ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กำเนิดและพัฒนาการของการขนส่ง

องค์ประกอบของการขนส่ง
ผลกระทบของการขนส่ง
การขนส่งทางน้ำ (Water Transportation)
การขนส่งทางบก (Land Transportation)
การขนส่งทางอากาศ (Air Transportation)

การขนส่งทางอากาศ (Air Transportation)

การขนส่งทางอากาศ มีบทบาทสำคัญมากที่สุดต่อการท่องเที่ยวเพราะการขนส่งทางอากาศมีความรวดเร็ว สะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายและสามารถเดินทางได้ในระยะไกลแต่ประหยัดเวลาในการเดินทาง (Davidson , 1994 :48) ดังนั้นหลังจากได้มีการพัฒนาการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 และได้พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีทางอากาศเพื่อใช้ในการสงคราม ได้ถูกนำมาใช้ในทางพาณิชยกรรมและการขนส่งผู้โดยสาร ในปี ค.ศ.1959 ได้นำเครื่องบินไอพ่น (Jet Aircraft) มาใช้ในธุรกิจการบิน จึงทำให้การบินเข้าสู่ยุคเครื่องบินไอพ่อน (Jet Age) ส่งผลให้ธุรกิจการบินขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Lundberg , 1985 :47)

พัฒนาของการบิน เริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ต้องการบินได้อย่างนกและความคิดนี้ทำให้ ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo Da Vinci, ค.ศ.1452-1519) ได้ออกแบบเครื่องร่อนเพื่อเดินทางในอากาศ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 (Lundberg , 1985 :67)

ต่อมาใน ค.ศ.1848 ชาวอังกฤษชื่อ จอห์น สตริงเฟลโล (John Stringfello, ค.ศ.1799-1883) สามารถออกแบบเครื่องบินได้สำเร็จ แต่บินได้ในระยะ 36.58 เมตร ต่อมา คลีเมนต์ เอเดอร์ (Clement Ader, ค.ศ.1841-1925) ชาวฝรั่งเศส ได้สร้างเครื่องบินปีกชั้นเดียวขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำและสามารถบินได้ไกลถึง 137 เมตร (เดือน คำดีและคณะ, 2540 : 14) แนวความคิดในเรื่องการบินก็ได้ประดิษฐ์คิดค้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในปี ค.ศ.1903 วิบเบอร์ ไรท์ (Wilbur Wright, ค.ศ.1867 -1912) และ ออร์วิน ไรท์ (Orville Wright, ค.ศ.1871-1948) สองพี่น้องได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องบินเป็นผลสำเร็จสามารถบินได้ไกล 36.58 เมตร ในเวลา 12 วินาที สองพี่น้องตระกูลไรท์ ได้ปรับปรุงพัฒนาเครื่องบินจนสามารถบินได้ระยะทาง 57.94 กิโลเมตร (Lundberg , 1985 :67) หลังจากนี้ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องบินมาใช้ในการขนส่งไปรษณียภัณฑ์และผู้โดยสาร

ในระหว่าง ค.ศ.1912-1916 สหรัฐอเมริกาได้ทดลองส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ และในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1914 ได้เปิดเส้นทางการบินข้ามอ่าวที่เมืองแทมปา ในมลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยมี เซนต์ ปีเตอร์เบิร์ก เป็นผู้โดยสารคนแรก ( Will. 1984 : 40)

หลังจากได้ทดลองขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศประสบผลสำเร็จในปี ค.ศ.1918 สหรัฐอเมริกาจึงได้ขยายธุรกิจดังกล่าว ให้กว้างขวางเป็นการถาวรมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ.1919 ได้เปิดสายการบินพาณิชย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในยุโรป บินระหว่างกรุงลอนดอนและปารีส และในทศวรรษที่ 1920 ก็ได้ขยายธุรกิจการบินระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนี (Lundberg , 1985 :67) และในระยะเวลาเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ได้ขยายธุรกิจการบินพาณิชย์ในประเทศ บทบาทของเครื่องบินมิได้ส่งไปรษณียภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ทำหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าซึ่งน้ำหนักไม่มากนัก (Wells, 1984 :42-43) ในปี ค.ศ.1933 เครื่องบินโบอิ้ง 247 (Boeing 247) และ ดี ซี (DC-1) สามารถบรรจุผู้โดยสารได้เพียง 14 คน (Wells, 1984 :51)

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการบินเพื่อใช้ในการสงคราม เช่น การประดิษฐ์เรดาร์ (Radar) เพื่อหาทิศทางเคลื่อนที่ของเครื่องบิน การประดิษฐ์เครื่องบินไอพ่นเพื่อไว้ใช้ในสงคราม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ในทางพาณิชย์ จึงทำให้การเดินทางทางอากาศเข้าสู่ยุคเครื่องบินไอพ่น (Jet Age) เครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่ (Jumbo Jet) แบบโบอิ้ง 747 (Boeing 747) สามารถบรรจุผู้โดยสารได้มากที่สุดถึง 500 คน บินด้วยอัตราความเร็ว 1,000 กิโลเมตรต่อ 1 ชั่วโมง

ฝรั่งเศสได้ผลิตเครื่องบินไอพ่นแบบคองคอร์ด (Concorde) สามารถบินได้เร็วกว่าเสียงถึง 2 เท่า ได้ทดลองบินครั้งแรกในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1969 ที่สนามบินเมืองตูลูส ในประเทศฝรั่งเศส เครื่องบินคองคอร์ดใช้เวลาบินเพียง 3 ชั่วโมงในระยะทาง 5,850 กิโลเมตร ระหว่างกรุงลอนดอนและกรุงนิวยอร์ก (Davidson, 1944:49)

ความต้องการในการเดินทางโดยเครื่องบินได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปลายทศวรรษที่ 1960 และทศวรรษที่ 1970 ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ (Senior, 1982 :133) การขนส่งทางอากาศยังคงมีบทบาทสำคัญในปัจจุบันนี้ทั้งด้านขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ผู้โดยสารประเภทนักท่องเที่ยวมีอัตราเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร ระบบการขนส่งทางอากาศ จึงจัดเครื่องบินประเภทเช่าเหมาลำ (Charter Flights) และบินตามตารางเวลา (Scheduled Flights) เครื่องบินเช่าเหมาลำใช้บริการมากในช่วงเทศกาลวันหยุดอัตราค่าเช่าเหมาราคาถูกกว่าอัตราโดยสารตามปกติ เมื่อเปรียบเทียบต่อบุคคล แต่การเช่าเหมาก็ต้องมีผู้โดยสารจำนวนมากเพียงพอ จึงจะคุ้มกับการลงทุน นอกจากการรับส่งผู้โดยสารแล้ว เป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งของธุรกิจการบินคือ การขนส่งสินค้า (Air Congo) ซึ่งสามารถเก็บอัตราค่าระวางในการบรรทุกสินค้า ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำหนักและระยะทาง อัตราค่าระวางในการบรรทุกสินค้าได้กำไรน้อยกว่าการขนส่งผู้โดยสาร (Wells, 1984 :334)

ในปัจจุบันสายการบินพาณิชย์มีสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) เป็นผู้ประสานงาน สมาคมดังกล่าวมีหน้าที่ในการกำหนดควบคุมค่าโดยสารระหว่างประเทศในเขตต่าง ๆ ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ยังร่วมกันพิจารณากำหนดกฎเกณฑ์ในการจราจรทางอากาศและมาตรฐานของการใช้เครื่องมือการขนส่งทางอากาศ (Wells,1984 : 489) การรวมตัวกัน จัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมเพื่อทำ หน้าที่จัดระบบการบิน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย