัติ อาการปวดหู (otalgia)เป็นมากหรือน้อย เป็นตลอดเวลา หรือเป็นพักๆ และความถี่ของการปวด อาการปวดร้าว ปวดขณะทำอะไร มีของเหลวไหลจากช่องหู (otorrhea) สีอะไร ลักษณะเป็นอย่างไร อาการหูอื้อ ได้ยินเสียงลดลง (hearing loss) เป็นข้างไหน เป็นมานานเท่าไหร่มีบุคคลในครอบครัวเป็นหรือตนเองเคยเป็นโรคหูมาก่อน มีเสียงดังในหู (tinnitus) เป็นข้างไหน เสียงมีลักษณะอย่างไร ดังเมื่อไร เคยได้ยาอะไรมาบ้าง มีอาการเวียนศีรษะ (dizziness / vertigo) เวียนศีรษะอย่างไร เป็นบ่อยแค่ไหน เคยมีประวัติเป็นโรคอะไรบ้าง ได้รับยาอะไรบ้าง

  • ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน ก่อนเริ่มปวดหู เคยเป็นหวัดมาก่อนหรือไม่ หรือไปดำน้ำ ว่ายน้ำ ขึ้นเครื่องบิน หรือใช้ไม้แคะหู

  • ประวัติความเจ็บป่วยในอดีต เคยเป็นโรคหูมาก่อนหรือไม่ โรคประจำตัวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภูมิแพ้

การตรวจหู

  • ตรวจหูภายนอก โดยการดูและคลำบริเวณหน้าและหลังหูว่ามีความผิดปกติได้หรือไม่

  • ตรวจช่องหู โดยตรวจด้วยตาเปล่าหรือด้วยไม้พันสำลีกดเบาๆที่หูทั้งส่วนกระดูกและกระดูกอ่อน

  • ตรวจหูแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ ให้ตรวจศีรษะและคอ โดยดูช่องปาก เหงือกและฟัน เช่น มีก้อนในช่องปากและฟัน ฟันคุด ตรวจข้อต่อ temporomandibular อาจมีการอักเสบของข้อต่อนี้ พบอาการปวดหูขณะเคี้ยวอาหาร ช่องจมูก อาจพบไซนัสอักเสบ การตรวจ nasopharynx , oropharynx , hypopharynx กล่องเสียง หลอดลมคอ หลอดลมปอด และหลอดอาหาร ต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Head mirror , Head light , Fiberoptic endoscpy การตรวจบริเวณคอ ใช้มือคลำบริเวณต่อมน้ำเหลืองทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังว่าโตหรือไม่

  • อื่นๆ เช่น X-RAY, CT SCAN หรือ MRI

โรคทางหูที่พบบ่อย

1. เยื่อแก้วหูทะลุจากอุบัติเหตุ (Traumatic tympanic membrane perforation)

สาเหตุ เกิดจากการถูกกระแทกที่หูอย่างรุนแรง
อาการและอาการแสดง
ปวดหูมาก หูอื้อ (เกิดขึ้นทันทีเมื่อได้รับบาดเจ็บ) อาจมีเลือดออกในช่องหู ตรวจพบเยื่อแก้วหูฉีกขาด แตกทะลุ
การรักษา ไม่ต้องหยอดยาใดๆเข้าไปในหู ไม่ต้องล้างหู ไม่ให้น้ำเข้าหู ให้ยาแก้ปวด แล้วนัดมาดูอาการอีก 1-2 สัปดาห์ ถ้ามีการติดเชื้อให้ยาปฏิชีวนะหยอดหรือป้ายหู ปกติแก้วหูจะหายเป็นปกติภายใน 3 เดือน ถ้าไม่หาย ผ่าตัดปะแก้วหู Myringoplasty



2. หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) คือ

โรคหูน้ำหนวก หมายถึงการอักเสบของหูชั้นกลาง รวมถึงการอักเสบของเยื่อบุปุ่มกกหู (mastoid) หรือท่อยูสเตเชียน

  1. หูชั้นกลางอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute otitis media) ระยะของโรคไม่เกิน 3 สัปดาห์
    สาเหตุ มักพบร่วมกับหรือหลังจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น อาจภาวะแทรกซ้อนของหัด ไข้หวัดใหญ่ ไอกรน เชื้อที่เป็นสาเหตุ Streptococcus pneumoniae หรือ Hemophilus influenza

    พยาธิสรีรภาพ เมื่อมีการติดเชื้อหรือมีพยาธิสภาพต่อท่อยูสเตเชียนโดยตรงส่งผลให้มีการบวม อุดตันของท่อยูสเตเชียนทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเทเข้าออกระหว่างหูชั้นกลางกับภายนอกได้ตามปกติทำให้อากาศบางส่วนถูกกัดในช่องหูชั้นกลางปริมาตรในหูชั้นกลางลดลง ความดันอากาศภายนอกมากกว่าภายในช่องหู เยื่อแก้วหูถูกดันบุ๋มลง (bulretracted ear drum) เกิดการอักเสบมีเมือกคั่งค้างเกิดการติดเชื้อ หนอง

    อาการ ปวดในรูหูวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ การได้ยินลดลง ไข้สูง หนาวสั่น หลังหูมีการปวดบวมแดงร้อน

    การรักษา
    -- ปรับความดันในหูชั้นกลางโดยการทำ Valsalva maneuva วิธีการคือ หายใจเข้าเต็มที่ บีบจมูก หุบปากให้สนิทแล้วเบ่งลมหายใจออก เพื่อเพิ่มความดันบริเวณ Nasopharynx ทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิดออก
    -- ให้ยาแก้แพ้ , ยาลดอาการคัดจมูกและให้ยาปฏิชีวนะ กิน 10 – 14 วัน เช่น Amoxycillin , Augmentin , Cefaclor
    -- ถ้าไม่ดีขึ้นเจาะเยื่อแก้วหูแล้วใส่ท่อคาไว้ ให้ของเหลวในหูชั้นกลางออกมา( Myringotomy)

  2. หูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic otitis media) การอักเสบของหูเรื้อรังนานกว่า 8 สัปดาห์
    -- หูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรังชนิดไม่เป็นอันตราย (Chronic otitis media without cholesteatoma,safe type) สาเหตุ เกิดจากการอักเสบภายในหูชั้นกลางซึ่งทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ พบร่วมกับทอนซิลหรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง
    อาการและอาการแสดง หนองไหลออกจากหูเป็นๆหายๆ หูอื้อ หูตึงตรวจพบเยื่อแก้วหูทะลุหรือมีหนองไหล
    การรักษา
    -การทำความสะอาดช่องหูด้วย suction หรือเช็ดด้วยไม้พันสำลี
    -ให้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอด เช่น Sofradex
    -ให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน
    -หลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าหู
    -ผ่าตัดซ่อมแซมเยื่อแก้วหู (Tympanoplasty)

    -- หูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรังชนิดไม่ปลอดภัย (Chronic otitis media with cholesteatoma, unsafe type) เมื่อมีการติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษาจะมีการทำลายกระดูกmastoid และอาจมีภาวะ Cholesteatoma คือ สภาวะที่มีเยื่อบุผิวชั้นนอกมารวมกับเยื่อบุผิวที่ลอกหลุดรวมเรียกว่า keratin debris เข้าไปสะสมอยู่ในหูชั้นกลาง
    อาการ หูอื้อ การได้ยินลดลง หนองไหลจากหู หนองมีกลิ่นเหม็น อาการแทรกซ้อน เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ซึมลง กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตตรวจหูพบ Cholesteatoma อยู่ในตำแหน่งต่างๆ
    อาการแทรกซ้อน Meningitis Brain abscess, Labyrinthitis , Facial nerve palsy, Postauricular fistula and abscess, Lateral sinus thrombophlebitis
    การรักษา
    1. ลดการติดเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะ และผ่าตัดเข้าไปเอาหนองและเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออก
    2.ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำอีก ระวังไม่ให้น้ำเข้าหูและผ่าตัดซ่อมแซมเยื่อแก้วหูที่ทะลุให้ปิด
    3.แก้ไขการสูญเสียการได้ยินให้กลับมาเป็นปกติ โดยการผ่าตัด Mastoidectomy อาจร่วมกับการผ่าตัดตกแต่งเยื่อแก้วหู (tympanoplasty)

  3. หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis, Otitis interna)

    สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เช่น คางทูม หัด Herpes zoster , Syphilis การติดเชื้อแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากหูชั้นกลางที่อักเสบ หรือจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
    อาการ วิงเวียน บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน มักมีอาการเวลามีการเคลื่อนไหวของศีรษะ บางรายอาจมีการตากระตุก หรือ เดินเซ
    การรักษา รักษาตามอาการ เช่น วิงเวียนมากให้นอนพักนิ่งๆ หลับตา และให้ยาแก้อาเจียน ให้ยาแก้ปวด ยาบำรุงประสาท

  4. Trauma of inner earจากการถูกยิง ถูกตี ถูกยิง ถูกแทง Head injury, Ear surgery
    อาการ มีเลือดออก ปวดหู หูอื้อ มีเสียงดังในหู เดินเซ เวียนศีรษะ ชาใบหน้าข้างเดียว คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
    การรักษา ให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ดูแลให้ absolute bed rest ดูแลความสะอาดแผล แต่ไม่ต้องปิดแผลให้ discharge ไหลออกมาใช้สำลีอุดไว้

    Noise trauma แบ่งได้จาก
    - Acoustic trauma จากเสียงดังมากๆ ทำให้ organ of corti ถูกทำลาย มีอาการแสงเช่น sensoryneural hearing loss (SNHL) อย่างทันทีทันใด หรืออย่างถาวร มีเสียงดังในหู แก้วหูอาจทะลุ
    การรักษา ให้ยาขยายหลอดเลือด ยากล่อมประสาท และให้ bed rest

    - Noised induced hearing loss จากการได้ยินเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เช่น เครื่องจักร ดนตรี อาการจะมีอาการ hearing loss อย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเสียงดังในหู (tinnitus)
    การรักษา หลีกเลี่ยงการอยู่ที่ดังมากเกินไป
    การพยาบาล ให้การพยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ให้รักษาความสะอาด ไม่ให้สิ่งใดๆเข้าหู และให้การพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการปวด ในผู้ป่วยที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ ให้คำแนะนำในการเคลื่อนไหวช้าๆ อาจต้องให้คนอื่นช่วยพยุง และให้นอนพักนิ่งๆ สูดหายใจเข้ายาวๆลึกๆ ยกไม้กั้นเตียงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
    การดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัด โดยการดูแลก่อนผ่าตัดเหมือนการผ่าตัดทั่วไป ให้ผู้ป่วยทำความสะอาดร่างกาย โกนผมทำความสะอาดใบหูข้างที่จะผ่าตัด หลังผ่าตัดให้ผู้ป่วยนอนราบตะแคงด้านที่ไม่ได้ผ่าตัด ถ้าไม่อาเจียนให้หนุนหมอน หลังจาก 24 ชม.ให้นอนศีรษะสูงดูแลให้ได้รับการบรรเทาอาการปวด พยาบาลควรสังเกตเลือดที่ออกจากบาดแผล ถ้าไม่มีของเหลวหรือเลือดไหลมากไม่ควรเปลี่ยนเพราะผู้ป่วยจะได้รับการปิดแผลโดยการใช้แรงกด (pressure dressing) ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าต้องทำความสะอาดให้ใช้ elastic bandage ปิดแผลไว้ แนะนำให้ผู้ป่วยเคี้ยวด้านที่ตรงข้ามกับด้านผ่าตัด ประเมินอาการปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท ชาที่หน้า (facial paralysis) ต้องรับรายงานแพทย์

    คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามแผนการรักษา ห้ามสั่งน้ำมูก 1-2 สัปดาห์เพื่อป้องกันสิ่งที่ซ่อมแซมหลุด เปิดปากเวลาไอ จาม ห้ามทำงานหนักหรือยกของหนัก งดออกแรงก้ม เงย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ระวังอยู่ให้น้ำเข้าหู หลังผ่าตัดใน 3-5 สัปดาห์อาจมีเสียงซ่าในหู อาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองใสออกจากหูได้ แต่ถ้าเป็นหนองควรมาพบแพทย์อาจจำเป็นต้องใส่เครื่องมือบางชนิดไว้ในหูเพื่อให้เยื่อแก้วหูคงรูปอาจมีอาการปวดจื๊ดๆหลังผ่าตัดได้ ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือวันละ 2 ครั้ง ถ้าจำเป็นต้องขึ้นเครื่องควรไปปรึกษาแพทย์

    การติดต่อสื่อสารในผู้ที่สูญเสียการได้ยินกระตุ้นให้รู้ตัวล่วงหน้าก่อน เลือกตำแหน่งที่มีความสว่างเพียงพอ พูดช้า ชัดเจน ไม่ต้องตะโกน แสดงท่าทางประกอบ ให้ผู้ป่วยเห็นหน้า อ่านริมฝีปาก ใช้คำน้อยพยางค์ คำโดดๆไม่แสดงท่าทางเบื่อหน่าย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย