ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
องค์ประกอบของการขนส่ง
ผลกระทบของการขนส่ง
การขนส่งทางน้ำ (Water Transportation)
การขนส่งทางบก (Land Transportation)
การขนส่งทางอากาศ (Air Transportation)
ผลกระทบของการขนส่ง
การขนส่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม
และสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะการพัฒนาระบบการขนส่ง
ย่อมมีส่วนผลกระทบต่อการพัฒนาระบบอื่นๆ ของประเทศด้วย
การพัฒนาระบบการขนส่งที่ดีย่อมทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผลผลิตจากภาคชนบทสู่ตัวเมือง
ทำให้คนชนบทมีรายได้ดีขึ้นแต่ก็ส่งผลกระทบให้ประชาชนในชนบทในชนบทเปลี่ยนการดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม
ทั้งนี้เพราะสามารถจัดซื้อสิ่งอุปดภค บริโภคจากตัวเมืองได้สะดวกขึ้น
การเปลี่ยนระบบการผลิตในชนบท จากการผลิตเพื่อบริโภค ไปสู่การผลิตเพื่อขาย
ต้องใช้ที่ดิน น้ำและยาฆ่าแมลงมากขึ้นกว่าเดิม
ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผลกระทบดังกล่าวแล้วสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
การขนส่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่
พื้นที่ที่มีการพัฒนาการการขนส่งอย่างพอเพียงย่อมทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้เพราะการสร้างทางรถยนต์ ทางรถไฟ
เข้าไปในพื้นที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาด
และส่งผลให้เกิดรายได้ต้องการขยายผลผลิตมากขึ้น
การขนส่งนอกจากนำผลผลิตออกจากหมู่บ้านแล้ว
ยังนำสินค้าจากเมืองเข้าสู่หมู่บ้านอีกด้วย
การแลกเปลี่ยนผลผลิตและการสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นดังกล่าวแล้วก่อให้เกิดรายได้
การสร้างงาน การลงทุน ผลที่สุดก็เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา
การพัฒนาการขนส่งทางรถไฟ และทางรถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง
ทำให้ประเทศนี้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Talley, 1983:3)
เหตุการณ์ดังกล่าวแล้วถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็เช่นกัน
หลังจากได้เปิดกิจการเดินรถไฟ ระหว่างกรุงเทพฯ กับอยุธยาในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.
1896 แล้วขยายเส้นทางต่อไปถึงลำปางในปี ค.ศ. 1916 และถึงเชียงใหม่ใน ค.ศ. 1921
(กองจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 6 ที่ คค.5.3/12และ 53/3)
ผลกระทบของการขนส่งทางรถไฟ
ทำให้ชาวนาในภาคเหนือขยายพื้นที่ทำนามากขึ้นและได้ส่งข้าวเปลือกมาขายในภาคกลาง
นอกจากนี้ยังทำให้สินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม
ประเภทเสื้อผ้าเชื้อเพลิงและสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน
ถูกส่งเข้ามาจำหน่ายในภาคเหนือเดินทางรถไฟมากยิ่งขึ้น
จึงทำให้การตลาดในเมืองเชียงใหม่และลำปางขยายตัวมากขึ้น
ต่อมาเมื่อได้มีการพัฒนาทางบก ซึ่งเริ่มต้นจากทางเกวียน
เชื่อมระหว่างชนบทกับเมือง ซึ่งสถานีรถไฟแล่นผ่านต่อมาทางเกวียนก็ขยายเป็นทางรถยนต์
เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ
ในภาคเหนือก็ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวมากยิ่งขึ้น จากกรณีตัวอย่างในภาคเหนือ
สำหรับภาคอื่นๆของประเทศไทย ก็ส่งผลกระทบเช่นเดียวกัน
เมื่อมีกาพัฒนาขนส่งทางบกขึ้นมาแทนที่ทางน้ำซึ่งมีมาแต่โบราณ
การพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึง
การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย เพราะองค์ประกอบต่างๆ
ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จัดเป็นส่วนหนึ่งปลีกย่อยของระบบเศรษฐกิจ
2. ผลกระทบทางด้านการเมืองและสังคม
การเคลื่อนย้ายคนและสินค้าอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเมืองและสังคมของพื้นที่นั้นๆ
และผลกระทบต่อมาถึงระดับประเทศทั้งในด้านความมั่นคงและวัฒนธรรม
ในด้านการเมือง
การสร้างถนนติดต่อระหว่างเมืองกับแนวชายแดนของประเทศหรือการสร้างถนน
ติดต่อระหว่างประเทศทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย คน และสินค้าสะดวกสะดวกขึ้น
การเคลื่อนย้ายคนหรือผลผลิตดังกล่าวแล้วมีทั้งสิ่งที่ถูกต้องทางกฎหมายและไม่ถูกต้อง
ในบางครั้งเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างประเทศ กลับกลายเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธ
ยาเสพย์ติด หรือสิ่งของผิดกฎหมายอื่นๆ
ทั้งนี้เพราะการใช้เส้นทางบกสามารถกระทำได้สะดวกกว่าทางอากาศ
ซึ่งมีการตรวจตราที่รัดกุมกว่า และหลบหนีได้ยาก ภายใต้ผลกระทบในทางลบดังกล่าวมาแล้ว
แต่การขนส่งก็ส่งผลประโยชน์ต่อระบบการเมืองของประเทศอย่างมากมาย
ถนนเชื่อมต่อระหว่างประเทศ
ถนนแนวชายแดนสามารถสร้างความมั่นคงและความมั่นคงให้แก่ประเทศซึ่งเกิดจากด้านการค้าขาย
และการรักษาความปลอดภัย
ในด้านวัฒนธรรม การแพร่กระจายทางด้านวัฒนธรรม (Cultural Diffusion)
ซึ่งเกิดจากการพัฒนาการขนส่ง
ย่อมทำให้วัฒนธรรมจากเมืองหลั่งไหลเข้าสู่ชนบทวัฒนธรรมใหม่บางครั้งสามารถทำให้มาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนในชนบทดีขึ้น
เช่น เกี่ยวกับเรื่องสุภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย ฯลฯ
แต่บางครั้งวัฒนธรรมภายนอกก็เข้าไปผสมผสานหรือแทนที่วัฒนธรรมเดิม เช่น การปลูกฝ้าย
เพื่อผลิตเสื้อผ้าใช้เองของชาวเขาหรือชาวไทยในชนบทของประเทศไทยได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเสื้อผ้าใช้เอง
หันมาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ในปัจจุบันชาวไทยทุกภาคของประเทศได้ยกเลิกวิธีการปลุกฝ้ายเพื่อขายผ้า
แต่ชาวเขาซึ่งหมู่บ้านห่างไกลจากถนน
ก็ยังทอเสื้อผ้าใช้เองผสมผสานกับการซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากตลาด
ตัวอย่างการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมซึ่งอยู่ในลักษณะการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่
การยอมรับวัฒนธรรมใหม่หรือการปฎิเสธวัฒนธรรมใหม่
มีตัวอย่างให้เห็นได้ในลักษณะของประเพณี พิธีกรรม
หรือการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนในสังคม
3. ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
การขนส่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งเส้นทางการขนส่งและพาหนะการขนส่ง
ในด้านเส้นทางการขนส่งเพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง
และความมั่นคงของประเทศ บางครั้งมีการสร้างถนนผ่านป่า
ภูเขาหรือการก่อสร้างเส้นทางขนส่งมีผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น
เกิดการโค่นป่า ทำลายหน้าดิน เพื่อตัดถนน เส้นทางถนน
มีประโยชน์ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญในการบุกรุกทำลายป่า
เพื่อค้าไม้ ทำไร่ ทำสวน หรือ
ที่พักตากอากาศทั้งในด้านส่วนตัวและเพื่อการประกอบธุรกิจ
การประกอบธุรกิจดังกล่าวแล้วมิได้ส่งผลกระทบต่อการทำลาย
ระบบนิเวศป่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบในเรื่อง ยาฆ่าแมลง
ขยะและสิ่งปฎิกูลอื่นๆ ผลกระทบดังกล่าวเป็นปฎิกริยา ลูกโซ่ที่ส่งผลกระทบในเรื่อง
ยาฆ่าแมลง ขยะและสิ่งปฎิกูลอื่นๆ ผลกระทบดังกล่าวเป็นปฏิกิริยา ลูกโซ่
ที่มีความต่อเนื่องและขานรับซึ่งกันและกัน จากปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง
ในเรื่องยานพาหนะ
ในการขนส่งเป็นบ่อเกิดของมลภาวะทางอากาศและเสียงยานพาหนะทำให้อากาศเสีย
เพราะระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทำให้เกิดก๊าซเสีย เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์
(Carbon Monoxide) สารประกอบ ไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen Oxide Compounds)
ก๊าซไอโดรเจนคาร์บอน (Hydrocarbons) และโลหะหนักที่มีมากที่สุด คือ ตะกั่ว
เสียงของยานพาหนะ ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท การฟังของมนุษย์
และอาจทำให้เกิดอารมณ์ตึงเครียด ขาดสมาชิก และเกิดอารมณ์เสียได้ง่าย
นอกจากนี้เสียงยังมีผลกระทบต่อการพักผ่อนหลับนอนประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ถนนรถยนต์
ถนนรถไฟ หรือสนามบิน จะได้รับการกระทบกระเทือนจาก
เสียงมากที่สุดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
การขนส่งก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
แต่ในด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการขนส่งต้องวางแผนอย่างรอบคอบ เพื่อลดปัญหาต่างๆ
ดังกล่าวแล้วทั้งที่เกิดขึ้นกับสิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิต