วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

แก่นเรื่องของพระอภัยมณี

การเดินทางผจญภัยเพื่อหาประสบการณ์
ความสำคัญของวิชาความรู้
ความว้าเหว่และการขาดความอบอุ่นภายในครอบครัว
ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างพ่อแม่กับลูก

ความว้าเหว่และการขาดความอบอุ่นภายในครอบครัว

ลักษณะที่จะนำมาพิจารณาคือ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของตัวละครเอก ในเรื่องพระอภัยมณีสังเกตได้ว่า ลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง คือการขาดความอบอุ่นภายในครอบครัว ซึ่งเกิดจากการที่ตัวละครมักจะต้องพลัดพรากจากกันเสมอ โอกาสที่พ่อแม่ลูกจะได้อยู่พร้อมหน้ากันมีน้อย สิ่งที่ตามมาในกรณีนี้คือ ลักษณะของตัวละครมีความว้าเหว่แฝงอยู่

เมื่อนำแนวความคิดเรื่องปมด้อยมาพิจารณาลักษณะตัวละครในเรื่องพระอภัยมณี จะสังเกตได้ว่า ปมด้อยของสุนทรภู่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวนั้นน่าจะมีความสัมพันธ์กับลักษณะของตัวละครในด้านความอบอุ่นในครอบครัว ตัวละครเอก ๆ เกือบทุกตัวจะต้องประสบกับภาวการณ์ พลัดพรากจากพ่อแม่พี่น้อง ต้องเดินทางติดตามหาวงศ์ญาติของตนด้วยความยากลำบาก เช่น

  • ตัวเอกฝ่ายชายมักจะต้องพลัดพรากจากบิดามารดาตั้งแต่เด็ก ๆ หรืออยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพัง เช่น สินสมุทรอยู่กับพ่อ สุดสาครอยู่กับแม่ เป็นต้น
  • การขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ได้รับทดแทนโดยบุคคลอื่น ซึ่งมาทำหน้าที่พ่อแม่แทน เช่น ท้าวทศวงศ์ ท้าวสุริโยไทย ผู้ที่มาเป็นพ่อแม่บุญธรรมนี้ มีลักษณะเป็นบุคคลในอุดมคติของตัวละครนั้น เช่น นางสุวรรณมาลีมีลักษณะเป็นแม่ที่สินสมุทรอยากจะมี ท้าวทศวงศ์ก็รักศรีสุวรรณมากจนยอมเอาเมืองไปไถ่ชีวิตศรีสุวรรณ ในขณะที่ท้าวสุทัศน์ขับลูกออกจากเมืองด้วยความโกรธที่เรียนวิชาไม่ตรงกับที่ต้องการเท่านั้น
  • ความรักใคร่ผูกพันในตัวพ่อแม่แท้ ๆ ของตนก็คงมีอิทธิพลอยู่ในจิตใจของตัวละคร ดังที่ปรากฏว่า ตัวละครเหล่านั้นไม่อาจลืมความผูกพันกับพ่อแม่แท้ ๆ ของตนได้ ศรีสุวรรณและพระอภัยมณีต่างยังรักใคร่ใยดีท้าวสุทัศน์อยู่
  • สภาพความไม่พร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัวมีผลให้ตัวละครหลายตัวมีลักษณะของคนที่ว้าเหว่ ขาดความอบอุ่นในจิตใจส่วนลึก พฤติกรรมที่แสดงออกบางครั้งจึงปรากฏว่าเกิดจากอารมณ์ว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยวใจ

การที่สุนทรภู่สร้างโครงเรื่องให้ชีวิตตัวละครฝ่ายชายมีลักษณะดังนี้ อาจเป็นเพราะปมด้อยที่แฝงอยู่ในจิตใจสุนทรภู่ คือ สภาพความแตกแยกระหว่างพ่อแม่ และการขาดพ่อมาตั้งแต่เล็ก ๆ และปมด้อยนี้ถูกเก็บกดไว้ภายในจิตใต้สำนึก จนปรากฏออกมาในรูปของวรรณคดี โดยสร้างระบบสัญลักษณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาแทน

ในเรื่องพระอภัยมณีนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกมีมาก ดังเช่นสินสมุทร เมื่อได้ยินเสียงปี่ที่ พระอภัยมณีเป่าอยู่ในเรือของอุศเรน สินสมุทรก็ลงน้ำดำไปหาพ่อทันที ด้วยความผูกพันที่มีอยู่กับพ่ออย่างลึกซึ้ง และตลอดทั้งเรื่องไม่ปรากฏว่ามีการต่อว่าระหว่างพ่อลูกเลยแม้แต่ครั้งเดียว พระอภัยมณีและศรีสุวรรณเองก็ไม่เคยคิดต่อว่าท้าวสุทัศน์

เมื่อนำเอาบทพรรณนาเกี่ยวกับทะเลมาพิจารณาร่วมกับตัวละคร จะมองเห็นลักษณะที่แฝงอยู่ในตัวละคร คือความอ้างว้างว้าเหว่ การระหกระเหินเดินทางไม่สิ้นสุด พระอภัยมณีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ ชีวิตของพระอภัยมณีต้องระหกระเหินอยู่เป็นเวลานาน นับตั้งแต่ออกจากเมืองรัตนามา แล้วท่องเที่ยวร่อนเร่ตามที่ต่าง ๆ ในท้องทะเลอยู่หลายปีกว่าจะได้ไปครองเมืองผลึก ครั้นแล้วก็ต้องจากเมืองผลึกไปทำศึกที่ลังกา แม้ในตอนท้าย เมื่อบวชเป็นฤษี พระอภัยมณีจะมีชีวิตสงบสุขก็จริง แต่ถ้าดูในแง่ถิ่นฐานบ้านเรือน พระอภัยมณีก็ยังอยู่ในฐานะพลัดบ้านพลัดเมืองเหมือนคนพเนจร เพียงแต่ว่ามีอาศรมอยู่ตามวิสัยฤษี ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของ พระอภัยมณีเป็นชีวิตที่ระเหเร่ร่อนพลัดบ้านเมือง ญาติพี่น้อง ดังที่พระอภัยมณีรำพันว่า

“ โอ้ตัวเราเล่ามาค้างอยู่กลางเกาะ นี่คือเคราะห์กรรมสร้างแต่ปางหลัง
มิได้คืนนคเรศนิเวศน์วัง โอ้แสนสังเวชใจกระไรเลย
เมื่อครั้งหนีผีเสื้อเหลือลำบาก มาซ้ำจากลูกยานิจจาเอ๋ย
ทั้งเก้าปีมิได้มีความเสบย ผู้ใดเลยที่จะเป็นเหมือนเช่นเรา
แต่แสนยากแล้วมิหนำมาซ้ำแยก ทั้งเรือแตกต้องมาอยู่บนภูเขา
แสนวิโยคโศกศัลย์ไม่บรรเทา กำสรดเศร้าโศกาทุกราตรี ”

ประสบการณ์ที่สุนทรภู่แสดงออกในเรื่องพระอภัยมณี คือการพลัดพรากจากถิ่นฐานนั้นปรากฏให้เห็นได้จากประวัติสุนทรภู่ ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและด้านการงาน สุนทรภู่มีชีวิตครอบครัวที่ค่อนข้างอาภัพ เริ่มด้วยการที่พ่อแม่แยกกันตั้งแต่สุนทรภู่ยังเล็ก ต่อมาชีวิตครอบครัวของตนเองก็ประสบความยุ่งยากอยู่เสมอ ในด้านการงาน ได้รุ่งเรืองอยู่เป็นระยะ ๆ สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบ้านที่อยู่ด้วยพระมหากรุณาของรัชกาลที่ 2 แต่สุนทรภู่ก็ไม่ได้พำนักพักพิงอย่างเต็มที่ กลับต้องระเหเร่ร่อนไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้รับความลำบากลำบน และเที่ยวอาศัยพักพิงอยู่ตามที่ต่าง ๆ การที่สุนทรภู่ดำเนินชีวิตในลักษณะนี้ น่าจะมีอิทธิพลต่อเรื่องพระอภัยมณี โดยเฉพาะความรู้สึกขมขื่นว้าเหว่ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางอยู่เกือบตลอดเวลา

แก่นเรื่องย่อยที่เกี่ยวกับความอ้างว้างของตัวละครอันเกิดจากการพลัดบ้านเมืองนี้ เป็นแก่นเรื่องที่น่าสนใจแก่นหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณี อันเป็นงานจินตนาการที่เปิดโอกาสให้ผู้แต่งบรรยายสิ่งที่ต้องการได้เต็มที่ หรือผู้แต่งอาจบรรยายโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในจิตใต้สำนึก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย