สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

พืชสมุนไพร

(Medicinal plants)

มีการแบ่งยารักษาโรคออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1. ยาพื้นบ้าน (traditional)
2. สมุนไพร (herbal)
3. เภสัชกรรมยา (pharmaceutical)

การเลือกชนิดของพืชเพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรคนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติใกล้ ๆ กับที่ชุมชนอาศัยอยู่ โดยมีการเสาะแสวงหาชนิดของพืชที่มีสรรพคุณในการปรุงยารักษาโรคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องกันมาจากบรรพบุรุษ ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องเสาะแสวงหาพืชที่ต้องการจากท้องถิ่นอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป จึงจำเป็นต้องมีการนำพืชสมุนไพรต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้อยู่เป็นประจำมาปลูก ในครัวเรือนเพื่อสะดวกต่อการนำมาใช้

การผลิตยารักษาโรคในปัจจุบันมีการพัฒนาจากการนำส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพรมาใช้โดยตรง มาเป็นการนำไปสกัดสารออกฤทธิ์ที่ต้องการมาใช้ แต่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่สามารถปลูกพืชเหล่านี้ หรือแหล่งกำเนิดของพืชที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ต้องอาศัยการเก็บชื้นส่วนของพืชที่ต้องการจากแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้นพืชสมุนไพรจึงเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการนำวัตถุดิบจากพืชสมุนไพรเหล่านี้มาสกัดเป็นสารบริสุทธิ์ที่ออกฤทธิ์เฉพาะทางตามต้องการ ตัวอย่างเช่นการสกัดสารควินิน(quinine) และควินิดีน(quinidine) จากเปลือกของลำต้นซินโคนา(Cinchona) การเตรียมสารตั้งต้น(precursors) สำหรับสังเคราะห์วิตามิน เช่น การเตรียมน้ำมันสำหรับจับกับโมเลกุลของวิตามินอี และการเตรียมสารสเตียรอยด์(steroids) จากรากของพืชสกุลไดออสคอเรีย(Dioscorea) และซมิแรกซ์(Smilax) หรืออาจมีการนำส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพรมาผ่านกรรมวิธีให้พร้อมใช้ต่อการนำมาเป็นยารักษาโรค เช่น การตากแห้งแล้วบดเป็นผง การปั้นเป็นยาลูกกลอน หรือยาน้ำ ยาหม้อขนานต่าง ๆ หรืออาจทำเป็นผงแล้วบรรจุแคปซูล หรืออัดเม็ดในปัจจุบัน



พืชไม่ได้เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ชนิดต่าง ๆ ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงและสุขภาพดีด้วย ตัวอย่างเช่น การได้รับวิตามินซีจากพืชในสกุลส้มจะช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน

นอกจากจะมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคของคนสืบเนื่องต่อกันมาจากครั้งบรรพบุรุษแล้ว ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพรนานาชนิด ยังมีการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรคสัตว์สืบเนื่องกันมาแล้ว โดยใช้เป็นยารักษาแผล ยารักษาโรคหวัด โรคท้องร่วง และยาถ่ายพยาธิ

พืชที่มีกลิ่นหอมเนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบอยู่ก็ยังถูกนำมาใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคด้วย พืชชั้นต่ำหลายชนิด เช่น เชื้อรา เห็ด สาหร่าย มอส ไลเคนส์ พืชมีท่อลำเลียงชั้นต่ำ และเฟิร์นหลายชนิดก็ถูกนำมาใช้ในการปรุงยารักษาโรคด้วย

มีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพรของมนุษย์ย้อนหลังไปได้ไกลถึง 60,000 ปี โดยมนุษย์นีแอนเดอร์ทาล(Neanderthal) ที่อาศัยอยู่ในถ้ำที่ค้นพบในประเทศอิรักในปี ค.ศ. 1960 โดยพบละอองเรณูของพืช 8 ชนิด รอบ ๆ โครงกระดูกมนุษย์ และพบว่ามีพืช 7 ชนิด เป็นพืชที่คนในท้องถิ่นใช้เป็นพืชสมุนไพรต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน

ประวัติการใช้พืชสมุนไพรในประเทศไทย
สารประกอบทางเคมีในพืช (Phytochemistry)
พืชสมุนไพรซึ่งเป็นที่รู้จักและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย