สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
ประวัติการใช้พืชสมุนไพรในประเทศไทย
สารประกอบทางเคมีในพืช (Phytochemistry)
พืชสมุนไพรซึ่งเป็นที่รู้จักและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย
ประวัติการใช้พืชสมุนไพรในประเทศไทย
การใช้พืชสมุนไพรในประเทศไทยนั้น มีการใช้เป็นยาพื้นบ้านสืบเนื่องกันมานานแล้ว
แต่มิได้มีการจดบันทึกหลักฐานต่าง ๆ
ไว้อย่างชัดเจนจนกระทั่งมีการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยในสมัยกรุงสุโขทัยเมื่อประมาณ
700-1,000 ปีที่ผ่านมา แต่สันนิษฐานว่าคงไม่ได้มีการจดบันทึกตำรายาขนานต่าง ๆ
ไว้มากมายนัก น่าจะมีการจดจำและบอกเล่าสืบต่อกันมาจนถึงยุคของกรุงศรีอยุธยา
และในตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับคริสตวรรษที่ 18
ในช่วงแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ได้มีการรวบรวมและบันทึกตำรายาขนานต่าง ๆ ไว้
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
ได้ทรงให้มีการจารึกตำรายาและสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ
ไว้บนกำแพงของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์ ท่าเตียน)
เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ได้ทรงโปรดให้มีการเรียบเรียงและตีพิมพ์ตำรายา และสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ
ซึ่งตกทอดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
แต่เมื่อมีการนำยาที่ผลิตจากชาติตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทย
ความนิยมในการใช้ยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรคก็ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากตำรับยาต่าง ๆ นั้นไม่ได้กล่าวถึงวิธีการเตรียม
และสัดส่วนที่ถูกต้องแน่นอน ทำให้การรักษาโรคไม่ได้ผล
และอาจเกิดจากความหวงวิชาของแพทย์แผนโบราณ ที่ไม่ยอมจดตำรายาที่ถูกต้องลงไป
แต่การที่เราหันไปนิยมใช้ยาที่ผลิตจากต่างประเทศทั้ง ๆ
ที่พืชวัตถุดิบหลายชนิดเป็นพืชที่ปลูกในประเทศไทย
แล้วนำไปจำหน่ายยังต่างประเทศนั้นมีผลให้เกิดการเสียดุลทางการค้า
ยามีราคาแพงกว่าต้นทุนการผลิตมากมีการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยผู้นำยาเข้า
ยาที่เป็นที่นิยมบางชนิดอาจมีราคาแพง
เมื่อมีความต้องการของผู้บริโภคเกิดขึ้นในระยะเวลานั้น
รัฐบาลเองก็ไม่สามารถจัดให้มีสุขอนามัยที่ดีระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบทได้
เนื่องจากความต้องการคุณภาพของยาไม่เท่ากัน
ในปี พ.ศ. 2525
มหาวิทยาลัยมหิดลได้พัฒนาโครงการเกี่ยวกับการวิจัยและฟื้นฟูพืชสมุนไพนขึ้นเพื่อใช้ในการรักษาโรค
การผลิตยาในเชิงอุตสาหกรรม และการผลิตสมุนไพรเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
ซึ่งโครงการนี้สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี และมีพืชสมุนไพรจำนวน 55
ชนิดที่ได้รับการสนับสนุน
ในการเลือกชนิดของพืชที่นำมาใช้เป็นพืชสมุนไพรนั้น ขึ้นอยู่กับ
- สรรพคุณในการรักษาโรค ชนิดของสารออกฤทธิ์ และการสามารถนำมารักษาโรคเบื้องต้นได้ โดยใช้พืชเพียงชนิดเดียว
- พืชที่นำมาใช้นั้นต้องได้รับการทดสอบแล้วว่าไม่เป็นพิษ ไม่ชักนำให้ก่อมะเร็งที่เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ หรือเป็นพืชที่มีการนำมารับประทานเป็นอาหารอยู่เป็นประจำ
- พืชนั้นสามารถถูกนำมาใช้รักษาอาการของโรคที่มีการวินิจฉัยโรคแล้วได้
- มีการนำส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ หรือเตรียมส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย
- เป็นพืชที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีตลอดทั้งปี
มีการอบรมแพทย์โบราณให้ทราบถึงวิธีการใช้ยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคตามหมู่บ้านได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พืชสมุนไพรในชุมชนชนบทได้เป็นอย่างดี
แต่ยังคงใช้ไม่ได้ผลนักกับการวางจำหน่ายในร้านขายยา
และการใช้พืชสมุนไพรรักษาอาการป่วยของคนไข้ในโรงพยาบาล
ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามที่จะจดรายชื่อสมุนไพรเข้าไปในบัญชีรายชื่อของยาที่จำเป็น
เพื่อที่จะได้มีการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตพืชสมุนไพรให้เข้าสู่อุตสาหกรรมยาได้อย่างมีมาตรฐาน
ส่วนการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อการส่งออกนั้น ยังคงไม่สามารถพัฒนาได้มากนัก
เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพืช
เป็นปริมาณมากตามความต้องการของระบบอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มที่
และทั้งนี้ขึ้นกับความแปรปรวนในความต้องการของตลาดโลกด้วย
พืชสมุนไพรจึงเป็นพืชที่น่าจะมีการส่งเสริมและพัฒนาให้มีการปลูกมากขึ้น
เนื่องจากพืชสมุนไพรหลายชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ซึ่งพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น
ๆ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และพืชหลายชนิดต้องเจริญเติบโตในสภาพป่าธรรมชาติ
จึงทำให้มีการอนุรักษ์สภาพต่าง ๆ ของป่าให้คงเดิมไว้