เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การนำมาใช้ประโยชน์
คุณสมบัติของไม้ไผ่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทางกายวิภาค
ไผ่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไผ่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไผ่ที่มีการแตกกอขนาดใหญ่
และเป็นลำต้นสูงตรง ผอมเรียว ส่วนไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นนั้น
เป็นไผ่ที่มีการแตกกอน้อย และมีลำต้นขนาดใหญ่
ไผ่มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า(rhizome)
ส่วนโคนของลำต้นเหนือดินจะใหญ่และค่อย ๆ เรียวไปยังส่วนปลายลำต้น
หน่อใหม่จะเจริญออกมาจากตาข้างหรือตายอดของเหง้าที่อยู่ใต้ดิน
ไผ่แต่ละลำประกอบด้วยส่วนของปล้องลำต้นที่มีลักษณะเป็นท่อกลวง
และส่วนข้อที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนแข็ง
เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นขึ้นอยู่กับชนิดของไผ่ ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่
0.5-20 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น
ขึ้นกับขนาดของหน่ออ่อนที่เจริญออกมาจากเหง้าใต้ดินอีกด้วย
ปล้องที่อยู่บริเวณส่วนกลางของลำต้นมักมีความยาวมากกว่า
ปล้องที่อยู่ตรงส่วนโคนหรือส่วนปลายของลำต้น
และมีริ้วรอยของกาบใบที่หลุดร่วงไปจากบริเวณข้อของลำต้นด้วย
ข้อของลำต้นไผ่บางชนิดอาจมีลักษณะโป่งพอง
และอาจพบรากพิเศษเจริญออกมาจากข้อของลำต้นที่อยู่ใกล้กับส่วนโคนของลำต้น
ใบของไผ่ประกอบด้วยส่วนของแผ่นใบ(blade) กาบใบ(sheath proper)
ลิ้นใบ(ligule) และเขี้ยวใบ(auricles) ซึ่งมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันตามชนิดของไผ่
รวมทั้งสีสันของกาบใบที่หุ้มหน่ออ่อน รวมทั้งการมีหนาม
ขนหรือความเป็นมันเงาของกาบใบก็แตกต่างกันไปตามชนิดของไผ่ด้วย
การแตกกิ่งก้านสาขาของไผ่จะพบตั้งแต่ส่วนโคนของลำต้นไปจนกระทั่งถึงส่วนปลายยอดในไผ่บางชนิด
แต่ไผ่บางชนิดมีการแตกกิ่งก้านสาขาเฉพาะส่วนยอดของลำต้นเท่านั้น
ไผ่ออกดอกเป็นช่อซึ่งมีช่อดอกย่อยแบบ Spikelet
ช่อดอกของไผ่ถูกแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ คือ แบบ semelauctant
ซึ่งมีการเรียงของช่อดอกย่อยออกมาจากทั้งสองด้านแกนกลาง เป็นช่อดอกแบบช่อกระจะ
(Raceme) หรือ (panicle) ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นช่อดอกแบบ iterauctant หรือ
indeterminate ซึ่งมีช่อดอกแตกออกเป็นกระจุกเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
ผลของไผ่เป็นผลธัญพืช (caryopsis) เช่นเดียวกับพืชชนิดอื่น ๆ
ซึ่งอยู่ในวงศ์หญ้า มีผนังผลเชื่อมติดกับส่วนของเปลือกหุ้มเมล็ด เมล็ดประกอบด้วย
เอ็มบริโอ(embryo) เอนโดสเปิร์ม(endosperm) และใบเลี้ยง 1 ใบ เรียกว่า scutellum
เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นกล้า จะมีรากปฐมภูมิซึ่งพัฒนามาจากรากแรกเกิด(radicle)
ของเอ็มบริโอ ส่วนยอดอ่อน(plumule) จะเจริญเป็นลำต้นโผล่เหนือดิน
โดยมีเนื้อเยื่อหุ้มยอดแรกเกิด(coleoptile) ห่อหุ้มปลายยอดของต้นกล้าออกมาด้วย