สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

พืชสมุนไพร
(Medicinal plants)

ประวัติการใช้พืชสมุนไพรในประเทศไทย
สารประกอบทางเคมีในพืช (Phytochemistry)
พืชสมุนไพรซึ่งเป็นที่รู้จักและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

สารประกอบทางเคมีในพืช (Phytochemistry)

หมายถึงสารประกอบที่พืชสร้างขึ้นด้วยกระบวนการเมแทบอลิซึม รวมทั้งสารอนุพันธ์ต่าง ๆ ของสารเหล่านี้ที่ถูกสร้างขึ้นด้วย สารประกอบที่สิ่งมีชีวิตสร้างขึ้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. สารเมแทบอไลท์ปฐมภูมิ (primary metabolite) เป็นสารที่ได้มาจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง(photosynthesis) รวมทั้งสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ นอกจากนี้ยังมีการหายใจ (respiration) ที่มีสารประกอบต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และมีการสร้างพลังงานด้วย ได้แก่ สารพวก คาร์โบไฮเดรต ไขมัน กรดอะมิโน โปรตีน เพียวรีน และไพริมิดีน
  2. สารเมแทบอไลท์ทุติยภูมิ (secondary metabolite) เป็นสารที่ได้มาจากการนำสารเมแทบอไลท์ปฐมภูมิ มาเข้าสู่กระบวนการชีวสังเคราะห์ เพื่อสร้างสารชนิดต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอีกทอดหนึ่ง ได้แก่ สารพวก อัลคาลอยด์(alkaloids) ฟีนอลิก(phenolics) อะซีโทจีนิน(acetogenins) และเทอร์พีนอยด์(terpenoids)

ในการจำแนกประเภทของสารทั้ง 2 ประเภทนี้ขึ้นกับองค์ประกอบทางเคมีของสารชนิดต่าง ๆ

คาร์โบไฮเดรต(carbohydrates)

เป็นสารประกอบที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช จากโมเลกุลของน้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถูกสร้างเป็นโมเลกุลของน้ำตาลและสารโพลีแซคคาไรด์ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว(Monosaccharides) ได้แก่ น้ำตาลไตรโอส(trioses) เทโทรส(tetroses) เพนโทส(pentoses) เฮกโซส(hexoses) และเฮพโทส(heptoses) ส่วนสารโพลีแซคคาไรด์ซึ่งมีโมเลกุลขนาดใหญ่นั้น ประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหลาย ๆ โมเลกุลเชื่อมต่อกัน ได้แก่ แป้ง(starch) ซึ่งเป็นอาหารสะสม และเซลลูโลส(cellulose) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ สารอนุพันธุ์ของโพลีแซคคาไรด์ ได้แก่ เด็กซ์ทริน(dextrins) ฟรุคแทน(fructans) กรดอัลจีนิก(algenic acid) วุ้น(agar) และยาง(gums) สารคาร์โบไฮเดรตถูกนำมาใช้ในทางเภสัชกรรมด้านปรับสมดุลของร่างกาย ยับยั้งเนื้องอก และยับยั้งการทำงานของไวรัสบางชนิด(antiviral activiral activities)

ไขมัน (lipids)

  • น้ำมันพืช (Vegetable oils)

    เป็นแหล่งของสารเบต้า-ซิโทสเตอรอล(b-sitosterol) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาสเตีย-รอยด์ สารเลซิทิน(lecithin) ที่พบเป็นปริมาณมากในน้ำมันถั่วลิสงช่วยทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร กรดแกรมมา-ไลโนเลอิก(g-linoleic acid) เป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิต พรอสทาแกลนดิน(prostaglandins) ลิวโคไทรอีน(leukotrienes) และทรอมบอกเซน(thromboxanes)

    นอกจากนี้น้ำมันพืชยังถูกใช้เป็นตัวทำละลายสารจำพวกวิตามินและยาปฏิชีวนะ น้ำมันมะกอกและน้ำมันอัลมอนด์ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง
  • อะซีโทเจนิน (Acetogenins)

    สารนี้มีโมเลกุลยาวที่เกิดจากธาตุคาร์บอนมาเชื่อมรวมกัน 35-39 อะตอม ส่วนปลายของโมเลกุลประกอบด้วยสารแกมม่า-แลคโทน((g-lactone) พบในพืชวงศ์น้อยหน่า คือ ANONACEAE สารนี้มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอก (antitumour) ได้แก่สารอะซิมัยซิน(asimicin) บุลลาทาซิน(bullatacine) สารยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย(antibacterial) ได้แก่ เชอริโมลิน(cherimolin) และสารกำจัดแมลง(insecticidal) ได้แก่ แอซิมัยซิน(asimicin) แอนโนนิน(annonin) แอนโนนาซิน(annonacin)

กรดอะมิโนและสารอนุพันธ์ (Amino acids and their derivatives)

  • กรดอะมิโน(Amino acid) มีกรดอะมิโนเพียงไม่กี่ชนิดที่พบว่ามีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรค ได้แก่ คิวเคอร์บิทีน(cucurbitine) บางชนิดพบว่าเป็นสารพิษได้แก่ มิโมซีน(mimosine) ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนและกรดนิวคลีอิกในสัตว์เคี้ยวเอื้องทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตช้า
  • ไซยาโนเจนิก กลัยโคไซด์ (Cyanogenic glycosides) เป็นสารอนุพันธ์ของกรดอะมิโนชนิดแอล(L-amino acids) พบในพืชวงศ์ กุหลาบ(ROSACEAE) วงศ์ถั่ว(LEGUMINOSAE) วงศ์ข้าว(GRAMINAE) วงศ์หมาก(ARECACEAE) วงศ์ยางพารา(EUPHORBIACEAE) วงศ์กะทกรก(PASSIFLORACEAE)
  • สารประกอบที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ (Sulphur-containing compounds) สารในกลุ่มนี้ได้แก่ อัลลีอิน(allein) อัลลิซิน(allicin) อะโจอีน(ajoene) และสารประกอบชนิดอื่นที่สกัดได้จากกลีบของหัวกระเทียม สารอัลลิซินและอะโจอีนมีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างสารตั้งต้นของโคเลสเตอรอล การตกตะกอนของเกร็ดเลือด ลดความดันโลหิต และยับยั้งการทำงานของเชื้อรา
  • เลกทิน(lectins) เป็นสารประกอบโปรตีนที่มีการเชื่อมต่อกันของโมเลกุลกับคาร์โบไฮเดรตพบในเยื่อหุ้มเซลล์ของเมล็ดพืชชั้นสูง โดยทั่วไปพบในเมล็ดของพืชวงศ์ถั่ว ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และถั่วชนิดต่าง ๆ สารเลกทินบางชนิดเป็นสารพิษได้แก่ ไรซิน(ricin) ในเมล็ดละหุ่ง
  • เอนไซม์ (enzymes) เอนไซม์จากพืชที่นำมาใช้ลดอาการท้องอืดคือ ปาเปน(papain) และ บรอมมีลิน(bromeelin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยโปรตีน

สารอัลคาลอยด์ (Alkaloids)

มีการจำแนกชนิดของสารอัลคาลอยด์ออกเป็นหลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่

  1. การแบ่งตามกลุ่มของพืชที่มีอัลคาลอยด์นั้น ๆ
  2. แบ่งตามคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา
  3. แบ่งตามชนิดของสารตั้งต้น
  4. แบ่งตามสูตรโครงสร้างทางเคมี

 

สารประกอบอัลคาลอยด์อิสระละลายในตัวทำละลายจำพวกอีเทอร์ หรือคลอโรฟอร์มเมื่อสารนี้ทำปฏิกริยากับกรด จะอยู่ในรูปของเกลือที่สามารถละลายน้ำได้

สารอัลคาลอยด์ในพืชบางสารเป็นของเสียที่พืชสร้างขึ้น และเป็นแหล่งของธาตุไนโตรเจน มีคุณสมบัติเกี่ยวข้องกับการงอกของเมล็ดพืช การป้องกันอันตรายจากโรคแลนแมลงในพืช และเป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชมักพบในพืชใบเลี้ยงคู่มากกว่าพืชใบเลี้ยงเดี่ยว พบมากในพืชวงศ์ว่านสี่ทิศ(AMARYLIIDACEAE) วงศ์ลิลี่(LILIACEAE) วงศ์ลั่นทม(APOCYANACEAE) วงศ์ถั่ว(LEGUMIONSAE) วงศ์ฝิ่น(PAPAVERACEAE) วงศ์กาแฟ(RUBIACEAE) และวงศ์มะเขือ(SOLANACEAE)

สารอัลคาลอยด์ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์กันมาก ได้แก่ มอร์ฟีน(morphine) ที่สกัดได้จากยางของผลฝิ่น ใช้รักษาอาการเจ็บปวดบาดแผลขนาดใหญ่ โคลชิซีน(colchicine) ใช้รักษาโรคเก๊าท์ ควินีน(quinine) ใช้รักษาโรคมาลาเรีย

ฟีนอลและฟีนอลิกกลัยโคไซด์ (Phenols and phenolic glycosides)

สารประกอบฟีนอลมีลักษณะเป็นโมเลกุลรูปวงแหวนหกเหลี่ยมเชื่อมต่อกันเป็นสารประกอบโมเลกุลใหญ่ ได้แก่

  1. สารประกอบฟีนอล(Simple phenolic compounds)
    โมเลกุลเป็นรูปวงแหวนหกเหลี่ยมเพียงวงเดียว ที่มีหมู่แอลกอฮอล์ หรือหมู่อัลดีไฮด์ หรือหมู่คาร์บอกซีลิกมาเชื่อมต่อกับวงแหวนรูปหกเหลี่ยมนี้ ได้แก่ แคปไซซิน(capsicin) ที่พบในพริก วานิลลา(vanillin) ที่พบในผลของวานิลลา
  2. แทนนิน (Tannins)
    เป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลซับซ้อน มักเป็นสารผสมของสารจำพวกโพลีฟีนอล(polyphenols) ประกอบด้วยเอสเทอร์ที่เกิดจากกรดกัลลิก(gallic acid) หรือสารประกอบโพลีไฮดริก(polyhydric compound) จับกับน้ำตาลกลูโคส หรือเกิดจากสารประกอบฟีนอลิก(phenolic compound) จับกับสารคาร์โบไฮเดรตหรือโปรตีน ได้แก่ กรดแทนนิก(tannic acid) และฮามาเมลิแทนนิน(hamamelitannin)

    แทนนินสามารถทำปฏิกริยากับสารประกอบจำพวกโปรตีน สามรถดูดซับสีย้อมและใช้ในการฟอกหนังสัตว์ แทนนินเป็นสารประกอบที่พบในพืชหลายชนิด มีคุณสมบัติต่อต้านการทำลายของเชื้อราและแบคทีเรีย มีรายงานว่าสารแทนนินที่พบในใบพืชเกี่ยวข้องกับกระบวนการเมแทบอลิซึมของเนื้อเยื่อที่กำลังเจริญเติบโต และพบว่าแทนนินในพืชแต่ละชนิดทำหน้าที่แตกต่างกัน

    แทนนินถูกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการของโรคท้องร่วง และอาการพิษที่เกิดจากโลหะหนัก และมีรายงานว่าแทนนินสามารถยับยั้งอาการของโรคมะเร็ง และโรคที่เกิดจากเชื้อ เอชไอวี (HIV)
  3. คูมารินและสารกลัยโคไซด์ของคูมาริน (Coumarins and their glycosides)
    คูมารินเป็นสารอนุพันธ์ของ เบนโซ-อัลฟ่า-ไพโรน(benzo-a-pyrone) ซึ่งอยู่ในรูปสารอิสระ และสารที่รวมกับโมเลกุลของน้ำตาลเป็นไกลโคไซด์ ถูกสร้างในพืชด้วยวิถีชิคิมิก(shikimic acid pathway) ได้แก่ สารอัมเบลลิเฟอโรน(umbelliferone) เฮอร์นิอาริน(herniarin) เอสคูเลทิน(aesculetin) สโคโพเลทิน(scopoletin) แฟรกซิน(fraxin) และชิคอริน(chicorin)
  4. ควิโนน (Quinones)
    เป็นสารประกอบที่มีธาตุออกซิเจนเป็นองค์ประกอบในโมเลกุล ได้แก่ พาราควิโนน(paraquinones) ออร์โทควิโนน(orthoquinones) เบนโซควิโนน(benzoquinones) แนพโทควิโนน(naphthoquinones) แอนทราควิโนน(anthraquinones) แอนทราไซคลิโนน(anthracyclinones)
  5. ฟลาโวนอยด์ (flavonoids)
    เป็นสารประกอบที่ให้สีสันของดอกไม้ ผลไม้ และใบไม้หลายเฉดสีด้วยกันนอกจากนี้ยังช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต(UV) จากดวงอาทิตย์ด้วย สีสันจากสารสี(pigment) บนกลีบดอกยังทำหน้าที่ล่อแมลงให้มาช่วยในการถ่ายเรณูอีกด้วย การสร้างสารกลุ่มนี้ในพืช ถูกสร้างขึ้นจากวิถีของกรดชิคิมิก(shikimic acid pathway) และวิถีอะซีเทต(acetate pathway) มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางยาเพื่อรักษาโรคท้องร่วง รักษาอาการฟกช้ำดำเขียวที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  6. แอนโทไซยานิน (anthocyanins)
    สารกลุ่มนี้เป็นสารที่ให้สีแดง ชมพู บานเย็น ม่วงแดง น้ำเงิน และม่วงน้ำเงิน ในดอกไม้และผลไม้ เป็นสารสีที่สามารถละลายน้ำได้มีการนำมาเติมสีสันให้กับเครื่องดื่ม แยม และอาหารสำเร็จรูป ต่าง ๆ
  7. ฟลอโรกลูซินอล(Phloroglucinols)
    เป็นสารอนุพันธ์ของ วัน,ทรี,ไฟว์-ไทรไฮดรอกซีเบนซีน(1,3,5 – trihydroxybenzene) ถูกนำมาใช้ในการกระตุ้นระบบประสาท
  8. ลิกแนนและสารอื่นที่มีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกัน (Lignans and related compound)
    สารในกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของหน่วยเฟนิลโพรเพน(phenylpropane units) เป็นสารประกอบในผนังเซลล์ปฐมภูมิและผนังเซลล์ทุติยภูมิในพืช เป็นสารประกอบโพลีเมอร์ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของแอลกอฮอล์กับโครงสร้างของสาร พี-ไฮดรอกซีซินนามิก(p-hydroxycinnamic structure) มักมีการเชื่อมต่อกันของโมเลกุลกับสารโพลีแซคคาไรด์ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการปวดตามข้อ ยับยั้งการเติบโตของเนื้องอก

เทอร์พีนอยด์และสเตียรอยด์ (Terpenoids and Steroids)

โมโนเทอร์พีน(Monoterpenes)

เป็นสารประกอบที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ 10 อะตอม เกิดจากการรวมกันของหน่วยไอโซพรีน(isoprene unit) จำนวน 2 หน่วย ได้แก่สาร ไอริดอยด์(iridoid) เมนทอล(menthol) ลินาลูล(linalool) ไพรีทรินวัน(pyrithrin I)

เซสควิเทอร์พีน (Sesquiterpenes)

เป็นสารที่พบในน้ำมันหอมระเหยของพืชหลายชนิด ทั้งในเห็ดรา ไบรโอไฟต์และพืชชั้นสูง ได้แก่ บิซาโบรอล(bisabolol) ฮิวมูลีน(humulene) และคารีโอฟิลลีน(caryophyllene)

ไดเทอร์พีน (Diterpenes)

เป็นสารประกอบที่มีธาตุคาร์บอน 20 อะตอม ได้แก่ แทกซอล(taxol) ใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็ง และสตีวิโอไซด์(stevioside) ใช้เป็นสารให้รสหวานแทนน้ำตาล

ไตรเทอร์พีนและสเตียรอยด์(Triterpenes and steroids)

เป็นสารประกอบที่มี 30 อะตอม สารที่นำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคกันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ซาโพนิน(saponin) ในรากโสม และ รากชะเอม(liquorice) ซึ่งยับยั้งอาการของโรคบางชนิดได้ และคาร์ดิแอคไกลย์โคไซด์ (cardiac glycosides) ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหัวใจ

แคโรทีนอยด์ (carotenoids)

เป็นสารประกอบที่มีธาตุคาร์บอน 40 อะตอม เกิดจากโมเลกุลของไอโซพรีนรวมกัน 8 หน่วย ให้สีเหลือง หรือส้ม ในกลีบดอกไม้ เปลือกและเนื้อของผลไม้ ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ แคโรทีน(carotene) และแซนโทฟิลล์(xanthophyll) โดยพบว่าสารเบต้า-แคโรทีน(b-carotene) มีคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ และยังถูกนำไปใช้ในการสร้างวิตามินเอ ซึ่งมีผลต่อการมองเห็นของตา หรือการมองในที่ซึ่งมีแสงน้อย และยังมีการนำสารสี แคโรทีนอยด์ที่สกัดได้จากพืช ไปใช้ในการผสมอาหารและเครื่องสำอางด้วย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย