เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ไผ่
(Bamboo)

การนำมาใช้ประโยชน์
คุณสมบัติของไม้ไผ่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะทางกายวิภาค
ไผ่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

การนำมาใช้ประโยชน์

ไผ่เป็นพืชที่มีการแพร่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไป ลำต้นแข็งแรงมีเนื้อไม้แข็ง เกลาให้เรียบได้ ยืดหยุ่น มีน้ำหนักเบา แข็งแต่ดัดให้โค้งงอได้ ถ้าจักเนื้อไม้ให้บางลงสามารถตัดทอนเป็นขนาดต่าง ๆ ได้ ทั้งความยาวและความหนาให้เหมาะสมต่อลักษณะการใช้งานว่าเป็นงานที่ต้องรับน้ำหนักมาก หรืองานประดิษฐ์ตกแต่ง

ในปัจจุบันไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในตลาดโลกมาก โดยถูกนำมาใช้เป็นเยื่อกระดาษ ไม้ปาร์เก้ปูพื้น กระดานอัด และหน่อไม้กระป๋อง การนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์สามารถจำแนกได้ดังนี้

1. ใช้ในงานก่อสร้าง
ไผ่ที่มีลำต้นขนาดใหญ่เนื้อไม้หนา ปล้องสั้นมักถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรง คงทน และรับน้ำหนักมาก เช่น เสา ฝาผนัง หลังคา และพื้น มีการนำในมาใช้ก่อสร้างสะพาน และทำนั่งร้าน ใช้เป็นส่วนประกอบของบ้านแบบต่าง ๆ ของชนพื้นเมืองที่มีรูปแบบและรูปทรงแตกต่างกันไป ตามสภาพภูมิอากาศและวัฒนธรรม เช่น บ้านในจีน ไทย อินเดีย และแอฟริกา มีการปลูกสร้างบ้านจากไม้ไผ่ที่มีรูปทรงแตกต่างกัน มีการใช้ไม้ไผ่ทั้งลำในการก่อสร้างหรืออาจผ่าครึ่ง หรือผ่าซีกให้เป็นขนาดต่าง ๆ กัน แล้วนำมาจักสานเป็นแผ่น

2. ใช้ทำตะกร้า
มีการนำไม้ไผ่มาผ่าครึ่ง และผ่าซีกเป็นชิ้นขนาดต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้เป็นโครงของหีบหรือตะกร้าหรือกล่องหรือกระจาด แล้วนำชิ้นที่แบนบางมาสานเป็นลวดลายต่าง ๆ สำหรับทำภาชนะบรรจุสิ่งของ รวมทั้งกระด้งที่ใช้สำหรับตากอาหาร หรือฝัดแยกเมล็ดพืชที่มีขนาดและคุณภาพดีตามต้องการออกจากส่วนที่ไม่ต้องการด้วย นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้ในการสานเข่งใส่ผัก ผลไม้ เข่งขนาดเล็กใส่ปลา และลั้วใส่หมู เป็ด ไก่ รวมทั้งสุ่มสำหรับเลี้ยงเป็ด ไก่ด้วย

3. ใช้เป็นอาหารจำพวกผัก
หน่ออ่อนที่เจริญจากตาข้างของเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ถูกนำมาใช้บริโภคเป็นอาหารจำพวกผักที่เรียกว่า หน่อไม้ โดยการขุดหน่ออ่อนแล้วแยกออกมาจากต้นแม่เดิม ลอกกาบหุ้มที่แข็งและเต็มไปด้วยขนหรือหนามออก หั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือเป็นเส้นฝอย แล้วนำไปต้มในน้ำเดือดจนกระทั่งสุก สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารต่าง ๆ ได้หลายประเภท เช่น หน่อไม้ดอง ผัดกับเนื้อสัตว์ แกงจืด หรือแกงกะทิ แต่หน่อไม้มักจะเจริญเติบโตออมาจากเหง้าใต้ดินในช่วงฤดูฝนจึงมีการถนอมอาหารไว้ในรูปของหน่อไม้ดอง เพื่อสามารถรับประทานได้ตลอดปี ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกหน่อไม้ไผ่บง หรือไผ่ตง (Dendrocalamus asper ( Schultes f .)Backer ex Heyne) รายใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากเป็นไผ่ทีรสหวาน กรอบอร่อย ไม่ขม จนกระทั่งมีชื่อเรียกท้องถิ่นว่า ไผ่หวาน

นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีหน่อไม้ไผ่รวก (Thyrsostachys siaminsis Gamble ) ที่นิยมนำมาบริโภค และเก็บรักษาไว้ในรูปของหน่อไม้อัดปี๊บหรืออัดกระป๋องด้วย

4. ใช้ผลิตกระดาษ
เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ชาวจีนมีการประดิษฐ์กระดาษจากไม้ไผ่ และชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับความรู้นี้มาจากประเทศจีน ไผ่ที่ใช้ทำกระดาษได้แก่ ไผ่ป่า หรือไผ่หนาม (Bambusa bambos ( L) Voss) ไผ่สีสุก(Bambusa blumeana J.A & J.H. Schultes ) และไผ่ซาง (Dendrocalamus strictus (Roxb ) Nees )

5. ใช้ทำเครื่องดนตรี
การนำไม้ไผ่มาทำเครื่องดนตรีนั้น ถือเป็นศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเครื่องดนตรีที่ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลัก หรือเป็นส่วนประกอบได้แก่ เครื่องตีหรือเครื่องเขย่า(idiophones) เช่น ลูกระนาดเอก ลูกระนาดทุ้ม จากไผ่ตงหรือไผ่บง(Dendrocalamus asper) อังกะลุง ขนาดต่าง ๆ จากไผ่ดำ(Gigantochloa artroviolaceae) และไผ่ชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน คือ G. atter , G. levis , G. pseudoarundinacea และ G. robusta นอกจากนี้ไผ่ดำที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นขนาดใหญ่ยังถูกนำมาใช้ประดิษฐ์เป็นกลองด้วย เครื่องเป่าลม(aerophones) ได้แก่ แตรที่ให้เสียงต่ำซึ่งประดิษฐ์จากไม้ไผ่มาเชื่อมต่อกัน แคนที่ทำขึ้นจากไผ่เฮียะหรือไผ่โป(Schizostachyum) ขลุ่ยแบบต่าง ๆ ของเอเชียที่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่

นอกจากนี้ยังมีเครื่องสาย (chordophones) ชนิดต่าง ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นจากไม้ และมีไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบ เช่น จะเข้ พิณ ซึง และซอ

 

6. งานศิลปหัตถกรรม
ในปัจจุบันนี้งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นงานอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่เป็นที่นิยมชมชอบ และสามารถจำหน่ายได้มากขึ้น งานที่ประดิษฐ์จาก ไม้ไผ่ ได้แก่ เสื่อปูโต๊ะกันความร้อนจากชามบรรจุอาหาร กระเป๋าถือ หมวก และเครื่องใช้ไม้สอยที่ใช้สำหรับทอผ้า

งานส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากไม้ไผ่ที่ถูกผ่าเป็นซีก หรือผ่าแล้วเหลาเกลาให้เป็นชิ้นบาง ๆ ก่อนนำมาประกอบเป็นโครงหรือจักสานเป็นลวดลายต่าง ๆ แต่งานบางอย่างอาจใช้ลำต้นและลำต้นใต้ดินทั้งหมดมาประดิษฐ์ตกแต่งแทน เช่น แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่ กล่องบรรจุของขนาดต่าง ๆ ไม้ไผ่ที่ถูกนำมาใช้ในงานจักสานได้แก่ Bambusa atra , Gigantochloa apus , G. scortechinii , Schizostachum latifolium ซึ่งมีเส้นใยยาวและยืดหยุ่นได้ดี ส่วนการนำมาแกะสลัก ได้แก่ ไผ่งาช้าง Bambusa vulgaris ไผ่ตง Dendrocalamus asper และไผ่เกรียบ Schizostachum brachycladum

7. เครื่องเรือน
มีการนำไม้ไผ่มาทำเครื่องเรือนต่าง ๆ ภายในบ้านเรือน ได้แก่ ตู้ เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ ต่าง ๆ ซึ่งนิยมใช้ไม้ไผ่ที่มีลำใหญ่ตรง แข็งแรง ได้แก่ ไม้ไผ่ในสกุล Bambusa สกุล Dendrocalamus และสกุล Gigantochloa

8. การปลูกเพื่อใช้เป็นแนวรั้วบอกเขต แนวป้องกันลมและปลูกประดับ
ไผ่หลายชนิดมีลักษณะกอและทรงพุ่มเหมาะสมต่อการนำมาปลูกเป็นริ้วและแนวป้องกันลม ได้แก่ ไผ่รวก Thyrsostachys siamensis และ ไผ่เลี้ยง Bambusa multiplex ไผ่หลายชนิดมีทรงพุ่มสวยงามนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่เหลือง ไผ่เกรียบ ไผ่ที่มีหนามแหลมคม เช่น ไผ่หนาม Bambusa bambos เป็นไผ่ที่นิยมปลูกเป็นแนวรั้วกันขโมยให้แก่บริเวณบ้าน หมู่บ้าน และสวนผลไม้ รวมทั้งป้องกันสัตว์ป่าเข้ามาทำร้ายหรือทำลายทรัพย์สินด้วย

9. ประโยชน์อื่น ๆ

  • ทำกระบอกรองรับน้ำตาลจากงวงมะพร้าวและงวงตาล ได้แก่ ไผ่ตง
  • นำไม้ไผ่ทั้งลำมาทะลุข้อให้เป็นท่อกลวงตลอดลำสำหรับทำเป็นท่อน้ำ ได้แก่ ไผ่ตง
  • นำไผ่ตงมาตัดเป็นกระบอกสำหรับปรุงอาหาร จำพวก ผัก เนื้อสัตว์ ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว โดยอุดส่วนปลายของกระบอกด้วยใบตองกล้วย แล้วนำไปผิงไฟให้อาหารภายในกระบอกสุก เช่น การทำข้าวหลามจากข้าวเหนียวผสมกะทิและน้ำตาล
  • นำมาทำตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบอาหารสำหรับปิ้งหรือย่าง
  • อุปกรณ์ดักจับปลาชนิดต่าง ๆ เช่น ข้อง ไซ ลอบ
  • นำมาทำแพโดยเลือกใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปานกลาง เนื้อไม้บาง น้ำหนักเบา
  • ใบไผ่น้ำมาใช้เป็นอาหารจำพวกหญ้าสดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ใบของไผ่ที่มีขนาดใหญ่ถูกนำมาใช้ห่อขนมจำพวก ขนมจ้างและบ๊ะจ่าง
  • ไม้ไผ่ทั้งลำถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็น คานสำหรับหามสิ่งของ ค้างสำหรับต้นพืชจำพวก ผักและไม้ผลที่เป็นไม้เลื้อย คันเบ็ด ถ่อค้ำเรือหรือแพ โป๊ะสำหรับเทียบเรือ และรั้ว

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย